100 ปีแห่งความยืดหยุ่นคงทน ของพรรคอมมิวนิสต์จีน (2)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

100 ปีแห่งความยืดหยุ่นคงทน

ของพรรคอมมิวนิสต์จีน (2)

 

ตอนที่แล้ว เราได้พูดถึงหลักหมายสำคัญในประวัติการเมืองร้อยปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยสังเขปผ่าน ข้อคิดเห็นของเสี่ยวหง เสี่ยว-แปลนส์ ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัยในฝรั่งเศสผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีนจากเหมาเจ๋อตงถึงสีจิ้นผิง (2018)

ทว่ารัฐ-พรรคจีนมีอำนาจควบคุมหยั่งลึกลงไปในระดับพื้นที่ท้องถิ่นทั่วประเทศมากน้อยแค่ไหนเพียงใด? รัฐบาลกลางของจีนคุมประชากร 1.4 พันล้านคนได้จริงกระนั้นหรือไฉน?

เพื่อช่วยตอบคำถามเหล่านี้ ผมขอชวนให้สดับตรับฟังข้อคิดเห็นของแคเธอรีน แคปเดอวิลล์-เจิ้ง ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาและจีนศึกษาแห่งบรรดา มหาวิทยาลัยในสังกัดสถาบันภาษาและอารยธรรมบูรพาแห่งชาติ (l’Inalco) ของฝรั่งเศสอีกคนหนึ่ง

เธอศึกษาวิจัยมหรสพประเภทต่างๆ ของจีนทั้งงิ้วดั้งเดิมและวงดนตรีร็อกสมัยใหม่ ความสัมพันธ์เพศสภาพและอำนาจในครอบครัวจีนทั้งในเมืองและชนบท ฯลฯ ผลงานหนังสือของเธอมี อาทิ ละครในพื้นที่ประชาชน (2012), พิธีกรรมกับดนตรีร็อกในปักกิ่ง (2001)

(http://www.inalco.fr/enseignant-chercheur/catherine-capdeville-zeng)

แคเธอรีน แคปเดอวิลล์-เจิ้ง ชี้ว่าเพื่อเข้าใจกลไกแห่งอำนาจของจีน จำต้องย้อนยุคกลับไปก่อนปี 1949 ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ปฏิวัติยึดอำนาจรัฐสำเร็จและพิจารณาสายสัมพันธ์เครือญาติซึ่งยังคงสำคัญยิ่งอยู่ในตอนนั้น

บนอาณาดินแดนอันกว้างไพศาลของจีนนั้น อำนาจของพระจักรพรรดิหาได้เบ็ดเสร็จไม่ บางทีก็กระทั่งอ่อนด้อยด้วยซ้ำไป

กล่าวคือ มีเจ้าหน้าที่ตัวแทนอำนาจของพระจักรพรรดิน้อยคนยิ่งในพื้นที่ชนบท ท้องที่ต่างๆ จึงปกครองโดยพวกผู้ดีท้องถิ่นซึ่งจัดตั้งกันตามกลุ่มเครือญาติ แซ่ และสายตระกูล ถึงขั้นที่กล่าวได้ว่าชนบทมีความเป็นอิสระมากทีเดียว

เมื่อถึงศตวรรษที่ 20 อำนาจส่วนกลางก็เข้ามาถึงครอบครัวและพื้นที่ชนบท ความสัมพันธ์ฉันเครือญาติ เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่บั่นทอนอำนาจของพวกผู้ดีท้องถิ่นลง ทว่าความสัมพันธ์ฉันเครือญาติยังมีบทบาทอยู่ แม้กระทั่งในพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ตาม การบูชาบรรพชนรวมกลุ่มผู้คนเข้าด้วยกันตามสายตระกูล กระทั่งทุกวันนี้ในชนบท ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ยังสำคัญอยู่ ในบางหมู่บ้าน เครือญาติกับหมู่บ้านก็มีลักษณะทับซ้อนกัน

ท้องที่ต่างๆ แสดงลักษณะเฉพาะของตนให้ประจักษ์โดยผ่านความสัมพันธ์ของมันกับท้องที่อื่นๆ ท้องที่ต่างระดับชั้นกันก็โต้แย้งเจรจาต่อรองกัน ทว่าการเจรจาต่อรองดังกล่าวไม่ปรากฏให้เห็นในสื่อมวลชน มันแสดงออกอย่างคลุมๆ เครือๆ ในที่ประชุมต่างๆ ของพรรคและในหมู่ผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น ผู้ปฏิบัติงานของพรรคจำนวนมากไม่รู้แน่หรอกว่าตนมีขอบเขตแค่ไหนเพียงใดที่จะรับเอาการปฏิรูปต่างๆ ของพรรคมาปฏิบัติ

แต่กล่าวได้ว่านับแต่สีจิ้นผิงขึ้นครองอำนาจรัฐ-พรรคเป็นต้นมา ขอบเขตที่ว่าก็หดแคบลง

 

เสี่ยวหง เสี่ยว-แปลนส์ กล่าวเสริมว่า แง่มุมท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการเข้าใจการเมืองการปกครองจีน เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงทำการปฏิรูปนั้น มีการกระจายอำนาจครั้งสำคัญและอำนาจมากหลายถูกมอบหมายให้ระดับท้องถิ่นใช้แทน กล่าวได้ว่าสภาพเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมเรียกร้องต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนทางการเมืองในท้องถิ่น

ทว่าพร้อมกับการที่สีจิ้นผิงหันกลับไปสร้างเสริมอำนาจส่วนกลางให้เข้มแข็งมั่นคงขึ้น ผู้ปฏิบัติงานของพรรคจำนวนมากก็หันมาใช้วิธีใส่เกียร์ว่างและเตะถ่วง หากมีมาตรการใดๆ จากส่วนกลางซึ่งอำนวยประโยชน์แก่ภูมิภาคของตน พวกผู้ปฏิบัติงานก็จะประยุกต์ใช้ปฏิบัติ แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์ พวกเขาก็เตะถ่วง พวกเขาจะคอยขัดขวางผู้คนไม่ให้ริเริ่มกระทำการใดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ตัวเองจะถูกลงโทษ

ในระดับส่วนกลางนั้น นับแต่ปี 2017 ที่สีจิ้นผิงได้อาณัติรอบที่สองในการครองอำนาจต่อไปจากสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 (https://www.rand.org/blog/2017/12/xis-consolidation-of-power-at-the-19th-party-congress.html) เขาได้รวมศูนย์อำนาจไว้ในกำมือพวกพ้องผู้ร่วมงานของเขามากพอควร

ตัวสีเองนั้นขึ้นเถลิงอำนาจสูงสุดได้ด้วยการหนุนหลังจากกลุ่มของเจียงเจ๋อหมินกับเจิงชิ่งหงมือขวาของเจียง ทว่าต่อมาสีได้กำจัดผู้ร่วมงานบางคนจากกลุ่ม “ก๊วนไท่จื่อ” ทิ้งไป เขาพึ่งพาอาศัยคนที่เขาไว้วางใจและหาทางสร้างเสริมอำนาจส่วนตัวให้มากขึ้น

(ก๊วนไท่จื่อหรือ ??? หมายถึงเหล่าลูกชายของสหายผ่านศึกอาวุโสร่วมรุ่นยุคเหมาเจ๋อตง https://thediplomat.com/2015/11/who-are-chinas-princelings/ สำหรับภูมิหลังที่มาของการเมืองเรื่องแซ่ตระกูลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ดูบทความ Xiaohong Xiao-Planes, “The Origins of ‘Status Politics’ : Family clans and Factions in CCP’s Top Leadership During the Cultural Revolution, 1966-1976”, 2020, https://www.researchgate.net/publication/340023098_The_Origins_of_Status_Politics_Family_clans_and_Factions_in_CCP’s_Top_Leadership_During_the_Cultural_Revolution_1966-1976)

 

แคเธอรีน แคปเดอวิลล์-เจิ้ง ตั้งข้อสังเกตว่าการปฏิวัติจีนคอมมิวนิสต์หาได้พลิกคว่ำหรือขุดรากถอนโคนค่านิยมสังคมตามประเพณีเดิมอย่างสิ้นเชิงไม่ สิ่งที่ยังคงจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมขั้นพื้นฐานของจีน ได้แก่ ความสัมพันธ์เชิงสถานภาพและสายสัมพันธ์ทางครอบครัวก็สอดรับกับมัน สิ่งนี้หาได้ถูกเปลี่ยนแปลงไม่ในหมู่ผู้คนยังคงมีความแตกต่างมหาศาลระหว่างพวกผู้ปฏิบัติงานของพรรคกับประชาชน เมืองกับชนบท ชายกับหญิง คนแก่กับคนหนุ่ม-สาว เป็นต้น

ความเหลื่อมล้ำเป็นลำดับชั้นก็ยังดำรงอยู่ คนจีนมากมายอยากจะเลื่อนชั้นตัวเองทางสังคมแต่ก็ถูกขัดขวางไว้

ในระนาบของความสัมพันธ์ทางสังคม นับแต่หลังการปฏิวัติ กล่าวในทางหลักทฤษฎีแล้วผู้คนมีสิทธิ์จะแต่งงานกับใครก็ได้ที่ตนต้องการ หรือที่เรียกว่าสิทธิในการสมรส (ดูบทความวิชาการของแคปเดอวิลล์-เจิ้ง เรื่อง “L’?vocation de l’amour dans les rites de mariage en Chine rurale” หรือการเอ่ยอ้างถึงความรักในพิธีแต่งงานในชนบทจีน, 2018, https://books.openedition.org/pressesinalco/18537)

แต่ไหนแต่ไรมาในจีน มีความเป็นไปได้เสมอที่จะไต่เต้าเลื่อนชั้นทางสังคมโดยผ่านช่องทางการสอบจอหงวนหรือช่องทางทำมาค้าขาย แม้ว่าความเป็นไปได้ที่ว่าจะเป็นในแง่หลักทฤษฎีมากกว่าความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้จีนตกอยู่ในสภาพกึ่งหยุดนิ่งตายตัวทางเศรษฐกิจสังคมหรือปฏิวัฒนาการ (?? เน่ยจ่วน หรือ involution ดูเกื้อกูล หมอนคำ, “คนจีนรุ่นใหม่เริ่มหมดไฟ”, TNN World, 20 มิ.ย. 2021)

มันยากยิ่งเสมอสำหรับชาวนาที่จะไต่เต้าถีบตัวให้ฐานะดีขึ้น

ใต้ภาพ

แคเธอรีน แคปเดอวิลล์-เจิ้ง & หนังสือละครในพื้นที่ประชาชน & พิธีกรรมกับดนตรีร็อกในปักกิ่ง