ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม - 5 สิงหาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเคียงข้างจอ |
เผยแพร่ |
พาณิภัค ถึง นาโอมิ
เชื่อว่าเมื่อหัวค่ำคืนวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ชาวไทยส่วนมากคงเฝ้าหน้าจอทีวี เพื่อเชียร์น้องเทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ลงชิงชัยเหรียญทองเทควันโด รุ่น 49 ก.ก. ในโตเกียวเกมส์ 2020 กันแน่นอน
และน้องเทนนิสก็ใช้หัวใจนักสู้เกินร้อยพลิกสถานการณ์จากที่ตามอยู่ 1 แต้มกลายเป็นผู้ชนะขึ้นมาภายในเวลา 7 วินาที อย่างที่ทำเอากองเชียร์ชาวไทยเกือบหัวใจวายกันเป็นทิวแถว
7 วินาทีทองที่ทำให้คนไทยได้เฮ ให้น้องเทนนิสคว้าเหรียญทอง และทำให้โค้ชเชสมหวัง เพราะในฐานะโค้ชของทีมเทควันโดไทย เขาใฝ่ฝันที่จะพานักกีฬาของเขาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้ได้ หลังจาก 19 ปีที่มุ่งมั่น น้องเทนนิสก็ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริง
นาทีที่เวลาการแข่งขันจบลง ชัยชนะเป็นของเราแล้ว จะเห็นโค้ชเชกระโดดดีใจ วิ่งขึ้นไปบนสนามแข่งขันอุ้มน้องเทนนิสชูขึ้นอย่างลิงโลด สะใจ
ภาพตอนเพลงชาติไทยดังกระหึ่ม และหยดน้ำตาไหลออกมาจากดวงตาของน้องเทนนิส ทำให้หลายคนพลอยร้องไห้ตามด้วยความปีติ
คนไทยทั้งประเทศขอปรบมือให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคน เริ่มจากครอบครัวของน้องเทนนิสที่ให้การสนับสนุน รวมทั้งสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ทุกคน ทั้งโค้ชเชและสตาฟฟ์ทีมงาน ทั้งน้องเทนนิส และนักกีฬาคนอื่นๆ ที่ร่วมฝึกฝนกับเทนนิสมาตลอดเวลา เหล่านี้คือความสำเร็จร่วมกัน ที่สร้างความสุขใหญ่ๆ ให้กับคนไทยที่กำลังทุกข์จากโควิด-19 อยู่ในเวลานี้
ตอนที่มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้วางแผง การแข่งขันโอลิมปิกยังคงดำเนินอยู่ ก็ขอให้กำลังใจกับนักกีฬาทุกคน ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จแค่ไหน ขอชื่นชมและปรบมือให้ในความตั้งใจ ความพยายามของทุกคนครับ
ย้อนกลับมาที่น้องเทนนิสอีกครั้ง ในการแข่งขันครั้งนี้เราได้เห็นโมเมนต์ดีๆ เกิดขึ้นที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมไม่น้อย นั่นคือ ความมีน้ำใจนักกีฬาของคู่ต่อสู้ของเทนนิส คือสาวน้อยนักเตะชาวสเปนอายุ 17 ปีที่ชื่อ “แอนเดรียน่า”
หลายคนประทับใจในความสดใสของเธอ ยามเธอเดินเข้าสู่สนาม เธอจะฉีกยิ้มกว้าง ดวงตามีประกาย เหมือนเด็กเดินเข้าสวนสนุก มากกว่านักกีฬาเดินสู่สนามแข่งขัน
เธอเป็นม้ามืดที่คว่ำตัวเต็งมาทุกรอบจนได้มาชิงชัยกับน้องเทนนิสของเรา เธอเกือบจะสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศสเปนได้แล้ว ถ้าไม่เกิดปรากฏการณ์ 7 วินาทีสุดท้ายของเทนนิส
เมื่อหมดเวลา เธอทรุดตัวลงร้องไห้อย่างเสียดายที่เหรียญทองถูกกระชากไป อีกแค่ 7 วินาทีเท่านั้น แต่ไม่ช้าเธอก็ยันกายลุกขึ้นชูมือแสดงความยินดีกับน้องเทนนิสของไทย และยังให้สัมภาษณ์ชื่นชมว่าคู่ต่อสู้จากประเทศไทยสมควรเป็นผู้ชนะแล้ว
ที่น่าชื่นชมคือ วุฒิภาวะที่เกินเด็กอายุ 17 ปีของเธอ สำหรับเด็กอายุเท่านี้ การได้เข้ามาแข่งขันกีฬาโอลิมปิกก็นับว่ามากเกินความคิดฝันแล้ว เธอยังต้องแบกรับความกดดันไม่มากก็น้อยแน่นอน ทั้งจากตัวเอง โค้ช และพี่น้องร่วมชาติ ยิ่งเมื่อเข้ารอบลึกขึ้นเธอก็เป็นที่สนใจจากกองเชียร์ในประเทศของตัวเอง และในรอบชิงเหรียญทอง แน่นอนที่เธอต้องเจอกับการแข่งขันที่หิน เพราะคู่ต่อสู้คือเบอร์หนึ่งของโลก
แต่เธอก็ควบคุมสติ และสมาธิได้ดี จนเกือบจะทำมันสำเร็จ น่าชื่นชมตรงที่เธอสามารถแบกรับทุกอย่างไว้ได้อย่างดีเยี่ยม ตอนพักระหว่างเกมจะเห็นเธอนั่งหลับตาทำสมาธิ นั่นคงเป็นสิ่งที่ทำให้เธอก้าวมาถึงจุดนี้ได้
เราเชื่อว่าเธอจะไปได้อีกไกลในโลกของกีฬาที่เธอรักนี้
มีนักกีฬาอายุยังน้อยหลายคนที่กำลังเติบโตขึ้นมา แอนเดรียน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับพวกเขาและเธอเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
เหมือนที่ “นาโอมิ โอซากะ” นักเทนนิสลูกครึ่งเฮติ-ญี่ปุ่น วัย 23 ปีเคยประสบและแบกรับมาก่อน
ใครได้ติดตามเรื่องราวของวงการเทนนิสโลก ต้องรู้จักเธออย่างดี เธอเป็นนักเทนนิสหญิงเอเชียคนแรกที่ก้าวสู่มืออันดับหนึ่งของโลกด้วยอายุแค่ 21 ปี เริ่มต้นจากการคว้าแชมป์ยูเอส โอเพ่นในปี 2018 โดยเอาชนะมือหนึ่งอย่างเซเรน่า วิลเลียมส์ มาได้ นั่นทำให้โลกทั้งโลกจับจ้องมาที่เธอ
จนถึงวันนี้เธอคว้าไปแล้ว 4 แชมป์แกรนด์ สแลม แต่เมื่อต้นปีนี้ เธอก็สร้างความประหลาดใจให้กับวงการด้วยการประกาศถอนตัวจากการแข่งขันเทนนิส เฟรนช์ โอเพ่น ทั้งที่เธอยังอยู่ระหว่างการแข่งขัน
เธอบอกกับทุกคนเป็นครั้งแรกว่าเธอเป็นโรคซึมเศร้ามานานแล้ว ลึกๆ เธอเป็นคนประเภท Introvert คือชอบเก็บตัว
คนประเภทนี้จู่ๆ ได้กลายมาเป็นจุดโฟกัสของสปอตไลต์ ผู้คนผ่านเข้ามาในชีวิตเธออย่างไม่ทันได้ตั้งตัว สื่อมวลชนที่ยิงคำถามที่สร้างความอึดอัดให้เธอ กิจกรรมทางสังคมจากการเป็นคนมีชื่อเสียงไม่ได้สร้างความสุขให้เธอเท่าที่ควร
ผมได้มีโอกาสดูสารคดีเรื่องราวของเธอจาก NETFLIX ชื่อเรื่อง Naomi Osaka ในนั้นทำให้เราได้รู้จักเธอมากขึ้น โดยเฉพาะกับการแบกรับและกดดันในสิ่งที่เธอเป็นมาตั้งแต่เด็กๆ
จึงไม่แปลกใจนักที่เธอจะเป็น Introvert
เธอมีพ่อเป็นชาวเฮติ แม่เป็นชาวญี่ปุ่น เธอไปเติบโตที่อเมริกาตั้งแต่อายุ 2 ขวบ เธอจึงมีความแปลกแยกในสังคมและเป็นเหยื่อของการตัดสินแบบเหมารวมแน่นอน
ในตอนเด็ก เธอก็ถูกเด็กคนอื่นมองและซุบซิบกันอย่างสงสัยว่าเธอเป็นคนที่ไหนกันแน่ แต่ไม่ใช่พวกเดียวกับเราบ่อยๆ
ในอเมริกามีคนผิวดำอยู่มาก แต่เขาก็ไม่จัดให้เธอเป็นพวกเดียวกัน แม้สีผิวจะใกล้เคียง เป็นคนอเมริกันรึก็ไม่ใช่ สำหรับชาวเอเชียแม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็กังขาที่จะนับพวกกับเธอ ยิ่งเธอมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างและพูดภาษาญี่ปุ่นได้ไม่ดี จึงถูกกันให้ออกจากมาตุภูมิเกิดไปอีก
เธอต้องเติบโตมากับความสับสน แม้ในช่วงการเป็นนักเทนนิสวัยเด็ก เธอเคยลงแข่งขันโดยเลือกเล่นในนามของชาวญี่ปุ่น แต่เธอก็ไม่เคยได้รับการยอมรับจากประเทศแม่แต่อย่างใด
เมื่อเธอก้าวสู่ความสำเร็จมากขึ้น ประสบผลสำเร็จในการแข่งขันใหญ่ๆ จึงเป็นที่สนใจและยอมรับมากขึ้นเป็นเงาตามตัว คราวนี้เธอได้รับการต้อนรับและชื่นชมในความเป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอเคยใฝ่หามาตลอด
ความกดดันต่างๆ ทำนองนี้ รวมทั้งความกดดันจากการเป็นนักกีฬาที่อายุน้อยๆ ทำให้เธอเข้าใจหัวอกของคนที่ตกในภาวะเดียวกันได้เป็นอย่างดี
ในการแข่งขันเทนนิสแกรนด์ สแลม ยูเอส โอเพ่น ปี 2019 เธอต้องเจอกับนักเทนนิสดาวรุ่งขวัญใจเจ้าถิ่น คือ โคโค กอฟฟ์ ซึ่งอายุแค่ 15 ปีในรอบ 16 คน
สำหรับกอฟฟ์นั้น แน่นอนที่เธอต้องแบกรับความคาดหวังจากเพื่อนร่วมชาติอย่างมาก แต่มันไม่ใช่ของง่ายเพราะคู่ต่อสู้ของเธอคือแชมป์เก่ารายการนี้ และแน่นอนอายุและประสบการณ์มากกว่าเธอ
สุดท้ายเธอก็พ่ายแพ้ไป 2-0 เซ็ต โดยเฉพาะในเซ็ตที่สอง เธอแพ้ด้วยสกอร์หลุดลุ่ยถึง 6-0 พอจบการแข่งขัน เธอร้องไห้ออกมาอย่างสุดกลั้น ความกดดันที่แบกรับความคาดหวังก็หนักแล้ว แต่ความเสียใจที่ผลงานออกมาได้ย่ำแย่ขนาดนั้น ยิ่งทำให้เธอเสียใจมากขึ้นจนต้องร้องไห้ออกมา
ตอนนั้นนาโอมิซึ่งเข้าใจเธอดี ได้เอ่ยปากให้เธออยู่ร่วมให้สัมภาษณ์ด้วยกันกับเธอ ซึ่งตามปกติจะมีการสัมภาษณ์สดหลังเกมทันทีทันใด โดยจะสัมภาษณ์เฉพาะผู้ชนะ ส่วนผู้แพ้ก็จะเดินออกจากสนามไป
“ฉันต้องร้องไห้ตอนให้สัมภาษณ์แน่นอน” กอฟฟ์บอกกับเธอ
“ก็ยังดีกว่าไปร้องไห้คนเดียวตอนอาบน้ำ มาเถอะ บอกกับทุกคนว่าเธอรู้สึกอย่างไร”
กอฟฟ์ยอมที่จะให้สัมภาษณ์ด้วย แม้จะเป็นการพูดด้วยน้ำตาก็ตาม ตอนนาโอมิให้สัมภาษณ์ตามมา เธอกล่าวชื่นชมกอฟฟ์ว่า “เธอเจ๋งมาก” และกล่าวชื่นชมครอบครัวและทีมงานของกอฟฟ์ “ฉันเคยเห็นพวกคุณตอนที่เราซ้อมในสนามเดียวกัน ขอบอกว่าการที่เราสองคนทำได้ และการที่พวกคุณทุ่มเทอย่างหนักเท่าที่จะทำได้ มันวิเศษมากๆ” และสองคนก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน
สารคดียังเล่าให้เราเห็นถึงชีวิตที่เปลี่ยนไปของนาโอมิ และสิ่งที่เธอต้องเผชิญพร้อมแบกรับด้วยอายุยังน้อยในแง่มุมอื่นอีก
นี่คือสิ่งที่ตามมาของนักกีฬาที่มีชื่อเสียงที่อายุน้อยๆ ต้องประสบเจอ อยู่ที่ว่าใครจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร
น้องเทนนิสก็คงได้เจอมา และจะด้วยอะไรก็ตาม ดีใจที่เธอก้าวข้ามมันมาได้และก้าวมาไกลจนคว้าเหรียญทองในโอลิมปิก 2020 นี้มาได้ ตามที่ทะเยอทะยานและมุ่งหวัง
แอนเดรียน่าแห่งสเปนคู่แข่งของเทนนิส ก็กำลังเผชิญอยู่ หวังว่าเธอจะก้าวข้ามมันไปได้เช่นกัน
ในพิธีเปิดโอลิมปิกครั้งนี้ นาโอมิได้รับเกียรติให้เป็นผู้จุดคบเพลิงในกระถาง ถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูงสุดของชีวิตนักกีฬาคนหนึ่ง นั่นคือสิ่งที่เธอทำสำเร็จแล้ว คือ การได้รับการยอมรับจากผู้คนในประเทศแม่ ที่เธอเคยถามหามาโดยตลอด เธอเอาทั้งชีวิตเพื่อแลกกับมันมา
โชคดีน้องเทนนิส โชคดีแอนเดรียน่า และโชคดีนาโอมิ
เราจะเป็นกำลังใจให้พวกเธอต่อไป