การศึกษา : เลิกสอบ… ‘วิชาเอก’ ขอ ‘ตั๋วครู’ มุ่ง ‘หาเสียง’ มากกว่า ‘คุณภาพ’??

 

เลิกสอบ… ‘วิชาเอก’ ขอ ‘ตั๋วครู’

มุ่ง ‘หาเสียง’ มากกว่า ‘คุณภาพ’??

 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในแวดวงการศึกษามีประเด็นร้อนแรงให้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง คือการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้ และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อขอรับ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” นั้น ควร “สอบวิชาเอก” หรือไม่??

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีมติให้ “ตัด” วิชาเอกออก ในการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ ครั้งที่ 2

ที่มาที่ไปของเรื่อง เริ่มจากคุรุสภาได้ให้ผู้ที่เรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี หรือ 5 ปี และผู้ที่จบการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต ในปีการศึกษา 2562 ต้องเข้ารับการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาติประกอบวิชาชีพครูทุกคน

โดยกำหนดวิชาที่จะต้องทดสอบ 5 หมวดวิชา คือ 1.วิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร 2.วิชาการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 3.วิชาการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อการศึกษา 4.วิชาชีพครู และ 5.วิชาเอกตามที่คณะอนุกรรมการกำหนด

แต่หลังจากที่จัดการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีผู้เรียนหลักสูตร ป.บัณฑิตได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณี “ข้อสอบไม่ได้มาตรฐาน” โดยเฉพาะข้อสอบวิชาเอก ที่อาจจะออกไม่ตรงกับหลักสูตรการเรียนการสอน

และเรียกร้องขอ “ไม่สอบ” วิชาเอก เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้เข้าสอบอย่างมาก!!

 

ประเด็นที่ไม่ต้องสอบวิชาเอกนั้น มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

กลุ่มที่เห็นด้วย มองว่าไม่ควรสอบวิชาเอก เพราะเพิ่มภาระผู้สอบ และหน่วยงานอื่นมีกระบวนการสอบวัดความรู้วิชาเอกอยู่แล้ว…

แต่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย มองว่าควรจะสอบวิชาเอก เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง…

เมื่อยังหาข้อสรุปไม่ได้ คุรุสภาจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อคิดเห็นต่างๆ อย่างรอบด้าน และเสนอข้อสรุปที่ได้มาให้ทางคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณา

จึงเป็นสาเหตุของการ “ยกเลิก” การสอบวิชาเอก ในการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ ในเวลาต่อมา…

เมื่อตัดวิชาเอกออก จะเหลือแค่การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู 4 วิชา และจะไม่นำผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ ครั้งที่ 1/2564 มาใช้เป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

ที่สำคัญ เมื่อตัดการสอบวิชาเอกออกไปแล้ว ก็สามารถตัดปัญหาที่กลุ่มผู้จบการศึกษาหลักสูตร ป.บัณฑิตยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้อีกด้วย

นอกจากนี้ แว่วๆ ว่า เมื่อยกเลิกการสอบวิชาเอก ทางคุรุสภาจะ “ประหยัด” งบประมาณในการจัดทำข้อสอบจำนวนมาก

เพราะที่ผ่านมา คุรุสภาต้อง “จ้าง” สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ออกข้อสอบ ซึ่งการจัดทำข้อสอบนั้น มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก โดยเฉพาะการจัดทำข้อสอบวิชาเอก ที่ สทศ.คิดค่าจัดทำข้อสอบวิชาละ 300,000 บาท…

ประกอบกับสถาบันผลิตครู กำหนดสาขาวิชาที่หลากหลาย ทำให้ต้องจัดทำข้อสอบวิชาเอกเพิ่มมากขึ้น ทำให้คุรุสภาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

วิเคราะห์กันว่า คุรุสภาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายหลายล้านบาทในการจัดทำข้อสอบวิชาเอก ซึ่งคุรุสภามองว่า อาจจะไม่คุ้มกับเม็ดเงินที่ต้องจ่ายไป!!

 

ร้อนถึง ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ที่ออกตัวอย่างแรง ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการสอบวิชาเอก โดยระบุว่า คุณภาพของครู คือความเชี่ยวชาญในวิธีสอน ศาสตร์การสอน การจัดการเรียนรู้ และความแม่นยำในเนื้อหาวิชาที่สอน ซึ่งก็คือ “วิชาเอก” ของครู

“พบว่าผู้เข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะวิชาชีพครูฯ ครั้งที่ 1/2564 จะเป็นผู้ที่เรียนจบ ป.บัณฑิตเข้ามาสอบทั้งหมด และสาเหตุที่ผู้เรียน ป.บัณฑิตสอบไม่ผ่านวิชาเอก คือปฏิบัติการสอบ และข้อสอบวิชาเอก ที่ไม่ตรงวิชาเอกที่จบปริญญาตรีมา” ดร.เอกชัยระบุ

แต่ผู้เรียนหลักสูตรครู หลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี ที่เข้าเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ซึ่งเป็น “กลุ่มเป้าหมายหลัก” ยังไม่ได้รับการทดสอบ เพราะจะมีสิทธิสอบครั้งแรกในปี 2565…

ประธาน กมว.ยังถามกลับไปยัง “คุรุสภา” และ “นักการเมือง” ด้วยว่า การยกเลิกการสอบวิชาเอก ก่อนที่กลุ่มเป้าหมายหลักจะทดสอบ ไม่ทราบว่าคุรุสภาใช้หลักคิดอะไรในการยกเลิกการสอบวิชาเอก

หรือที่นักการเมืองบางคนให้ผู้เรียน ป.บัณฑิตทุกคนได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ใช้หลักคิดอะไร หรือต้องการ “คะแนนเสียง” มากกว่า “คุณภาพ” ครู ที่จะมีผลต่อคุณภาพนักเรียน และผู้เรียน…

ประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้ ดร.เอกชัยต้องเรียกประชุม กมว.เป็นการด่วน เพื่อหารือเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งที่ประชุมมีมติว่า การทดสอบและประเมินสมรรถนะวิชาชีพครู ยังจำเป็นต้องสอบวิชาเอก

โดย กมว.จะนำเรื่องนี้เสนอคณะกรรมการคุรุสภา พิจารณา “ทบทวน” มติที่ยกเลิกการสอบวิชาเอกต่อไป!!

 

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการสอบวิชาเอก โดยระบุว่า ยังมีความจำเป็นต้องสอบวิชาเอก

ที่แน่ๆ คุรุสภากำลัง “สั่นคลอน” วิชาชีพของตนเอง คนในองค์กรต้องยึดมั่น และคัดกรองผู้ที่มาเป็นครูตามมาตรฐาน และตามจรรยาบรรณวิชาชีพที่มี ไม่ใช่เอนเอียงไปตามกระแส เอนเอียงไปตามคำเรียกร้องของกลุ่มคนบางกลุ่ม…

ขณะที่นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา แจกแจงในประเด็นเหล่านี้ว่า กมว.สามารถนำเสนอความคิดเห็นให้ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาได้ คุรุสภาพร้อมปฏิบัติตามมติที่ออกมา

แต่เป็นห่วงว่า หากคณะกรรมการคุรุสภามีมติเห็นชอบ ให้กลับมาสอบวิชาเอกอีกครั้ง อาจสร้างความ “สับสน” ให้กับประชาชนได้

ที่สำคัญ กลุ่มที่ทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ ครั้งที่ 1/2564 ที่ได้รับการยกเว้น ไม่นำผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ในวิชาเอก มาใช้เป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู อาจรวมตัวฟ้องคุรุสภาได้ เพราะถือเป็นการกระทบสิทธิของผู้เข้าสอบ

เลขาธิการคุรุสภาอธิบายด้วยว่า แม้ว่าต่อไปจะไม่มีการสอบวิชาเอก แต่คุรุสภาได้วางแผนที่จะรื้อระบบ และปรับเกณฑ์การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่ เพื่อให้ทันสมัย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน โดยคุรุสภาได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 1 ชุด เพื่อศึกษารายละเอียดข้อกฎหมาย ปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่

โดยในอนาคต ครูอาจจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 2 ใบ คือ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพพื้นฐาน และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่เป็นวิชาเฉพาะ เพื่อให้สถานศึกษาสามารถเลือกใช้ครูตามความถนัด และความเหมาะสม!!

 

คงต้องจับตาดูกันต่อไป ว่าเรื่องราวอลวนนี้จะลงเอยอย่างไร??

เพราะท่าทีของ “กมว.” เอง ก็แข็งขัน ยอมหัก ไม่ยอมงอ ยึดมั่นใน “หลักการ” และมุ่งเน้น “คุณภาพ” ของครูเป็นตัวตั้ง…

ส่วน “บอร์ดคุรุสภา” ในฐานะ “คนกลาง” ก็อาจจะกระอักกระอ่วนใจบ้าง เพราะมี “นักการเมือง” นั่งหัวโต๊ะ และ “มีธง” ไม่ต้องการให้จัดสอบวิชาเอก…

ขณะเดียวกัน “นักการเมือง” ก็ถูกกล่าวหาว่ามุ่ง “คะแนนเสียง” มากกว่า “คุณภาพ” ของแม่พิมพ์…

ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คงต้องหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ยึดถือ “ประโยชน์” ของนักเรียน และประเทศชาติ เป็นหลัก…

เพื่อให้ได้ “แม่พิมพ์” ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง!!