เครื่องเสียง : PSB Alpha AM5 Powered Bookshelf Speakers (จบ) / พิพัฒน์ คคะนาท

เครื่องเสียง

พิพัฒน์ คคะนาท / [email protected]

 

PSB Alpha AM5

Powered Bookshelf Speakers (จบ)

 

ผมอยากลองเล่นโหมด Dialogue กับ WideSound จากภาพยนตร์ดูบ้าง เลยเชื่อมต่อลำโพงตู้หลักเข้ากับช่องออพติคัลเอาต์ ของ HDTV แล้วเริ่มด้วยการชม Blade Runner, The Final Cut จาก Netflix และพบว่าคุณสมบัติทางด้าน Digital Sound Processing ทำได้ดีเหมือนที่โฆษณาไว้ เช่นกันกับซีนพูดคุยที่เสียงสนทนามีความคมชัด และช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ออกจะกลวงไปหน่อยกับฉากบินเหนือเมือง

โหมด WideSound ได้ขยายเวทีเสียงออกไปมาก ดนตรีประกอบเลยขอบเขตผนังข้างลำโพงออกไปไกล รวมทั้งเอฟเฟ็กต์ที่ใส่เข้ามาก็เหมือนจะเกินเลยออกไปนอกห้อง ขณะที่เสียงสนทนายังคงถูกตรึงเอาไว้บนจอ

แต่ผมรู้สึกว่าการรับฟังของผมถูกกดดันอยู่สักหน่อย ถึงกระนั้นผมก็ยังชอบเอฟเฟ็กต์ทั้งสองโหมดในการดูหนังเรื่องนี้อยู่ดี โดยเปิดใช้ทั้ง MaxxDialog และ Maxx3D แต่กับการฟังเพลงแล้ว ผมใช้ Stereo โดยตรง

จากนั้นผมลองเพิ่ม Alpha S8 Active Sub-Woofer ขนาด 8 นิ้ว ผนวกแอมป์กำลังขับ 150W Class-D เข้ามาในระบบ แล้วกลับไปฟัง The Pines of the Appain Way อีกครั้ง

พบว่าโน้ตของออร์แกนดูจะเบาลง แต่มีความเป็นดนตรีมากขึ้น รวมทั้งเสียงสั่นสะเทือนก็ลดน้อยลงด้วย ขณะเดียวกันพบว่ามวลอากาศที่ยิ่งใหญ่มีความสมจริงมากขึ้น เสียงของ Kettle Drum ฟังดูดีขึ้น -ภาพรวมของเสียงไม่ได้ให้ความรู้สึกแออัดเหมือนฟังคราวแรกกับลำโพงสองตัว ซึ่งน่าจะเนื่องเพราะ Alpha AM5 ไม่ต้องทำงานหนักในย่านความถี่ต่ำๆ นั่นเอง

และนั่นมันยังช่วยให้ขณะ Riff เสียงเบสใน Flight of the Cosmic Hippo ฟังดูสะอาดขึ้นด้วย รวมทั้งยังฟังดูกระชับขึ้นกว่าเดิม ชนิดที่แทบจะมองเห็นรูปแบบการพลิ้วไหวนิ้วมือของศิลปิน ขณะที่ไล่โน้ตไปตามสายกีตาร์ได้นั่นเทียว

นั่นแสดงให้เห็นว่า Alpha AM5 ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ จากการเพิ่มสับ-วูฟเฟอร์เข้ามา แต่ Alpha S8 ที่เพิ่มเข้ามาก็หาได้ทำให้เสียงเบสดูโดดเด่นขึ้นแต่อย่างใด หากเป็นการช่วยควบคุมเสียงเบสได้ดีขึ้น ฟังดูแน่นขึ้น สำหรับผมแล้ว สิ่งหลักๆ ที่ขาดหายไปในเสียงเบสของ Alpha AM5 ที่ไม่มีสับ-วูฟเฟอร์ น่าจะมาจากการทำงานของ MaxxBass มากกว่า

 

ผมได้ลองเปรียบเทียบ Alpha AM5 กับ Triangle Elara LN01A (890 เหรียญสหรัฐ/คู่) ซึ่งรับรู้ได้ถึงเสียงของแบ็กกราวด์ นอยส์ ที่ค่อนข้างแตกต่างกัน ทั้งจากการฟังผ่านออพติคัล อินพุต และโฟโน อินพุต นั่นคือ PSB เงียบกว่า Triangle มาก เพราะฟังจากแผ่นไวนีลกับ Triangle นั้น ที่ตำแหน่งนั่งฟังซึ่งห่างออกไป 5 ฟุต ผมยังได้ยินเสียงซ่าเบาๆ ขณะที่เมื่อขยับใกล้เข้ามาที่ 3 ฟุต เสียงซ่านั้นค่อนข้างจะได้ยินชัดเจน

เริ่มกันที่งานจากแผ่นไวนีลเพลง Fast Car ของ Tracy Chapman (LP, Electra 96 07741) เมื่อฟังกับ PSB สัมผัสได้ถึงน้ำเสียงที่น่าตื่นเต้นและเปี่ยมไปด้วยไดนามิก

ขณะที่ Triangle ให้น้ำเสียงออกมาค่อนข้างราบรื่น และเป็นเสียงที่ออกจะฟังง่าย น้ำเสียงที่ฟังดูดุดันเร่าร้อนแบบ Dark-Toned ของแช็พแมนเมื่อฟังกับ PSB ดูจะให้ออกมาเร้าอารมณ์มากกว่า แต่เสียงจากสายโลหะของอะคูสติกกีตาร์ ฟังดูออกจะคมแข็งไปบ้าง

ขณะที่ Triangle ให้ออกมาฟังดูจะกลมกล่อมกว่า ขณะที่เสียงเบสไฟฟ้าเมื่อฟังกับ PSB รับรู้ได้ถึงพลังและความชัดเจนที่เหนือกว่า ขณะที่ Triangle ให้เสียงออกไปข้างนุ่มนวลมากกว่า

ขณะที่เสียงกลองของ PSB ให้ออกมาได้กระแทกกระทั้น รุนแรงกว่าที่ Triangle ให้ออกมา รวมทั้งไดนามิกของ Triangle ดูจะถูกบีบอัดเล็กน้อย แต่เมื่อเร่งระดับความดังขึ้น เสียงของ PSB จะให้รู้สึกได้ว่าคมแข็งกว่า

ทำนองเดียวกัน, เมื่อฟังแผ่นไวนีลกับเพลง Into the Mystic ของ Van Morrison เสียงของ Triangle ดูเหมือนจะถูกบีบอัด เสียงแซกโซโฟนเหมือนจะไม่พุ่งออกอย่างที่ควร เบสก็เหมือนจะไม่ชัดเจนสักเท่าไรนัก

เมื่อฟังกับ PSB หางเสียงร้องของมอร์ริสันฟังดูแข็งกระด้างเล็กน้อย ซึ่งผมไม่พบจากการฟัง Triangle แต่ PSB ให้เสียงร้องที่มีระดับแตกต่างกันออกมาได้อย่างลื่นไหลและน่าฟังกว่า

ขณะที่ภาพรวมของแต่ละชิ้นเครื่องดนตรีนั้น Triangle ออกจะถูกบีบอัด ขณะที่ PSB บ่งบอกความแตกต่างออกมาได้ชัดเจนกว่า

 

ผมเชื่อมต่อแมคบุ๊ก โปร เข้ากับ Triangle ผ่านทางออพติคัล อินพุต เปรียบเทียบกับการเล่นแมค ผ่าน USB ของ PSB ฟังท่อนเปิดของ The Pines of the Appain Way พบว่า Triangle ให้เสียงออกมาเปิดโปร่งขึ้นเล็กน้อย เสียงของตัวโน้ตจากออร์แกนมีความก้องกังวานมากขึ้น ขณะที่ความก้องสะท้อนลดน้อยลง กลุ่มเครื่องเป่าทองเหลืองสามารถคุมโทนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งทำให้ผมออกจะชื่นชอบ Triangle อยู่ไม่น้อย

แต่เมื่อฟังอย่างเอาจริงเอาจังแล้ว ความเหนือกว่าก็เปลี่ยนไปอยู่กับ PSB ที่สามารถให้รูปวงออกมาได้ชัดเจน สมจริง ปราศจากการบีบอัดแบบที่เกิดกับ Triangle รวมทั้งในช่วงท้ายๆ เสียงของกลองทิมปานีมีความยิ่งใหญ่กว่าที่ Triangle ให้ออกมา

ใน Angle of Doubt จาก All Shore ของ Punch Brothers (24/96 FLAC) เสียงแมนโดลินและแบนโจจากการถ่ายทอดของ PSB ให้ออกมาได้รวดเร็วกว่า Triangle เช่นเดียวกับเสียงของดับเบิล เบส ที่ PSB สามารถควบคุมและให้ออกมาด้วยพลังที่มากกว่า เช่นกันกับเสียงของอะคูสติกกีตาร์ ที่ PSB ให้ออกมาได้หนักแน่นกว่า

รวมทั้งผมยังชอบเสียงร้องที่รับรู้ได้ถึงลมหายใจ และอุดมไปด้วยรายละเอียดอย่างน่าติดตามของ PSB ขณะที่ฟังจาก Triangle จะรับรู้ได้ว่าเสียงร้องนั้นฟังดูขึ้นจมูกและออกจะมีสีสันเล็กน้อย

 

ลำโพงในอนุกรม Alpha ของ PSB ได้รับการยกย่องในแง่ของประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า มาตั้งแต่รุ่นแรกที่ปรากฏตัวขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1991 ผ่านมาถึงวันนี้ร่วมสามทศวรรษแล้ว Alpha ใหม่ที่มาในรูปแบบของ Powered Speaker ได้ยกระดับคุณภาพนั้นให้เหนือชั้นขึ้นไปอีกระดับ

ในมุมมองของผมแล้ว Alpha AM5 เปรียบได้กับเพาเวอร์ สปีกเกอร์ ที่ทรงคุณค่ายิ่ง เมื่อคราวที่ได้คุยกับผู้ออกแบบลำโพงนี้ เขาได้อธิบายถึงคุณประโยชน์ของลำโพงแบบนี้ว่า มันเป็นระบบปิด ดังนั้น จึงสามารถปรับแต่งให้เหมาะสมได้มากกว่าพวกลำโพงระบบเปิด เพราะแอมป์ที่ผนวกเข้ามาจะถูกออกแบบมาเพื่อให้ขับตัวมันโดยเฉพาะนั่นเอง

มีบทวิจารณ์มากมายที่ยืนยันว่า Alpha P5 คือลำโพงที่ยอดเยี่ยมมากในระดับราคา 399 เหรียญสหรัฐ ดังนั้น เมื่อเพิ่มเงินอีก 200 เหรียญ เพื่อได้มาซึ่งแอมป์ที่ออกแบบมาสำหรับมันโดยตรง พร้อมกับมีภาคโฟโน สเตจ, USB DAC, บลูทูธ ตลอดจนภาค DSP ที่เปี่ยมประโยชน์ ทั้งหมดนั้นทำให้ Alpha AM5 สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ไปได้ ทั้งในแง่ของขนาดตลอดจนพลังขับเคลื่อน ที่ล้วนลงตัวกันอย่างยิ่ง ในราคา 599 เหรียญสหรัฐ มันช่างคุ้มค่ามากกับการได้ซิสเต็มทรงคุณค่าอันสามารถตอบสนองความต้องการได้ ทั้งในแง่ของการดูหนังและฟังเพลง เพียงแค่เพิ่มแหล่งโปรแกรมอีกเพียงหนึ่งหรือสองเท่านั้นเอง

มันคือความคุ้มค่าที่ผมขอแนะนำอย่างยิ่งยวด

ย้ำอีกครั้งว่า ‘ผม’ ในที่นี้ คือคุณ Gordon Brockhouse ผู้วิจารณ์นะครับ