ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 สิงหาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
Cool Tech
จิตต์สุภา ฉิน
@Sue_Ching
Facebook.com/JitsupaChin
ยินดีต้อนรับ
สู่ ‘Metaverse’
เรารู้จัก Facebook ในฐานะของการเป็นโซเชียลมีเดียที่รวบรวมแวดวงของเรา ตั้งแต่แวดวงแคบๆ อย่างครอบครัว ญาติ เพื่อน เพื่อนร่วมงาน
ไปจนถึงแวดวงที่ขยายกว้างขึ้นอย่างแวดวงของคนที่เราพอจะรู้จักอยู่บ้าง คนที่เราเคยคุยด้วยครั้งสองครั้ง อินฟลูเอนเซอร์ที่เราติดตามผลงาน ดาราเซเลบที่เราเห็นหน้าบนทีวีบ่อยๆ ไปจนถึงนักการเมืองหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกให้มาอยู่ในที่ที่เดียวกันที่เราจะสามารถติดตามหรือแม้กระทั่งสนทนาแลกเปลี่ยนได้อย่างใกล้ชิด
สำหรับผู้ใช้งานอย่างเรา นี่แหละคืออดีต ปัจจุบัน และอนาคตของแพลตฟอร์มอย่าง Facebook
ในสายตาและวิสัยทัศน์ของ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook เขามองอนาคตของ Facebook ว่าจะเป็นมากกว่านั้น
ล่าสุดเขาประกาศก้องต่อสาธารณชนให้เตรียมตัวพบกับการเปลี่ยนผ่านจากโซเชียลมีเดียธรรมดากลายเป็นจักรวาลใหม่ที่เรียกว่า metaverse ทำให้คนหันมาสนใจคำใหม่คำนี้กันอย่างล้นหลาม
Zuckerberg บอกว่า metaverse ที่เป็นอนาคตของ Facebook จะนับเป็นก้าวกระโดดก้าวต่อไปในวิวัฒนาการของอินเตอร์เน็ต เป็นหนังสือบทใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
และ Facebook จะกลายเป็นบริษัท metaverse ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า
แล้ว metaverse คืออะไร?
Metaverse เป็นคำใหม่ที่ประดิษฐ์ขึ้นโดย Neal Stephenson โดยปรากฏอยู่ในนิยายไซ-ไฟเรื่อง Snow Crash ที่เขาเขียนขึ้นในปี 1992
หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่ผู้คนสวมใส่อุปกรณ์สวมศีรษะแสดงภาพเสมือนจริง หรือ virtual reality headsets ในการมีปฏิสัมพันธ์ภายในโลกดิจิตอลคล้ายๆ กับการเล่นเกม
Snow Crash เป็นหนังสือที่ผู้คนในแวดวงเทคโนโลยีในซิลิคอนวัลเลย์บางกลุ่มหลงใหลคลั่งไคล้ และเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา คำว่า metaverse ก็ได้กลายเป็นบัซเวิร์ดหรือคำฮอตฮิตขึ้นมาเนื่องจากมีบริษัทจำนวนมากแข่งกันเทเม็ดเงินมหาศาลเพื่อพัฒนาให้เป็นความจริงขึ้นมา
อันที่จริงแล้ว คำนิยามของ metaverse อาจจะเป็นไปได้หลากหลายอย่างขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนนิยาม แต่ภาพกว้างๆ ก็คือการผนวกรวมระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงที่เราจับต้องได้เข้ากับโลกดิจิตอลเพื่อทำให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
เราน่าจะพอได้เห็นตัวอย่างของสิ่งที่อยู่ใน metaverse กันมาบ้างและเป็นสิ่งที่ทำได้แล้วในปัจจุบัน อย่างเช่น การใช้แว่นซ้อนโลกเสมือนเพื่อแสดงข้อมูลอย่างเช่นลูกศรบอกทาง สภาพการจราจร ชื่ออาคารสถานที่ต่างๆ หรือข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ฉายให้เราเห็นอยู่เบื้องหน้าด้วยการผนวกตัวมันเองเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่จับต้องได้รอบตัวเรา
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของ metaverse
แต่อันที่จริงแล้วกลุ่มคนที่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีนี้ก็มองว่ามันยังไปได้ไกลกว่านั้นอีกมาก
ลองนึกภาพว่าเราสามารถเคลื่อนย้ายตัวเราเองเข้าไปอยู่ในฉากดิจิตอลที่เสมือนจริงแบบสุดๆ จนคล้ายกับการที่อยู่ๆ เราก็วาร์ปไปอยู่ในสวนสัตว์ ผับ บาร์ หรือยอดเขาสูง
Zuckerberg มองว่าความน่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับ metaverse ก็คือการที่มันจะช่วยเปลี่ยนการประชุมวิดีโอคอลล์ที่ทำให้สมองเราเหนื่อยล้ามาตลอดทั้งปีที่ผ่านมาให้กลายเป็นการประชุมเสมือนจริงที่เพื่อนร่วมงานทุกคนรู้สึกเหมือนตัวเองกลับมานั่งประชุมอยู่ในห้องเดียวกันอีกครั้งในแบบที่ไม่มีความเสี่ยงจากการอยู่ใกล้กันเกินไป
เขาบอกว่าปกติแล้วเราเข้าไปใช้งานอินเตอร์เน็ตเราก็จะแค่ดูเนื้อหาสาระต่างๆ แต่ใน metaverse เราจะ “เข้า” ไปอยู่ในนั้นด้วย เราจะสัมผัสได้ถึงตัวตนของคนอื่นๆ ราวกับเราไม่ได้นั่งอยู่กับที่ จะเป็นประสบการณ์รูปแบบใหม่เอี่ยมที่เราไม่เคยทำได้บนการใช้งานแอพพ์หรือเว็บเพจมาก่อน
ถ้าหากอยากลิ้มลองว่า metaverse มันสร้างความรู้สึกอะไรให้เกิดขึ้นได้บ้างก็อาจจะลองดูตัวอย่างได้จากความบันเทิงต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้ว
อย่างเช่น เกม Second Life ซึ่งเป็นเกมที่ผู้เล่นสามารถสร้างอวตารดิจิตอลขึ้นมาเพื่อมีปฏิสัมพันธ์หรือแม้กระทั่งช้อปปิ้งในเกมด้วยการใช้เงินจริงๆ
โลกเสมือนจริงอย่าง Decentraland ที่ผู้มาเยือนสามารถดูคอนเสิร์ต เข้าชมแกลเลอรีงานศิลปะ หรือแม้กระทั่งเข้าไปเล่นการพนันได้ในรูปแบบดิจิตอลซึ่งที่ดินในโลกเสมือนจริงแห่งนี้ก็ขายกันเป็นแสนๆ ดอลลาร์
บน Roblox แพลตฟอร์มเกมมิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ชื่นชอบกันมากๆ ก็มีแม้กระทั่งการขายกระเป๋า Gucci แบบเวอร์ชั่นดิจิตอลที่ไม่มีกายหยาบให้จับต้องได้จริงด้วยซ้ำแต่ราคาขายของมันกลับแพงกว่ากระเป๋าจริงที่วางขายอยู่หน้าร้านเสียอีก
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเด็กเจเนเรชั่นต่อไปจะคุ้นเคยกับการนำเอามูลค่าจริงไปผูกเข้ากับประสบการณ์และวัตถุที่อยู่บนโลกเสมือนจริงจนกลายเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดาสุดๆ
ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็เริ่มต้นขึ้นแล้วทุกวันนี้ในแบบที่ผู้ใหญ่ต้องเกาหัวแกรกๆ ด้วยความงุนงง
Facebook ทุ่มเงินลงทุนจำนวนมากในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกเหมือนได้วาร์ปตัวเองไปอยู่สถานที่ใดก็ได้บนโลก อย่างเช่น อุปกรณ์สำหรับการทำวิดีโอคอลล์ หรืออุปกรณ์สวมศีรษะเสมือนจริง
แต่ Zuckerberg ก็ยอมรับว่าที่ผ่านมายังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะอุปกรณ์สวมศีรษะเหล่านี้ค่อนข้างเทอะทะและยังต้องพัฒนากันอีกเยอะกว่าจะไปถึงจุดที่เขาใฝ่ฝัน
คุณผู้อ่านบางท่านอาจจะอดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงพล็อตเรื่องของภาพยนตร์ Ready Player One ว่าโลกในอนาคตจะเป็นดิสโทเปียที่ทุกคนเก็บตัวเงียบอยู่ในห้อง ไม่สนใจเพื่อนบ้านหรือคนรอบตัว แต่จะหนีจากสภาพความเป็นอยู่ที่แสนทุเรศทุรังในความเป็นจริงด้วยการสวมอุปกรณ์เข้ากับศีรษะและหลุดหายไปในโลกเสมือน
ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เกิดในภาพยนตร์ ไม่ได้แปลว่าหากมนุษย์เราพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ดีขึ้นได้แล้วเราจะมุ่งหน้าไปยังอนาคตแบบที่อยู่ในหนังจริงๆ
แต่มันอาจจะเป็นเพียงส่วนเสริมที่ลบขอบเขตข้อจำกัดเดิมๆ ที่มีอยู่ และทำให้เราใช้ชีวิตได้เต็มที่มากขึ้น
ไม่มีใครรู้แน่นอนว่า Facebook ที่ได้ประกาศกร้าวไปแล้วว่าจะขอเป็นบริษัท metaverse นั้นจะสามารถทำได้ภายใน 5 ปีเหมือนที่ลั่นวาจาไว้หรือแม้กระทั่งจะทำได้จริงเลยหรือเปล่า
แต่อย่างน้อยๆ ข้อได้เปรียบของ Facebook ก็คือการมีผู้ใช้งานเป็นพันล้านคนที่ล็อกอินเข้ามาใช้งานอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
ถ้า Facebook สามารถทำได้ก็ไม่ต้องเดาเลยว่าผู้คนจะให้การตอบรับอย่างท่วมท้นแค่ไหน เชื่อมั่นได้เลยว่าบริษัทที่เคยพลาดโอกาสของการเป็นเจ้าแห่งระบบปฏิบัติการสมาร์ตโฟนของตัวเองในยุคหนึ่งมาแล้วจะไม่ยอมพลาดโอกาสยิ่งใหญ่อีกครั้งและจะต้องทุ่มหมดหน้าตักอย่างแน่นอน
ไม่ว่าใครจะเป็นคนแรกที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับ metaverse ของตัวเองได้สำเร็จ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือโลกเสมือนจริงจะค่อยๆ ผสมผสานกลมกลืนกับโลกจริงๆ ของเราในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ
จนเราอาจจะลืมโลกอินเตอร์เน็ตในแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไปเลยก็ได้