ไม่เพียงแซง ‘จีน’ ขึ้นแท่น ‘ประชากรมากที่สุดในโลก” แต่ ‘อินเดีย’ จะนำหน้าอีกหลายอย่าง/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

ไม่เพียงแซง ‘จีน’ ขึ้นแท่น ‘ประชากรมากที่สุดในโลก”

แต่ ‘อินเดีย’ จะนำหน้าอีกหลายอย่าง

ก่อนอื่นต้องไม่ลืมว่า “อินเดีย” คือสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มความร่วมมือ BRICS อันประกอบไปด้วย B=Brazil R=Russia I=India C=China และ S=South Africa

และ “อินเดีย” ก็มีความร่วมมือกับ “รัสเซีย” ภายใต้โครงการ “ระเบียงน่านน้ำ” หรือ “ยุทธศาสตร์ทางทะเลเจนไน-วลาดิวอสต็อก” (Chennai-Vladivostok Maritime Corridor)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและยาวนาน ระหว่าง “อินเดีย” กับ “สหรัฐ” ที่แน่นอนว่า “อินเดีย” คือ “ภูมิรัฐศาสตร์” สำคัญของ “อเมริกา” ในการคานอำนาจ “จีน”

ที่กำลังดำเนินยุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21” (21st Century Maritime Silk Road) หรือ BRI : The Belt and Road Initiative (OBOR : One Belt, One Road) หนึ่งแถบ, หนึ่งเส้นทาง

ขณะเดียวกัน “สหรัฐอเมริกา” ก็ได้จัดทำกลยุทธ์ Indo-Pacific ผ่านมาทาง “ญี่ปุ่น” “ออสเตรเลีย” และ “อินเดีย” รวมถึง “ประชาคม ASEAN” เพื่อคานอำนาจกับ BRI ของ “จีน”

ดังนั้น การเกิดขึ้นของ “ระเบียงน่านน้ำ” หรือ “ยุทธศาสตร์ทางทะเลเจนไน-วลาดิวอสต็อก” (Chennai-Vladivostok Maritime Corridor) โดยการริเริ่มของ “อินเดีย” เพื่อเชื่อมต่อ “รัสเซีย”

จึงเป็นไปเพื่อตอกย้ำให้ “รัสเซีย” เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “อินเดีย” กับ “สหรัฐ” และความสัมพันธ์ระหว่าง “อินเดีย” กับ “รัสเซีย” จะเป็นความสัมพันธ์ 2 ชุดที่ “เป็นอิสระจากกัน”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้” (North-South Economic Corridor: NSEC) จาก “อินเดีย” สู่ “อิหร่าน” ผ่าน “รัสเซีย” เข้าสู่ “ยุโรป” ที่สามารถลดระยะเวลาเดินทางได้มากถึงประมาณ 10 วัน

อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่า ยังมีองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (The Shanghai Cooperation Organization) ที่มีรัสเซีย, จีน, คาซัคสถาน, ทาจิกิสถาน, คีร์กีซสถาน, อุซเบกิสถาน, อินเดีย และปากีสถาน

ยังไม่นับสหภาพยูเรเชีย (Eurasian Union) “สหภาพเศรษฐกิจ” ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งถือเป็นภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ที่จะทวีความสำคัญขึ้นในอนาคตอันใกล้ ที่ “อินเดีย” เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม

จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดนี้ได้ฉายภาพ “อินเดีย” ที่เปลี่ยนผ่านระหว่าง “ภูมิรัฐศาสตร์โลกยุคเก่า” มาสู่ “ภูมิรัฐศาสตร์โลกยุคใหม่” ที่ “อินเดีย” มีฐานทางสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา ศาสนา ที่หยั่งรากลึกมาอย่างยาวนาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาฮินดู-พราหมณ์ ที่แผ่อิทธิพลในชมพูทวีป ขึ้นไปถึงตะวันออกกลาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รับอิทธิพลศาสนาฮินดูอยู่หลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา และไทย

ประกอบกับงานสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดย “อินเดีย” ไปอวกาศเป็นชาติแรกๆ ในเอเชีย และมีวงการแพทย์ที่ยิ่งใหญ่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ “อินเดีย” มี Programmer ระดับโลกมากมายที่ทำงานอยู่รอบโลกให้กับบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารใน Silicon Valley เมืองหลวง Digital โลกของ “สหรัฐอเมริกา”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข่าวคราวล่าสุด ที่มีการพูดกันว่า ไม่เพียงจะแซง “จีน” ขึ้นแท่น “ประชากรมากที่สุดในโลก” แต่ “อินเดีย” จะนำหน้าอีกหลายอย่าง

 

อ้างอิงจากรายงานของ UN : United Nation หรือ “องค์การสหประชาชาติ” ที่เปิดเผยว่า ในอนาคตอันใกล้ในอีกไม่เกิน 6 ปีนับจากนี้ “อินเดีย” จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแทน “จีน” นั่นคือภายในปี ค.ศ.2027

โดยในปัจจุบัน “อินเดีย” มีประชากรราว 1,366 ล้านคน ขณะที่ “จีน” มีประชากร 1,398 ล้านคน

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาถึงอัตราเร่งในด้านสัดส่วนจำนวนเด็กเกิดใหม่ใน “อินเดีย” ที่สูงกว่า “จีน” มากอย่างมีนัยสำคัญ

จึงทำให้ “องค์การสหประชาชาติ” ได้คาดการณ์ว่า ในที่สุด “อินเดีย” จะเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก แซง “จีน” ได้สำเร็จภายใน 6 ปีข้างหน้านับจากนี้นี่เองครับ

อย่างไรก็ดี อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร “อินเดีย” แบบก้าวกระโดดนี้ กำลังนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมืองใหญ่ ซึ่งมีประชากรจากชนบทหลั่งไหลเข้าไปหางานทำอย่างต่อเนื่อง

ส่งผลให้มี “สลัม” ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย นอกจาก Bombay และ Mumbai ที่มีชื่อเสียงในอดีต จนอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสาธารณสุขมากมายติดตามมา อาทิ สุขอนามัย ความสะอาด ไปจนถึงปัญหาผังเมือง และการขาดแคลนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นนั่นเองครับ

โดยที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐ Uttar Pradesh ซึ่งเป็นรัฐที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดใน “อินเดีย” ได้เสนอร่างกฎหมายจำกัดให้แต่ละครอบครัวมีบุตรได้ไม่เกิน 2 คนออกมา

ซึ่งภายใต้กฎหมายนี้ ได้ระบุว่า หากครอบครัวใดมีบุตรมากกว่า 2 คน จะไม่ได้รับสวัสดิการ และความช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยจะไม่สามารถสมัครงานในหน่วยงานของรัฐได้

ถือเป็นการบีบโดยอ้อมให้แต่ละครอบครัววางแผนคุมกำเนิดนั่นเอง

อย่างไรก็ดี มีสื่อกระแสรอง หรือสื่อทางเลือกจำนวนมาก ที่ได้ทำการวิเคราะห์ถึงจำนวนประชากร “อินเดีย” ที่อาจแซงหน้าจำนวนประชากร “จีน” เร็วกว่าการคาดการณ์ของ “องค์การสหประชาชาติ” ที่ชี้ไปที่ปี ค.ศ.2027 แต่สื่อกระแสรองคาดว่าจะเร็วกว่านั้นคือในปี ค.ศ.2022

ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ตามไปว่า “อินเดีย” จะกลายเป็น “ดาวดวงใหม่” หรือ Rising Star ที่โดดเด่นขึ้นมาแทน “จีน” ในเร็ววันนี้!

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่นักวิเคราะห์ระดับโลกจำนวนมาก กำลังจับตามองผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากสงครามการค้าอันยาวนาน ระหว่าง “จีน” กับ “สหรัฐอเมริกา”

ที่แม้จะสร่างซาลงหลังจากทำเนียบขาวได้ผู้นำคนใหม่ คือ Joe Biden ที่มาแทน Donald Trump แล้วก็ตาม

ทว่า ผลสะเทือนของสงครามการค้าครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ระหว่าง “สหรัฐอเมริกา” กับ “จีน” ที่เคยลุกลามอยู่ระยะหนึ่ง ได้ส่งผลสะท้อนต่อเนื่องกลับมายังผู้ประกอบการทั่วโลก

ที่ต่างต้องเร่งหาช่องทางการตลาดใหม่ หรือประเทศคู่ค้าในฐานะผู้ซื้อรายใหม่-แหล่งใหม่ที่มีศักยภาพ โดยหลายชาติได้พากันมองไปที่ตลาดการค้า “อินเดีย”

ในฐานะ “ดาวดวงใหม่” หรือ Rising Star ที่โดดเด่นขึ้นมาแทน “จีน” ด้วยเหตุผล 3 ประการ กล่าวคือ

1. อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรของ “อินเดีย” กำลังจะแซง “จีน” แบบก้าวกระโดด

2. เศรษฐกิจ “อินเดีย” เติบโตอย่างก้าวกระโดดเหมือนจำนวนประชากร โดยในปัจจุบันมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ซึ่งคาดว่าจะทยานขึ้นสู่อันดับที่ 3 ในเร็ววันนี้ และยังมีแนวโน้มที่จะขึ้นแซงหน้าจีนได้อีกด้วย

3. “อินเดีย” มีประชากรหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีอายุเฉลี่ย 28 ปี จำนวนมากเกือบ 300 ล้านคน (มากกว่าไทยถึง 4 เท่า) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีการศึกษาสูง ที่สำคัญก็คือมีกำลังซื้อ และค่อยๆ ทวีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ “อินเดีย” จะมี GDP ที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากปัจจัยทั้ง 3 ข้อคือ “ประชากรมาก-เศรษฐกิจดี-กำลังซื้อสูง” ตลาดการค้า “อินเดีย” จึงเป็นเป้าหมายใหม่ที่น่าจับตามอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลจากมาตราการภาษี GST (Goods and Services Tax) ที่เอื้อให้ราคาสินค้าปรับลด ผนวกกับต้นทุนภาคธุรกิจบริการที่ต่ำลง ทำให้ “อินเดีย” มีความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า เหตุใด “อินเดีย” จึงเป็น “ดาวดวงใหม่” หรือ Rising Star ที่โดดเด่นขึ้นมาแทน “จีน”

“ไม่เพียงแซง “จีน” ขึ้นแท่น “ประชากรมากที่สุดในโลก” แต่ “อินเดีย” จะนำหน้าอีกหลายอย่าง!