ข้อมูล ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ปัญญา กับการแก้ปัญหาโควิด-19/บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ข้อมูล ข้อมูลข่าวสาร

ความรู้ ปัญญา

กับการแก้ปัญหาโควิด-19

ข้อมูล (Data) ที่ถูกจัดเป็นระบบมีแบบแผนเพื่อประโยชน์ในการสืบค้น เราจะเรียกว่าข้อมูลข่าวสาร (Information) ข่าวสารที่นำไปสู่สร้างสมสิ่งที่เป็นประโยชน์และถ่ายทอดสืบต่อได้เรียกว่า ความรู้ (Knowledge) เมื่อคนมีความรู้และสามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือเป็นหลักในการดำรงชีวิต นั่นคือ ปัญญา (Wisdom)

ในทางกลับกัน ปัญญา ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากขาดซึ่งความรู้ในการคิดวิเคราะห์ ขาดข่าวสารที่รวบรวมมาอย่างเป็นระบบ หรือมาจากข้อมูลที่ผิดพลาดไม่ครบถ้วน

ปัญญาในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คงหนีไม่พ้นวงจรดังกล่าวได้ข้างต้น

 

ข้อมูลในการแก้ปัญหา

ข้อมูลนั้นมีทั้งในเชิงปริมาณ (Quantitative) และเชิงคุณภาพ (Qualitative) ข้อมูลในเชิงปริมาณคือตัวเลขที่มาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาจเป็นรายวัน รายเดือน รายปี อาจเป็นข้อมูลที่มาจากการรวบรวมของเราเองหรือข้อมูลของหน่วยงานอื่น อาจเป็นข้อมูลที่มีในประเทศหรือต่างประเทศ ตัวเลขเหล่านี้คือข้อมูล

ปัญหาในโลกของความเป็นจริงนั้นคือ เรามีข้อมูลตัวเลขมากมายที่ล้นทะลัก ดังนั้น กระบวนการในการเลือกคัดสรรข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจของผู้บริหารจึงเป็นเรื่องสำคัญว่าจะให้ความสำคัญลำดับสูง (Priority) แก่ข้อมูลตัวใด ละเลยที่จะให้ความสำคัญหรือให้ความสำคัญในระดับรองแก่ข้อมูลตัวใด

ข้อมูลในเชิงคุณภาพนั้นอาจจับต้องได้ยากกว่าข้อมูลในเชิงปริมาณ เป็นเรื่องของค่านิยมและความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม เช่น อารมณ์ของผู้คนที่มีต่อการแก้ปัญหาของรัฐในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ซึ่งอาจตีความแปลความหมายข้อมูลได้ในลักษณะที่แตกต่างกัน ยิ่งผู้รับข้อมูลมีทัศนคติหรือภูมิหลังไปในทางใดทางหนึ่ง อาจมีการตีความข้อมูลเชิงคุณภาพไปคนละทิศคนละทางกันไปได้

การรับรู้อารมณ์ของประชาชนในเชิงคุณภาพจึงทำได้ผ่านกระบวนการวิจัยคือการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพื่อแปรสิ่งที่เป็นคุณภาพดังกล่าวออมาเป็นปริมาณคือ เป็นตัวเลขจำนวน หรือเป็นร้อยละของประชาชนที่มีความเห็นไปในแต่ละทิศทางแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นกลางในการศึกษา

มิใช่วิจัยรับจ้างที่ตั้งธงว่าคนพอใจมากไว้ก่อน

 

ข้อมูลข่าวสารขึ้นอยู่กับมุมมองในการวิเคราะห์

จากข้อมูลที่มี การจัดระบบข้อมูล วิเคราะห์ (Analysis) และสังเคราะห์ (Synthesis) เพื่อนำข้อมูลที่มีอยู่มากให้เหลือข้อมูลเท่าที่จำเป็น จัดกล่องจัดประเภท (Categorization) และการจัดรูปแบบการนำเสนอให้เข้าถึงได้โดยง่าย เช่น การใช้ตาราง กราฟ หรือ Infographic ในรูปแบบต่างๆ จะทำให้ข้อมูลที่มีกลายเป็นข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการสื่อสารแก่ประชาชนและประโยชน์ในการตัดสินใจของผู้บริหารที่มีเวลาน้อยไม่สามารถติดตามข้อมูลทั้งหมดสามารถนำสิ่งที่ได้ไปตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ข้อมูลข่าวสารอาจมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นภาพลวงตา (illusion) หากกระบวนการในการหาข้อมูลและคัดกรองข้อมูลมีอคติ (Bias) หรือกระบวนการวิเคราะห์มีเจตนานำเสนอข้อมูลเฉพาะในส่วนที่ตนเองต้องการ

ยิ่งในกรณีที่ผู้นำเสนอต้องการเพียงเพื่อสร้างความพอใจต่อผู้รับข้อมูลข่าวสาร เช่น นำเสนอแต่ด้านดีของสถานการณ์เพื่อให้เกิดความสบายใจ

ข้อมูลข่าวสารที่ถูกนำเสนอก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้

กรณีวัคซีนเต็มอ้อมแขนก็ดี

กรณีมีเตียงมียาเพียงพอสำหรับคนไข้ก็ดี

กรณีการแก้ไขสถานการณ์เป็นไปตามเป้าและพร้อมเปิดประเทศใน 120 วันก็ดี

หากไม่ได้มาจากข้อมูลที่ผิดพลาดหรือการนำเสนอเพื่อให้เจ้านายมีคำพูดดีๆ เสนอต่อประชาชนแล้ว ก็แสดงว่าผู้พูดเองนั้นแทบไม่ได้ดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเลย

 

ความรู้ที่มีอยู่จำกัดและยังไม่รู้จักแสวงหา

ไม่มีใครรอบรู้ทุกเรื่อง ทหารที่ชำนาญการศึกก็ใช่ว่าจะรอบรู้เรื่องวัคซีนรักษาโรค ผู้รับเหมาก่อสร้างที่มาดูแลด้านสาธารณสุขก็ใช่ว่าเคยมีความรู้ด้านการแพทย์มาก่อน แต่เมื่อก็ตามที่มามีหน้าที่บริหาร การใฝ่ใจใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมบ้าง ไม่ต้องมากในระดับเชี่ยวชาญ แต่พอมีในระดับประกอบการตัดสินใจต้องมี

ไม่ใช่รู้น้อยหรือไม่รู้ แต่หลับหูหลับตาใช้อำนาจที่ตนเองมีสั่งการแบบถูกๆ ผิดๆ จนเกิดความเสียหาย ยิ่งผู้อยู่ในอำนาจมีบุคลิกภาพแบบเผด็จการ ใช้อารมณ์ เมื่อบวกกับอวิชชาที่ตัวเองมี ยิ่งพาให้การสั่งการต่างๆ ยิ่งเข้ารกเข้าพง

การแสวงหาความรู้จึงมีทั้งการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองในยามว่าง การถามหรือสนทนากับผู้รู้ หรือการสอบทานข้อเสนอต่างๆ จากแหล่งที่เกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งแหล่งในลักษณะความเห็นที่สอง (Second Opinion) ก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งลงไป

แต่หากไม่รู้ และไม่รู้จักแสวงหา และยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ของการแก้ไขปัญหาสำคัญของบ้านเมือง จะเป็นวิกฤตที่ซ้อนในวิกฤตอีกขั้น

 

ปัญญา ในการแก้ไขปัญหา

มีคนชอบกล่าวว่า สติมาปัญญาเกิด ในประเด็นนี้ สติ หมายถึงการไตร่ตรอง นั่นคือการรู้จัดคิดวิเคราะห์บนพื้นฐานของข้อมูล ข้อมูลข่าวสาร และความรู้ที่มี การแก้ไขปัญหาจึงเป็นการแก้ด้วยปัญญา

ส่วนคำว่า ไม่มีปัญญาในการแก้ปัญหา มักจะมาจากประชาชนหรือคนนอกมองย้อนกลับไปในระบบที่เห็นผลลัพธ์จากการทำงานของรัฐ มากกว่าการที่รัฐจะเป็นผู้ออกมาพูดเองว่า หมดปัญญา ยิ่งผู้มีอำนาจที่มีฐิติ ยิ่งยากที่จะมีคำหลุดออกจากแบบยอมจำนนว่าหมดปัญญาทั้งๆ ที่ผ่านไม่เคยแสดงให้เห็นถึงปัญญาในการแก้ไข

วัคซีนที่มีไม่พอ การนัดฉีดที่ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก คนป่วยที่ไม่สามารถหาสถานที่รักษา ระบบ Home Isolation ที่สร้างขึ้นมาเพื่อลดจำนวนคนป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ดูดีในหลักการแต่ยังมากปัญหาในทางปฏิบัติ จำนวนคนป่วยคนตายที่สูงขึ้นทุกวัน เศรษฐกิจที่พังพินาศจากการปิดเมืองแล้วยังไม่สามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้

ทุกวันนี้ ประชาชนจึงมีแต่คำพูดว่า ไม่มีปัญญาก็ลาออกไป ในขณะที่ฝ่ายผู้มีอำนาจบริหารยังหลงตนเองว่ามีปัญญา จะยังอยากแก้ปัญหาจนสุดฝีมือ ไม่ลาออกเด็ดขาด

เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองมีปัญหารุนแรงในขั้นวิกฤต การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการเดิมๆ ที่ยังไม่ได้ผลแต่ก็ยังเดินหน้าใช้ต่อไป เช่น ปิดเมือง ปิดห้างร้านค้าต่างๆ ให้คนอยู่กับบ้าน ทำงานจากบ้าน หนึ่งเดือนแล้ว สองเดือนแล้ว ปัญหายังไม่ทุเลาเบาบางลง

จึงควรใช้สติปัญญาในการคิดไตร่ตรองถึงสาเหตุแห่งปัญหา เช่น เพราะเราเลือกวัคซีนผิด ทำสัญญาที่เสียเปรียบ หรือขาดความรู้เข้าใจเกี่ยวกับโรคร้ายและวิธีการในป้องกันรักษาที่แท้

ควรไตร่ตรองด้วยปัญญาถึงวิธีการแก้ไขปัญหาในภาวะที่ทุกอย่างมีจำกัด และ สร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมของประชาชนที่จะเดินไปพร้อมกับผู้นำ ไม่ใช่ผลักภาระและสร้างแรงกดดันให้แก่ประชาชนในการต้องดิ้นรนแก้ปัญหาเองแถมยังปกปิดข้อมูลข่มขู่ประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวในการทำงานของรัฐ

หากปัญญามีเพียงเท่านี้ ลาออกไปเถิดครับ เปิดโอกาสให้คนมีปัญญามาแก้ไข

รู้ว่าไม่มีปัญญา คือ ปัญญาอย่างหนึ่งครับ