อนุสรณ์ ติปยานนท์ : In Books We Trust (23) “กามนิต-วาสิฏฐี”

 

In Books We Trust (23)

 

การปฏิเสธพระพุทธองค์ของสิทธารถะนั้นทำให้ผมต้องกลับไปอ่านนวนิยายเรื่องกามนิต-วาสิฏฐี อีกครั้งหนึ่ง

นวนิยายเรื่องกามนิตนั้นเคยถูกมอบหมายให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในสมัยมัธยมต้นของผม

ข้อความเปิดเรื่องนั้นมีความงดงามทางภาษาอย่างมากเพราะผ่านการถอดความโดยเสฐียรโกเศศ และตรี นาคะประทีป ดังนี้

“ขณะพระองค์เสด็จมาใกล้เบญจคีรีนครคือราชคฤห์ เป็นเวลาจวนสิ้นทิวาวาร แดดในยามเย็นกำลังอ่อนลงสู่สมัยใกล้วิกาล ทอแสงแผ่ซ่านไปยังศาลีเกษตรแลละลิ่วเห็นเป็นทางสว่างไปทั่วประเทศสุดสายตา ดูประหนึ่งมีหัตถ์ทิพย์มาปกแผ่อำนวยสวัสดี เบื้องบนมีกลุ่มเมฆเป็นคลื่นซ้อนซับสลับกันเป็นทิวแถว ต้องแสงแดดจับเป็นสีระยับวะวับแววประหนึ่งเอาทรายทองไปโปรยปราย เลื่อนลอยลิ่วๆ เรี่ยๆ รายลงจรดขอบฟ้า ชาวนาและโคก็เมื่อยล้าด้วยตรากตรำทำงาน ต่างพากันดุ่มๆ เดินกลับเคหสถานเห็นไรๆ เงาหมู่ไม้อันโดดเดี่ยวอยู่กอเดียวก็ยืดยาวออกทุกทีๆ มีขอบปริมณฑลเป็นรัศมีแห่งสีรุ้ง อันกำแพงเชิงเทินป้อมปราการที่ล้อมกรุงรวมทั้งทวารบถทางเข้านครเล่า มองดูในขณะนั้นเห็นรูปเค้าได้ชัดถนัดแจ้งดั่งว่านิรมิตไว้ มีสุมทุมพุ่มไม้ดอกออกดกโอบอ้อมล้อมแน่นเป็นขนัด ถัดไปเป็นทิวเขาสูงตระหง่าน มีสีในเวลาตะวันยอแสงปานจะฉายเอาไว้เพื่อแข่งกับแสงสีมณีวิเศษ มีบุษยราคบัณฑวรรณและก่องแก้วโกเมนแม้รวมกันให้พ่ายแพ้ฉะนั้น”

เรื่องราวของนวนิยาย “กามนิต” นั้นแทบจะเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไป มานพหนุ่มนามกามนิตได้พบกับสตรีสาวนามวาสิฏฐี ทั้งคู่ได้ตกหลุมรักซึ่งกันและกันก่อนจะพลัดพรากจากกันในที่สุด

คำตรัสของพระพุทธเจ้าที่มีต่อกามนิตนั้นคือ “…ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์” คำตรัสนี้กว่ากามนิตจะเข้าใจเขาก็หาได้มีชีวิตไม่แล้ว

 

ในขณะที่สิทธารถะได้พบกับพระพุทธองค์ แต่แล้วเขาก็หาได้มีความปรารถนาที่จะติดตามพระพุทธองค์ต่อไปไม่ กามนิตกลับเป็นไปในทางตรงข้าม เขาปรารถนาจะพบกับพระพุทธองค์ แต่เมื่อได้พำนักอยู่กับพระพุทธองค์ในบ้านของช่างปั้นหม้อ เขากลับไม่ล่วงรู้ว่าสมณะที่เขาสนทนาด้วยคือ “พระพุทธองค์” เขายังออกแสวงหาพระพุทธองค์ต่อไปแม้จะได้พบกับท่านแล้วก็ตาม

ความแตกต่างสองประการในข้อนี้เป็นสิ่งที่ผมตระเตรียมไว้สำหรับการทำข้อสอบวิชาภาษาไทยกลางภาค

สิทธารถะนั้นแสวงหาไม่รู้จักจบสิ้น เขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขากำลังแสวงหาสิ่งใด เขาไม่มีความพึงพอใจในสิ่งที่เขาแสวงหา

ส่วนกามนิตนั้นเต็มไปด้วยความลังเล ละเลย เขาพบในสิ่งที่เขาแสวงหาแต่เขากลับไม่ประจักษ์ในมัน

หากจะเปรียบเทียบไปในเรื่องความรัก สิทธารถะได้พบกับกมลา เขาคิดว่าความรักจะหยุดยั้งเขาได้ แต่ก็ไม่ เขาทอดทิ้งมัน ออกดุ่มเดินต่อไป

ในขณะที่กามนิตแสวงหาความรัก ได้พบแล้วก็พลัดพรากจากมันไม่มีวันสิ้นสุดอีกเช่นกัน

“บุคคลหนึ่งไม่รู้ว่าเขาต้องการสิ่งใด อีกบุคคลหนึ่งล่วงรู้ว่าเขาต้องการสิ่งใด แต่เมื่อได้สิ่งนั้นไว้แล้ว เขาก็ทำมันหลุดพรากจากมือไปเสมอ”

ชายสองคนที่น่าเศร้า มานพหนุ่มสองนายที่น่าเศร้า

 

ความพ้องเคียงประการเดียวที่มีในนวนิยายทั้งสองเรื่องนี้ “สิทธารถะและกามนิต-วาสิฏฐี” คือผู้แต่งนวนิยายทั้งสองเรื่องล้วนได้รับรางวัลโนเบลด้านวรรณกรรม คาร์ล แอดอล์ฟ เกลเลอโรป นักเขียนชาวเดนมาร์ก ได้รับรางวัลนี้ในปี 1917 หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ส่วนแฮร์มันน์ เฮสเส นักเขียนชาวสวิตเซอร์แลนด์ นั้นได้รับรางวัลนี้ในปี 1945 ช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองเสร็จสิ้นลง

นวนิยายเรื่องกามนิตนั้นเขียนขึ้นในปี 1906 ส่วนสิทธารถะนั้นเขียนขึ้นในปี 1922 หลังนวนิยายเรื่องกามนิตเป็นเวลา 16 ปี

โน้ตย่อเหล่านี้ถูกวงด้วยปากกาสีแดงในสมุดจดคำบรรยายของผม ในการตอบข้อสอบแบบอัตนัย เรามีเสรีภาพที่จะเขียนคำตอบและเหตุผลสรุปคำตอบได้นานา กระนั้นมันต้องมีประเด็นที่น่าสนใจในคำตอบที่ว่าด้วย ผมต้องแสดงให้อาจารย์ฐิติรัตน์ผู้สอนเห็นให้ได้ว่าเพราะเหตุใดสิทธารถะจึงทอดทิ้งพระพุทธเจ้า และเพราะเหตุใดสิทธารถะจึงกลับเลือก “วาสุเทพ” ชายพายเรือผู้ต่ำต้อยเป็น “ครู” ของเขาแทน

ผมจมอยู่กับประเด็นปัญหาที่ว่านี้นานนับสัปดาห์ การ “ศิโรราบ” ต่อใครบางคนในฐานะครูดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนเพียงใดนัก

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว มันกลับแทบจะเป็นจุดสำคัญสูงสุดจุดหนึ่งของการศึกษา

สิทธารถะย่อมไม่ได้เรียนรู้การพายเรือโดยแน่ ดังนั้น สิ่งที่วาสุเทพสอนย่อมไม่ใช่การพายเรือ ประโยคสำคัญที่วาสุเทพกล่าวต่อสิทธารถะไม่ใช่เรื่องของการพายเรือหากแต่เป็นเรื่องราวของการฟัง วาสุเทพ “ฟัง” เสียงของแม่น้ำนับวัน นับปี จนแม่น้ำเป็นส่วนหนึ่งในตัวของเขา

การหมกมุ่นกับการ “ฟัง” ของสิทธารถะทำให้ผมหวนนึกถึงการหมกมุ่นอยู่กับการ “บิน” ของโจนาธาน นางนวล ในนวนิยายเรื่องโจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล การบินไม่ลดละของนกตัวหนึ่งช่างมีความพ้องเคียงเหลือเกินกับการแสงหาของพราหมณ์หนุ่ม เรื่องราวระหว่างเจียง ครูของโจนาธาน กับวาสุเทพ ครูของสิทธารถะ แทบไม่แตกต่างกัน

ผมหยิบอ่านเรื่องราวของโจนาธานอีกครั้ง เป็นการอ่านอีกครั้งในรอบหลายปี เป็นการอ่านที่มีพื้นฐานจากเรื่องราวของสิทธารถะนั่นเอง

 

ในวันสอบ ผมเขียนทุกอย่างจากบันทึกข้อความเหล่านั้น ผมอธิบายถึงความคิดของตนเองว่ามนุษย์มีหนทางเรียนรู้หรือเข้าสู่ความจริงได้นานา พุทธสาวกอาจเข้าสู่ความจริงได้ตามคำสอนของพระพุทธองค์ เช่นเดียวกันกับการที่สิทธารถะเข้าสู่ความจริงได้ผ่านทางการฟังที่ได้รับการอบรมโดยวาสุเทพ และโจนาธาน นกนางนวลตัวหนึ่งเข้าสู่ความจริงได้ผ่านทางการบินโดนมีเจียง นกนางนวลอีกตัวหนึ่งเป็นครู การเข้าถึงความจริงนั้นมีหนทางมากมาย แต่ในที่สุดแล้วความจริงมีเพียง “หนึ่งเดียว”

ผมออกจากห้องสอบเป็นคนท้ายๆ นักศึกษาที่สอบเสร็จทุกวิชาบางคนตะโกนนัดหมายเพื่อนฝูงให้ไปกินอาหารร่วมกัน บางคนมุ่งหน้าไปสถานีโดยสารเพื่อเดินทางกลับต่างจังหวัด อาทิตย์หน้ามหาวิทยาลัยจะปิดการเรียนการสอนเป็นเวลาสิบวัน

ผมนั่งลงที่โต๊ะตัวหนึ่งหน้าคณะ ชีวิตนักศึกษาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เสื้อผ้าตามสบาย กางเกงขายาวแทนที่กางเกงขาสั้นกลายมาเป็นเครื่องแต่งกายของผมได้หลายเดือนแล้ว

แต่กระนั้น หนทางก่อนจะสำเร็จการศึกษายังดูอยู่ห่างอีกไกลนัก

 

แทนการตรงกลับบ้านเช่นเคย ผมหอบหนังสือที่ใช้อ่านเตรียมสอบทั้งหมดไปที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ผมคืนหนังสือดังกล่าวให้กับบรรณารักษ์ เสียงประทับตราบนหนังสือดังก้องไปทั่วโถงชั้นล่างสลับกับเสียงลิฟต์ขนหนังสือขนาดเล็กที่ขึ้น-ลงไม่หยุดหย่อน หนังสือจำนวนมากถูกคืนกลับสู่ที่ทางของมัน เลขประจำตัวตรงสันปกของมันพามันกลับไปสู่ที่มันจากมา

ผมเดินขึ้นบันไดอาคารห้องสมุดทีละขั้น ขึ้นไปยังชั้นบนสุดของอาคารที่เก็บรวมรวมหนังสือในภาษาต่างประเทศ แสงแดดยามบ่ายลอดหน้าต่างกระจกเข้ามาจนทำให้ทั้งห้องสว่างไสว กลิ่นน้ำยาฆ่าแมลงเจือบางเบาในอากาศ

ผมเลือกเก้าอี้ตัวหนึ่งกลางห้องเป็นที่นั่งและนั่งลงมองชั้นหนังสือรอบๆ

หนังสือต่างๆ ในโลกนี้เป็นสิ่งลี้ลับประการหนึ่ง ผมหวนนึกถึงหนังสือเจ้าชายน้อยที่ทำให้ผมเข้าใจในหนังสือโจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล

ผมหวนนึกถึงหนังสือโจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล ที่ทำให้ผมเข้าใจหนังสือสิทธารถะ

และผมหวนนึกถึงหนังสือสิทธารถะที่ทำให้ผมเข้าใจหนังสือกามนิตและวาสิฏฐี

หนังสือแต่ละเล่มล้วนซ่อนความลับของหนังสือเล่มอื่นไว้ในตัวมัน

หนังสือแต่ละเล่มเติบโตไปพร้อมๆ กับเรา หนังสือแต่ละเล่มแก่ชราไปพร้อมๆ กับเรา

หนังสือแต่ละเล่มแม้จะถูกทิ้งร้างในวันที่ไม่มีใครมาเยือนห้องสมุดหรือสถานที่กักเก็บของมัน กระนั้นมันก็ไม่เคยหยุดยั้งที่จะมีชีวิตต่อไป

หนังสือแต่ละเล่มเป็นดังสิ่งมีชีวิตที่เชื่อมโยงซึ่งกันไม่สุดสิ้น

หนังสือแต่ละเล่มเป็นสิ่งมีชีวิตที่แบ่งปันลมหายใจซึ่งกันและกัน

หนังสือช่างเป็นสิ่งลี้ลับเหลือเกินสิ่งหนึ่งในโลกนี้