Technical Time-Out : ‘โค้ชเช’ เส้นทาง 19 ปี สู่เหรียญทองโอลิมปิกแรกเทควันโดไทย

ไทม์เอาต์

Red Monster

 

‘โค้ชเช’ เส้นทาง 19 ปี

สู่เหรียญทองโอลิมปิกแรกเทควันโดไทย

 

ทําเอาแฟนกีฬาเฮลั่นทั้งประเทศ เมื่อ “น้องเทนนิส” *พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ* จอมเตะสาวไทยผงาดคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ให้กับทีมเทควันโดไทย หลังแซงชนะคู่แข่งชาวสเปน 11-10 ในช่วงไม่กี่วินาทีสุดท้ายของการแข่งขัน ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ รุ่น 49 ก.ก.หญิง ศึกโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา

และหนึ่งในคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ นั่นคือ *เช ยอง ซอก* หรือ *โค้ชเช*

ชื่อของโค้ชเชนั้นเป็นที่รู้จักของแฟนกีฬาชาวไทยมาเป็นเวลานาน แต่บางคนอาจไม่รู้ว่าโค้ชชาวเกาหลีใต้รายนี้เข้ามาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยตั้งแต่ปี 2002 หรือนานถึง 19 ปีแล้ว

โค้ชเชเคยเปิดใจถึงจุดเริ่มต้นการเข้ามาทำงานให้กับทีมชาติไทยว่า ตอนนั้นเป็นโค้ชเทควันโดได้ประมาณ 1 ปีกว่า แล้วมีความฝันว่า อยากเป็นโค้ชทีมชาติที่ไม่ใช่เกาหลีใต้ อยากไปคุมทีมในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อปี 2001 ได้ไปเป็นโค้ชเทควันโดที่ประเทศบาห์เรน จากนั้นต่อมาปี 2002 มีแข่งเอเชี่ยนเกมส์ ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี ตอนนั้นทีมชาติไทยกำลังมองหาโค้ชเทควันโดอยู่พอดี จึงถูกติดต่อให้คุมทีมชาติไทย

และด้วยความที่เป็นโค้ชจากชาติต้นตำรับกีฬาเทควันโดทำให้โค้ชเชปลุกปั้นและถ่ายทอดเคล็ดวิชานักกีฬาได้เป็นอย่างดี ซึ่งการฝึกสอนของโค้ชเชนั้น ขึ้นชื่อเรื่องระเบียบวินัยสูง ลูกศิษย์ต่างบอกว่าเป็นการซ้อมที่ทั้งโหดและหนักมาก แต่ทั้งหมดก็เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด

แน่นอนว่าความเข้มงวดของโค้ชเชเคยเกิดปัญหามาแล้ว

 

ในปี 2014 เมื่อนักกีฬารายหนึ่งจุดประเด็นเรื่องบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรง กระแสสังคมแยกเป็นสองฝั่ง ขณะที่ลูกศิษย์ในทีมชาติทั้งอดีตและปัจจุบันเวลานั้น ต่างก็ออกมายืนยันเรื่องความมุ่งมั่นตั้งใจและเจตนาที่ดีของโค้ช ซึ่งหลังจากเคลียร์ใจกันได้ โค้ชเชก็ได้มุ่งมั่นทำหน้าที่โค้ชทีมชาติไทยต่อไป

“ผมสอนแบบคนเกาหลี ตอนแรกๆ ติดขัดเรื่องภาษาอยู่บ้าง อธิบายอะไรก็ยาก จึงต้องคอยแสดงท่าทางในสื่อสารแทน แต่ไม่ใช่ปัญหาที่หนักเท่าไหร่ ส่วนที่คนบอกว่าเป็นโค้ชจอมเฮี้ยบนั้น จริงๆ ก็รู้สึกเสียใจ เพราะผมเป็นคนที่ทำอะไรก็ทำด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น ทำอะไรเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้เอามาคิดมากเท่าไหร่ เพราะเป้าหมายของผมก็แค่อยากเห็นนักกีฬาได้พัฒนา และตั้งในใจการซ้อม” โค้ชเชกล่าว

ต้องยอมรับว่า เพราะการเข้ามาปลุกปั้นนักกีฬาของโค้ชเช ทำให้ทัพจอมเตะทีมชาติไทยมีบทบาทในเวทีโลก และเริ่มคว้าเหรียญศึกโอลิมปิกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทีมชาติได้จาก “วิว” *เยาวภา บุรพลชัย* ซึ่งได้เหรียญทองแดงในรุ่น 49 ก.ก.หญิง ในโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ

จากนั้น 4 ปีต่อมาที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน “สอง” *บุตรี เผือดผ่อง* คว้าเหรียญเงินจากรุ่น 49 ก.ก.หญิง และในโอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ “เล็ก” *ชนาธิป ซ้อนขำ* ก็คว้าเหรียญทองแดงในรุ่น 49 ก.ก.หญิงเช่นกัน

ต่อมาในโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เป็นครั้งแรกที่จอมเตะไทยคว้าเหรียญรางวัลได้มากกว่า 1 เหรียญ เป็น 1 เหรียญเงินจาก “เทม” *เทวินทร์ หาญปราบ* ในรุ่น 58 ก.ก.ชาย และ 1 เหรียญทองแดงจาก “เทนนิส” พาณิภัค รุ่น 49 ก.ก.หญิง

ก่อนที่น้องเทนนิสจะซิวเหรียญทองได้สำเร็จในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ครั้งนี้

 

น้องเทนนิสเผยว่า หลังจากคว้าเหรียญทองได้ โค้ชเชพูดว่า “เราทำได้แล้ว ขอบคุณนะ ขอบคุณที่ทำได้ เพราะเราก็รอนานแล้ว”

เรียกได้ว่าเป็นการขอบคุณที่ไปด้วยความรู้สึกทั้งตื้นตันและภาคภูมิใจ

นอกจากโอลิมปิกแล้ว โค้ชเชยังสร้างนักกีฬาเทควันโดไทยในระดับแชมป์โลกขึ้นมาถึง 4 คน คือ *รังสิญา นิสัยสม* ในรุ่น 62 ก.ก. หญิง, *ชัชวาล ขาวละออ* รุ่น 54 ก.ก. ชาย, ชนาธิป ซ้อนขำ รุ่น 49 ก.ก. หญิง และพาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ รุ่น 46 ก.ก.หญิง

เมื่อทำงานมาเป็นเวลานาน โค้ชเชย่อมมีความผูกพันกับทีมชาติไทยมากๆ จนถึงขนาดที่ว่าเคยมีชาติอื่นเสนอค่าจ้างที่สูงกว่า แต่เขาก็ปฏิเสธและเลือกที่จะอยู่ไทยต่อ

และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือการที่จากนี้ โค้ชเชเลือกตัดสินใจสละสัญชาติเกาหลี เพื่อเดินหน้าของสัญชาติไทยอย่างเต็มตัว โดยจะยื่นเอกสารทั้งหมดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อในเร็วๆ นี้

ด้วยความทุ่มเทตลอด 19 ปีที่ผ่านมากับการพาเทควันโดทีมชาติไทยผงาดสร้างผลงานระดับนานาชาติมากมายเช่นนี้ การมอบสัญชาติไทยน่าจะเป็นอีกหนึ่งการตอบแทนที่ดีที่ทำให้โค้ชเชมีความสุขแน่ๆ