ต่างประเทศอินโดจีน : บางคำถามกับ “รถไฟลาว”

เส้นทางรถไฟความยาว 414 กิโลเมตร ที่เชื่อมต่อจีน ผ่านทางลาวเข้ากับไทยและบรรดาประเทศอาเซียนสำคัญทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพม่า มาเลเซีย และสิงคโปร์ เริ่มต้นการก่อสร้างอย่างเป็นทางการแล้ว ที่หมู่บ้านโพนไซ ห่างจากหลวงพระบาง เมืองหลวงเก่าไปทางเหนือราว 30 กิโลเมตร

เป็นการเริ่มต้นหลังจากการเจรจาวางแผนกันมาระหว่างจีนกับลาวนานถึง 16 ปี

เส้นทางรถไฟสายนี้ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การลงทุนของลาว มูลค่าการลงทุนประมาณการกันว่าอยู่ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของลาวในปี 2016 ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศประมาณว่าอยู่ที่ 13,700 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

เส้นทางรถไฟสายนี้ เป็นแบบรางเดี่ยวมาตรฐาน ตลอดความยาว 414 กิโลเมตรนั้นต้องผ่านอุโมงค์ลอดถึง 75 อุโมงค์ คิดเป็นระยะทางในอุโมงค์ 198 กิโลเมตร

ต้องสร้างสะพานอีก 167 สะพาน

ทำชุมทางทั้งหมด 12 ชุมทาง

และถึงแม้ว่าจะพูดถึงกันว่าเป็นรถไฟไฮสปีด แต่ความเร็วของรถไฟโดยสารบนเส้นทางนี้จะสูงสุดเพียงแค่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนรถขนสินค้าจำกัดต่ำลงไปอีกที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ไฮสปีดเทรนจริงๆ ไม่ว่าจะในจีน ญี่ปุ่น หรือยุโรป ความเร็วอยู่ที่ระหว่าง 240-380 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งหมดเริ่มต้นแล้ว เพื่อเปลี่ยนประเทศจาก “แลนด์-ล็อก” ให้เป็น “แลนด์-ลิงก์” ตามวิสัยทัศน์ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว

 

ฟังดูดี แต่โครงการนี้มีหลายฝ่ายตั้งคำถามกังขามาตั้งแต่เริ่มแรก และจนแม้ในขณะนี้ก็ยังมีหลายคำถามให้ทางการลาวตอบ

คำถามแรกเป็นของธนาคารโลก ที่ประเมินว่าโครงการนี้จะส่งผลให้ภาวะหนี้ภาครัฐของลาวสูงขึ้น จนเกือบถึงระดับ 70 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ในขณะที่ทุนสำรองของลาวจัดว่าต่ำมาก ลาวจะรับมือสถานการณ์เช่นนี้ได้หรือไม่?

โครงการเส้นทางรถไฟเชื่อมจีนกับลาวนี้ตามความตกลงนั้นกำหนดให้อยู่ในรูปของการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้น โดยจีนจะลงทุนในบริษัทดังกล่าว 70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นภาระของทางการลาว

มีการประเมินกันไว้แล้วว่า โครงการดังกล่าวนี้จะสามารถทำกำไรประมาณ 4.35 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยค่าโดยสารที่จัดเก็บน่าจะอยู่ที่ราวครึ่งหนึ่งของค่าโดยสารด้วยถนน

นักการธนาคารผู้หนึ่งในเวียงจันทน์ เกิดข้อกังขาที่น่าสนใจขึ้นมาว่า ในรายละเอียดของข้อตกลงนั้น พูดถึงแต่กำไร

คำถามก็คือ ถ้าหากบริษัทร่วมทุนที่ว่านี้ขาดทุนมหาศาลจะทำกันอย่างไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบภาระขาดทุนดังกล่าวนั้น

เพื่อให้โอกาสทำกำไรมีสูงขึ้น โครงการรถไฟลาวดังกล่าวนี้กำหนดจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยภายใต้ความร่วมมือกับจีนเช่นกันที่จังหวัดหนองคาย เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งตะวันออก และเชื่อมต่อไปถึงพม่า

นักเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่งของลาว ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่า จนถึงตอนนี้โครงการในส่วนของไทยเริ่มต้นเป็นรูปร่างเพียงส่วนเดียวคือจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ส่วนการเชื่อมต่อไปยังหนองคายนั้น ถูก “ปล่อยทิ้งไว้ให้รัฐบาลหน้าเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ”

คำถามคือ แน่นอนหรือไม่ว่าโครงการดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบ และที่สำคัญคือ “เมื่อใด?”

นักวิชาการของลาว ยังตั้งคำถามถึงปัญหาทางสังคม ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างแรงงานจีนกับชาวบ้านในท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุดก็คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมและสภาวะแวดล้อมในบริเวณหลวงพระบาง ดินแดนที่เป็น “มรดกโลก”

ในเวลาเดียวกัน งานศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบว่า เส้นทางรถไฟสายนี้ เอื้อประโยชน์สูงสุดต่อจีน คือ 31 เปอร์เซ็นต์ของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับทั้งหมด ไทยจะได้รับเพียง 8 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่ลาวจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง