‘บิ๊กตู่’ จะอยู่ไม่ครบเทอมไหม ? ต้นทุนตกต่ำจนหมดหน้าตัก/ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

 

‘บิ๊กตู่’ จะอยู่ไม่ครบเทอมไหม ?

ต้นทุนตกต่ำจนหมดหน้าตัก

 

นายกรัฐมนตรีพระราชทาน” เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกระแสร้อนแรงเกิน จนแฮชแท็กแหกด่านมะขามเตี้ยแซงทางโค้ง ขึ้นมาติดอันดับเทรนทวิตเตอร์อยู่ชั่วขณะหนึ่ง

ปัจจัยสำคัญ การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการต่างๆ ไม่มีประสิทธิภาพ ล้มเหลวทุกกระบวนท่า ความมืดครอบงำ สายลมแห่งความชั่วร้ายแผ่ปกคลุม อะไรที่ไม่เคยพบเห็นได้ประจักษ์หมด ปล่อยให้คนนอนตายคาบ้าน คารถ กลางถนน บ้านเมืองโกลาหล ภาพลักษณ์สุดอัปยศอดสูใจ

ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งพรวดชนเพดาน วันละหมื่นกว่า สัปดาห์ละแสน เศรษฐกิจตกต่ำ สังคมย่ำแย่ ด้วยความสับปะรังเคในหลายบริบท ที่ถาโถมเข้าหาในเวลาพร้อมเพรียงกัน

ส่งผลให้ “สารัตถะ” ในทางปรัชญาหมายถึง “คุณลักษณะ” หรือ “ภาวะอันเป็นเนื้อแท้” ของผู้นำที่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตกต่ำสุดขีด กระแส “ไม่เอาตู่” มาตามนัดพุ่งกระฉุดทุกวงการ และทำท่าจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนหน้านี้เล็กน้อย มีข่าวลือหึ่งว่า จะมี “ปฏิวัติ-ยึดอำนาจ” ล้มกระดานศูนย์อำนาจ 3 ป. โดยส่งอดีตนายทหารรุ่นน้อง “คนกันเอง” มาขัดตาทัพ แต่หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วยาม หวยมาออกที่ “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน”

แต่เกิดกระแสต่อต้านจากหลายภาคส่วน เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้อยู่ปัจจุบัน 2560 ไม่มีในบทบัญญัติ หมวดหมู่ใด กำหนดไว้เป็นช่องทางพิเศษ หรือประตูฉุกเฉินให้มี “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน”

ถ้า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เจอทางตัน จะด้วยเงื่อนไขใดก็ตาม มี 2 ชอยส์ให้ก้าวลง ระหว่าง “ยุบสภา” หรือ “ลาออก” ตามไฟต์บังคับ แห่งมาตรา 272 จากบทเฉพาะกาล

กรณีแรก คืนอำนาจกลับสู่ประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย การปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ เลือกตั้งกันใหม่

กับช่องทางที่ 2 ด้วยการ “ลาออก” ซึ่งกำหนดกรอบเอาไว้ว่า ในระหว่าง “ห้าปีแรก” ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159

ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของ “รัฐสภา” และมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี “ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”

“เอวัง” ก็มีด้วยประการฉะนี้แล เพราะมาตรา 272 ลั่นดานเอาไว้ว่า ใช้เกินครึ่งหนึ่งของสองสภาเท่าที่มีอยู่

“สภาผู้แทนราษฎร” มี ส.ส.จำนวนเต็ม 500 เสียง “วุฒิสภา” ที่มาจากการลากตั้ง 250 เสียง รวมเป็น 750 เสียง กึ่งหนึ่งเกิน 375 เสียง

เทียบสัดส่วนกันปอนด์ต่อปอนด์ พรรคที่ใหญ่ มีเสียงข้างมากที่สุดคือ “ส.ว.ลากตั้ง” 250 ที่นั่งอยู่ข้างไหน ฝั่งนั้นชนะแบเบอร์

 

กรณีที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จำนนต้องลาออก จะต้องเดินตามกรอบรัฐธรรมนูญมาตรา 159 หยิบรายชื่อจากตะกร้าใบเดิม หยิบชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ตามมาตรา 88 มาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากกว่าร้อยละ 5 ในสภา

แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจาก “บัญชีชื่อ” ที่เหลืออยู่ เข้าเงื่อนไข จะประกอบด้วย 1. “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” จากพรรคภูมิใจไทย 2 .”นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” พรรคประชาธิปัตย์ 3 .”คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” 4. “นายชัยเกษม นิติสิริ” และ 5. “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” จากพรรคเพื่อไทย

ตามช่องทางนี้ คนที่ได้เปรียบที่สุดน่าจะเป็น “เสี่ยหนู อนุทิน” เพราะภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมลำดับที่ 2 และมีสถานะคือรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ปัญหาอยู่ที่ว่า “พรรค ส.ว. 250 เสียง” จะเอาด้วยหรือไม่เท่านั้น แต่เมื่อวิเคราะห์ทุกองคาพยพแล้ว “ช่องทางบัญชีชื่อ” น่าจะเกิดภาวะอุดตัน หาจุดลงตัวไม่ได้

จึงต้องก้าวข้ามไปดูความเป็นไปได้ ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ 2560 ยลตาม “ช่องทางที่ 2”

ที่บัญญัติเอาไว้ว่า “หากกรณีไม่อยากแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ไม่ว่าเหตุผลใด และสมาชิกทั้งสองสภารวมกันจำนวนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้น

เพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้

ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

ใครก็ได้ที่มาตาม “ช่องทางที่ 2” ต้องมีเสียงสองในสามของ 2 สภารวมกัน จากยอด ส.ส. 500 เสียง กับวุฒิสมาชิก 250 เท่ากับว่า ต้องมีเสียงสนับสนุนเกิน 500 เสียง

สูตรนายกรัฐมนตรีตามช่องทางนี้ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรรคพลังประชารัฐ มีภาษีดีกว่าใครเพื่อน แค่เอาเสียงจากฐานที่มั่นเดิมของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” จำนวน 19 พรรค

ไปสมทบทุนกับวุฒิสมาชิกที่เชื่อกันว่า “บิ๊กป้อม” ใช้บารมีแต่งตั้งสมัครพรรคพวกเข้ามามากที่สุด ก็เพียงพอที่จะยกระดับตัวเองขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม กรณีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นอกจากต้นทุนตกต่ำจนหมดหน้าตัก มีบางกระแสก็ว่า จากกลไกรัฐธรรมนูญปี 2560 ตามมาตรา 158 “บิ๊กตู่” ก็มีกรอบจำกัดตัวเอง อยู่ไม่ครบเทอมอยู่แล้ว

มาตรา158 บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีมีกรอบเวลา 8 ปี หากเริ่มต้นนับหนึ่งจากวันที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เข้ามานั่งเก้าอี้หมายเลข 1 ตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557

อายุราชการบนตำแหน่งผู้นำประเทศจะครบ 8 ปีบริบูรณ์ในเดือนสิงหาคม 2565 ดังนั้น อยู่ได้ไม่ครบเทอมอยู่แล้วตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น เชื่อว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตกต่ำสุดขีด “พล.อ.ประยุทธ์” ก็น่าจะถีบๆ ถอยๆ หวังกอบกู้ชื่อเสียงตัวเองกลับคืนอีกระยะ

ปลายปี 2564 ชิงลงมือ “ยุบสภา” …ลงจากหลังเสือแล้วตัวใครตัวมัน

ส่วน “บิ๊กตู่” จะโดนเสือกัดหรือไม่ ก็ต้องติดตามกันตอนต่อไป