ในประเทศ : โค้งสุดท้าย คดีจำนำข้าว เฮือกสุดท้าย “ยิ่งลักษณ์” ลุ้นยื่นศาล รธน.ตีความ

นับจากอัยการสรุปสำนวนยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558

คดีจำนำข้าวได้มาถึง “โค้งสุดท้าย”

โดยศาลฎีกาฯ กำหนดไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 16 ซึ่งเป็นนัดสุดท้าย วันที่ 21 กรกฎาคมนี้

ก่อนให้คู่ความสองฝ่ายทำคำแถลงปิดคดี ยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน ตามเวลาทั่วไปในหลายคดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจศาลและความซับซ้อนของคดี

คาดว่าอย่างช้าไม่เกินเดือนสิงหาคม สองฝ่ายน่าจะยื่นคำแถลงปิดคดีได้เรียบร้อย

จากนั้นศาลจะใช้เวลาเขียนคำพิพากษา 7 ถึง 14 วันนับแต่ได้รับคำแถลงปิดคดี

ดังนั้น ถ้าไม่มีอะไรมาทำให้ “สะดุด” ก็มีความเป็นไปได้ว่า คดีจำนำข้าวจะรู้ผลในเดือนกันยายน

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นน่าสนใจเกิดขึ้นหลังการไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 15 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เมื่อทนายจำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ ว่า ขัดแย้งไม่เป็นไปตามมาตรา 235 วรรค 6 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 โดยขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ปรากฏว่าองค์คณะฯ รับคำร้องฝ่ายจำเลยไว้พิจารณา เพื่อมีคำสั่งอีกครั้งในการไต่สวนพยานวันที่ 21 กรกฎาคม ว่า จะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่

แม้จะทำให้การเมืองฝ่ายตรงข้ามฉวยโอกาสหยิบยกมาโจมตี ว่าเป็นความพยายามใช้เทคนิคทางกฎหมายในทุกรูปแบบ เพื่อ “ยืด” การตัดสินคดีออกไป

แต่ทนายความและฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยืนยันการยื่นคำร้องขอให้ตีความประเด็นดังกล่าว เป็นการทำเพื่อสิทธิและโอกาสในการต่อสู้คดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้เป็นจำเลย

และเพื่อให้คดีไร้ข้อเคลือบแคลงสงสัย ไม่ว่าในภายภาคหน้าคำตัดสินจะออกมาอย่างไร

 

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยืนยันการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542

ขัดหรือแย้งกับมาตรา 235 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่

ไม่ได้เป็นการใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อประวิงเวลาหรือยื้อคดี ตามที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุ ทำให้สับสน สร้างความเสียหายให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์

แต่เป็นเพราะ

หนึ่ง ก่อนอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เจ้าของสำนวนยืนยันว่า รายงานการไต่สวนของ ป.ป.ช. มีพยานหลักฐานแน่นหนา ไม่ต้องไต่สวนเพิ่มเติม

ทั้งยังกล่าวตำหนิอัยการสูงสุดในขณะนั้นและเร่งรัดให้ฟ้องคดี

สอง ในชั้นพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ ได้ใช้มาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดให้ยึดรายงานของ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา

และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

ทำให้โจทก์อาศัยข้อกฎหมายดังกล่าวเพิ่มเติมพยานหลักฐานใหม่ ทั้งพยานบุคคล และพยานเอกสารอีกกว่า 1 แสนแผ่นเข้ามาในคดี

เกี่ยวกับรายงานผลตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งจัดทำขึ้นใหม่หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นตำแหน่งแล้ว 7 เดือน

ทั้งยังอ้างพยานบุคคลที่ ป.ป.ช. มิได้ไต่สวนไว้เพิ่มเติมเข้ามา

ทั้งยังเพิ่มเอกสารเรื่องกล่าวหาจำเลยในคดีอื่น ที่ ป.ป.ช. ไม่ได้ไต่สวนไว้ในคดีนี้ มารวมพิจารณากับคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เสียเปรียบและได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านเอกสารที่เพิ่มเติมเข้ามาตั้งแต่ในชั้นสอบสวน

สาม ระหว่างการพิจารณาคดี รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 บัญญัติในมาตรา 235 วรรค 6 ว่า

การพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้นำสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา

แต่เพิ่มเติมข้อความตอนท้ายว่า “และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้”

ซึ่งแตกต่างและขัดแย้งกับมาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ตอนท้ายที่ระบุว่า “และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร”

โดยไม่มีเงื่อนไขการไต่สวนเพิ่มเติม เช่นเดียวกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญใหม่ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน

จึงถือว่ากฎหมายที่ศาลใช้รับเอกสารเพิ่มเติมใหม่ของโจทก์

ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

 

ทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย มีความเห็นสอดคล้องตรงกันว่า

หลักการต่อสู้คดีอาญาของจำเลยมี 2 แนวทาง คือ ต่อสู้ในปัญหาข้อเท็จจริง กับต่อสู้ในปัญหาข้อกฎหมาย ในกรณีนี้เป็นการต่อสู้ในปัญหาข้อกฎหมาย

กล่าวคือ การพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ ควรสอดคล้องตรงกับรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เปลี่ยนไปจากมาตรา 5 ของกฎหมายที่ใช้ในขณะที่โจทก์เพิ่มเอกสารใหม่ต่อศาล

หากปล่อยให้การพิจารณาคดีเสร็จสิ้น นอกจากจะทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์หมดโอกาสและเสียสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้

ยังทำให้ไม่มีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ที่เป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

และทำให้เรื่องที่จำเลยร้องขอและมีข้อโต้แย้งต่อกฎหมายที่ศาลฎีกาฯ ใช้พิจารณาคดีว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ได้รับการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ทีมทนายความและฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าประเด็นดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความหรือไม่ เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาฯ จะพิจารณา

ซึ่งจะรู้ผลคำสั่งในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ ว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่

ถ้า “ไม่ส่ง” คดีก็จะเดินหน้าเข้าสู่ห้วงเวลาชี้ชะตา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามกำหนดที่คาดว่าน่าจะมีขึ้นภายในเดือนกันยายน

แต่ถ้า “ส่ง” กระบวนการตัดสินชี้ชะตาก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ต้องทอดเวลายาวนานออกไป

ห้วงเวลาที่ทอดยาวออกไปนี้เอง

ยังเป็นห้วงเวลาแห่งการ “ลุ้นระทึก” ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย “กองเชียร์” หรือ “กองแช่ง” ว่า

คดีจำนำข้าวจะเกิดการ “พลิกผัน” ไปจากที่หลายคนคาดการณ์ไว้ตั้งแต่คดีขึ้นสู่ศาลเมื่อ 2 ปีก่อน

หรือไม่ อย่างไร