มองบ้านมองเมือง : แคมป์คนงาน / ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

แคมป์คนงาน

 

การระบาดของโรคร้ายไวรัสสวมมงกุฎ ทำให้แคมป์คนงานก่อสร้าง และบ้านพักพนักงานในโรงงาน กลายเป็นข่าวดัง ด้วยเป็นคลัสเตอร์อันตราย ยอดผู้ติดเชื้อสูงมาก

ทั้งๆ ที่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีมาร่วมห้าหกสิบปี

ทั้งๆ ที่มีนโยบายสนับสนุนกับการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ทำให้เกิดโรงงานมากมาย

ทั้งๆ ที่มีแผนงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และอาคารสถานที่มากมาย

ทั้งๆ ที่ทุกกิจกรรมดังกล่าว ต้องมีคนงานในโรงงาน ที่ทำงานถาวร และต้องมีคนงานก่อสร้างที่ทำงานชั่วคราว

ทั้งๆ ที่จำนวนคนงานทั้งสองประเภท มีมากมาย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ไม่มีใครพูดถึง ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครคิดว่าต้องมีการจัดการเหมือนเรื่องอื่น

ทั้งๆ ที่มีกระทรวงแรงงาน ที่รับผิดชอบดูแลผู้ใช้แรงงานโรงงานและก่อสร้าง แต่ทว่า สนใจเรื่องการหางาน พัฒนาฝีมือแรงงาน ไม่ได้สนใจเรื่องที่พักอาศัย

ทั้งๆ ที่มีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จะต้องรับผิดชอบคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย แต่ทว่า สนใจผู้สูงวัย ผู้ว่างงาน และคนชายขอบ

ทั้งๆ ที่มีการเคหะแห่งชาติ ทำหน้าที่ดูแลที่อยู่อาศัยโดยตรง แต่ทว่า สนใจดูแลบ้านพักข้าราชการ หรือบ้านพักแหล่งเสื่อมโทรมมากน้อยเพียงใด

 

ที่ผ่านมา เรื่องที่พักคนงานพนักงาน จึงเป็นเรื่องของภาคเอกชนจัดการตามสภาพเท่านั้น

ทั้งๆ ที่เรื่องบ้านพักคนงาน มีบทเรียนให้เห็นชัดเจนมาแล้ว เมื่อครั้งที่มีการก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ เมื่อหกสิบปีก่อนนั้น คนงานก่อสร้างทั้งที่ย้ายถิ่นเข้ามาทำงาน หรือมาทำงานชั่วคราวหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ได้อาศัยบ้านพักชั่วคราวในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากมีการเวนคืนที่ดินไว้เกินพอ

ครั้นเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ แรงงานส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปรับจ้างเป็นกรรมกรแบกหามสินค้าขึ้น-ลงเรือ อีกส่วนหนึ่งก็ออกไปหางานทำที่อื่น แต่ทั้งหมดยังคงอาศัยอยู่ในแคมป์คนงานชั่วคราว และอาศัยอยู่ต่อเนื่องเรื่อยมา จนที่พักอาศัยชั่วคราว กลายเป็นที่พักถาวร อีกทั้งพอมีแรงงานอื่นอพยพตามเข้ามาอยู่มากขึ้น ก็ขยายพื้นที่ เพิ่มจำนวนที่อยู่อาศัยและผู้อยู่อาศัย จนกลายเป็นสลัมที่ใหญ่ โด่งดังที่สุดของประเทศ และเป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนี้

จากคลองเตย สลัม หรือที่พักอาศัยชั่วคราวแบบถาวร ยังเกิดขึ้นอีกมากมายในที่ดินของทางราชการ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฯลฯ

เพียงแต่ว่า ปัจจุบันมีการปรับปรุงพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่นไปแล้ว

 

ทุกวันนี้ มีที่พักคนงานโรงงาน ที่พักคนงานก่อสร้าง หลากรูปแบบ หลายแห่ง แทรกตัวอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่ว่าจะเป็นอยุธยา สมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ที่กลายเป็นพื้นที่อันตรายในช่วงโควิด เป็นคลัสเตอร์ที่สร้างข่าวสะพรึงกลัวเป็นระยะ

ถ้าจะมองโลกในแง่ดี มองสิ่งต่างๆ ให้เป็นบวก คงต้องขอบคุณเจ้าไวรัสสวมมงกุฎที่ทำให้คนสนใจ รับรู้เรื่องแคมป์คนงานก่อสร้าง บ้านพักแรงงาน โรงงาน เริ่มมีการดูแล และเข้มงวดเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด

กลัวแต่ว่า พอสิ้นสุดมหกรรมโควิดแล้ว ทุกคนก็จะลืมเรื่องนี้ไป ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นโอกาสที่กระทรวง ทบวง กรม นักวิชาการ สมาคมพ่อค้า นักธุรกิจ ต้องสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง

เพราะปัจจุบันแรงงานอพยพช่วงฤดูกาลก็ไม่มีแล้ว แรงงานช่างฝีมือก็ต้องการน้อยลง เพราะมีระบบไอทีมาแทนที่

คงมีแต่แรงงานต่างด้าวที่ยังเป็นที่ต้องการบ้าง

 

แค่ตัวเลขเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีคลัสเตอร์โควิด ที่เป็นแคมป์คนงานก่อสร้าง 18 แห่ง ทั่วทั้งพระนคร ทั้งที่อยู่ในเมือง ได้แก่ คลองเตย บางรัก ห้วยขวาง ปทุมวัน ดินแดง วัฒนา ทั้งที่อยู่ชานเมือง ได้แก่ บางกะปิ บางคอแหลม บางพลัด สวนหลวง หลักสี่ ดอนเมือง

ยังมีปัญหาที่พักคนงานในโรงงานคอมพิวเตอร์ที่เพชรบุรี โรงงานผลิตรองเท้าที่ตรัง โรงงานถุงมือทางการแพทย์ที่สุราษฎร์ธานี โรงงานอาหารทะเลที่ชลบุรี โรงงานสับปะรดที่ประจวบคีรีขันธ์ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ที่สระบุรี ฯลฯ

เรื่องนี้คงจะเป็นนิวนอร์มอลสำหรับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ต้องสนใจเรื่องที่พักคนงาน หรือแคมป์คนงานมากขึ้น