หลังโควิด-19 ไทยจะไปทางไหน?/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

หลังโควิด-19

ไทยจะไปทางไหน?

 

ผมตั้งหัวข้อ “หลังโควิด-19 ไทยจะไปทางไหน?” เป็นประเด็นเพื่อการถกแถลงสำหรับคนไทยในทุกวงการ

เพราะผมเชื่อว่านี่เป็น “การบ้าน” ที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทย

หากเราไม่มีการวางแผนและกำหนดทิศทางที่แน่นอนตั้งแต่เดี๋ยวนี้ในขณะที่เรายังทำสงครามเต็มรูปแบบกับโควิด-19 แม้หากการระบาดของโคโรนาไวรัสตัวนี้จะเริ่มซาลง, สังคมไทยเราก็อาจจะไม่สามารถลุกขึ้นวิ่งแข่งกับคนอื่นได้

เพราะหลายประเทศเขาเริ่มวิ่งกันแล้วโดยไม่รอให้เขาสามารถฉีดวัคซีนถึง 60-70% ของประชากร

เขาเรียนรู้ที่จะ “อยู่ร่วมกับไวรัส” และพร้อมที่จะปรับตัวในขณะที่ยังอยู่กลางสมรภูมิรบ

แต่คนไทยเราจำนวนไม่น้อยก็เริ่มกังวลว่าเอาเข้าจริงๆ แม้เราจะ “รอดตาย” จากโควิด-19 อย่างทุลักทุเล แต่เราอาจจะหมดเรี่ยวหมดแรงที่จะสร้างชาติสร้างบ้านเมืองได้อีก

โควิดตอกย้ำถึงจุดยอดที่แฝงตัวอยู่ในระบบเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคมไทยมากมายหลายด้าน

เป็นการยืนยันว่าเราติดอยู่ใน “กับดัก” มากมายหลายอย่าง

มิใช่เพียงแค่ “กับดักรายได้ปานกลาง” อย่างที่เราได้รับรู้มาตลอด

แต่เรายังมีปัญหาติด “กับดัก” ด้านความคิด, ด้านนวัตกรรม, ด้านการศึกษา, ด้านการสร้างคน, ด้านการรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมือง

พอผมตั้งคำถามนี้ใน Facebook ของผมก็ได้รับความเห็นที่น่าสนใจมากมาย เช่น

“หลังโควิดซาลง ในเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าใครเป็นผู้รอดผ่านมาได้ จำนวนมหาศาลจะเป็นผู้รอดที่มีบาดแผล เป็นผู้บาดเจ็บ และหลายคนจะเป็นผู้พิการที่เดินได้แต่ต้องถือไม้เท้า หรือมีชีวิตรอดได้ แต่อาจต้องนอนบนเตียง ไม่อยากโทษใคร แต่การบริหารจัดการที่ดีจะช่วยให้จำนวนผู้บาดเจ็บลดน้อยลง…”

อีกท่านหนึ่งเสนอว่า

“ก่อนอื่นต้องหาคนกล้าคนเก่งและคนมีคุณธรรม หลังจากนั้นก็ปฏิรูประบบใหญ่ๆ เช่น 1.ระบบราชการทั้งประเทศ 2.ระบบรวมศูนย์เปลี่ยนเป็นกระจายอำนาจ 3.ปฏิรูประบบตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด”

อีกท่านหนึ่งยืนยันว่าหลังโควิด ไทยจะรอดได้ก็ด้วย

1. ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจรายเล็ก ที่มีศักยภาพ

2. ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีความใกล้ชิด รู้ใจกัน เข้าถึงกันได้ง่าย

3. เดินหน้าเข้าสู่สังคมดิจิตอลเต็มรูปแบบ เน้นความโปร่งใส

4. กำจัดคอร์รัปชั่นในแวดวงราชการ พ่อค้า นักการเมือง

5. เน้นความถูกต้องและยุติธรรมให้เกิดในสังคมไทย

และตอกย้ำว่าการจะเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ต้องมีทั้งคน เทคโนโลยี และสังคมที่พร้อมจะเปลี่ยนด้วย

อีกท่านหนึ่งเสนอว่า

“ผมมองเห็นความไปได้เพียงสองทางคืออุตสาหกรรมเกษตรและการขายสมองด้วยการทำไอที เพราะการท่องเที่ยวจะฟื้นได้ไม่เต็มที่เพราะการระบาดจะไม่หายไปง่ายๆ”

 

เป็นที่ยอมรับกันว่าโควิดได้กลายมาเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดทั้งในระยะสั้น

นั่นหมายถึงการต้องวางแผนสำหรับนระยะยาวเพื่อให้มีความพร้อมในการฟื้นตัวและเติบโตในวันข้างหน้า

หลายธุรกิจมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่กับโควิดด้านที่จะเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค

อีกทั้งยังเขย่าสภาพสังคมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่คนไทยเผชิญกันมาอย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนออีกด้านหนึ่งคือการทุ่มเทสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เรียกว่า health care และ wellness

โดยแต่ละจังหวัดสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตนในด้านสถานพักฟื้นและท่องเที่ยว

ด้านอุตสาหกรรมไทยก็ควรจะเน้นไปทางด้านการยกระดับเทคโนโลยีการสกัดสมุนไพร, ผลิตยา, อาหาร และไบโอเทคโนโลยี

 

“ประเทศไทยเราเล็กแต่คนเก่งๆ เยอะ ขอแค่การเมืองมีเสถียรภาพและมีคุณภาพมากกว่านี้ เอกชนของเราจะพร้อมที่จะแข่งขันในระดับโลกอยู่แล้ว”

อีกท่านหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า

“ประเทศไทยเรามีสไตล์การบริหารแบบวนลูปในทุกๆ ด้าน เหมือนกับการนับเลข 0-9 แทนที่จะนับต่อยอดขึ้นไปเป็น 10 แต่กลับมีเหตุให้ต้องวนลูป เริ่มนับ 0 ใหม่ทุกครั้งไป”

บางคนเชื่อว่าเรายังอยู่ในสภาพ “เมาหมัด” คือมึนไปหมด ไม่รู้ว่าจะไปทิศทางไหน

ผมสนใจข้อเสนอของอีกท่านหนึ่งที่บอกว่า

“หลังโควิด ประเทศไทยควรจะเป็นรัฐสวัสดิการเหมือนสวีเดน งบประมาณประจำปี 2568 ต้องจัดสรรประมาณ 70% เป็นสวัสดิการ 30% เป็นงบฯ แต่ละกระทรวง โดยเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยุติธรรม สาธารณสุข มีนายกฯ แล้วก็มีรองนายกฯ คนนอกหมด เปลี่ยนทุก 6 เดือนถ้าผลงานไม่เข้าเป้า รายได้หลักของประเทศมาจาก disruptive technologies และการบริการ รวมทั้งส่งออก ตั้งเป้าประเทศไทยเป็น World Wellness Destination…”

อีกคนหนึ่งเสนอง่ายๆ สั้นๆ

“โลกไปทางไหน ไทยเราก็ไปทางนั้นแหละครับ คนไทยปรับตัวได้…”

แต่อีกท่านหนึ่งแย้งว่า “ถ้าโลกไปทางไหน ไทยเราไปทางนั้นได้จริงก็จะวิเศษเลย ปัญหาคือเรายังไม่รู้ว่าโลกจะไปทางไหน และเราเองก็ไม่สามารถจะคิดค้นเส้นทางของเราเอง…”

 

ผมตั้งวงคุยกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เพื่อถกแถลงหาคำตอบในประเด็นนี้เช่นกัน

ท่านยอมรับว่ามองวันนี้อนาคตยังมืดมน แต่จำเป็นต้องหาทางออกให้ได้

เริ่มด้วยการสร้างคน ให้เด็กรุ่นใหม่เรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีนให้คล่องแคล่วเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ภายใน 10-15 ปีที่มีความคล่องแคล่วเรื่องการสื่อสาร

เราต้องเปิดกว้างเหมือนสิงคโปร์และมีแผนการสร้างชาติที่ชัดเจนเหมือนเวียดนาม

การจัดงบประมาณของชาติต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ

ไม่ใช่แค่ “แบ่งเค้ก” กันแบบที่นักการเมืองจัดสรรงบประมาณตามประโยชน์ทางการเมืองและตอบโจทย์ฐานเสียงของตนเป็นหลักอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 

ดร.นิเวศน์เห็นว่า “แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี” จะต้องยกเลิกเพราะนั่นเป็นอุปสรรคสำหรับการที่คนรุ่นใหม่จะสามารถเขียนแผนที่เดินทางใหม่ของประเทศที่เข้ากับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

การส่งเสริม startups ที่สอดคล้องกับการสร้างชาติเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

เช่น การเกษตรของไทยก็ต้องเข้าสู่ยุคของการใช้เทคโนโลยีให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง

แทนที่จะพึ่งพารัฐบาลและนักการเมือง ประเทศไทยหลังโควิดจะต้องสร้างเวทีสำหรับการระดมความคิดที่เป็นลักษณะ Think Tanks ที่นำเอาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาถกแถลงเพื่อหาข้อสรุปว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปทางใดที่จะไม่ตกยุคและสามารถเริ่มวิ่งอย่างมีพลังได้หลังจากโควิดเริ่มจะซาลง

แต่ทุกอย่างย่อมอยู่ที่วิธีคิดและทัศนคติของความเปลี่ยนแปลงของโลกหรือที่เรียกว่า mindset

มีคำถามว่าวัฒนธรรมแบบไทยและความเป็น “ศรีธนญชัย” ที่ฝังลึกในวิธีคิดแบบไทยนั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างชาติสร้างประเทศหลังโควิดหรือไม่

คำตอบคือหากคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ยอมออกจาก “เขตคุ้นเคย” หรือ comfort zone อันกว้างใหญ่ไพศาลของเราเพื่อกระโดดเข้าสู่ “เขตไม่คุ้นเคยและท้าทาย”

เราก็ไม่อาจจะขีดเส้นและกำหนดทิศทางของประเทศไทยหลังโควิดได้เป็นอันขาด