ชุลมุนจัดสรรวัคซีนโควิด ภูมิใจไทย ปะทะเดือด กทม. แผนเปิดประเทศ 120 วัน ไปไม่ถึงฝัน/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ชุลมุนจัดสรรวัคซีนโควิด

ภูมิใจไทย ปะทะเดือด กทม.

แผนเปิดประเทศ 120 วัน

ไปไม่ถึงฝัน

 

การจัดสรรวัคซีนโควิด 19 ภายใต้จำนวนวัคซีนที่จำกัด-ไม่มาตามนัด ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งสูงทุบสถิตินิวไฮรายวัน กลายเป็นศึกชิงวัคซีน

การจัดสรรวัคซีนไม่เป็นไปตามระดับความเข้มของพื้นที่ระบาดหนัก 13 จังหวัดสีแดงเข้ม-กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 โรคประจำตัว แต่มีโควต้าโผล่ที่ จ.บุรีรัมย์ ทับถมเป็นความขัดแย้งระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มี “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม.เป็นหัวหมู่ กับกระทรวงสาธารณสุข ที่มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี-รมว.สาธารณสุข เป็นขุนพล

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี-รมว.กลาโหม สวมหมวกผู้อำนวยการ ศบค. ต้องรับบทม้ากลางสงคราม-หย่าศึก “วัคซีนการเมือง” ที่มีประชาชนไทย-ประชากรแฝงกว่า 72 ล้านคนเป็น “ตัวประกัน”

 

ข่าวปล่อย “ยุบสถานีกลางบางซื่อ” วิชาก้นหีบของนักการเมืองพันธุ์พิเศษ เป็นความ “หวาดระแวง” บ่อเกิดจาก “สนิมเนื้อใน” เรือแป๊ะ

ไล่ไทม์ไลน์ยุบ-ไม่ยุบสถานีกลางบางซื่อ เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ตอบคำถามหน้าจอถึงความแออัดของศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ ที่มีประชาชนทั้ง กทม.และต่างจังหวัดแห่วอล์กอินไปฉีดอย่างไม่ขาดสาย ที่ไหนไม่มี แต่บางซื่อมี

“ศบค.ชุดเล็กหารือกันมาโดยตลอดทั้งวันเสาร์ วันอาทิตย์ ได้รับรายงานว่า มีพี่น้องประชาชนจากต่างจังหวัดเดินทางมาฉีดวัคซีน เช่น ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ที่ได้รับทราบข่าวว่าได้เปิดวอล์กอินให้ฉีด สาธารณสุขก็เป็นห่วง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างห้ามเคลื่อนย้ายและห้ามเดินทางเข้าออกในพื้นที่สีแดงเข้ม แต่การฉีดวัคซีนก็เป็นนโยบายเร่งระดมให้เกิดการฉีด”

“คงต้องฝากไปยังสถานีกลางบางซื่ออาจจะมีการทบทวน ชะลอ ตอนนี้ยังอนุญาตให้วอล์กอินเข้ามาฉีดได้ แต่มีความแออัดหนาแน่น หากจะชะลอได้ในช่วงนี้ จำเป็นต้องชะลอก่อน” ผช.โฆษก ศบค.ส่งสัญญาณ

ตกดึกของวันเดียวกัน มีรายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข ว่า ศบค.สั่งให้ยุบสถานีกลางบางซื่อ “ฟ้าผ่า”

แหล่งข่าวคนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธทันควันว่า “ไม่ยุบ เป็นการปั่นข่าวกันเอง”

 

เช้าวันรุ่งขึ้นของวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ส.ส.ภูมิใจไทยออกมาถล่ม กทม.-ศบค.อย่างดุเดือด

“ภราดร ปริศนานันทกุล” ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า #SAVEบางซื่อ และย้อนความหลัง-ระลึกความจำคุณูปการของศูนย์วัคซีนสถานีกลางบางซื่อ บางช่วง-บางตอน ระบุว่า

สถานีบางซื่อเกิดขึ้นเพราะความไร้ระบบของการฉีดวัคซีนใน กทม. เบียดแบ่งเอาโควต้าวัคซีนของคนต่างจังหวัดเพื่อฉีดให้คน กทม. สุดท้ายคน กทม.ก็ไม่ได้ฉีดเท่าที่ควร กลุ่มเสี่ยงอายุ 60 +7 โรคเสี่ยง ไม่ได้ฉีด เอาไปฉีดใคร? วัคซีนไปไหน? จุดฉีดของ กทม. 25 จุด อยู่ที่ไหน ฉีดวันละเท่าไร และฉีดใคร? ไม่มีใครรู้!!! ฉีดจริงจัง หรือฉีดแค่ทำท่า เหมือนฉีดไหว้เจ้ารึเปล่า?? ทำไมคนรู้จักและมารับวัคซีนแต่ที่บางซื่อ นี่น่าจะเป็นคำตอบ!!!

“บางซื่อจึงเกิดขึ้นเพื่อฉีดให้ #คนไม่มีเส้น ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาบางซื่อเปิด #วอล์กอิน (ขออภัย คำนี้อาจแสลงหู เปลี่ยนเป็น #ออนไซต์ ก็ได้) ให้กับผู้สูงอายุและ 7โรคเสี่ยงโดยเฉพาะ ภาพของผู้สูงอายุมายืนรอคิวล้นหลามที่บางซื่อ เป็นภาพที่ยืนยันอีกครั้งว่าที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้นำวัคซีนไปฉีดให้กลุ่มเสี่ยงเลยใช่ไหม??”

สมาชิกพรรคภูมิใจไทยเปิดหน้าถล่ม ศบค.เรื่องวัคซีนเป็นระลอก

 

ตกบ่าย-หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์เรียก “ประชุมด่วน” หารือการบริหารจัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 สถานีกลางบางซื่อ ผ่านระบบ Video Conference เพื่อสยบข่าว “ยุบบางซื่อ” และ “หย่าศึก”

“คู่ขัดแย้ง” มากันครบองค์คณะ ไล่ตั้งแต่นายอนุทิน รองนายกรัฐมนตรี-รมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.ต.อ.อัศวิน ผู้ว่าฯ กทม. และ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ

ผลสรุปคือไม่ยุบตามข่าวลือแต่มีการ “ปรับแผน” ชะลอการฉีดวัคซีนแบบ “วอล์กอิน” ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคประจำตัว เพื่อลดความแออัดภายในสถานีกลางบางซื่อ และ “บริหารความเสี่ยง”

โดยตั้งแต่วันที่ 1-31 สิงหาคม เป็นต้นไป จะเปิดลงทะเบียนล่วงหน้าสำหรับกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป – 7 กลุ่มโรคเสี่ยง กลุ่มผู้มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม สตรีมีครรภ์อายุเกิน 12 สัปดาห์ ผ่านแอพพลิเคชั่นวัคซีนบางซื่อ

ทำให้กระแสขัดแย้งลดอุณหภูมิลง แม้ในที่ประชุมจะมีวิวาทะเรื่องการจัดสรรวัคซีนอย่างดุเดือด

โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.แจ้งต่อที่ประชุมว่า กทม.เพิ่งจะได้รับวัคซีนจาก สธ.เพียง 7 แสนโดสเท่านั้น ทำให้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า สธ.ได้ส่งมอบวัคซีนให้กับสำนักอนามัย (สนอ.) สังกัด กทม.ในเดือนมิถุนายน 1 ล้านโดส และเดือนกรกฎาคมอีก 1.1 ล้านโดส ทำให้ พล.ต.อ.อัศวินตอบกลับไปว่า ที่ สธ.ส่งมาเป็นการส่งให้ สนอ.และนำไปให้คนที่ลงทะเบียนหมอพร้อม ไม่ได้เป็นการจัดการของ กทม.

นพ.โอภาส จึงกล่าวว่า เมื่อ สธ.ให้ไปแล้ว สนอ.จะนำไปส่งมอบให้ใครต่อ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือคนที่ลงทะเบียนตามระบบหมอพร้อม สธ.ไม่มีส่วนรู้เห็น เพราะถือเป็นเรื่องการบริหารจัดการของ กทม. และ กทม.ขอมาเท่าไหร่ สธ.ก็จัดสรรเท่านั้น

ทำให้ พล.ต.อ.อัศวินถึงกับกล่าวด้วยน้ำเสียงไม่พอใจว่า “คุณพูดให้เป็นลูกผู้ชายหน่อยสิ” จน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องกล่าวตัดบทว่า เราไม่ได้มาขัดแย้งกัน เราแค่อธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ทำให้สถานการณ์ผ่อนคลายลงและนำไปสู่ข้อสรุปข้างต้น

 

ศึกสามเส้า-งัดข้อกัน กทม.-สาธารณสุข เพื่อชิงวัคซีน-ชิงแต้มทางการเมือง ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้เหตุการณ์ “เทหมอพร้อม” หลังจากระบบลงทะเบียน www.ไทยร่วมใจ.com “เบียดคิว” เกิดเป็นกระแสดราม่า “เลื่อนฉีดวัคซีน”

“พล.อ.ประยุทธ์” ต้องสั่งการให้ “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. จูงมือคู่ขัดแย้งมาแถลงข่าว เพื่อสงบศึกระหว่างกระทรวงสาธารณสุข-กทม.

แต่ความไม่เป็นเอกภาพขององค์กรจัดสรรวัคซีน ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้ “พล.อ.ประยุทธ์” รวมศูนย์อำนาจเบ็ดเสร็จ รวบ-ตึงกฎหมาย 31 ฉบับไว้ในกำมือ กระนั้นอิทธิฤทธิ์ของนักการเมืองใน “กระทรวงหมอ” ยังแผ่กระจายไปถึงการจัดการโควต้าวัคซีนจังหวัดพื้นที่ระบาดสีแดงเข้ม และใน 10 จังหวัดนำร่อง ตามแผนเปิดประเทศ 120 วัน ได้แก่ 1.ภูเก็ต 2.สุราษฎร์ธานี (สมุย พะงัน เกาะเต่า) 3.กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์) 4.พังงา (เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย เขาหลัก) 5.เชียงใหม่ (แม่ริม แม่แตง ดอยสะเก็ด) 6.ชลบุรี (พัทยา สัตหีบ) 7.เพชรบุรี (ชะอำ) 88.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) 9.กรุงเทพมหานคร และ 10.บุรีรัมย์

ทั้งการกระจายวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน การระบาดคลัสเตอร์ใหม่ทั่วประเทศ ทำให้แผนเปิดประเทศ 120 ต้องสะดุดอย่างน้อย 5 จังหวัดนำร่องต้องถอนตัว อาทิ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และบุรีรัมย์

กุนซือจากวอร์รูมทำเนียบ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ต้องทบทบการเปิด 10 จังหวัดนำร่อง ด้วยข้อหารือถึงนายกรัฐมนตรี ว่า

“เมื่อไม่พร้อมต้องชะลอ การเดินหน้าเปิด 10 จังหวัดนำร่องต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การติดเชื้อคู่ขนานไปด้วย ชลบุรีหมดสิทธิ์ เพราะเป็นจังหวัดในพื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุด (สีแดงเข้ม) ให้คิดถึงการควบคุมการแพร่ระบาดก่อน เชียงใหม่ก็เช่นเดียวกัน เพราะมีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น รวมถึงชะอำ หัวหิน ส่วน กทม.แม้จะหมดสิทธิ์ แต่ต้องไม่หมดหวัง”

แม้นายกรัฐมนตรีจะยังไม่ประกาศยกเลิก-ปรับปรุงแผน 120 เปิดประเทศ แต่มีการเตรียมแผนสองรองรับ ภายใต้โจทย์จากทำเนียบ ที่ระบุว่า “จะเปิดประเทศอย่างไรให้อยู่กับโควิด-19 ได้ ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้กันทั่วโลก ยังคงสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และเพิ่มจำนวนการฉีดวัคซีนให้ถึง 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เพิ่มขีดความสามารถในการรักษาเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันเศรษฐกิจส่วนใดเปิดได้ก็ต้องเปิด โรงงานต้องไม่ปิดเพราะเกี่ยวกับห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบ”

แผนวัคซีน 100 ล้านโดส ยังสัญญาณล่ม-แผนเปิดประเทศ 120 วันของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจไปไม่ถึงฝั่งฝันเช่นเดียวกัน