มหันตภัยโควิด ตร.วางปืนสวมพีพีอี เปิดสาย 191 ตลอด 24 ช.ม.รับแจ้งคนไข้ จัดรถขนส่งผู้ป่วย-เปิด ร.พ.สนาม/โล่เงิน

โล่เงิน

 

มหันตภัยโควิด ตร.วางปืนสวมพีพีอี

เปิดสาย 191 ตลอด 24 ช.ม.รับแจ้งคนไข้

จัดรถขนส่งผู้ป่วย-เปิด ร.พ.สนาม

 

ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นหน่วยสนับสนุน บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร สาธารณสุข ฝ่ายปกครอง เทศกิจ และหน่วยอื่นๆ ร่วมตั้งจุดตรวจเคอร์ฟิว จุดชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด ตรวจแคมป์คนงาน ตรวจกิจการห้างร้าน เข้มป้องกันแนวชายแดน ปราบปรามกิจกรรมการมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ

ทั้งหมดเป็นภารกิจขององค์กรสีกากีที่ทำมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

แต่การระบาดของไวรัสครั้งนี้ รุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อวันละหมื่นอัพ ประชาชนต้องนอนเสียชีวิตทั้งในบ้าน และตามท้องถนน จนเป็นเรื่องเศร้าสลดรายวัน

ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาย้ำให้ทุกหน่วยทำทุกวิถีทางเพื่อลดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และกำชับว่าอย่าปล่อยให้ผู้ป่วยที่คอยเข้ารับการรักษาเสียชีวิตอยู่ตามถนน โดยถือเป็นความรับผิดชอบของทุกหน่วยงาน

“ทำอย่างไรเราจะลดคนติดเชื้อที่อยู่ในบ้านแล้วคอยรถไปรับ หรือไปคอยอยู่ตามถนนหนทาง ต้องไม่ให้เห็นภาพนี้อีกต่อไป เป็นความรับผิดชอบของทุกหน่วยงาน ไม่ใช่แค่สาธารณสุขอย่างเดียว” นายกรัฐมนตรีระบุ

 

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เด้งรับนโยบายรัฐบาลทันที มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปม.ตร.) จัดข้าราชการตำรวจที่มีจิตอาสา และยานพาหนะ อำนวยความสะดวกและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน รับ-ส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไปยังโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม สถานพยาบาล หรือศูนย์พักคอย นับว่าเป็นภารกิจที่สำคัญ เพื่อแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากชุมชน และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ ผบ.ตร.ยังได้กำหนดหมายเลขโทรศัพท์ สายด่วน 191 อีกช่องทางหนึ่งเพื่อเสริมกับหมายเลขสายด่วนหลักของหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการรับแจ้งกรณีผู้ป่วยติดเชื้อตลอด 24 ชั่วโมง

โดยมีสถิติประชาชนจากทั่วประเทศโทร.เข้ามาที่ศูนย์ 191 เกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ตั้งแต่เมษายน 2564-25 กรกฎาคม 2564 จำนวน 10,946 ครั้ง แบ่งเป็น รับแจ้งขอคำแนะนำ/ปรึกษาสอบถาม 6,412 ราย รับแจ้งขอรถโรงพยาบาล/เตียง 4,543 ราย นำส่งโรงพยาบาลแล้ว 3,357 ราย ติดต่อแล้วรอส่งตัวไปโรงพยาบาล 358 ราย ยังไม่ได้รับการติดต่อ 822 ราย

นอกจากนี้ “บิ๊กปั๊ด” ได้สั่งการให้เร่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราวที่โรงพยาบาลตำรวจ ขนาด 100 เตียง รองรับผู้ป่วยติดเชื้อ

และขณะนี้ได้เร่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยอีกแห่งที่สโมสรตำรวจ รวมถึงปรับปรุงพื้นที่ใกล้เคียง คาดว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 200 เตียง

รวมทั้งได้จัดตั้ง Hospital ดูแลผู้ป่วยอีก 200 เตียง ซึ่งโรงพยาบาลตำรวจได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว

รวมทั้งให้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 14 แห่งทั่วประเทศตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นสถานที่กักกันเฉพาะองค์กร (Organization Quarantine) สำหรับกักกันโรค เพื่อเข้าสู่การคัดกรองและควบคุมโรคติดเชื้อ

โดยมีจำนวนผู้ต้องกักสะสมตั้งแต่พฤษภาคม-กรกฎาคม 2564 จำนวน 1,600 กว่าคน ปัจจุบันเหลือผู้ต้องกัก 200 กว่าคน

 

ภาพตำรวจวางปืนสวมชุดพีพีอี ช่วยรับ-ส่งผู้ป่วยโควิด-19 และภารกิจอื่นๆ ตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับเสียงสะท้อนกระหึ่มโซเชียลมีเดีย ทวงถามถึงงบประมาณค่าตอบแทนที่ยังไม่ได้รับมานานตั้งแต่การระบาดครั้งที่ 2

แม้ที่ผ่านมา ผบ.ตร.และผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้ออกตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญ นำอาหาร เครื่องดื่ม และอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค ไปมอบให้มดงานหน้าด่าน

แต่สิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องการมากที่สุด คือการชี้แจงถึงปัญหาติดขัดเรื่องการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยง เหตุใดจึงล่าช้ามาจนถึงการระบาดรอบที่ 3

27 กรกฎาคม 2564 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อ 20 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบฯ กลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในวงเงิน 392.77 ล้านบาท ให้ ตร. สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปม.ตร.) ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563-31 มกราคม 2564 รวม 123 วัน ตามที่ ตร.เสนอ

ซึ่งขณะนี้สำนักงบประมาณอยู่ระหว่างจัดสรรงบฯ คาดว่าจะได้รับประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2564

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้ขออนุมัติงบฯ กลาง เพื่อใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564-31 พฤษภาคม 2564 รวม 120 วัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลองค์กรสีกากี อยู่ระหว่างพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบวงเงิน คาดว่าจะได้รับงบประมาณช่วงปลายสิงหาคม 2564

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้แจ้งทุกหน่วยสำรวจค่าใช้จ่ายจริงในการปฏิบัติหน้าที่ห้วงระหว่าง 1 มิถุนายน 2564-31 กรกฎาคม 2564 ส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติภายใน 5 สิงหาคม 2564 พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป” โฆษก ตร.ระบุ

 

พล.ต.ต.ยิ่งยศกล่าวด้วยว่า ผบ.ตร.ได้กำชับในที่ประชุมบริหาร ตร. ครั้งที่ 6/2564 ไปถึงกำลังพลของ ตร.ทุกนาย ว่า สถานการณ์ของประเทศกำลังเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ตำรวจต้องทำหน้าที่ภายใต้ข้อจำกัดนี้ให้ได้อย่างดีที่สุด

นอกจากนั้น การทำหน้าที่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ แม้ว่าหน้าที่บางอย่างอาจจะไม่ได้เป็นหน้าที่ของตำรวจโดยตรง แต่อะไรก็ตามที่เราพอจะใช้ทรัพยากรและกำลังพลที่เรามีอยู่ ในการแบ่งเบาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เราก็ต้องทำ และต้องทำอย่างดีที่สุด ให้ประชาชนรู้สึกว่าตำรวจเป็นที่พึ่งได้

และสั่งการให้ผู้บังคับบัญชาลงไปสำรวจพื้นที่แยกกักรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) เพื่อรองรับข้าราชการตำรวจที่มีอาการป่วยเป็นสีเขียว โดยให้ขอรับการสนับสนุนวัสดุ เวชภัณฑ์ จากโรงพยาบาลตำรวจได้ พร้อมยืนยันว่าทางโรงพยาบาลมีเวชภันฑ์เพียงพอที่จะดูแลกำลังพลทุกนาย

หากผู้ใต้บังคับบัญชาติดเชื้อโควิด ผู้บังคับบัญชาต้องเข้าไปดูแลและช่วยเหลือตามสมควร จะปล่อยให้ลูกน้องถูกทอดทิ้งไม่ได้

ทั้งหมดคือการตอบสนองนโยบายเมื่อประเทศเกิดมหันตภัยโรคระบาด ในฐานะเป็นองค์กรรัฐ ทำหน้าที่ของ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”