หนุ่มเมืองจันท์ : ผู้นำ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์ / www.facebook.com/boycitychanFC

 

ผู้นำ

 

“โควิด” ครั้งนี้เหมือนกับ “สึนามิ”

เป็นคลื่นยักษ์ที่ซัดถล่มประเทศไทย

เศรษฐกิจยับเยิน

คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง

และเมื่อคลื่นยักษ์ม้วนกลับไปในทะเล

ทิ้งไว้แต่คนที่หนีรอด ศพผู้เสียชีวิตและซากปรักหักพังมากมาย

“สึนามิ” นั้นซัดถล่มเมืองไทยไปแล้ว

แต่ “โควิด” ยังคงอยู่

มีคนตั้งคำถามว่าเราได้อะไรจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้

นอกเหนือจากการใช้ชีวิตในวิถีใหม่ หรือ New Normal แล้ว

ผมว่าเราได้เห็นซากปรักหักพังที่เกิดขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้หลายเรื่อง

ขอยกตัวอย่างแค่ 2 เรื่อง

 

เรื่องแรก เราเห็นปัญหาของระบบราชการชัดเจนมาก

“ความเสียหาย” ที่เกินจริงครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจาก “ระบบราชการ” ที่อืดอาดไม่ทันกับปัญหาที่โหมเข้ามาอย่างรวดเร็ว

การยึด “ระบบ-ระเบียบ” เป็นหลักโดยไม่สนใจ “เป้าหมาย” ทำให้เรื่องน่าเศร้าเกิดขึ้นมากมาย

หลายชีวิตที่สูญเสียไปแบบไม่ควรเสีย

เราจึงเห็นข่าวคนป่วยไม่สามารถรักษาได้เพราะบัตรประชาชนหาย ไล่ให้ไปทำบัตรประชาชนก่อนแล้วค่อยรักษา

คนนอนตายตั้งแต่เช้า จนหัวค่ำก็ยังไม่มีใครมาเก็บศพ

ไม่มี “เจ้าภาพ”

 

เรื่องที่สอง บทเรียนความเป็น “ผู้นำ”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สอนคนไทยให้เข้าใจถึงภาวะผู้นำในช่วงวิกฤตได้เป็นอย่างดี อะไรควรทำตาม และอะไรไม่ควรทำ

เรื่องแบบนี้ตำราสอนได้ระดับหนึ่ง

เหมือนท่องจำ

แต่ประสบการณ์จริงชัดเจน

ในช่วงแรกของวิกฤตโควิด พล.อ.ประยุทธ์ทำอะไรไม่เป็นอยู่พักใหญ่

เพราะเป็นเรื่องโรคระบาดระดับโลก

จนวันหนึ่งเขาเริ่มตั้งหลักได้

ใช้ “ท่าไม้ตาย” ที่เชี่ยวชาญ

นั่นคือ การรวบอำนาจ

ตั้ง ศบค.ขึ้นมา และใช้ข้าราชการเป็นหลัก

ดัน “รัฐมนตรี” ที่เป็น “นักการเมือง” ออกไป

คนที่รอบข้างเป็นคนที่คุ้นเคยหรือรัฐมนตรีเก่าสมัย คสช.

พล.อ.ประยุทธ์เลือกใช้คนที่รู้มือกัน

ไม่ต้องหวาดระแวงเหมือนนักการเมือง

“โควิด” ระลอกแรก พล.อ.ประยุทธ์ชนะ

ชนะเพราะใช้ “ท่าไม้ตาย” ที่คุ้นเคย

เป็นบทเรียนว่าเมื่อเจอวิกฤตที่ไม่เคยเจอมาก่อน

ให้เริ่มต้นจาก “ท่าไม้ตาย”

เอาสิ่งที่เราเชี่ยวชาญที่สุดสู้กับสิ่งที่เราไม่รู้

แต่หลังจากการระบาดรอบแรกผ่านไป

พอเข้าระลอก 2 ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา

พล.อ.ประยุทธ์เริ่มเอาไม่อยู่

“ท่าไม้ตาย” ใช้ไม่ได้ผล

จับประเด็นปัญหาผิดพลาดไปหมด

แทนที่จะปรับตัว พล.อ.ประยุทธ์กลับใช้ “ท่าไม้ตาย” ซ้ำๆ ไปเรื่อย

รวบอำนาจแล้ว รวบอำนาจอีก

มี ศบค.ใหญ่ ยังมี ศบค.กทม.

จัดซื้อวัคซีนทางเลือกก็ดึงอำนาจมาจากกระทรวงสาธารณสุขอีก

ความคุ้นเคยกับระบบราชการมาทั้งชีวิตทำให้ขั้นตอนการทำงานรุงรังมาก

ภาคเอกชนเห็นโครงสร้างของ ศบค.ในการแก้วิกฤตโควิดแล้วตกใจ คณะกรรมการเยอะมาก

ตัดสินใจเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง ต้องผ่าน ศบค.ชุดเล็ก ไปถึงชุดใหญ่ ไปถึง ครม.

แถมมีหยุดเสาร์-อาทิตย์อีก

ทั้งที่การแก้ปัญหาวิกฤต ขั้นตอนการตัดสินใจต้องสั้น กระชับและรวดเร็ว

แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับใช้ระบบราชการที่ถือว่าเป็นระบบที่อุ้ยอ้ายและโบราณที่สุดมาใช้ในการบริหารวิกฤต

นับจากการระบาดครั้งที่สองเป็นต้นมา

พล.อ.ประยุทธ์ได้สอนให้ทุกคนได้รู้ว่าถ้าเจอสถานการณ์วิกฤต

สิ่งที่เขาทำ

อย่าทำตาม

 

มี “ซีอีโอ” มืออาชีพที่เก่งมากคนหนึ่งของเมืองไทยเคยสรุปถึงงานของ “ซีอีโอ” หรือ “ผู้นำ” ว่ามีงานหลักที่สำคัญอยู่ 2 เรื่อง

1. ทำงานที่เป็นฟันหลอ

ผู้บริหารแต่ละคนจะมีหน้าที่และขอบเขตงานที่ชัดเจน

แต่จะมีงานบางอย่างที่นอกเหนือจากนั้น เช่น การประสานระหว่างหน่วยงาน หรือการทำงานอะไรที่นอกเหนือจากงานปกติ งานที่ไม่ใช่งานในหน้าที่ของผู้บริหารทั่วไป รวมถึงการตามงานจากแต่ละหน่วยงาน เพื่อต่อเชื่อมให้เป็นหนึ่งเดียว

นั่นคือ หน้าที่ของ “ซีอีโอ”

ไม่ใช่แค่บอกว่า “ผมได้สั่งการไปแล้ว”

คิดว่า “สั่งการ” คือ ได้ทำตามหน้าที่แล้ว

ไม่สนใจว่า “ผล” จะเป็นอย่างไร

สั่งการ แต่ไม่ตามงาน

2. ทำในสิ่งที่ลูกน้องทำไม่ได้

เพราะ “ซีอีโอ” เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในบริษัท

อะไรที่ลูกน้องไม่กล้าทำเพราะติดระเบียบ หรือขั้นตอน

เป็นหน้าที่ของ “ซีอีโอ”

อะไรที่เป็น “คอขวด” ต้องใช้ “อำนาจ” ทะลุทะลวง

เป็นหน้าที่ของ “ซีอีโอ”

เรื่องใหญ่ที่กระทบกับหลายฝ่ายและต้องใช้การตัดสินใจเด็ดขาด

เป็นหน้าที่ของ “ซีอีโอ”

ถ้าระบบงบประมาณไม่เอื้อให้สั่งจองวัคซีนล่วงหน้า ก็ต้องกล้าเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา

จะเอาเรื่องเข้าสภาเพื่อแก้ระเบียบเรื่องนี้ก็ต้องทำ

ผมไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยได้ยินหรือรับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของคนเป็น “ผู้นำ” หรือไม่

เพราะวิกฤตโควิดครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเป็น “ผู้นำ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ชัดเจนที่สุด

ขนาดรวบอำนาจทั้งหมดมาอยู่ในมือ

แต่กระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ กลับทำงานแบบคนละทิศคนละทาง

การบริหารวัคซีนที่มีจำกัด แทนที่จะเรียงลำดับความสำคัญ เริ่มจากคนมีอายุและ 7 โรคเสี่ยงตามที่คุณหมอวางแผนไว้

กลับปล่อยแต่ละกระทรวง รวมทั้ง กทม.เปิดสงครามแย่งชิงวัคซีนกันจนเละอย่างที่เห็น

พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตามงานให้ละเอียด จนเกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะฝันว่าจะได้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเดือนละ 10 ล้านโดส เชื่อข้อมูลที่เสนอมาโดยไม่จี้ถามรายละเอียด

พอกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด

ก็พังพินาศเหมือนที่เห็นในวันนี้

เช่นเดียวกับเรื่องปัญหากฎระเบียบต่างๆ ที่ทำให้งานล่าช้า ตั้งแต่การจัดซื้อวัคซีน

การเบิกจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ยุ่งยากไม่ทันลมหายใจของผู้ป่วย

ขั้นตอนการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ทางการแพทย์ล่าช้า ทั้งที่อนุมัติงบประมาณไปแล้ว ฯลฯ

พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยคิดทะลวง “คอขวด” ทางกฎหมายเหล่านี้เลย ได้แต่อ้างระเบียบกฎหมายมาป้องกันตัวเอง

กลายเป็นทำถูกตามระเบียบทุกอย่าง

แต่คนตายราวกับใบไม้ร่วง

คิดถึง “วิธีการ” มากกว่า “เป้าหมาย”

ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์เชี่ยวชาญเรื่องนี้ที่สุด

หลายคนบอกว่ากฎหมายหรือกฎระเบียบที่เป็นปัญหาในวันนี้เป็นเรื่องเล็กมากสำหรับเขา

เพราะขนาดรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ก็เคยฉีกมาแล้ว

แต่วันนี้กลับไม่กล้าทะลวง “คอขวด” ของกฎหมาย

เพื่อช่วยชีวิตคนไทย