ไอติม ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ เปิดสูตรวัคซีน 3 เข็ม ‘แก้ รธน.’ ย้ำแก้วิกฤตไม่ต้องพึ่ง ‘นอกระบบ’/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

 

ไอติม ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’

เปิดสูตรวัคซีน 3 เข็ม ‘แก้ รธน.’

ย้ำแก้วิกฤตไม่ต้องพึ่ง ‘นอกระบบ’

 

10 ธันวาคมนี้ ไอติม “พริษฐ์ วัชรสินธุ” จะอายุครบ 30 ปี ที่ผ่านมาอดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์รายนี้ เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียง ทั้งที่เข้าสู่แวดวงการเมืองได้ไม่นาน แต่ด้วยโปรไฟล์ครอบครัวและวุฒิการศึกษาที่ดี ทำให้หลานชายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่คาดหวังของผู้คนว่าน่าจะเป็นนักการเมืองเลือดใหม่ที่มีอนาคตไกล

วันนี้แม้หนุ่มหล่อดีกรีนักเรียนนอกคนนี้จะพลาดหวังจากเก้าอี้ ส.ส.กทม.เขต 13 เมื่อปี 2562 พร้อมลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ หลังพรรคนี้เข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่เขาก็ยังทำกิจกรรมทางการเมือง ควบคู่กับการนั่งเก้าอี้ซีอีโอ บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด อันเป็นบริษัทสตาร์ตอัพด้านการศึกษา (EdTech) ที่มีนักลงทุนอินโดนีเซียถือหุ้นใหญ่ ในชื่อ “StartDee” มาจากคำว่า จุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตที่ดี

ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ในฐานะแกนนำกลุ่ม Re-Solution ที่เคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในแคมเปญ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” ด้วยจุดประสงค์สำคัญคือสกัดกั้นกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก ส.ว. การปรับที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระ รวมทั้งการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฯลฯ

 

หนุ่มไอติมอธิบายว่า การแก้รัฐธรรมนูญต้องทำ 3 อย่าง เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีน 3 เข็ม

เข็มแรก คือการแก้รายมาตรา เพราะกระบวนร่างฉบับใหม่ต้องใช้เวลา ดังนั้น ต้องแก้รายมาตราที่เป็นปัญหาทันทีเลย โดยเฉพาะกลไกต่างๆ ที่ใช้สืบทอดอำนาจของ คสช.

1. การยกเลิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และปรับมาใช้ระบบสภาเดียว ที่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

2. การปฏิรูปที่มาขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ

3. การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

4. เรื่องของมรดกรัฐประหาร มาตรา 279 ทำให้คำสั่ง คสช.ชอบด้วยกฎหมายด้วยรัฐธรรมนูญอัตโนมัติ ต้องยกเลิกไปเพื่อให้คำสั่งถูกประเมินอีกทีหนึ่ง ว่าขัดกับกฎหมาย ขัดกับรัฐธรรมนูญ ขัดกับสิทธิมนุษยชนมากน้อยแค่ไหน

ขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อ 150,000 รายชื่อยื่นไปในรัฐสภาแล้ว และอยู่ในขั้นตอนที่รัฐสภากำลังตรวจสอบรายชื่อ จากนั้นจะนำเข้าพิจารณาโดยรัฐสภา

ส่วนเข็มที่ 2 พอแก้รายมาตราที่เป็นปัญหาแล้ว ยังไม่เพียงพอ ต้องตามมาด้วยการร่างฉบับใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้อยู่แค่เนื้อหาที่เป็นปัญหาแค่บางมาตราเท่านั้น แต่มีปัญหาเรื่องที่มาของกระบวนการที่ได้มาโดยมิชอบด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นคือการริเริ่มกระบวนการร่างฉบับใหม่ โดยฉบับใหม่

“ที่ผ่านมาผมคิดว่า มีการสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคม ว่าการแก้บทหนึ่งบทสองคือการล้มล้างการปกครอง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะว่าการแก้บทหนึ่งบทสอง ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง บ้านเรายังคงเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขใต้รัฐธรรมนูญ เรายังคงเป็นรัฐเดียวอยู่ แต่ว่าสามารถแก้ไขเนื้อหาบางมาตราในบทหนึ่งบทสองได้”

วัคซีนเข็มที่ 3 คือการทำงานเชิงความคิด สิ่งที่จะทำให้ประชาธิปไตยมีความยั่งยืนได้ ทำให้รัฐธรรมนูญที่ดีไม่ถูกฉีก ต้องทำให้ประชาชนทุกคน ทุกภาคส่วนเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย

เชื่อมั่นว่าทุกวิกฤตที่เจอสามารถหาทางออกได้ด้วยกลไกประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งกลไกนอกระบอบประชาธิปไตย

 

ในการเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เขามีพันธมิตรหลายภาคส่วนด้วยกัน นี่เองที่ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ในอนาคตคงจะเข้าสังกัดพรรคก้าวไกลเป็นแน่

ประเด็นนี้หนุ่มไอติมแจกแจงว่า “ถ้าพูดในสถานะในตอนนี้ งานหลักของผมคือการบริหารงานการศึกษา ผมยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่ง อย่างน้อยก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาด้วยจุดยืนหลายอย่างที่มีความคล้ายกับพรรคก้าวไกล ก็มีการทำงานกับพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าอยู่บ้าง อย่างเช่น โปรเจ็กต์เรื่องการล่ารายชื่อร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่ม Re-Solution ก็เป็นการร่วมมือกันของกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าของฝั่งผม และกลุ่มคณะก้าวหน้า นำโดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล อย่างตัวผมเองก็เคยมีการร่วมกิจกรรม หรือร่วมงานกับพรรคก้าวไกลบ้าง

โดยเฉพาะเรื่องการเสนอนโยบายการศึกษา เพราะฉะนั้น ที่ผ่านมาด้วยจุดยืนที่คล้ายกัน เลยมีการทำงานร่วมกัน ส่วนอนาคตจะเข้าร่วมพรรคหรือไม่ ผมคิดว่าก่อนจะคุยว่าพรรคไหนนั้น สำหรับผมการตัดสินใจสำคัญอยู่ที่ว่าผมจะกลับมาทำงานด้านการเมืองเต็มรูปแบบอีกทีเมื่อไหร่ เพราะว่าปัจจุบันหน้าที่หลักของผมเองคือการบริหารจัดการบริษัทสตาร์ตอัพ

“ถามว่าในอนาคตอยากกลับเข้ามาทำงานทางด้านการเมืองไหม แน่นอน เพราะผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้าง และเปลี่ยนที่กฎหมาย ซึ่งต้องเปลี่ยนผ่านการทำงานทางการเมือง ผมยังเชื่อแบบนั้นอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจังหวะจะมาเมื่อไหร่”

สรุปได้ไหมว่าตอนนี้เหมือนกับหมั้นกับพรรคก้าวไกลไว้ก่อน ส่วนถึงขั้นแต่งหรือไม่แต่งเดี๋ยวค่อยว่ากันทีหลัง

ไอติมหัวเราะเสียงใส ก่อนตอบว่า “ที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกันในหลายๆ อย่าง และมีจุดยืนหลายๆ อย่างที่คล้ายกัน นอกจากเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว อย่างประเด็นการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ผมกับพรรคก้าวไกลก็มีความคิดตรงกัน มองว่ามาตรา 112 มีปัญหาก็ต้องได้รับการแก้ไขหรือยกเลิก ซึ่งปัจจุบันพรรคก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่ยื่นข้อเสนอตรงนี้เข้าไปในสภา”

 

ถามว่า มองสถานการณ์การเมืองต่อไปอย่างไร เพราะหลายคนมองว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะอยู่ยาว

“จริงๆ ผมว่า ตอนนี้มี 2 สิ่งที่สวนทางกันอยู่ คือในมุมหนึ่งจะเห็นได้ว่าประชาชนมีความไม่พอใจในด้านการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์มากขึ้น ผมคิดว่าการบริหารการจัดการโควิด ต้องยอมรับว่ามีความล้มเหลวในหลายๆ มิติ

หลายๆ คนเริ่มเห็นความบกพร่องทางด้านบริหารของ พลอ.ประยุทธ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนซึ่งทุกวันนี้ยังมีประชาชนไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ยังมีปัญหาถึงขั้นที่ว่า มีสื่อจัดอันดับประเทศไทยเป็นอันดับที่ 118 จาก 120 ประเทศ ในเรื่องการฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด

ดังนั้น การบริหารจัดการโควิดทั้งในมุมสาธารณสุข และในมุมเศรษฐกิจเอง มาตรการเยียวยาอาจจะไม่ตอบโจทย์ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้คะแนนความนิยมของรัฐบาลประยุทธ์ลดน้อยลง

ที่ผมบอกว่ามันสวนทางกัน เพราะในทางกลับกัน จะเห็นว่าเสถียรภาพของ พล.ประยุทธ์ไม่ได้ลดน้อยลงเลย ถึงแม้ว่าความไม่พอใจของพี่น้องประชาชนในท้องถนนจะมากแค่ไหน แต่ทุกครั้งที่มีการออกงบประมาณ หรือออกฎหมายอะไร สามารถออกได้อย่างมีเสถียรภาพ

ส่วนหนึ่งมาจากการที่เขามี ส.ว. 250 คนที่มาค้ำจุนตรงนี้ด้วย ถึงแม้ ส.ส. 400 คนเข้าไปในสภาอยากจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้ ส.ว.มาเลือกนายกฯ ก็ไม่สามารถยกเลิกได้เพราะ ส.ว. 250 คนนั้นไม่ยอม

หรือว่ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเห็นว่าทางรัฐบาลก็ยังสามารถควบคุมเสียงในสภาได้ เลยเกิด 2 อย่างสวนทางกัน เมื่อความนิยมประชาชนลดน้อยลง แต่เสถียรภาพของรัฐบาลยังแข็งแกร่งอยู่จากกลไกและกติกาที่เขาวางไว้

ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญทำให้เขายังสามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้ ไม่ว่าประชาชนจะพอใจหรือไม่พอใจแค่ไหน แม้ประชาชนจำนวนมากที่ไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์แล้วต้องการเปลี่ยนผู้บริหารประเทศก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ที่ประชาชนจริงๆ ผมมองว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกอย่างเดียวไม่พอ ตอนนี้มีคนเรียกร้อง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เพื่อหาคนที่มีความสามารถมากกว่ามาบริหารประเทศ

ผมคิดว่าจำเป็นแต่ไม่พอ เพราะถ้าเปลี่ยนแค่บุคคลแต่ยังคงโครงสร้างเดิมไว้ ยังคงกติกาเดิมไว้ อีกไม่นานจะกลับมาเจอปัญหาแบบนี้อีกเหมือนเดิม ถ้าผู้นำคนใหม่เข้ามาช่วงแรกอาจจะดีกว่าเล็กน้อย แต่พอบริหารประเทศไปได้สักพักแล้วไม่ดี อำนาจในการเปลี่ยนผู้บริหารก็ไม่ได้อยู่ที่ประชาชนเหมือนเดิม ถ้าอยากจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างยั่งยืน การให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่งอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วยเพื่อให้กติกาเป็นธรรม ไม่อย่างนั้นก็จะเจอปัญหาเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก

 

สภาพการณ์อย่างนี้การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่น่าจะมีผลอะไรใช่ไหม

“ผมคิดว่าเราทำงานด้วยความหวัง ยิ่งประชาชนมีความตื่นตัว แสดงความคิดเห็นกันมากขึ้น ก็ส่งผลต่อท่าทีของคนในระบบ ยิ่งภาคประชาชนมีความเข้มแข็งขึ้น ในการออกมารณรงค์หรือแสดงความไม่เห็นด้วยในมาตราต่างๆ หรือเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่งผลต่อท่าทีของผู้มีอำนาจ แน่นอน ตัวแปรที่สำคัญจริงๆ ในตอนนี้คือพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลมองว่า เวลานี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเพื่อความอยู่รอดของประชาชน จำเป็นต้องเปลี่ยนผู้บริหาร และจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีกติกาทางการเมืองที่เป็นธรรมและแก้ปัญหานี้ได้ ก็ควรจะพิจารณาตัวรัฐบาลด้วย”

ส่วนในการเลือกตั้งสมัยหน้า จะสมัครลงสมัครหรือไม่ พริษฐ์บอกว่า “คงต้องดูเวลาอีกทีเพราะไม่รู้ว่าการเลือกตั้งจะมาอีกทีเมื่อไหร่ แต่ถ้าตามปฏิทินเดิมจะเป็นมีนาคม 2566 ส่วนตัวผมต้องดูก่อนว่า ณ เวลานั้นเป็นจุดที่ตัวผมมีความพร้อมมากแค่ไหนในการเสนอตัวในการเลือกตั้ง เพราะอาชีพหลักของผมตอนนี้ยังเป็นการบริหารบริษัทอยู่ ผมคิดว่าจะลงสมัครหรือไม่สมัคร หรือจะอยู่พรรคไหนก็คงไม่สำคัญเท่ากับการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะว่าถ้ายังเลือกตั้งโดยยังคงใช้กติกาปี 2560 เราก็จะกลับมาเจอปัญหาเดิมอีก”

เมื่อถามว่า พูดได้ไหมว่าถ้ายังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมจะไม่ลงสมัคร

พริษฐ์บอกว่า “คงไม่สามารถตอบได้แบบขาวหรือดำขนาดนั้น เพราะว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญได้ ส่วนหนึ่งคือถ้าเรามีจำนวนเสียงในสภามากพอ ถ้าประชาชนทุกคนเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ แล้วมี ส.ส. 500 คนที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น

ไอติมพูดถึงประสบการณ์การเมืองที่ผ่านมาว่า ถือว่าเป็นประโยชน์ เพราะทุกการตัดสินใจตั้งแต่การเรียนจบ จนทำอาชีพการงาน ก็อยู่บนพื้นฐาน 2 อย่าง อย่างแรก คือตัวเองไปอยู่ตรงไหนก็แล้วแต่ก็ต้องทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และสอง คือเมื่อไปอยู่ตรงนั้นแล้วต้องเอาทักษะใหม่ๆ มาใช้ให้ได้มากที่สุด

“สิ่งที่ผมพยายามทำหลังจากวันนั้น (สอบตก) คือเรามาดูว่ามีจุดไหนที่เราสามารถพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น และหวังว่าครั้งหน้าที่เราไปขอโอกาสจากประชาชน จะมีความพร้อมและประชาชนจะเชื่อมั่นเรามากกว่าครั้งที่แล้ว การสมัคร ส.ส.ก็เหมือนกับสมัครงาน แล้วประชาชนเป็นคนเลือกหรือไม่เลือก ตอนนี้หลักๆ ของผมคือการเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุดเพื่อวันที่เราขอโอกาสจากทางประชาชน อย่างน้อยเราก็มีผลงาน และมีแนวทางด้านความคิดที่สามารถแก้ปัญหาให้พวกเขาได้”

ทั้งหมดนี้คงทำให้ได้เห็นว่าในอนาคตหนุ่มไอติมคงจะลงสู่สนามการเมืองแน่นอน แต่ยังไม่ฟันธง 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะอยู่พรรคก้าวไกลหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป