วิกฤตินิเวศ : เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (36)/วิกฤติศตวรรษที่21 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (36)

การแก้ปัญหาโลกร้อนที่สร้างความหวังและการหน่วงเวลา

มีการเคลื่อนไหวที่กล่าวกันว่าจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้มาก มีอยู่ 2 ประการได้แก่

ก) การปลูกป่า

ข) การดักจับและเก็บคาร์บอน (Carbon capture and storage – CCS)

กิจกรรมสองประการนี้มีลักษณะเฉพาะของตน โฆษณากันว่าเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างได้ผล

แต่ถึงปัจจุบันนี้กล่าวได้ว่าเป็นการหน่วงเวลา กลบปัญหามากกว่าแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่เห็นผลในการแก้ปัญหา แต่มันก็ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาได้ในระดับต่างๆ จึงเป็นกิจกรรมที่ควรสนับสนุน

โดยเฉพาะในการปลูกป่า จะกล่าวถึงเป็นอันดับไป

 

1)การปลูกป่า ปฏิบัติกันมากในประเทศกำลังพัฒนาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีประเด็นควรกล่าวถึงคือ

ก) หลังพ้นจากการเป็นอาณานิคมแบบเก่า ต้องการควบคุมและใช้ทรัพยากรในประเทศของตนเพื่อการพัฒนาประเทศ เช่น ป่าไม้ที่มีประโยชย์หลากหลาย ทั้งเป็นเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง และการทำกระดาษ เป็นต้น แต่มันเสื่อมโทรมลงไปมาก จำต้องปลูกป่าฟื้นฟูสภาพให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีก

โครงการปลูกป่าที่กล่าวถึงกันมาก เช่น หลายชาติในแอฟริกาสานฝันสร้างโครงการกำแพงสีเขียวใหญ่ ปลูกป่าตลอดความกว้างของทวีปแอฟริการาว 8,000 กิโลเมตร กั้นทะเลทรายสะฮาราไว้ข้างบน

โครงการเหล่านี้ต้องลงแรง กินเวลาหลายทศวรรษ และใช้เงินงบประมาณสูงมาก ยังมีอภิโครงการปลูกป่าของโลก ได้แก่ ของประเทศจีนที่มีโครงการปลูกป่าขนาดใหญ่ เป็นทั้งการปลูกป่าใหม่จากที่ไม่มีป่า (Afforestation) เป็นการปลูกป่าในที่แล้งหรือกึ่งแล้งใกล้ทะเลทราย และการปลูกฟื้นฟูป่า (Reforestation) ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่เคยเป็นป่ามาก่อน เป็นอภิโครงการของการปลูกป่าของโลก ใช้เวลานานกว่า 40 ปีมาแล้ว

บางแห่งกล่าวว่า ต้องใช้เงินงบประมาณสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์

ข) แรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นที่ป่าถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีประชากรราว 1 พันล้านคนอาศัยอยู่ในและรอบๆ ป่า ความจำเป็นในการดูแลจัดการและการปลูกป่าจึงสูงขึ้น

ค) มีการศึกษาพบว่า การปลูกป่าในที่หนึ่งอาจก่อให้เกิดการทำลายป่าในอีกที่หนึ่งได้ จากระบบการค้าระหว่างประเทศ ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศประสบความสำเร็จในการปลูกป่ามากกว่าการทำลายป่า ที่สำคัญ เกิดจากการได้เปรียบจากการค้าระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ตามการศึกษาของนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐและยุโรป พบว่าระหว่างปี 1961 ถึง 2007 มีประเทศกำลังพัฒนา 6 ประเทศที่ประสบผลดังกล่าว คือ จีน คอสตาริกา ชิลี เอลซัลวาดอร์ อินเดีย และเวียดนาม เกิดจากการได้เปรียบทางด้านการค้าด้วย นั่นคือ “พบว่าในทุก 100 เอเคอร์ของป่าที่ปลูกขึ้นใน 5 ประเทศ (ยกเว้นอินเดีย) ได้นำเข้าผลผลิตจากป่ารวมเป็นพื้นที่ถึง 74 เอเคอร์

เมื่อคิดดุลการค้าพื้นที่ป่าทั้งหมด ที่ประเทศเหล่านี้ส่งออกสินค้าเกษตรที่ได้จากการทำลายป่าของตน ก็จะได้เปรียบดุลคิดเป็น 22 เอเคอร์ ของที่ดินจากประเทศอื่น” ในช่วง 5 ปีหลัง (ระหว่างปี 2003-2007) ตัวเลขการได้ดุลนี้เพิ่มขึ้นเป็น 52 เอเคอร์

ประเทศกำลังพัฒนาที่เสียดุลการค้าป่า ต้องทำลายป่าของตนมากกว่าใครมี 2 ประเทศได้แก่ อินโดนีเซียและบราซิล ได้ทำลายป่าฝนไปคิดเป็นร้อยละ 61 ของการทำลายป่าฝนทั่วโลก

“ดังนั้น ถ้าการคุ้มครองป่าในท้องถิ่นหนึ่งเป็นเพียงย้ายแรงกดดันของการทำลายป่าไปที่อื่นของโลก มันก็ไม่ช่วยให้เราได้ดุลป่าไม้ในระดับโลก” ประเทศทั้งหลายจำต้องร่วมมือกันในการลดการทำลายป่าในต่างประเทศด้วย (ดู “ข่าวจากสแตนฟอร์ด” ชื่อ Developing countries often outsource deforestation, study finds ใน news.standford.edu 24/11/2010)

บทความนี้เน้นบทบาทของประเทศกำลังพัฒนา แต่ความจริงมีการศึกษาพบว่าประเทศพัฒนาแล้วได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลีในยุโรป และญี่ปุ่น ได้ “นำเข้า” การทำลายป่าในประเทศที่ยากจนกว่าระหว่างปี 2001 ถึง 2015 ถึงร้อยละ 90 (ดูบทรายงานของ Ayesha Tandon ชื่อ Scientists calculated trade-related ‘deforestation footprint’ of rich countries ใน carbonbrief.org 29/03/2021)

ในระยะหลังการรณรงค์เรื่องการปลูกป่าเข้มข้นขึ้น ด้วยการโฆษณาว่าการปลูกป่าช่วยแก้ไขภาวะโลกร้อนได้ เช่น สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ริเริ่มโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านล้านต้น (1t.org) คำนวณกันว่า ต้นไม้ 1 ล้านล้านต้น มีศักยภาพที่จะเก็บกักปริมาณคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 25 ของที่มีอยู่ในบรรยากาศ

นั่นจะเป็นการพลิกโฉมใหญ่ แต่ป่าและการปลูกป่ามีความซับซ้อนในตัว

เช่น การปลูกป่าที่ดีต้องการพรรณพืชที่เหมาะสม พื้นที่ที่เหมาะสมและการมีส่วนร่วมของชุมชนชาวบ้านอย่างเต็มที่

ป่าที่ปลูกใหม่มีความอุดมสมบูรณ์ไม่เท่ากับป่าดั้งเดิมหรือป่าพื้นเมือง การปลูกป่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่ง

ท้ายสุดทุกวันนี้ป่าฝนเขตร้อนยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง และต้นไม้ยังคงถูกทำลายมากกกว่าปลูกใหม่ กิจกรรมการปลูกป่าย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติดังกล่าวได้

 

2)การดักจับและเก็บคาร์บอน (Carbon capture and storage- CCS) เป็นเทคโนโลยีที่จะดักจับคาร์บอนจำนวนมากก่อนที่มันจะถูกปล่อยสู่บรรยากาศ มีกระบวนการสามขั้น ได้แก่

ก) การดักจับคาร์บอนจากแหล่งกำเนิด เช่น โรงไฟฟ้าใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ โรงงานแยกก๊าซธรรมชาติ โรงงานเหล็กและเหล็กกล้า โรงงานผลิตซีเมนต์ โรงงานเคมีและปิโตรเคมี โรงงานปุ๋ย โรงงานผลิตไฮโดรเจน

ข) การกดอัดให้แน่น ขนส่งผ่านท่อลำเลียง เรือ และรถบรรทุก เพื่ออัดลงใต้ดิน

ค) การอัดลงไปเก็บในชั้นหินลึกที่เหมาะสม เช่น ชั้นน้ำเกลือใต้ดินลึก (800+ เมตร) บ่อน้ำมัน และก๊าซที่ใช้แล้ว ชาติที่มีโครงการด้านนี้สูงสุดคือสหรัฐ ตามมาเป็นแคนาดา เยอรมนี และจีน นอกจากนี้ คือประเทศที่มีน้ำมันมาก เช่น บราซิล นอร์เวย์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น

สถานการณ์หลังการลงนามข้อตกลงปารีส ได้เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ระหว่างประเทศ ประโคมความสำคัญของโครงการเหล่านี้อีกครั้ง กล่าวว่า มันคือกุญแจความสำเร็จของข้อตกลงปารีส ถ้าหากประเทศทั่วโลกใช้เทคโนโลยีนี้ จะสามารถช่วยเก็บคาร์บอนได้ร้อยละ 14 บรรลุเป้าของข้อตกลงนี้ได้

กลุ่มนักเคลื่อนไหวและองค์กรชุมชนเห็นว่าเรื่องจะไปกันใหญ่ ในเดือนกรกฎาคม 2021 มีข่าวว่ากลุ่มและองค์กรเหล่านี้กว่า 500 แห่ง ได้ทำจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ผู้นำสหรัฐและแคนาดาเลิกล้มนโยบายดักจับและเก็บคาร์บอนทั้งหมดเสีย และหันมาใช้นโยบายเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแทน

รายงานข่าวได้รวบรวมจุดอ่อนความล้มเหลวของโครงการซีซีเอสไว้หลายประการ สรุปได้ดังนี้คือ

ก) โครงการนี้อย่างดีที่สุดคือสามารถเก็บคาร์บอนจำนวนหนึ่งไว้ได้ (ในกรณีที่ไม่ได้ปล่อยสู่บรรยากาศในภายหลัง) ในกรณีที่แย่ที่สุด โครงการนี้ช่วยปกปิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เพิ่มการสร้างท่อลำเลียงที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และท้ายสุดเป็นการยืดอายุยุคของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลออกไป

ข) ประสบความสำเร็จน้อยและล้มเหลว เช่น รัฐบาลประธานาธิบดีบุชริเริ่มโครงการติดตั้งเครื่องดักจับคาร์บอนในโรงงานไฟฟ้าใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่รัฐอิลลินอยส์ ตั้งแต่ปี 2003 ดำเนินการติดตั้งในปี 2014 ท่ามกลางการเลื่อนเวลา การยกเลิก การตั้งระเบียบใหม่ การย้ายพื้นที่ หลังจากใช้เงินไป 1.65 พันล้านดอลลาร์ กระทรวงพลังงานสหรัฐได้ยกเลิกโครงการนี้ในปี 2015

ความล้มเหลวกรณีล่าสุด บริษัทน้ำมันเชฟรอนของสหรัฐได้ยอมรับว่า ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการดักจับและเก็บคาร์บอน หลังจากใช้เงินไป 3 พันล้านดอลลาร์ ตามโครงการฝังเก็บคาร์บอนบนเกาะทางตะวันตกของออสเตรเลีย

ความไม่สำเร็จดังกล่าวสืบเนื่องจากการศึกษาวิจัยซีซีเอสได้ผลไม่มาก ค่าใช้จ่ายของโครงการยังคงสูง เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก

ดังนั้น “จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการปฏิบัติโครงการใดในโลกที่สามารถส่งมอบการดำเนินงานซีซีเอสทันกำหนดเวลาตามเงินงบประมาณ หรือสามารถเก็บคาร์บอนได้ตามสัญญา”

ค) เทคโนโลบีซีซีเอส ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มันเป็นโครงการที่ “ไม่จำเป็น ไม่มีประสิทธิภาพ มีความเสี่ยงสูงยิ่ง และขัดกับหลักการของการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานอย่างเป็นธรรม และความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม” และ “กล่าวอย่างตรงไปตรงมา เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนนั้นเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นอย่างน่าอันตราย เราไม่ต้องการแก้ปัญหาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เราต้องการเลิกใช้มัน”

(ดูรายงานข่าวของ Douglas Fischer ชื่อ Climate activists pan carbon capture plans ใน dailyclimate.org 20/07.2021

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีวิศวกรรมโลก