สรุปข่าวในประเทศ : วัคซีน ‘ความสุข’ เทนนิส fighter

สรุปข่าวในประเทศ

 

วัคซีน ‘ความสุข’

เทนนิส fighter

 

“มันเหมือนความฝัน แต่มันคือฝันที่เป็นจริง” หนูทำได้แล้วโว้ยยยยย!!

คือถ้อยคำที่ “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ได้โพสต์อินสตาแกรม ระบายความรู้สึก

หลังจอมเตะสาวไทย เบอร์ 1 ของโลกในรุ่น 49 ก.ก.หญิงคนนี้ ผงาดคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์เหรียญแรกให้กับทีมเทควันโดไทย และเหรียญแรกให้กับทัพนักกีฬาไทย ในการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ประเทศญี่ปุ่น ด้วยการเอาชนะอาเดรียน่า เซเรโซ อิเกลเซียส จากสเปนไป 11-10 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม

น้องเทนนิสให้สัมภาษณ์หลังจากนั้นอีกว่า

“ก็รู้สึกดีใจมากค่ะที่ทำได้แล้วค่ะ เป็นเหรียญที่รอมานานมากๆ 5 ปีแล้วค่ะ กว่าจะมาถึงวันนี้ก็น้ำตาไหลแทบทุกวัน ซ้อมท้อมากๆ แต่ว่าวันนี้ทำได้ก็ดีใจมากเลยค่ะ ตอนช่วงท้ายนั้นก็ตื่นเต้น แต่เห็นว่ายังมีเวลาอยู่ ยังคุมตัวเองได้ ก็พยายามทำแต้ม แล้วเราก็ทำแต้มได้”

“จังหวะนั้นก็รู้ตัวว่าโดนนำอยู่ แต่ก็บอกตัวเองเสมอว่ายังไม่หมดเวลา ยังทำได้ ก็เลยเข้าไปใกล้ๆ แล้วก็เตะได้”

“เหรียญทองนี้ก็อยากจะมอบให้คนไทยทุกคน เพราะว่าสถานการณ์บ้านเมืองของเราก็ไม่ค่อยจะดี อันนี้ก็อยากจะให้เป็นความสุขของพวกเราทุกคนค่ะ”

(อ่านคอลัมน์เขย่าสนาม : 5 ปีที่รอคอย ทองประวัติศาสตร์ ‘พาณิภัค’)

 

ทุกอย่างเป็นจริงอย่างที่น้องเทนนิสว่าไว้จริงๆ

ด้วยใน “สถานการณ์บ้านเมืองของเราก็ไม่ค่อยจะดี” เหรียญทองที่เธอทำได้ ทำให้หัวใจคนไทยแทบทุกคนที่ดูการถ่ายทอดสด และที่มาติดตามข่าวในภายหลัง

มีความสุข

เป็นความสุขที่กระจายไปในหัวใจของคนทั้งประเทศ

ซึ่งตอนนี้อยู่ห่างไกลจากความสุขมาร่วม 2 ปี อันเนื่องจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น

ยอดคนติดเชื้อ ยอดคนป่วย และยอดคนตาย ทำลายสถิติสูงสุดแบบรายวัน

ภาวะดังกล่าว ทำให้คนไทยจิตตก ขาดขวัญกำลังใจรุนแรง

ด้วยมองไม่เห็นอนาคตว่าจะดีขึ้นเมื่อใด

ดังนั้น การที่ “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ มาสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองจากกีฬาเทควันโด ให้กับคนไทย

จึงเหมือนกับการ “ฉีดวัคซีน” แห่งความสุขเข้าสู่หัวใจของคนไทยทุกคน

แม้ว่าอาจจะไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกัน “ความสุข” ให้อย่างถาวร

แต่การได้สัมผัสสิ่งที่ดีๆ ในชั่วขณะ ก็ทำให้หลายคนชื่นใจ อิ่มใจ และมีกำลังใจที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่อไป

ดังที่น้องเทนนิสทำสำเร็จแล้ว

 

กว่าจะถึงวันนี้ น้องเทนนิสมิได้เดินมาบนเส้นทางที่โปรยด้วยกลีบกุหลาบ

หากแต่ต้องผ่านอะไรมามากมาย

ต้องไม่ลืมว่า น้องเทนนิสสูญเสียคุณแม่มาตั้งแต่ยังเด็ก

คุณพ่อสิริชัย วงศ์พัฒนกิจ บิดา ต้องสวมบทบาททั้งบิดาและมารดา

ซึ่งย่อมไม่ง่ายนัก และยิ่งพยายามดึง “น้องเทนนิส” เข้าสู่เส้นทางของการเป็นนักกีฬาด้วย ยิ่งเป็นเรื่องยาก

คุณพ่อสิริชัยเล่าถึงลูกสาวผ่าน “มติชนออนไลน์” ว่า ตอนแรกน้องเทนนิสเริ่มจากดูพี่ๆ เขาเล่น ตอนแรกก็ยังไม่ได้เล่น พาไปดูพี่ๆ เห็นเจ็บขา เจ็บแขนบ้าง เขาก็หัวเราะคิกคัก

แต่พอหลังๆ ตามไปหลายสนามก็ชอบเอง เข้าไปคุ้นชิน เราหลอกล่อบ้าง ถ้าไปแข่งขันจะพาไปเที่ยวทะเล ไปเที่ยวภูเก็ตบ้าง ไปดูหาดสวยๆ กินอาหารอร่อยๆ หรือแม้แต่บอกว่าจะให้เงิน เขาก็หันมาสนใจกีฬา

ทีแรกเราก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นแชมป์ แค่ให้อออกกำลังกาย เติบโตขึ้นมาตามร่างกายที่เหมาะสม โดยน้องเทนนิสเล่นหลายกีฬาเลย จักรยาน, กรีฑา, วอลเลย์บอล เล่นทุกอย่างเลย

แล้วสุดท้ายก็มาชอบเทควันโด เพราะเป็นกีฬาต่อสู้ และพ่อก็บอกว่ากีฬานี้ช่วยตัวเองได้ ช่วยคนอื่นได้เวลาคับขัน

 

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อสิริชัยรับว่าเมื่อน้องเทนนิสไปแข่งขัน

พอผิดหวังก็จะบ่น จะเลิก จะไม่เล่น พ่อก็จะบอกว่า เรามาไกลพอสมควรแล้ว มาถูกทางแล้ว มาอยู่ในจุดที่ดีที่สุดแล้ว เป็นจุดที่ใครก็อยากมาอยู่ เมื่อมาถึงตรงนี้ ผิดหวังบ้างอะไรบ้างก็ต้องอดทน

แรกๆ พ่อก็ต้องรับกลับบ้านทุกวัน ร้องไห้ โดนเตะหนักๆ เพราะเด็กใหม่มาโดนสั่งสอนบ้าง เพราะจะเตะเบาก็คงไม่ใช่เทควันโด ร้องไห้ ปากแตก พ่อก็ต้องปลอบใจตลอด ฝึกความอดทน พยายามอธิบายหลายครั้งหลายหน ก็เริ่มอยู่ตัวมากขึ้น

คุณพ่อสิริชัยบอกว่า ช่วงแรกๆ เราก็อยากไปให้กำลังใจลูก ไปให้กำลังใจ เพราะเทนนิสเองก็ขาดแม่ด้วย พ่อก็อยากดูแลให้ดีที่สุด เลยเดินทางไปทุกสนาม ที่ไปบางสนามก็ลำบาก ต้องเดินเท้าเป็น 10 กิโลก็มี ไปเกาหลีไม่มีรถ ก็ต้องเดินกลับก็มี แต่พ่อไม่เคยท้อเลย พ่อเป็นนักสู้ เป็นนักกีฬามาตลอด เล่นกีฬามีจุดประสงค์ให้ร่างกายแข็งแรง เรื่องแพ้-ชนะว่ากันทีหลัง

“พ่อท้อไม่ได้เพราะเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องแข็งแกร่งตลอด มาถึงวันนี้ดีใจที่ลูกทำความฝันสำเร็จ กลายเป็นฮีโร่ของคนไทย”

 

นอกจากพ่อและครอบครัวที่เป็นกำลังใจสำคัญของน้องเทนนิสแล้ว

“เช ยอง ซอก” โค้ชเทควันโด ก็เป็นหนึ่งแรงสำคัญที่ช่วยให้เกิดความสำเร็จของน้องเทนนิส

โค้ชเชได้ผ่านการต้องต่อสู้อะไรมากอย่างหนักเช่นกัน

ตั้งแต่สูญเสียคุณพ่อ ในขณะที่เขาอายุได้เพียง 7 ปี

แม่ที่เป็นแม่บ้าน ต้องพยายามหาเงินเลี้ยงลูกสองคนอย่างหนัก

ทั้งทำงานโรงงานทำขนม ทั้งเป็นแม่บ้านตามบ้านต่างๆ

จนส่งเสียเช ยอง ซอก ที่รักในกีฬาเทควันโด สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ในฐานะนักกีฬาเทควันโด

แต่ก็มีภาระเรื่องค่าเล่าเรียนที่สูงมาก

จนเช ยอง ซอก ต้องไปทำงานกรรมกรก่อสร้าง หาเงินเพื่อการเรียน เพื่อแม่ เพื่อครอบครัว

หลังเรียนจบมีโอกาสไปเป็นโค้ชกีฬาเทควันโดให้กับทีมชาติบาห์เรน ชีวิตเริ่มดีขึ้น

แต่ก็ทำได้เพียง 1 ปีครึ่ง ก็ต้องกลับประเทศเกาหลีใต้ เพราะคุณแม่เสียชีวิต พร้อมภาระหนี้สินธนาคารนับล้านบาท

ซึ่งแม้จะเคลียร์หนี้ได้ แต่เขาก็อยู่ในภาวะอันสับสน ไร้เป้าหมาย

จนหันไปพึ่งเหล้า ดื่มมันทุกวัน ทุกวัน จนแทบจะเสียผู้เสียคน

กระทั่งปี 2002 สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ติดต่อสหพันธ์เทควันโดสากล เพื่อให้จัดหาโค้ชเทควันโดมาฝึกสอนนักกีฬาไทย และโค้ชเชคือตัวเลือกคนนั้น

ตอนแรกเช ยอง ซอก ในวัย 27 ปี จะไม่มา

แต่ที่สุดก็ได้ใคร่ครวญว่า ถ้าแม่มาเห็นเราในสภาพแบบนี้คงผิดหวัง จึงกลับตัวกลับใจ

ที่สุดกุมภาพันธ์ 2002 โค้ชเช ยอง ซอก ก็บินมาทำหน้าที่โค้ชในไทย

จน 19 ปีเต็ม ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

โค้ชเช ยอง ซอก นอกจากเป็นโค้ช เป็นครู เป็นเพื่อน เป็นพี่ และเป็นเสมือนพ่อของนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย

โค้ชเชพาทีมชาติไทยก้าวขึ้นสู่อันดับต้นๆ ของโลก

สร้างนักกีฬาดีกรีเหรียญซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ แชมป์โลก โอลิมปิกเกมส์ หลายคน

และมีความฝันร่วมกับนักกีฬาว่า “อยากได้สัญชาติไทย อยากทำเหรียญทองแบบไม่ใช่ในฐานะเป็นคนเกาหลีใต้ แต่เป็นในฐานะคนไทยที่พานักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองโอลิมปิก”

ซึ่งวันนี้ โค้ชเชผลักดันน้องเทนนิสทำสำเร็จแล้ว แม้ว่าจะยังไม่บรรลุว่าวันแห่งความปลาบปลื้มนั้นเขายังไม่ได้เป็นคนสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์

แต่ก็คาดฝันว่าความฝันจะเป็นจริงหลังจากนี้

(อ่าน โค้ชเช เส้นทาง 19 ปี สู่เหรียญทองโอลิมปิกแรกเทควันโดไทย )

 

เรื่องราวการเป็น fighter-นักสู้ ของน้องเทนนิสและครอบครัว ตลอดรวมถึงโค้ชเช เปรียบได้เหมือนวัคซีนแห่งความสุข ที่เชื่อว่าจะสร้างภูมิคุ้มกัน “ใจ” คนไทย ทั้งประเทศให้มีแรงกำลังใจต่อสู้และฟันฝ่าเพื่อการมีชีวิตต่อไป

แม้ว่าจะสิ้นหวังสุดๆ กับหนึ่งในหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้

และนี่คือ หนึ่งในเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูได้รับแจ้งพบผู้เสียชีวิตบริเวณห้องเช่าไม่มีเลขที่ ภายในซอยไพโอเนีย 2 ต.บางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จึงแจ้งเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจสอบ

ที่เกิดเหตุเป็นห้องเช่า เจ้าหน้าที่พบศพนางอาภาภร อายุ 44 ปี อาชีพรับจ้างนวดแผนโบราณตามบ้าน นอนเสียชีวิตคว่ำหน้าอยู่บริเวณข้างเตียงนอนภายในห้องเช่าดังกล่าว

จากการสอบถามเด็กหญิงเอ (นามสมมุติ) ทราบว่าผู้เสียชีวิตเป็นแม่ของตนเองโดยมีน้องสาวอายุ 7 ขวบอีกหนึ่งคน ทราบว่าก่อนหน้านี้แม่มีอาการไออย่างรุนแรงและมีไข้ขึ้นสูง ซึ่งเมื่อวานนี้มีคนข้างห้องพาไปหาหมอ แล้วรับยามากินที่บ้านแต่อาการยังไม่ดีขึ้น ช่วงตอนดึกคืนที่ผ่านมา แม่ก็มีอาการไออย่างมากและอาการทรุดลง

ซึ่งแม่ได้เรียกตนเองและน้องไปสั่งเสียว่า ถ้าแม่เป็นอะไรไปให้พาน้องไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็ก เพราะไม่มีญาติที่ไหนอีกตั้งแต่พากันหนีพ่อที่ทำร้ายร่างกายแม่มาอยู่กันที่นี่ จากนั้นแม่ก็ได้นอนหลับไปพร้อมกับตนเองและน้อง จนกระทั่งตอนเช้าพยายามปลุกแม่เท่าไหร่แต่แม่ก็ไม่ตื่น จนกระทั่งมาทราบว่าแม่ได้เสียชีวิตแล้ว จึงมีคนข้างห้องช่วยแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ

น้องยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าเป็นไปได้อยากบอกแม่ว่า “แม่ไม่ต้องห่วง หนูโตแล้ว หนูจะดูแลน้องเอง ขอให้แม่หลับให้สบาย” ซึ่งคนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวกลั้นน้ำตาเอาไว้แทบไม่อยู่ เพราะรู้สึกสงสารพี่น้องสองคนนี้อย่างจับใจ

เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูได้ทำการตรวจเชื้อโควิดเด็กหญิงทั้งสองคนแล้ว ผลปรากฏว่าติดเชื้อโควิด จึงได้ประสานงานแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มารับตัวไปดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

 

นี่คือ ความเศร้าสร้อยที่เกิดขึ้นในมุมต่างๆ ของสังคมไทย

ซึ่งเราอยากได้วัคซีน “ความสุข” และวัคซีน “fighter-นักสู้” อย่างที่ “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ มอบให้ไปจ่ายแจกสำหรับคนไทยที่มืดมนทุกคน

อย่างน้อยที่สุด หนูน้อยทั้งสองคนควรหายจากโรคโควิด-19 และผ่านความเลวร้ายที่เผชิญไปให้ได้

พร้อมมีกำลังใจต่อสู้เพื่ออนาคตใหม่ เหมือนอย่างที่น้องเทนนิส-โค้ชเช ทำได้!?!