วิรัตน์ แสงทองคำ : ภูมิคุ้มกันหมู่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

 

วิรัตน์ แสงทองคำ / viratts.WordPress.com

 

ภูมิคุ้มกันหมู่

 

ว่าด้วยความอยู่รอดและการปรับตัว ผู้คน ในระบบเศรษฐกิจและสังคม

กระแสผู้คนในสังคม แสดงความไม่เชื่อมั่นภาวะผู้นำในยามวิกฤตครั้งร้ายแรง มีมิติลึกและกว้างอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยเกี่ยวข้องกับการบริหารบริการสาธารณสุข เป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญของชีวิต

ภาวะผู้นำรัฐ และผู้นำระบบสาธารณสุข กำลังสั่นคลอน เมื่อกระชับอำนาจ เผชิญหน้าวิกฤตการณ์อันเนื่องมาจาก COVID-19 เป็นไปอย่างไม่ทันกาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนแห่งชาติ

 

ข้อมูล

วิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ ขยายวงอย่างรวดเร็ว อย่างกว้างขวางที่สุดในโลกยุคใหม่ มาพร้อมข้อมูลอันพรั่งพรู เป็นปรากฏการณ์ใหม่เช่นเดียวกัน ผู้คนมีโอกาส “เข้าถึง” และมี “ทางเลือก” มากมายในการรับรู้ข้อมูลและข่าวสาร

ขณะที่ความพยายาม “เข้าถึง” และมี “ทางเลือก” วัคซีน เป็นไปอย่างจำกัด

การส่งต่อข้อมูล และเรื่องราวกันอย่างท่วมท้นตามสื่อสังคม (social media) ไม่ว่าการแชร์ความเห็นส่วนตัว หรือข้อความที่ไม่มีที่มาอย่างชัดแจ้ง

ไปถึงแหล่งข้อมูลทางการที่มีอยู่อย่างมากมายให้อ้างอิง ทั้งในระดับโลก และท้องถิ่น ผ่านสื่อผ่านผู้คนต่างๆ

แทบจะเรียกว่าเป็นไปทุกเสี้ยววินาที

โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน

เป็นครั้งแรกmujผู้คนสนใจข้อมูลทางการแพทย์เป็นพิเศษ ท่ามกลางการส่งต่อข้อมูลมากมาย โดยเฉพาะผ่านสื่อสังคมจากผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรทางแพทย์ youtuber ที่เป็นแพทย์ปรากฏตัวขึ้นแทบนับไม่ถ้วนทั้งในไทยและในระดับโลก

เป็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้น เมื่อผู้คนจำนวนไม่น้อย อ่านและพยายามทำเข้าใจข้อมูลจากต้นแหล่งข้อมูลทางการแพทย์ที่มีที่มาจากที่ได้รับความเชื่อถือในระดับโลก จากสื่อเก่าสู่ใหม่ ผ่าน Website อย่าง NEJM* The Lancet** และ JAMA***

เรื่องราวที่ถูกแชร์แต่ละฝ่าย แต่ละฝั่ง แตกต่างกัน ท่ามกลางความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับโรคและวัคซีนพัฒนา และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้งอย่างรวดเร็ว สักช่วงเวลาหนึ่งจะตกผลึกเป็นความรู้ความเข้าใจพื้นฐานร่วมกัน

และแล้วรัฐและหน่วยงานเกี่ยวข้องกับระบบบริการสาธารณสุข ก็ไม่สามารถผูกขาดการนำเสนอข้อมูลและความรู้ส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายเดียวได้อีกต่อไป

ความไม่น่าเชื่อถือจะค่อยๆ สะสมขึ้นเป็นลำดับ จากผลพวงการเปิดข้อมูลอย่างตัดตอนไม่ครบถ้วน ไม่โปร่งใส และตรงไปตรงมา

จนเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสความไม่เชื่อมั่น

 

บทเรียน

โลกข้อมูลและข่าวสารสำคัญในวิกฤตการณ์ COVOD-19 ได้เปิดกว้างกว่าที่คิด ผู้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงเป็นปกติ โดยเฉพาะในเรื่องใหญ่ 2 ประการ อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลสำคัญๆ อย่างที่ยกมา ว่าด้วยข้อมูลรายงานความเป็นไปอย่างทันท่วงทีเกี่ยวกับการระบาด (https://www.worldometers.info/coronavirus/) และรายงานการบริหารจัดการวัคซีน (https://ourworldindata.org/covid-vaccinations) เป็นข้อมูลที่ทันสมัย ครบถ้วน จัดระบบเชิงภูมิศาสตร์ ให้ภาพรวมและภาพต่างมิติแล้วแต่จะประมวลกัน

ในนั้นมีสิ่งที่สำคัญคือ บทเรียนการบริหารจัดการวิกฤต (Crisis management) ของแต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศ หรือแต่ละระบบเศรษฐกิจ

นับเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ ในเชิงการบริหารรัฐ มีบทเรียนเผชิญหน้ามากมาย ให้ศึกษาและแลกเปลี่ยนกันอย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันผู้คนในสังคมได้รับรู้ข้อมูลอย่างเปิดกว้างเช่นนั้นเช่นกัน มุมมองในเชิงเปรียบเทียบ คาดหวังและประเมินความสามารถและภาวะผู้นำ จึงเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ

บางครั้ง บางเรื่องเปิดกว้างขึ้นจากข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ขอยกตัวอย่างกรณีสิงคโปร์

จากภาพผู้คนที่มีอาการแพ้ (ฉีดเข็มแรกแล้ว) และปฏิเสธวัคซีน mRNA ไม่กี่หมื่นคน ขวนขวายหาวัคซีนประเภทเชื้อตาย กลายเป็นภาพอันตื่นเต้นนั้น (มิถุนายนที่ผ่านมา) แต่มีอีกด้านหนึ่ง เป็นภาพใหญ่กว่า ว่าด้วยการบริหารจัดการอันหลักแหลมเกี่ยวกับวัคซีน COVID-19 เป็นบทเรียนหนึ่งที่น่าสนใจ

ประเทศที่มีประชากร 2.4 ล้านคน กับโปรแกรมวัคซีนแห่งชาติ (Singapore’s national vaccination programme) จัดหา Pfizer และ Moderna ไว้แล้ว 4.2 ล้านโดส ขณะเปิดทางเลือกเรียกว่า Special access route สำหรับวัคซีน Sinovac จำนวน 200,000 โดส สำหรับผู้ที่ต้องการ เข้าถึงบริการได้ที่คลินิกเอกชน ได้รับวัคซีนฟรีจากรัฐ แต่เสียค่าบริการของคลินิกเอกชนเอง ทั้งนี้เนื่องจาก sinovac ยังไม่ได้จดทะเบียน (unregistered) เข้าอยู่ในโปรแกรมวัคซีนแห่งชาติ ดังนั้น ผู้รับบริการจึงไม่ได้แพ็กเกจเกี่ยวกับการประกัน (injury financial assistance programme)

แม้ว่า sinovac ได้รับรองจาก WHO แต่สิงคโปร์ก็ยังรีรอ ขhออ้างถ้อยแถลงกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ระบุไว้อีกครั้ง เผื่อผู้นำระบบสาธารณสุขไทยยังไม่ได้อ่าน “แนวทางของ WHO โฟกัสกับประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง ซึ่งเข้าถึงวัคซีนได้อย่างจำกัด” ขณะที่ระบบสาธารณสุขสิงคโปร์ “…typically conduct further rigorous evaluations beyond WHO.” (อ้างจาก https://www.channelnewsasia.com/)

ภาพชิ้นส่วนข้างต้น สะท้อนโลกที่แบ่งแยกโดยวัคซีน ปรากฏเป็น league 2 ระดับอย่างน่าสนใจ ประเทศพัฒนาส่วนใหญ่ในยุโรป และอเมริกาเหนือ ส่วนเอเชีย มี สิงคโปร์และญี่ปุ่น โครงการวัคซีนแห่งชาติ จัดสรรวัคซีนชนิดเดียวกัน ขณะที่อีก league ให้ความสำคัญวัคซีนแบบดั้งเดิม

ดูเหมือนไทยตั้งใจอยู่ในตำแหน่งที่มั่นใจ แต่ด้วยคาดหวัง AstraZeneca ซึ่งมีโรงงานใหม่ถอดด้ามที่นี่ มากจนเกินไป จะด้วยสถานการณ์ผลักดันหรือเป็นความตั้งใจของผู้นำรัฐและสาธารณสุขไม่กี่คน ให้ไทยลงมาอยู่ league ที่ 2

คำถามของสังคมจึงดังขึ้นๆ จากนั้นผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย พร้อมกันออกมาเรียกร้องให้รัฐมีความพยายามอย่างจริงจังไปยังตำแหน่งที่ดีกว่านี้ อาจเทียบเคียงให้กลับไปอยู่ league ที่ 1 ก็ว่าได้

 

ภูมิคุ้มกันหมู่

หากผู้คนในสังคมเชื่อมั่นว่าวัคซีนมีคุณภาพ มีจำนวนเพียงพอ และมาถึงในเวลาทันกาล ปรากฏการณ์บางอย่างที่เป็นอยู่คงจะไม่เกิดขึ้น

–ทุกคนมีความต้องการวัคซีนแค่ 2-3 โดส จะได้รับก่อน-รับหลังกันบ้าง ช่วงเวลาหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ด้วยไม่มีใครสามารถกอบโกยจำนวนมากกว่านั้นเป็นบางสิ่งบางอย่างที่เรียกกันว่าคอร์รัปชั่น จะไม่มีปรากฏการณ์ตื่นตระหนก แย่งชิง แซงคิว อาศัยทั้งเงิน อำนาจ เส้นสาย และคอนเน็กชั่น ว่ากันว่าเป็นไปและเป็นอยู่ ในสังคมระบบอุปถัมภ์

–วัคซีนทางเลือกคงไม่มี ถ้าจะมี คงเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ชนชั้นกลางขึ้นไปที่จ่ายเงินเอง คงไม่มีความวิตกเกินควร โฟกัสกับตัวเองมากเกินไปอย่างเป็นอยู่ คงไม่ใครพาดพิงกล่าวโทษผิดเป้า กรณีสภากาชาดไทย ไม่เพียงมีข้อมูลรับฟังได้ว่าไม่ได้ตัดยอดจากใครมา ทั้งเป็นหน่วยงานเพียงไม่กี่แห่งในสังคมไทย มีพลังและตั้งใจให้ความสำคัญกับผู้เปราะบาง ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เป็นภารกิจทางอุดมคติ ควรให้การสนับสนุน

อันที่จริงผู้ที่คิดว่า “เอาตัวรอด” ได้รับวัคซีนอย่างไม่กระจัดกระจาย ไม่เป็นกลุ่มก้อน ผ่านไปสักระยะจะตระหนักได้ว่า มิใช่เป็นทางออกและทางรอดอย่างยั่งยืน ไม่ว่าเป็นมิติทางสังคมและระบบเศรษฐกิจที่มีองคาพยพเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก ชีวิตปัจเจกอันเป็นปกติ พลวัตทางสังคมและระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไป ก็ต่อเมื่อผู้คนในสังคมได้รับวัคซีนเป็นส่วนใหญ่ จนภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงมีจุดโฟกัสอยู่ที่ผู้กุมอำนาจ ได้แง้มประตูเพียงเล็กน้อย ความสามารถ “เข้าถึง” และ “ทางเลือก” ของผู้คนในสังคมจึงเป็นไปอย่างจำกัด เป็นเรื่องสำคัญและใหญ่มาก เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ ความเป็น-ความตายของผู้คน

ทางที่เป็นไปได้ เชื่อว่ากระแสสังคมกำลังพุ่งเป้าชัดและตรงยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้ประตูแห่งกระบวนการจัดหาวัคซีนเปิดกว้าง เพื่อการจัดสรรวัคซีนอย่างเพียงเท่าเทียมและทันกาลยิ่งขึ้น

เชิงอรรถ

*New England Journal of Medicine หรือ NEJM (https://www.nejm.org/) วารสารการแพทย์ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นวารสารทางการแพทย์ที่ดีที่สุด โดยสมาคมการแพทย์รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Medical Society) ก่อตั้งขึ้นมากว่า 100 ปี

**The Lancet (https://www.thelancet.com/) วารสารการแพทย์รายสัปดาห์ ที่เก่าแก่ที่สุดและรู้จักกันดีเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ก่อตั้งมาเกือบ 200 ปี โดยศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ ปัจจุบันมีสำนักงาน บรรณาธิการในนครลอนดอน นิวยอร์ก และปักกิ่ง

***JAMA (The Journal of the American Medical Association) วารสารการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ทั่วโลกอีกฉบับหนึ่ง จัดพิมพ์ 48 ครั้งต่อปี โดยสมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association) ก่อตั้งเมื่อปี 2426 ปัจจุบันมีทั้งฉบับภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน (https://jamanetwork.com/)