ได้อิทธิพล แต่ไม่ได้เพื่อน ? : ส่องอิทธิพลจีนในอาเซียน กับคำถาม “นี่หรือเพื่อน” ?

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

คอลัมน์ โลกทรรศน์ : อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

ได้อิทธิพล แต่ไม่ได้เพื่อน

 

พลันที่วัคซีนป้องกันโควิด-19 บริจาคให้ไทยลัดฟ้ามาตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงเรียกเพื่อนก็สนั่นเมือง โดยเฉพาะจากปากนักการเมือง

แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นหรอก วัคซีนเยอะ วัคซีนยี่ห้อไหน มาก่อนมาหลังไม่สำคัญเท่าพื้นฐานความสัมพันธ์เชิงอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขอให้ดูมาเลเซียเป็นตัวอย่าง

โควิด-19 จีน มาเลเซีย

 

เชื่อกันว่า โควิด-19 จะเปลี่ยนโลกมากกว่าทำนายไว้ล่วงหน้า เมื่อจีนเข้าไปผูกพันมาก ยิ่งทำให้ประเทศนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีการยกตัวอย่าง จีนกับมาเลเซีย มองกันว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมาเลเซียกับจีนส่วนมากมีเรื่องมากมายในเชิงบวก

ในช่วง 3 นายกรัฐมนตรีมาเลเซียช่วยให้ความผูกพันกับจีนมั่นคง

นายกรัฐมนตรี Abdul Razak ผู้นำชาติอาเซียนคนแรกที่รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายกรัฐมนตรี Mahathir Mohamed ที่กระตุ้นการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างมากกับจีน

และนายกรัฐมนตรี Najib Razak ทำให้ความร่วมมือกับจีนยกระดับสูงขึ้น

ตอนนี้ไม่เพียงจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของมาเลเซีย จีนได้เป็นส่วนสำคัญในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในมาเลเซีย ในขณะที่นายกฯ นาจิบเล่นบทบาทผลักดันอภิมหาโครงการ ที่นายกฯ มหาธีร์ดำเนินการช่วงที่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ด้วยจีนฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเร็วกว่าประเทศอื่นๆ แล้วมาเลเซียเผชิญหน้ากับความยุ่งยากทั้งทางเศรษฐกิจ โรคระบาดและการเมือง

มกราคม 2564 รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง ยี่ (Wang Yi) เยือนมาเลเซียและเสนอความร่วมมือล่วงหน้าระหว่างสองประเทศ ได้แก่ โครงการสวนอุตสาหกรรม ทางรถไฟสายตะวันออก และโครงการสำคัญอื่นๆ

แล้ว วัคซีนจีน ก็เข้าสู่มาเลเซีย จีนขยายความใจกว้างและเสนอให้มาเลเซียอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศได้รับวัคซีนจีน มีการวิเคราะห์ว่า มาเลเซียมีทางเลือกน้อยจนต้องสนับสนุนจีนในประเด็น ทะเลจีนใต้1 พร้อมการกล่าวโจมตีสหรัฐอเมริกาที่แสดงตนในทะเลจีนใต้

มีการประกาศว่า ทั้งสองประเทศตกลงว่าทะเลจีนใต้ควรไม่ใช่ที่ปรากฏตัวของมหาอำนาจและเรือรบ ทั้งสองประเทศต่อต้านลัทธิครองอำนาจ สนับสนุนระบบพหุภาคี (multilateralism) มองเห็นการกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งของเอเชีย

แต่เมื่อตรวจคำแถลงทางการของจีน ผมกลับเห็นว่า จีนกล่าวอย่างอ้อม การพาดพิงสหรัฐอเมริกาไม่ชัดเจน มีการตีความเกินเลยไปว่า ด้วยขนาดอิทธิพลในภูมิภาคและพลังทางเศรษฐกิจของจีน ย่อมทำให้มาเลเซียเคลื่อนเข้าใกล้จีนมากขึ้น

แล้วสรุปเกินเลยไปว่า ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่มาเลเซียต่อต้านการผูกพันใกล้ชิดมากขึ้นกับจีน

การวิเคราะห์แนวนี้ เท่ากับไม่ได้มองบริบทของภูมิภาคกล่าวคือ ในบริบทของภูมิภาค ที่แน่ๆ มาเลเซียก็เหมือนกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหลายลังเลทางเลือกทางนโยบาย มีทั้งสองประเทศมหาอำนาจคือทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาพร้อมๆ กัน

ผมยังเห็นว่า วัคซีนจีนฉกฉวยความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและการทำลายล้างเศรษฐกิจจากโควิด-19 ของมาเลเซียเสียด้วย

 

บริบท มาเลเซียและอาเซียน

หากมีการเคลื่อนไหวอย่างสำคัญและรวดเร็วของทางการจีนที่เดินหน้าผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับมาเลเซีย พร้อมด้วยแสวงหาพันธมิตรในประเด็นที่ท้าทายและใหญ่ยิ่งของภูมิภาคคือ ทะเลจีนใต้ เราควรมองจากบริบทภายใน ทั้งมาเลเซียและอาเซียนพร้อมมองอย่างสมดุลด้วย

เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง ยี่ เยือนมาเลเซียมกราคม 2564 ด้วยการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและการทูต หากมองจากจีน เราจะเห็นจีนได้อะไรหลายอย่าง เราไม่ควรละเลยพลัง สมรรถนะและความชำนาญในเวทีระหว่างประเทศของมาเลเซีย มาเลเซียโดดเด่นและอยู่ในแนวหน้าในเวทีการเมืองระหว่างประเทศตลอดมา

เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียคนใหม่ Hishammuddin Hussein เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ เมษายน 2564 บางฝ่ายก็ว่าเขายังอ่อนวัยและขาดอาวุโสทางการเมือง เขาเรียกรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง ยี่ ว่า พี่ใหญ่ (elder Brother) ของเขา

ที่สำคัญคือรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียยืนยันว่าเป็นพี่ใหญ่ของเขา นับเป็นการแสดงความนับถือส่วนตัว แต่สำหรับประเทศมาเลเซียเป็นประเทศอิสระ เป็นตัวของตัวเอง แล้วเขายังแสดงจุดยืนของมาเลเซียในภูมิภาคอีกด้วย

รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย Hishammuddin Hussein กล่าวว่า “…ประเทศของเขายังคงเป็นอิสระในนโยบายต่างประเทศ…”²

มีการนำเสนอจุดยืนของมาเลเซียในสื่อมวลชนด้วยว่า³

“…จีนเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุด แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้รับการทดสอบแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนอ้างสิทธิ์เพิ่มขึ้นในนโยบายต่างประเทศของตนในภูมิภาค โดยเฉพาะอ้างมหาสมุทรของตนในแหล่งร่ำรวยทรัพยากรทะเลจีนใต้ ซึ่งบางส่วนขัดแย้งกับการอ้างของมาเลเซียเอง…”

การอ้างอิงกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้เท่ากับนำจีนสู่ความขัดแย้งกับชาติสมาชิกในสุมทรรัฐอุษาคเนย์ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ แผนที่ที่เพิ่งสร้าง ของจีนทอดยาวไปถึงเขตนาทูน่า แหล่งทรัพยากรน้ำมันอันมีค่าของอินโดนีเซีย แปลก นอกจากรูปแผนที่จีนช่างทอดไกลถึงหมู่เกาะอินโดนีเซียแล้ว ช่างบังเอิญเข้าไปล้วงเอาแหล่งทรัพยากรอันมีค่าด้วย อินโดนีเซียชาติที่ไม่เคยเผชิญหน้าจีนโดยตรงมาก่อนตอนนี้อินโดนีเซียพร้อมเผชิญหน้าโดยตรง

เช่นกัน แม้จีนเป็นคู่ค้าสำคัญและมีการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายอุตสาหกรรมในมาเลเซีย

แต่จีนและกองเรือของจีนเข้าไปข้องแวะกับมาเลเซียตะวันออกอันเป็นแหล่งทรัพยากรมีค่าทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า รวมทั้งพื้นที่ทั้งทางทะเลและพื้นดินของบอร์เนียวที่มาเลเซียกำลังสำรวจพื้นที่อันน่าหวงแหนด้วยแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แหล่งแร่หายากขนาดใหญ่

ดังนั้น ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียประท้วงกองเรือจีน ใช้กำลังทางเรือและเครื่องบินทำการตักเตือนการล่วงละเมิดน่านน้ำของตนจากจีน

 

เพื่อนชื่อ วัคซีนจีน?

สถานการณ์รูปธรรมปัจจุบันคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือเป้าหมายหลักของการทูตวัคซีนจีน ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2564 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีปริมาณ 29% ของวัคซีนจีนบริจาคทั้งหมดทั่วโลก และมีอีก 25.6 % ของการขายวัคซีนจีน

แต่อินโดนีเซียและมาเลเซียไม่เคยได้รับวัคซีนจีนบริจาค ทั้งสองประเทศซื้อวัคซีนจีน อินโดนีเซียซื้อ 125 ล้านโดส เป็นวัคซีนยี่ห้อ Sinovac จำนวนวัคซีนที่ส่ง 94.5 ล้านโดส มาเลเซียซื้อวัคซีนจีน 12 ล้านโดสยี่ห้อ Sinovac ซื้อ 3.5 ล้านโดสยี่ห้อ CanSino แล้วทั้งสองประเทศก็ต้องสั่งซื่อวัคซีนจากประเทศอื่น

ไม่ทราบว่า ข่าวจริงหรือเปล่า อินโดนีเซียสั่งยกเลิกวัคซีน Sinovac แล้วหันมาใช้ Pfizer มาเลเซียไม่ได้ใช้ Sinovac มาเลเซียซื้อ AstraZeneca ที่ผลิตที่ประเทศไทยแม้มีการจัดส่งล่าช้า มาเลเซียซื้อ Pfizer และ Sputnik V

ฟิลิปปินส์ประเทศที่ยากจนมาก รัฐบาลเผด็จการของเขาซื้อ Pfizer 100 ล้านโดสให้ประชาชน

เราอาจตีความว่า จีนมีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความขัดแย้งทะเลจีนใต้เป็นฐานคิดหวาดระแวงจีนของผู้คนภูมิภาคนี้ ยิ่งวัคซีนจีนเข้ามา ก็ยิ่งตอกย้ำให้ผู้คนตระหนักว่า นี่หรือเพื่อน

 

¹เช่นงานเขียนของ Shankaran Nambiar, “Malaysia a case study in how China wins friends and influences Asia” Nikkei Asia, 29 January 2021.

²Mei Mei Chu, “Malaysia is independent, says minister who called Chinese counterpart elder brother” Reuters 3 April 2021

³Mei Mei Chu, ibid.,