สิ่งแวดล้อม : ฝนยุคใหม่ตก 3 วัน = 1 ปี / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
A child sits on a makeshift raft on a flooded road following heavy rainfall in Zhengzhou, Henan province, China July 22, 2021. REUTERS/Aly Song

 

 

ฝนยุคใหม่ตก 3 วัน = 1 ปี

 

วิกฤตการณ์ภูมิอากาศแปรปรวนในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกทั้งอินเดีย จีน ยุโรปตะวันตก และคลื่นความร้อนในทวีปอเมริกาเหนือ นักสิ่งแวดล้อมปักใจเชื่อว่ามาจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนซึ่งเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้น

เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่ระยะทางห่างกันเป็นพันๆ กิโลเมตร

ปริมาณฝนตกในรัฐมหาราษฏระ ฝั่งตะวันตกของอินเดียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ววัดได้ 23 นิ้วในช่วง 24 ชั่วโมง ทางการอินเดียเร่งสั่งอพยพผู้คนริมแม่น้ำเพราะกระแสน้ำทะลักล้นจากเขื่อนและดินโคลนถล่มบ้านเรือน ถึงกระนั้นยังมีผู้เสียชีวิต 125 คน

ที่มณฑลเหอหนานของจีนนั้น ฝนตกหนักมากที่สุดเป็นประวัติการณ์รอบร้อยปีจนเกิดน้ำท่วมใหญ่

คลิปกระจายว่อนในโซเชียลมีเดีย เผยให้เห็นภาพผู้โดยสารอยู่ในรถไฟฟ้าใต้ดินในเมืองเจิ้งโจว เมืองศูนย์กลางของเหอหนาน พากันดิ้นหนีตาย เพราะน้ำทะลักเข้ามาในตู้โดยสารระหว่างแล่นผ่านอุโมงค์

ในคลิปเห็นน้ำเอ่อจากระดับเข่า เอวแล้วท่วมถึงคอ กว่าหน่วยกู้ภัยรุดเข้ามาช่วย ก็มีผู้โดยสารจมน้ำ 12 คน และมีคลิปอีกหลายช็อต แสดงให้เห็นความแรงของกระแสน้ำและระดับน้ำที่สูง ไหลท่วมทะลักรถยนต์ บ้านเรือนผู้คน

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ยอมรับตรงๆ ว่าสถานการณ์ในมณฑลเหอหนานวิกฤต การรับมือเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่ง

 

ที่ยุโรปตะวันตก หลายประเทศตกอยู่ในภาวะระส่ำหนักเพราะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่รวมๆ แล้วเกือบ 200 คน โดยเฉพาะในเยอรมนี ฝนกระหน่ำยิ่งกว่าฟ้ารั่ว กระแสน้ำพัดทำลายบ้านเรือนในแคว้นอาห์ไวเลอร์พังยับเยิน

“อังเกลา แมร์เคิล” ผู้นำหญิงเหล็กแห่งเยอรมนี ยอมรับกับสื่อระหว่างเดินทางไปเยี่ยมจุดเกิดเหตุว่า ภัยพิบัติคราวนี้น่าหวาดกลัว

ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศชี้ว่า ภาวะโลกร้อนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลก

ในยุโรปมีระบบเตือนภัยน้ำท่วมที่เรียกว่า “EFAS” (European Flood Awareness System) ติดตั้ง 25 จุด ตลอดแม่น้ำไรน์และแอ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำมาสส์ (Mass river) แต่วิกฤตในคราวนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสงสัยว่า ระบบเตือนภัยที่ใช้อยู่มีประสิทธิภาพต่ำ ไม่สามารถเตือนภัยได้ทันท่วงที

เรียกง่ายๆ ระบบเตือนภัยล้าสมัยไปแล้วกับสถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งสภาวะภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงขึ้น

 

ดร.เจฟฟ์ ดา คอสตา นักวิจัยด้านระบบน้ำของมหาวิทยาลัยรีดดิ้ง แห่งอังกฤษ บอกว่า ระบบเตือนภัยน้ำท่วมในยุโรปตะวันตกมีปัญหา เพราะถ้ามีประสิทธิภาพดีจริง จะต้องไม่มีผู้เสียชีวิตเป็นร้อยคน

“คอสตา” เป็นชาวลักเซมเบิร์ก แต่ทำงานวิจัยในอังกฤษ ยกตัวอย่างครอบครัวของเขาซึ่งอยู่ในลักเซมเบิร์ก ระหว่างเกิดเหตุน้ำท่วม พากันหนีตายอลหม่าน เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีอยู่ใช้การอะไรไม่ได้

กระแสน้ำที่มาเร็วแรงเกินกว่าชาวบ้านจะรับมือไหว ฉะนั้น ฝ่ายบริหารจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉินต้องมีภูมิปัญญา หยั่งรู้ให้ได้ว่า สถานการณ์เลวร้ายกำลังมาต้องเตรียมรับมืออย่างไร

ระบบคำทำนายและสื่อสารล้มเหลว ไม่สามารถบอกได้ว่าน้ำท่วมคราวนี้จะรุนแรงแค่ไหน เมื่อไม่รู้ก็บอกชาวบ้านไม่ได้ว่าจะต้องเตรียมการล่วงหน้าอย่างไร เช่นในเบลเยียม แทนที่จะบอกว่าเกิดความรุนแรงในระดับสูงสุด แต่กลับแจ้งแค่เตือนในระดับสีเหลือง

ทั้งที่ควรเตือนในระดับสีแดง ผู้คนจึงมองภาพไม่ออก คิดว่าไม่หนักหนาเท่าไหร่

แต่ในความเป็นจริงกระแสน้ำมาแรง มาเร็วจนเตรียมตัวไม่ทัน ไม่สามารถอพยพไปอยู่ในจุดปลอดภัยได้ทันท่วงที

ที่เยอรมนี ก่อนเกิดเหตุร้าย เจ้าหน้าที่ประกาศเตือนภัยล่วงหน้า แต่ชาวบ้านไม่รู้สึกตื่นตระหนกเพราะไม่คิดว่ากระแสน้ำทะลักมาหนักหน่วง

เมื่อน้ำไหลเข้าบ้าน หนทางเดียวที่ทำได้ก็คือหนีขึ้นไปบนหลังคา

บ้านไหนมีสองชั้นก็หนีไปอยู่ชั้นสอง แต่ไม่ทันการณ์เพราะระดับน้ำท่วมล้นถึงหลังคาในช่วงเพียงอึดใจ

 

“ดา คอสตา” บอกว่า เมื่อประเมินผลกระทบต่ำ สิ่งที่ตามมาเกิดความเสียหายอย่างมากมายใหญ่หลวง

การวางแผนในระยะต่อไปจะต้องยกระดับให้สูงกว่าเก่า เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปมาก ความรุนแรงมากกว่าเก่า ผังเมืองต้องปรับกันใหม่ให้มีทางน้ำที่เหมาะสม เมื่อกระแสน้ำมาแรงมาเร็วต้องปล่อยให้น้ำเดินสะดวกไหลสบาย ต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง เช่น อาคารบ้านเรือนหรือถนนดักทางน้ำเหมือนในปัจจุบัน

ประเมินกันว่า ฝนที่ตกนั้นมีความถี่รุนแรงขึ้น 14 เท่า และปริมาณน้ำฝนวัดได้ในประเทศจีน ช่วงเวลาเพียง 3 วัน เท่ากับปริมาณฝนตกในรอบ 1 ปี

ผู้บริหารเมืองต้องปรับเปลี่ยนมุมคิดในการบริหารจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน จะต้องวางแผนสื่อสารให้ชาวบ้าน เจ้าของร้านค้า โรงงานในพื้นที่ได้รู้ล่วงหน้าว่าต้องรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอย่างไร ระดับการเตือนภัยใหญ่เล็ก ผู้บริหารจะต้องสื่อสารให้รวดเร็วชัดเจน

เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว การอพยพขนย้ายข้าวของไปอยู่ตรงจุดไหนถึงจะปลอดภัย ใช้เส้นทางไหนที่ไม่มีอันตราย มีนัดรวมพลให้เจ้าหน้าที่ไปรอรับตรงไหน

 

นํ้าท่วมคราวนี้ ประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการป้องกันน้ำท่วมอย่างยอดเยี่ยมมานานกว่า 700 ปี มีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ (water board) ตั้งมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ดูแลป้องกันแนวชายฝั่ง 1,500 กิโลเมตร แสดงให้โลกได้เห็นถึงการรับมือภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีชาวดัชต์เสียชีวิตและไม่มีเมืองไหนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างรุนแรงทั้งๆ ที่ชายแดนเนเธอร์แลนด์อยู่ติดกับเยอรมนีและเบลเยียม

ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้บริหารของดัชต์มีภูมิปัญญา องค์ความรู้เรื่องของน้ำ รู้ว่ากระแสน้ำจะทะลักเอ่อท่วมตรงไหน มีความรุนแรงระดับใด จึงมีความพร้อมและสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยได้รวดเร็วทันกับสถานการณ์

ชาวดัชต์เรียกคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำว่า “กลู” (glue) เปรียบเสมือนกาวเชื่อมประสานทุกสิ่งทุกอย่างของเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่การป้องกันน้ำท่วม การระบายสู่พื้นที่เกษตร อุตสาหกรรม ภาคการก่อสร้างและภาคการท่องเที่ยว

ถ้า “กลู” ไร้ประสิทธิภาพ ประเทศเนเธอร์แลนด์พังพาบจากภัยพิบัติน้ำท่วม

บทเรียนจากน้ำท่วมยุโรป จีน และอินเดีย รวมถึงประสบการณ์ในอดีตทั้งน้ำท่วมเชียงใหม่ ขอนแก่น หรือกรุงเทพฯ น่าจะช่วยให้ปลุกผู้บริหารบ้านเรา เกิดมุมมองใหม่ๆ ในการจัดการพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม การปรับผังเมืองและการสื่อสารถึงประชาชนในห้วงวิกฤต