ข่าวเขย่า ‘เก้าอี้ลุงตู่’ นายกฯ พระราชทาน เฟค หรือแฟคต์/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ข่าวเขย่า ‘เก้าอี้ลุงตู่’

นายกฯ พระราชทาน

เฟค หรือแฟคต์

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่มียอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งเกินวันละ 1 หมื่นคนต่อเนื่องมา 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา และมีตัวเลขติดเชื้อสะสมในประเทศกว่า 5 แสนคนไปแล้ว

ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมมีจำนวน 4,303 รายไปแล้ว ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศเข้าขั้นวิกฤต จนประชาชนต้องเผชิญกับสภาพ

“รอติด รอเตียง และรอตาย”

ลามไปถึงวิกฤตศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นผู้นำเบอร์หนึ่งของฝ่ายบริหาร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “ศบค.”

แม้จะรวบอำนาจไว้แบบซิงเกิลคอมมานด์ งัดสารพัดวิธีเพื่อหยุดยั้งโควิด ทั้งล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว แต่ยังไม่สามารถกดตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตให้ลดลงได้

สภาพของรัฐบาลในเวลานี้จึงไม่ต่างกับผู้ป่วยโควิดกลุ่มอาการสีเหลือง กำลังจะเข้าสู่สีแดง ที่ต้องประคับประคองอาการให้รอดพ้นจากวิกฤตโควิดไปให้ได้

 

ขณะที่อารมณ์และความรู้สึกที่สะท้อนผ่านเสียงเรียกร้องของภาคประชาชน กลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งดารานักแสดงที่ออกมา “คอลเอาต์” ต่างแสดงจุดยืนชัดเจนตรงกันว่า รัฐบาลต้องปรับการบริหารจัดการโควิดให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

ไปไกลจนถึงขั้นที่ว่า หากนายกฯ คนปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาโควิดได้ดีกว่านี้ ก็ควรลาออก เปิดทางให้นายกฯ ที่มีความสามารถเข้ามาแก้วิกฤตโควิดของประเทศ

สอดรับกับกระแสข่าวเขย่าเก้าอี้นายกฯ ของ “บิ๊กตู่” เมื่อ “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” สถาปนิกชื่อดัง โพสต์ทวิตเตอร์ส่วนตัวระบุว่า “ลูกน้องเตรียมบอกลาประยุทธ์ได้เลย”

กอปรกับวิกฤตขาลงของรัฐบาลจากการเผชิญวิกฤตโควิด จนมีข่าวลือว่า “บิ๊กตู่” อาจจะไปต่อไม่ไหวแล้วลาออกจากตำแหน่งนายกฯ

คนการเมืองจึงวิเคราะห์กันต่อไปว่า เมื่อถึงจุดเปลี่ยนทางการเมือง นายกฯ เกิดถอดใจลาออก โอกาสที่จะนำไปสู่การมีนายกฯ พระราชทาน หรือนายกฯ คนนอก เข้ามาแก้วิกฤตโวคิดฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ อาจจะเป็นไปได้

 

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 วรรคสอง มีกลไกเปิดช่องให้มี “นายกรัฐมนตรีนอกบัญชี” ได้ โดยต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสองสภาในการเสนอเรื่อง และใช้เสียง 2 ใน 3 ของสองสภาในการมีมติยกเว้นการเลือกนายกฯ จากในบัญชีพรรคการเมือง ก่อนจะใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสองสภาในการเลือกนายกฯ นอกบัญชี

ยิ่งเมื่อสแกนดูแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชี ที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอไว้ เท่าที่เหลืออยู่คือ พรรคเพื่อไทย มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคภูมิใจไทย เสนอนายอนุทิน ชาญวีรกูล

พรรคประชาธิปัตย์ เสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หากวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ โอกาสที่ฝ่ายกุมอำนาจรัฐในเวลานี้จะยกเก้าอี้นายกฯ ให้กับแกนนำพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย คงเกิดขึ้นยาก

หรือหากจะเลือกใช้บริการตัวเลือกนายกฯ ของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีจำนวนเสียง ส.ส.เป็นอันดับที่ 2 และ 3 มานั่งเป็นนายกฯ

พลพรรคพลังประชารัฐที่มีเสียง ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาล คงจะเป็นเรื่องยากที่จะยกมือยอมรับให้นายกฯ จากพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงน้อยกว่ามาเป็นเบอร์หนึ่งของฝ่ายบริหาร โอกาสที่จะเกิดสภาวะงัดข้อ ประลองกำลังระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล อาจส่งผลให้รัฐบาลปิดฉากลงได้ทุกเมื่อ

เมื่อเป็นเช่นนี้ และมีกลไกตามรัฐธรรมนูญเปิดช่องเอาไว้ จึงไม่แปลกที่ฝ่ายกุมอำนาจ อาจจะเปิดเกม ยอมเสี่ยงหา “บิ๊กเนม” ที่มีสเป๊กครบเครื่อง ได้รับการยอมรับจากทั้ง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว. มาเป็นนายกฯ นอกบัญชี หรือนายกฯ พระราชทาน บริหารประเทศฝ่าวิกฤตโควิดในช่วงหนึ่งปีครึ่ง จนรัฐบาลอยู่ครบเทอม แล้วไปวัดใจประชาชนกันอีกครั้งในช่วงเลือกตั้งใหญ่

 

แต่จากสัญญาณและท่าทีล่าสุดของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมทั้งกลุ่มการเมืองนอกสภา ต่างส่งสัญญาณชัดว่าไม่เอานายกฯ พระราชทาน เนื่องจากมองว่าจะนำไปสู่วิกฤตทางเมืองอีกครั้ง

แม้จะมีกลไกตามรัฐธรรมนูญรองรับ แต่ก็ไม่ยึดโยงกับเสียงและเจตนารมรืของประชาชนในการเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง ผ่านกลไกของการเลือกตั้ง

เริ่มจากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ส่งสัญญาณผ่านแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า “ตอนนี้ไม่ใช่เวลาเล่นการเมือง ใครจะทิ้งผมก็ตามใจ แต่ผมจะทำงานต่อ”

ถือเป็นสัญญาณว่า “บิ๊กตู่” ยังไม่ถอย ทั้งลาออก หรือยุบสภา และยังจะเดินหน้าทำงานในฐานะผู้นำรัฐบาลต่อไป

เช่นเดียวกับ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันถึงความชัดเจนในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้งว่า ไม่เคยคิดทิ้งนายกฯ และแน่นอนว่าพรรคภูมิใจไทยยังมั่นคง เหนียวแน่น อยู่ร่วมรัฐบาลยาวจนครบวาระ

ขณะที่ท่าทีของ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ออกมายืนยันถึงกระแสเทรนด์แฮชแท็กในทวิตเตอร์ไม่เอานายกฯ พระราชทาน ด้วยว่า สะท้อนถึงความต้องการของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง และสนับสนุนข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ที่พวกเขายึดมั่นหลักการมากกว่าตัวบุคคล ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ออกไป และได้คนที่พวกเขาชื่นชอบมาเป็นนายกฯ

โดยไม่เป็นไปตามครรลองของระบบแล้ว พวกเขาก็ไม่สนับสนุน นอกจากนี้ ยังสะท้อนไปถึงข้อเรียกร้องเรื่องระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกกันว่า Constitutional-Parliamentary Monarchy ด้วย

 

อีกทั้งด้วยธรรมชาติของนักการเมืองอาชีพ ไม่มีแกนนำพรรคไหนจะตัดสินถอนตัว ยุบสภา และลาออกในช่วงที่กระแสความนิยมทางการเมืองของตัวเองตกต่ำ เพลี่ยงพล้ำ ประชาชนไม่ศรัทธา แล้วไปลงสนามเลือกตั้งในสภาพที่ตัวเองไม่ได้เปรียบ

เพราะยังมีปัจจัยสำคัญ ทั้งร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องระบบเลือกตั้ง ที่พรรคร่วมรัฐบาลอยากให้มีการแก้ไขกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ยังไม่ได้รับการแก้ไข

หาก 2 ปัจจัยสำคัญข้างต้นผ่านด่านของสภา ซึ่งจะเป็นอีกแต้มต่อสำคัญให้กับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล และผู้กุมอำนาจ ตัดสินใจทางการเมืองอีกครั้งว่าจะยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อใด

ยิ่งเสียงในสภาของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีมากกว่าเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านถึง 58 เสียง โอกาสเกมการเมืองในสภาจะล้มรัฐบาลคงเป็นได้ยาก

อีกทั้งสัญญาณของกลุ่มการเมืองภายนอกสภาก็ชัดเจนว่าไม่เอานายกฯ พระราชทาน

 

เวลานี้ทั้ง “บิ๊กตู่” และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล จึงต้องจับมือกันประคองตัวร่วมกันฝ่าวิกฤตโควิด เร่งฟื้นความเชื่อมั่น และคะแนนนิยมทางการเมืองของแต่ละพรรคให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ดีอีกครั้ง

เมื่อวันเวลาเหมาะสม ทุกกลไกเอื้อประโยชน์ ผู้กุมอำนาจรัฐอาจตัดสินใจยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้ง โยนอำนาจกลับไปให้ประชาชนตัดสินใจ ว่าจะเลือกให้ใครเข้ามาบริหารประเทศ ในเก้าอี้นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนนายกฯ พระราชทาน นับจากนี้ไปจะเป็นแค่เฟค หรือแฟคต์ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม