คำถามถึงรัฐบาลไทย หรือความจริงเป็นสิ่งน่ากลัว?/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

คำถามถึงรัฐบาลไทย

หรือความจริงเป็นสิ่งน่ากลัว?

 

ในท่ามกลางความเป็นไปของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกล่าสุดในประเทศไทย ความกลัว ความวิตกกังวล ความอึดอัดคับข้องใจ ไม่พอใจ แผ่ซ่านออกไปทั่วทุกทิศทุกทาง

อุทาหรณ์ที่เป็นรูปธรรม อย่างการปรากฏผู้คนนอนตายข้างถนน การตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะติดเชื้อ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นบ่อยครั้งนักไม่ว่าจะในสังคมไหน ในยุคใหม่สมัยใหม่นี้

เมื่อปรากฏขึ้นในสังคมไทย ย่อมเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิ ที่แฝงอยู่คู่ไปกับความหวาดผวา ความกลัว ซึ่งในที่สุดก็สะท้อนออกมาให้เห็นในบรรดาสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายอย่างช่วยไม่ได้

แต่แทนที่จะทำงานหนักเพื่อขจัดความกลัว ความหวาดวิตกของประชาชน

สิ่งที่รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทำ ในทัศนะของจอห์น รีด ผู้สื่อข่าวของไฟแนนเชียล ไทม์ส ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปักหลักอยู่ในกรุงเทพมหานครนั้น

กลับเป็นการสร้าง “ความกลัว” ใหม่ขึ้นมาสำทับซ้ำลงไปอีก

ในบทความแสดงความคิดเห็นของจอห์น รีด ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา จอห์น รีด ระบุว่า ความกลัวอย่างใหม่นี้เกิดขึ้นจากการกวาดล้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยการยึดถือเอาว่า การแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ที่ก่อให้เกิด “ความหวั่นกลัว” ขึ้นนั้น ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่ต้องถูกดำเนินคดี ไม่ว่าข้อความนั้นจะเป็น “จริง” หรือเป็นเท็จก็ตาม

รีดอ้างความเห็นของ “แมตธิว บูเกอร์” จากกลุ่ม ต่อต้านการเซ็นเซอร์มาตรา 19 เอาไว้อย่างนี้ครับ

“นี่ถือเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงในยามที่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ เพราะผู้คนไม่สามารถแชร์ข้อมูลข่าวสารที่น่ากลัวทั้งหลายได้ ไม่เช่นนั้นก็อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเป็นจริงที่ว่าทั้งจากเพื่อนบ้าน เจ้าหน้าที่หรือแม้แต่จากรัฐบาล”

ข้อสรุปของจอห์น รีด ต่อประเด็นดังกล่าวคือ “สยามเมืองยิ้มในเวลานี้ มีอะไรผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น” เพราะ “คนไทยทั้งหมดช็อก เศร้าสลด หรือไม่ก็ขายขี้หน้ากับการได้เห็นผู้คนตายข้างถนนอย่างอนาถขณะรอคอยการรักษาพยาบาล”

และ “การรณรงค์ฉีดวัคซีน กลับกลายเป็นความอับอายไปในความเป็นจริง กอรปด้วยคุณลักษณะตั้งแต่ การจัดซื้อเชื่องช้า แล้วก็ไม่เพียงพอ, แอพพลิเคชั่นเพื่อการฉีดวัคซีนขัดข้อง และเกิดความสับสน กลับไปกลับมาในการสื่อสารว่า คนกลุ่มไหน (รวมทั้งคนต่างชาติจำนวนมากในไทย) ควรได้รับการฉีดวัคซีน และควรได้รับเมื่อใด”

เขาบอกว่า บุคคลระดับ “ผู้หลักผู้ใหญ่ของเมืองไทย” บอกกับตนผ่านการส่งข้อความส่วนตัวว่า

 

“เป็นความล้มเหลวทั้งระบบ ชนิดน่าขายหน้า”

จอห์น รีด บอกว่า ความโกรธ ความกราดเกรี้ยวของสาธารณชนใน “ปีที่ 2” ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้เกิดขึ้นจำเพาะแต่ในประเทศไทย ในโคลอมเบียก็มี ในคิวบาก็ดุเดือดเช่นกัน แต่ก็ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ความไม่พอใจต่อรัฐบาลในคราวนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในเมืองใหญ่ จำกัดอยู่แต่กับชนชั้นสูงของประเทศ แต่แผ่พื้นฐานออกไปกว้างขวางมากกว่าที่เคยเป็น

แม้แต่ผู้นำทางธุรกิจ ที่ปกติเคยยึดถือหน้าตาของประเทศเป็นหลักตาม “ธรรมเนียม” ครั้งนี้ก็ต้องออกมาพูด เช่นเดียวกับบรรดา “คนดัง” ทั้งหลาย ทำนองเดียวกับ “ดนุภา คณาธีรกุล” หรือ “มินนี่” ที่ใช้ชื่อในการแสดงว่า “มิลลิ” ซึ่งเป็นอุทาหรณ์ที่จอห์น รีด หยิบยกมาเป็นตัวอย่างหลัก ก็ออกมาพูดเป็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ และตำหนิ การรับมือกับสถานการณ์โควิดของรัฐบาล จนถูกเรียกตัวไปดำเนินคดีกันระนาว

นั่นคือความ “ไม่ปกติ” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ในสายตาของจอห์น รีด

จอห์น รีด ยอมรับว่า ในประเทศที่มีแต่ “การเซ็นเซอร์” แต่ไม่มี “การทำโพลสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชนที่มีความหมาย” อย่างเช่นประเทศไทย ทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่า มีคนไทยจำนวนเท่าใดกันแน่ที่กราดเกรี้ยว ไม่พอใจต่อรัฐบาลในยามนี้

แต่ถ้าจะวัดจาก “เทรนดิ้ง” การแชร์ของแฮชแท็กในทวิตเตอร์ ซึ่งจอห์น รีด รับว่า เป็นแพลตฟอร์มที่เต็มไปด้วยทัศนะที่เอนเอียงไปในทางต่อต้านรัฐบาลเสียมาก ภายใต้บริบทของประเทศไทย ก็จะพบว่ามีไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ถึงตอนท้าย จอห์น รีด ให้ความเห็นไว้อย่างตรงไปตรงมา ลึกถึงกระดองใจไว้ว่า

“ผมทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวมายาวนานกว่ายี่สิบปี ประเทศไทยถือเป็นสังคมที่มีความโปร่งใสน้อยที่สุดเท่าที่ผมเคยพบเจอมา”

แต่ก็ไม่วายเตือนไว้ว่า

“เมื่อการล็อกดาวน์ยุติลง มีแนวโน้มสูงมากว่าจะปรากฏการ ‘คิดบัญชี’ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งต่อรัฐบาลประยุทธ์ ที่ทำให้สาธารณชนโกรธ ย่ำแย่ และผิดหวังขึ้นมา”