ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 สิงหาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
‘สุทธิพงษ์ จุลเจริญ’ เก่งสมชื่อ
ขึ้นแท่นปลัดกระทรวงมหาดไทย
‘สิงห์เฒ่า’ จัดโผ ‘สิงห์ดำ’ ผงาด
สยบข่าวข้ามห้วยเป็นที่เรียบร้อย หลัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถือชื่อนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ แทนนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ หลังจากอยู่ในตำแหน่งมายาวนานถึง 4 ปี
โดยที่ก่อนหน้านี้มีการปล่อยชื่อ “คนนอก” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมาทำหน้าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพราะเคยเป็นเด็กเก่าค่ายคลองหลอด แถมยังระบุด้วยว่า นายจตุพรเป็นน้องรัก ‘บิ๊กฉิ่ง’ แถมยังเป็นสิงห์ดำ (จบคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ถือว่าองค์ประกอบครบ
ทำให้เกิดเสียงฮือฮาหนาหูเป็นอย่างมากว่า คนในกระทรวงไม่เอาด้วย เพราะสิงห์ดำในกระทรวงมหาดไทยก็ยังจ่อขึ้นกันเพียบ จึงยากที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ จะแหวกหม่านประเพณีคลองหลอดข้ามห้วยมาได้
เพราะตลอด 129 ปีที่ก่อตั้งกระทรวงกระทรวงมหาดไทย ไม่เคยมีใครข้ามห้วยมานั่งปลัดกระทรวงมหาดไทยได้
จะมีก็แต่จำหน่ายออกไปนั่งปลัดกระทรวงอื่นมาแล้วหลายกระทรวง
ในส่วนของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ถือเป็นผู้ที่มีความอาวุโสสูงสุด มีชื่อเล่นว่า ‘เก่ง’ เกิดวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2507 อายุ 57 ปี ยังเหลืออายุราชการอีก 3 ปี
เป็นสิงห์ดำ รุ่นที่ 36 ขึ้นซี 10 ในสมัยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกในปี 2553 ในวัย 46 ปี
ถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยในปี 2555 ในสมัยที่นายยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ต่อมาในปี 2556 ได้กลับออกมาเป็นผู้ว่าฯ สระบุรีอีกครั้ง ในสมัยที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็น มท.1 ซึ่งเป็นช่วงรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
และหลังจากรัฐประหาร ได้ย้ายไปเป็นผู้ว่าฯ ชัยนาท ในปี 2557
ต่อมาในปี 2558 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ก่อนที่จะย้ายไปเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในปี 2560
และตำแหน่งล่าสุดเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อปี 2562
โดยช่วงเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุทธิพงษ์มีผลงานค่อนข้างโดดเด่น ทั้งในเรื่องของผ้าไทย และขับเคลื่อนโคกหนองนาเป็นอย่างดี
การผงาดของปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เองไม่ปลื้มนายสุทธิพงษ์เท่าที่ควร
แต่ด้วยความอาวุโสสูงสุด และยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับสมาคมสิงห์ดำ ที่ให้การสนับสนุน และว่ากันว่ายังมีมือที่มองไม่เห็นออกแรงผลักดัน จนทำให้ ‘บิ๊กป๊อก’ ยอมรับ ‘บิ๊กเก่ง’ ในที่สุด
สุดท้ายปลัด ‘เก่ง’ ก็เก่งสมชื่อ พิชิตเก้าอี้ปลัดกระทรวงคลองหลอดมาได้
นอกจากตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว ยังมีการแต่งตั้งรองปลัดกระทรวง 1 ตำแหน่ง อธิบดี 1 ตำแหน่ง ผู้ตรวจกระทรวงมหาดไทย 1 ตำแหน่ง และผู้ว่าฯ อีก 24 จังหวัด
โดยนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าฯ ปทุมธานี ที่เพิ่งย้ายจากเมืองเลยมาได้เพียง 1 ปี ได้ขึ้นรองปลัดกระทรวง แทนนายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ย้ายไปเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และตั้งนายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวง เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง
โดยการโยกย้ายผู้ว่าฯ สลับจังหวัด มี 13 จังหวัด ประกอบด้วย นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าฯ พิจิตร เป็นผู้ว่าฯ ชัยนาท นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าฯ นครพนม เป็นผู้ว่าฯ ชัยภูมิ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าฯ เชียงราย เป็นผู้ว่าฯ เชียงใหม่ นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าฯ สิงห์บุรี เป็นผู้ว่าฯ ตราด นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ ชัยภูมิ เป็นผู้ว่าฯ นครราชสีมา นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด เป็นผู้ว่าฯ นครสวรรค์ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ ลำปาง เป็นผู้ว่าฯ ปทุมธานี นายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าฯ น่าน เป็นผู้ว่าฯ ปัตตานี
นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าฯ มุกดาหาร เป็นผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน เป็นผู้ว่าฯ ลำปาง นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าฯ นราธิวาส เป็นผู้ว่าฯ สงขลา นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าฯ สลกนคร เป็นผู้ว่าฯ หนองคาย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าฯ ตาก เป็นผู้ว่าฯ อุบลราชธานี
โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย เป็นการย้ายกลับจังหวัดนครราชสีมา เพราะก่อนหน้านี้มีการต่ออายุแล้ว 2 ครั้ง ทำให้นายวิเชียรเป็นผู้ว่าฯ นครราชสีมาครบ 6 ปี จึงต้องย้ายออกไปอยู่จังหวัดชัยภูมิก่อน แล้วจึงย้ายกลับมาใหม่
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ มีผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยได้ออกมาเป็นผู้ว่าฯ ถึง 11 คน ประกอบด้วย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ เป็นผู้ว่าฯ กระบี่ นายภาสกร บุญญลักษม์ เป็นผู้ว่าฯ เชียงราย นายชาธิป รุจนเสรี เป็นผู้ว่าฯ นครพนม นายเสถียร เจริญเหรียญ เป็นผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์ นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม เป็นผู้ว่าฯ พิจิตร นายเฉลิมพล มั่งคั่ง เป็นผู้ว่าฯ มุกดาหาร นายภูสิต สมจิตต์ เป็นผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ เป็นผู้ว่าฯ สกลนคร นายปริญญา โพธิสัตย์ เป็นผู้ว่าฯ สระแก้ว นายภิรมย์ นิลทยา เป็นผู้ว่าฯ ยะลา และนายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม เป็นผู้ว่าฯ สิงห์บุรี
อย่างไรก็ตาม ในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ ตำแหน่งสำคัญส่วนใหญ่เป็นสิงห์ดำ ประกอบไปด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายสมคิด จันทมฤก นายไกรสร กองฉลาด นายภูสิต สมจิตต์ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ และนายชยันต์ ศิริมาศ โดยนายชยันต์เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับนายสุทธิพงษ์ด้วย
ขณะที่ผู้ที่จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือสิงห์แดง ประกอบด้วย นายรังสรรค์ ตันเจริญ นายวิเชียร จันทรโณทัย และนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ส่วนนายภาสกร บุญญลัษม์ นายชาธิป รุจนเสรี นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ จบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ส่วนผู้ที่จบคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือสิงห์ทอง ประกอบด้วย นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ นายประจญ ปรัชญ์สกุล นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ นายนิพันธ์ บุญหลวง นายวีระชัย นาคมาศ นายเฉลิมพล มั่งคั่ง นายสิธิชัย จินดาหลวง นายปริญญา โพธิสัตย์ ในขณะที่นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม จบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ส่วนนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ ลำปาง ที่ได้ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ ปทุมธานี ที่ได้รับฉายาผู้ว่าฯ หมูป่า จบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทั้งนี้ ในการแต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงออกมาเป็นผู้ว่าฯ เป็นการวางคนเพื่อเตรียมการสกัดรองผู้ว่าฯ ที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าฯ ในจังหวัดของตัวเอง ทำให้ตำแหน่งผู้ว่าฯ ในการสอบครั้งถัดไปจะเหลือน้อยลง โดยมีจังหวัดที่ว่างอยู่เพียงจังหวัดเพชรบุรี ชุมพร สมุทรสงคราม พะเยา สิงห์บุรี นราธิวาส และตำแหน่งผู้ตรวจราชการว่าง 11 ตำแหน่ง
ดังนั้น รองผู้ว่าฯ ที่จะสอบวิสัยทัศน์เพื่อขึ้นตำแหน่งบริหารระดับสูง ส่วนใหญ่ก็จะต้องไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงก่อน
ดังนั้น การแต่งตั้งโยกย้ายในครั้งนี้นักการเมืองไม่ได้ล้วงลูก แต่เป็นการแต่งตั้งตามสถาบันของบรรดาสิงห์เฒ่าทั้งหลาย ที่อยู่เบื้องหลังการวางตัวบุคคลที่แท้จริง