จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (13) ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (13)

ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน (ต่อ)

 

ส่วนในแผ่นดินใหญ่จีนก็ใช้วิธีกดดันราชวงศ์ซ่งดังที่ชนชาติอื่นได้ทำมาก่อนหน้า ส่วนซ่งก็ยังคงใช้นโยบายรอมชอมเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ ด้วยการแลกกับการส่งบรรณาการให้แก่มองโกลด้วยมูลค่ามหาศาล หรือบางทีก็แลกกับการยอมเฉือนดินแดนบางส่วนให้แก่มองโกลตามที่มองโกลร้องขอ

และกว่าที่มองโกลจะตัดสินใจโค่นล้มซ่งเวลาก็ผ่านเลยไปจนถึงยุคหลานของเจงกิสข่านไปแล้ว หลานคนนั้นก็คือ กุบไลข่าน ซึ่งงานศึกษานี้จะได้กล่าวถึงโดยพิสดารผ่านราชวงศ์หยวนต่อไป

จากที่กล่าวมาโดยตลอดนี้ทำให้เห็นได้ว่า ชนชาติอันเป็นไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดนเหล่านี้มีพัฒนาการเฉพาะตนก็จริง แต่ก็เห็นได้เช่นกันว่า แต่ละชนชาติต่างก็มีความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

และถึงแม้ชนชาติเหล่านี้จะมีวัฒนธรรมที่ต่างจากจีน หรืออาจด้อยกว่าจีนก็ตาม แต่ในด้านการทหารแล้วมิได้ด้อยกว่าจีนเลย

เมื่อชนชาติเหล่านี้ลุกขึ้นท้าทายจีนก็สามารถทำให้จีนสยบยอมได้แต่โดยดี

ซึ่งแม้แต่ยุคก่อนหน้านี้ที่จีนมีชนชาติอื่นเป็นศัตรูไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ายุคนี้ แต่ราชวงศ์อื่นก็หาได้มีนโยบายดังราชวงศ์ซ่งไม่ ด้วยเหตุนี้ ยุคสมัยซ่งจึงเป็นยุคสมัยที่ชวนให้ค้นหาคำตอบว่า เหตุใดซ่งจึงมีวิธีคิดทางนโยบายที่ต่างไปจากราชวงศ์ทั้งก่อนหน้าหรือหลังจากนี้อยู่ไม่น้อย

 

ซ่งเหนือกับเส้นทางสู่จักรวรรดิ

ราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) เป็นผลผลิตของการต่อสู้อันยาวนานของกลุ่มอำนาจที่เป็นข้าหลวงทหาร อันเป็นตำแหน่งที่เป็นเสมือนมรดกที่ราชวงศ์ถังทิ้งเอาไว้ให้ ข้าหลวงทหารเหล่านี้มีทั้งที่เป็นชนชาติฮั่นและชนชาติอื่น

เหตุดังนั้น การต่อสู้ช่วงชิงการนำของคนกลุ่มนี้ได้สะท้อนให้เห็นภาพในสองมิติด้วยกัน

มิติหนึ่ง เป็นการต่อสู้เพื่อรวมจีนให้เป็นเอกภาพแล้วตั้งราชวงศ์ขึ้นมา

ในมิตินี้เราจะเห็นการต่อสู้ระหว่างชนชาติฮั่นด้วยกันเองและระหว่างชนชาติฮั่นกับชนชาติอื่น

มิตินี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้และทำให้เห็นว่า ราชวงศ์ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเอกภาพนี้ไม่จำเป็นที่ผู้ตั้งจักต้องเป็นชนชาติฮั่นเสมอไป

อีกมิติหนึ่ง เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชาติฮั่นกับชนชาติอื่นในฐานะที่ต่างก็เป็นภัยคุกคามระหว่างกัน การกล่าวเช่นนี้ออกจะสวนทางกับความคิดกระแสหลักในจีนที่มักมองว่า ชนชาติอื่นเป็นภัยคุกคามของจีน โดยที่จีนมิได้หรือมิเคยเป็นภัยคุกคามชนชาติอื่น

ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่

เพราะจีนเองก็เป็นภัยคุกคามของชนชาติอื่นมาก่อน คือคุกคามด้วยการเข้าไปยึดครองดินแดนของชนชาติอื่น ดังจะเห็นได้จากบางรัชกาลในสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นต้น

มิตินี้ทำให้เห็นว่า แม้ราชวงศ์จะถูกตั้งขึ้นแล้วก็ตาม แต่ราชวงศ์นี้ก็ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำศึกกับชนชาติอื่น การศึกนี้มีทั้งเพื่อขยายดินแดนของจักรวรรดิให้กว้างไกลออกไป และเพื่อป้องกันตนเองจากจากชนชาติอื่นเข้ามารุกราน สุดแท้แต่เจตนารมณ์ของผู้ก่อศึกจะเป็นเช่นไร

จากสองมิตินี้ทำให้การเกิดขึ้นของซ่งมีข้อจำกัดนับแต่แรกตั้งราชวงศ์ และเป็นเหตุให้ซ่งต้องหาทางจัดการกับข้อจำกัดนี้เพื่อเสถียรภาพและความอยู่รอด แต่แนวทางการจัดการของซ่งจะส่งผลเช่นใดนั้น ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตลอดราชวงศ์จะบอกโดยตัวของมันเอง

และผลประการหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การที่ประวัติศาสตร์ได้แบ่งซ่งออกเป็นสองสมัยคือ ซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1126) กับซ่งใต้ (ค.ศ.1127-1279) ซึ่งงานศึกษานี้จะได้กล่าวถึงราชวงศ์นี้ผ่านประเด็นต่างๆ โดยลำดับต่อไป

 

การเมืองในการรวมแผ่นดิน

เจ้าควางอิ้น (ค.ศ.927-976) ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ซ่งมีต้นตระกูลเป็นชาวเหนือที่มีพื้นเพเดิมอยู่ที่เมืองจวอ (จวอโจว) มณฑลเหอเป่ยในปัจจุบัน โดยถือกำเนิดในครอบครัวทหารรักษาการณ์เมืองลว่อหยัง และเป็นบุตรคนที่สี่จากพี่น้องทั้งหมดห้าคน

เล่ากันว่า ตอนที่เขาเกิดนั้น “ภายในห้องเปล่งประกายสีชมพูเรืองรอง หลังคาบ้านปกคลุมด้วยหมอกสีม่วง”

จากภูมิหลังครอบครัวทำให้เขาถูกฝึกให้เป็นทหารตั้งแต่เยาว์วัย เขาจึงมีความเป็นเลิศในการเป็นผู้นำทางทหาร การขี่ม้า และยิงธนู แต่ก็เป็นนักบริหารทางด้านพลเรือนที่มีความโดดเด่นเช่นกัน โดยเขาจะไม่ใช้โทษประหารกับผู้ใต้บังคับบัญชาหากยังไม่แน่ใจ แต่จะใช้วิธีปรับเงิน ลดเงินเดือน ขับไล่ หรือเนรเทศผู้มีความผิดแทน

และเมื่อเป็นจักรพรรดิ เขาก็เป็นจักรพรรดิในอุดมคติของนักประวัติศาสตร์จีน ที่ว่า เป็นผู้ปกครองราษฎรที่มีชีวิตอันเปี่ยมไปด้วยมนุษยธรรมและเมตตาธรรม ซึ่งตรงกับหลักคำสอนของลัทธิขงจื่อ

ในแง่นี้เขาจึงดำรงตนด้วยความสมถะ รังเกียจที่พักอาศัยอันหรูหราอัครฐาน ในอีกแง่หนึ่งเขาจึงเป็นผู้ที่เห็นอกเห็นใจสามัญชนตามชายขอบ และเอาใจใส่ชีวิตราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดี จนผู้เป็นบัณฑิตและนักปฏิรูปที่มีชื่อเสียงในยุคของเขายกย่องเขาให้เป็นบุรุษผู้ประเสริฐ

บุรุษที่ใส่ใจในปัญหาของผู้อื่นก่อนความสุขของตนเอง

 

จากที่บรรยายมานี้ทำให้เห็นว่า เจ้าควางอิ้นช่างมีบุคลิกภาพที่แตกต่างไปจากเมื่อครั้งที่เขายึดอำนาจโดยแทบจะสิ้นเชิง

เจ้าควางอิ้นตั้งตนเป็นจักรพรรดิซ่งไท่จู่ (ครองราชย์ ค.ศ.960-976) โดยมีเปี้ยนจิงหรือไคเฟิงในปัจจุบันเป็นเมืองหลวง คำว่า ไท่จู่ อันเป็นพระนามนี้มีความหมายว่า ปฐมชนผู้สูงส่ง (Supreme Progenitor) แต่มงคลนามนี้ย่อมเป็นคนละประเด็นกับปัญหาที่กำลังรอให้ซ่งไท่จู่แก้ไข

และเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ ข้าหลวงทหาร อันเป็นตำแหน่งที่มีมาตั้งแต่ปลายราชวงศ์ถัง และมีอิทธิพลสูงในทางการเมืองจนเป็นเหตุให้ถังล่มสลาย ครั้นพอมาถึงยุคนี้ข้าหลวงทหารก็ยังคงอยู่เป็นภัยต่อเสถียรภาพของซ่งดังเดิม

และซ่งไท่จู่เองก็ทรงเห็นปัญหานี้ตั้งแต่ก่อนที่จะตั้งราชวงศ์แล้ว

ปัญหาจึงมีว่า พระองค์จะทรงแก้ปัญหานี้อย่างไร ในขณะที่ข้าหลวงทหารหลายนายต่างเป็นกำลังที่สนับสนุนให้พระองค์ยึดอำนาจและตั้งวงศ์ขึ้นมาได้

ด้วยเหตุที่ทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ซ่งไท่จู่จึงตรัสถามเจ้าผู่ (ค.ศ.922-992) ซึ่งเป็นมหาอำมาตย์ที่ใกล้ชิดพระองค์ว่าจะแก้ปัญหาที่ว่าอย่างไร เจ้าผู่ผู้จงรักภักดีทูลตอบว่า สิ่งที่ซ่งไท่จู่พึงทำในเบื้องแรกคือ ทำอย่างไรซ่งไท่จู่จึงจักมีอำนาจเหนือข้าหลวงทหารที่ทรงอิทธิพลอยู่ในขณะนั้น

ซ่งไท่จู่ทรงเห็นด้วยกับเจ้าผู่และคิดหาวิธีนับแต่นั้นมา

 

จนเดือนสิงหาคม ค.ศ.961 พระองค์ทรงเชิญข้าหลวงทหารและแม่ทัพนายกองมาในงานเลี้ยงที่พระองค์ทรงจัดขึ้น เมื่อเวลาของการดื่มกินผ่านไปพอควรแล้ว ซ่งไท่จู่ก็ทรงถอนหายใจติดต่อกันหลายครั้ง จนเหล่าขุนศึกต้องทูลถามด้วยความตกใจว่า มีเหตุอันใด

พระองค์ตรัสว่า พระองค์ไม่สบายพระทัยด้วยเกรงว่าเหล่าขุนศึกจะคิดไม่ซื่อต่อพระองค์ ดังที่พระองค์ก็เคยคิดไม่ซื้อกับจักรพรรดิของโจวสมัยหลังมาแล้ว

ซ่งไท่จู่ตรัสในตอนหนึ่งว่า วันหนึ่งผู้ใต้บังคับบัญชาของเหล่าขุนศึกนำเสื้อคลุมสีเหลืองมาคลุมให้ขุนศึก แล้วเหล่าขุนศึกจักทำประการใดเล่า

เมื่อเหล่าขุนศึกได้ยินดังนั้นต่างก็หวาดกลัวและร่ำไห้ พร้อมกับทูลขอซ่งไท่จู่ทรงชี้แนะทางออกให้ด้วย ถึงตอนนี้ซ่งไท่จู่ก็ทรงเห็นเป็นโอกาสจึงตรัสว่า ทางออกที่ดีก็คือให้เหล่าขุนศึกลาออกจากตำแหน่งแล้วไปใช้ชีวิตที่สุขสบายยังบ้านเกิดของตน

เหล่าขุนศึกได้ฟังดังนั้นก็เข้าใจดี จากนั้นต่างแยกย้ายกันกลับไป วันต่อมาขุนศึกหลายคนอ้างว่าตนป่วยและขอลาออกจากราชการ

เหตุการณ์นี้แม้จะเป็นที่แปลกใจของเหล่าขุนนาง แต่สำหรับซ่งไท่จู่แล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ พระองค์ทรงเห็นดีด้วย แต่พระองค์ก็ทรงรักษาน้ำใจของขุนศึกเหล่านี้โดยการยกวงศานุวงศ์ให้แต่งงานด้วย

ทำให้ขุนศึกเหล่านี้มีความเกี่ยวดองเชิงเครือญาติกับราชวงศ์ซ่ง