ปมเงื่อน ความคิด กระบวน “วัฏฏสงสาร” จิตโง่ จิตฉลาด : ดังได้สดับมา

สิ่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุยึดกุมอย่างมั่นแน่ว ไม่มีหวั่นไหว ไม่มีแปรเปลี่ยน ก็คือ หลักแห่ง “ปฏิจจสมุปบาท”

เพราะว่าการทบทวน “ปฏิจจสมุปบาท” สำคัญยิ่งต่อ “การตรัสรู้”

เหตุแห่งทุกข์ มาจาก “อวิชชา” ความไม่รู้ ต่อเนื่องมาจนถึง “ภพ” คือการเกิด คำว่าการเกิดในบทนิยามของท่านจึงไม่ได้อยู่ที่การเกิดของสิ่งมีชีวิต

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การเกิดของจิต การเกิดในทางความคิด

การทำความเข้าใจต่อ “วัฏฏสงสาร” จึงเริ่มต้นจากการเกิดของจิต การเกิดของความคิด เมื่อมีการเกิดก็ต้องตามมาด้วยการตาย หรือการดับ

เป็นการดับของจิต เป็นการดับของความคิด

การตอบคำถามของท่านพุทธทาสภิกขุจึงดำเนินไปบนพื้นฐานการอธิบายระหว่างการเกิดทุกข์ การเกิดสุข อย่างเป็นวงรอบแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ดำเนินไปอย่างมีพลวัต ภายใต้กฎแห่งอนิจจังไม่เที่ยง

จำเป็นต้องอ่าน

แต่ว่าจิตนี้สามารถที่จะอบรมปรับปรุงแก้ไขอะไรให้มันมี “วัฏฏสงสาร” ก็ได้ ให้มันมี “นิพพาน” ก็ได้ ถ้ามันเป็นความร้อนขึ้นมามันก็เป็นความทุกข์ เป็น “วัฏฏสงสาร”

คือ จิตที่ประกอบไปด้วยอวิชชา

นำอวิชชาออกเสียก็จะหมดปัญหา ก็กลายเป็นจิตตรงกันข้าม คือ เป็นจิตที่ไม่มี “วัฏฏสงสาร” มีแต่ “นิพพาน” คือ เมื่ออุปทานว่าตัวเราๆ มันก็ไม่มีเข้ามาเป็นเจ้าของจิต

มันก็เป็นหน้าที่ของจิตนั่นเองที่จะต้องทำหน้าที่ตามธรรมชาติของจิต

เมื่อมันเป็นจิตที่ทำผิด เสวยแต่ความทุกข์นานๆ เข้ามันก็เบื่อ มันก็ระอา มันอยากจะไม่เป็นอย่างนั้น มันก็ดินรนไปในทางอื่น เปลี่ยนรูปไปในทางอื่น คือ ไม่ให้มีอวิชชาครอบงำ แล้วมันก็เป็นจิตชนิดที่ไม่มีความทุกข์

ฉะนั้น จิตที่ฉลาดที่ประกอบด้วยปัญญานี้จะต้องควบคุมจิตที่โง่ อย่าให้เกิด “ตัวเรา” ขึ้นมาได้ในจิตที่เรียกว่า “ตัวเรา” นั่นแหละ

ถ้าไม่เรียกว่า “ตัวเรา” ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร จึงสมมติเรียกว่าคนเรา

คนเรามีจิต จิตนี้เปลี่ยนไปได้ตามเหตุปัจจัย ถ้าทำผิดในเรื่องนี้ก็เป็นไปในทางเกิดทุกข์ เป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายให้เกิดทุกข์ ถ้ามันรู้จักเข็ดหลาบ มันรู้จักระวัง มันรู้จักเปลี่ยนแปลงโดยสัญชาตญาณของจิตนี้มันก็หมุนมาทางตรงกันข้ามมันก็ไม่เกิดอวิชชาและไม่เกิดทุกข์

เพราะว่าจิตฉลาดจะควบคุมจิตโง่ หรือว่าทำลายจิตที่มันโง่ให้หมดไป มันคล้ายกับว่าชิงกันครองเมือง

จิตฉลาดครองเมือง หรือว่าจิตโง่ครองเมือง “ตัวเรา” นั้นไม่มี มีแต่จิตที่ชิงกันครองเมือง และทั้งเมือง และทั้งจิตนั่นแหละเราสมมติเรียกว่า “เรา”

มันเป็นเรื่องสมมติเท่านั้น

ทีนี้จิตที่มันเป็นทุกข์มันเอือมระอาต่อความทุกข์ เมื่อเอือมระอาต่อความทุกข์มันก็ดินรนใหม่ เปลี่ยนแปลงใหม่ ไม่กล้าทำอย่างเดิมอีก ไม่กล้าทำอย่างที่มันจะเกิดความทุกข์นั้นอีก นี่เรียกว่าปัญญา ปัญญา ปัญญา

ปัญญา ปัญญา ก้าวหน้าไปจนสามารถทำให้เป็นอย่างที่ตรงกันข้ามคือ ไม่มีทุกข์

นี่ทางออกเสียจาก “วัฏฏสงสาร” ก็คือเหตุปัจจัยที่มาส่งเสริมปรุงแต่งจิตให้รู้จักทุกข์ ให้เบื่อหน่ายระอาต่อความทุกข์ แล้วมันไม่ยอมเกิดหรือปรุงแต่งทำนองนั้นอีก มันก็เปลี่ยนมาในทางที่ดับทุกข์

จิตอย่างเดียวเป็นทั้งหมด เป็นสุขก็ได้ เป็นทุกข์ก็ได้

จนสมมติเรียกว่าอะไรก็ได้ จะอบรมให้เป็นไปในทางเป็นทุกข์ก็ได้ อบรมไปในทางให้ไม่มีทุกข์ก็ได้

ฉะนั้น การเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารแห่งกองทุกข์มันก็คือจิตจะออกมาเสียจากวัฏฏะ คือกองทุกข์มันก็คือจิต ถ้าจิตยังเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์มันก็เป็นทุกข์ ถ้ามันออกมาเสียได้มันก็เป็นจิตหลุดพ้น เป็นวิมุตติจิต

จิตวิมุตติจิตเสียจากกองทุกข์ หลุดรอดออกมาจากกองทุกข์ ออกมาจาก “วัฏฏสงสาร”

มันก็จิตอีกนั่นเอง จนกว่าจิตจะหมดเหตุหมดปัจจัย ดับไปไม่มีอะไรเหลือแล้วก็เลิกกัน มันก็จบที่ตรงนั้น

บทสรุปของท่านพุทธทาสภิกขุคือ ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ของปุถุชนคนธรรมดาน่ะคนโง่ ปุถุชนธรรมดานี้มันก็มีจิตนี้กลับไปกลับมา

กลับไป กลับมา

มีอวิชชาก็เดินไปใน “วัฏฏสงสาร” ฉลาดขึ้นมาก็หยุด หรือระวังไม่ให้เกิด “วัฏฏสงสาร” แล้วก็เป็นจิตพระอริยเจ้าเพิ่มขึ้นๆ

คือ ไกลจากความเป็นปุถุชน ถอยห่างจากความเป็นปุถุชน