ข้อเสนอ ‘วัคซีนจากโลกอาหรับ’? เพราะโควิดชายแดนใต้ อาจถึงขั้นสถานการณ์แบบอินเดีย/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

ข้อเสนอ ‘วัคซีนจากโลกอาหรับ’?

เพราะโควิดชายแดนใต้

อาจถึงขั้นสถานการณ์แบบอินเดีย

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

21 กรกฎาคม 2564 ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้รู้ด้านระบาดวิทยาชื่อดังในหัวข้อเรื่อง “คุยกับโต๊ะบอมอ : แนะนำการดูแลตัวเองเมื่อติด COVID-19 แบบชาวบ้าน” ผ่านระบบ Zoom

โดยท่านประเมินว่า “สถานการณ์กรุงเทพฯ และจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปาตานี) จะมีโอกาสเหมือนกรุงเทพมหานครและอาจพัฒนาเหมือนอินเดียจนถึงเดือนกันยายน 2564 จนกว่าเราจะมีภูมิคุ้มกันหมู่และสถานการณ์จะดีขึ้น”

หากเราดูตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกาะกลุ่ม Topten ในระดับชาติและระดับ 1 ใน 4 ของภาคใต้ โดยสลับกันเองใครจะขึ้น 1 หรือ 2 หรือ 3 หรือ 4

มีนัยยะที่สอดคล้องกับทัศนะ ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี

ล่าสุดปัตตานีข่าววันที่ 24 กรกฎาคม 2564 มีผู้เสียชีวิตถึง 6 ราย และช่วงสัปดาห์นี้มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่อย่างน้อย 4 คน (ผู้ติดเชื้อ 275 คน) จนมีการพาดหัวข่าวว่า “ปัตตานีดับรายวันเพิ่มอีก 4 ราย ผู้ป่วยรุนแรงเพิ่มหลักร้อย เตียงล้น นอนรอเตียงอีกมาก!!”

หากเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยจากสถิติผู้เสียชีวิตปัตตานีวันที่ 24 กรกฎาคม ดังกล่าว 6 คน ในขณะที่ประชากรประมาณ 7 แสนคน-กทม.เสียชีวิต 61 คน (ผู้ติดเชื้อ 2,745 คน) ประชากรประมาณ 7-10 ล้านคน ค่าเฉลี่ยเท่ากันหรือปัตตานีสูงกว่า คือ คนหนึ่งแสนคนเสียชีวิต 1 คน

ดังนั้น จึงมีสามส่วนที่ต้องรีบจัดการ

1. การป้องกันประชาชน

2. การดูแลผู้ติดเชื้อและจัดการผู้เสียชีวิต

3. การจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพจำนวนมาก เพื่อสร้างความมั่นใจในการฉีดกับประชาชน

หรืออาจจะถึงขั้นขอรับบริจาคหรือซื้อจากโลกอาหรับที่มีวัคซีนที่มีคุณภาพเหลือใช้นอกจากที่ได้รับบริจาคจากอเมริกาและญี่ปุ่นผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัวผู้นำศาสนาอดีตศิษย์เก่าโลก

ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์

สําหรับสองส่วนแรกที่ “ภาคประชาสังคมกับ ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ และหมออมีน สะอิดี กับการวางแผนการจัดการโควิด-19 ในชุมชน” เมื่อวันพุธที่ 21 และเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2564 สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. ชุมชนต้องเริ่มวางแผนจัดการตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมหากมีผู้เสียชีวิตมาก เหมือนประเทศอินเดีย

2. COVID-19 จะยังอยู่กับเราไปอีก 3 เดือน (นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564) และมีแนวโน้มที่จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

3. อนามัยชุมชนควรมี “สถานีออกซิเจน” สำหรับรองรับผู้ป่วย COVID-19 ในพื้นที่ อย่างน้อย 3-4 ถัง ที่ต้องเติมทุกวัน

4. ต้องคิดเรื่องระบบเติมออกซิเจนตามจุดอนามัยทุกจุด (จากเมือง-หมู่บ้าน)

5. ต้องคิดเรื่อง “อาหาร” และ “วิธีการส่งสเบียง” ให้กับบ้านที่ทำ Home Isolation (HQ)

6. ชุมชนต้องคิดเรื่อง “ระบบขนส่งผู้ป่วย COVID-19” ที่ปลอดภัยและมีความรู้ เพื่อส่งผู้ป่วยจากชุมชนไปโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม

7. สำหรับผู้เสียชีวิตที่บ้านทุกคนในช่วงนี้ ต้องจัดการศพเหมือนผู้ติด COVID-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

8. ต้องปิดหมู่บ้านอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด

9. ต้องทำให้มีความมั่นคงด้านอาหาร, ยารักษาโรค, วัคซีน, สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา

10. ผู้นำและอาสาสมัครของชุมชน ต้องมีความรู้เรื่องการจัดการศพแบบ COVID-19

11. ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่อยู่บ้านเพื่อรอรับการรักษา ให้ไปหายาที่อนามัย ยาที่ดีที่สุดคือ ยาพาราเซตามอล เพราะเชื้อโจมตีปอด จะเจ็บปวดมาก

12. ช่วง 3 เดือนนี้ อบต.ควรเช่ารถกะบะ 1 คัน สำหรับรับส่งผู้ป่วย COVID-19 โดยเฉพาะ ห้ามให้ชาวบ้านใช้

หมออมีน สะอิดี

13. ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ควรแยกบ้านอยู่ต่างหาก ชุมชนต้องคิดร่วมกันว่าจะให้อยู่ที่ไหน และต้องมีพื้นที่สำหรับดูแลเด็กเล็กๆ ที่พ่อ-แม่ และสมาชิกในครอบครัวติดเชื้อ

14. ครอบครัวที่มีผู้ป่วย ห้ามกินข้าวร่วมกัน ทำกับข้าวแล้วจ่ายแจกกันได้ ห้ามพูดคุยกันโดยไม่ใส่แมส เพราะเชื้อจะกระจายผ่านละอองน้ำลาย

15. การฆ่าเชื้อพื้นที่ที่เคยมีผู้ป่วย COVID-19 สัมผัส ใช้น้ำสบู่ น้ำล้างจาน หรือตากแดดอย่างน้อย 30 นาที

16. รถกะบะ คือรถที่เหมาะสมที่สุดสำหรับขนส่งผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 โดยให้ผู้ป่วยนั่งกระบะหลัง และห้ามให้คนอื่นขับ

17. เตรียมชุด PPE หรือเสื้อกันฝนให้พร้อม พอที่จะป้องกันตัวเอง หากจำเป็นต้องติดต่อกับผู้ป่วย COVID-19

18. หน่วยกู้ชีพกู้ภัย ต้องเรียนรู้การรับมือกับผู้ป่วย COVID-19

19. แนวทางในการรักษาตัวเองเมื่อรู้หรือคาดว่าตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวติด COVID-19 อยู่ที่บ้าน

20. การฝึกอบรมอาสาสมัคร (ในระดับชาวบ้านในหมู่บ้าน) เพื่อดูแลผู้ป่วย COVID-19

21. การจัดตั้งสถานีออกซิเจน และการใช้ออกซิเจนในระดับหมู่บ้านและชุมชน การจัดศูนย์อพยพสำหรับเด็ก (ในกรณีพ่อ-แม่ ผู้ปกครองติด COVID-19) และกลุ่มคนเปราะบาง ในสถานการณ์ COVID-19

22. การจัดการกับขยะติดเชื้อในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน

23. ต้องเพิ่มจุดตรวจโควิดให้มาก เพราะถ้าไม่ตรวจก็จะไม่รู้ว่าผู้ติดเชื้ออยู่ที่ไหน และการตรวจโควิดทำไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอตรวจ เรื่องนี้ฝึกกันได้และเป็นภารกิจที่นโยบายเปิดแล้ว

(บทเรียน “แพทย์ชนบท” บุก…ถึง “เมืองหลวง”…!! ให้ข้อมูลโดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ)

อนึ่ง 24 กรกฎาคม 2564 มูลนิธิคนช่วนฅนร่วมกับสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี, คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา, องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จัดอบรม สร้างความรู้ ความเข้าใจให้จิตอาสา สร้างความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจจะรุนแรง ในแต่ละพื้นที่ หัวข้อในการอบรม

– การเตรียมความพร้อมเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์

– วิธีการป้องกันให้ผู้ปฏิบัติงานปลอดภัยจากการติดเชื้อ

– วิธีการดูแลตัวเองมิให้แพร่เชื้อไปยังคนข้างนอก

– ขั้นตอนในการดำเนินหลังจากผู้ติดเชื้อเสียชีวิต จนดำเนินการฝังเสร็จสิ้น

– พิธีการปฏิบัติศาสนกิจต่อมายัตผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ

นายอิสม่าแอน หมัดอะด้ำ ประธานมูลนิธิคนช่วยฅนประธานฝ่ายในประเทศ สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า

“อย่าปล่อยให้มายัต (ผู้เสียชีวิต) ไม่มีใครดูแลเราขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ว่าสถานการณ์จะวิกฤตเพียงใด อาสาพร้อมใจพามายัตกลับบ้าน ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ อย่าปล่อยให้หมอ พยาบาลทำงานทุกอย่างตั้งแต่รักษาถึงหลุมศพ เป้าหมายเราคือสร้างนักจิตอาสาด้านนี้ทุกมัสยิดทุกชุมชน ซึ่งในภาวะปกติเขาจัดการอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดโควิดเขาไม่ได้จัดการเพราะเขาไม่รู้จะจัดการอย่างไรต่างหาก อย่าลืมว่าเราจะอยู่กับโควิดอีกนานหรือตลอดไป”

 

ข้อเสนอ “วัคซีนจากโลกอาหรับ”?

โจทย์ใหญ่และสามารถปิด Job ท้ายสุดคือการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพจำนวนมาก เพื่อสร้างความมั่นใจในการฉีดกับประชาชนโดยตอนนี้ ศอ.บต.แถลงข่าวสั่งวัคซีน Johnson & John son อบจ.แต่ละจังหวัดก็สั่งวัคซีนทางเลือก โดยเฉพาะ อบจ.สงขลา ได้เชิญชวนประชาชนชาวสงขลาจองวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ผ่านระบบออนไลน์ เริ่มรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564

ลำดับสุดท้ายคือข้อเสนอ “วัคซีนจากโลกอาหรับ”

ซึ่งเราก็เห็นแล้ว อเมริกาและญี่ปุ่นก็บริจาควัคซีนให้ไทย ดังนั้น การขอรับบริจาคหรือซื้อจากโลกอาหรับที่มีวัคซีนที่มีคุณภาพเหลือโดยผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัวผู้นำศาสนาอดีตศิษย์เก่าโลก ซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้

โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต การ์ตา และบาห์เรน ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนประมาณร้อยละ 80 แล้ว และกำลังฉีดเข็มที่สามแม้แต่ต่างชาติที่อยู่ประเทศเขา

เพื่อน (คนไทย) ผู้เขียนซึ่งทำงานทางการทูตที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่า

“การที่อดีตนักศึกษาไทยโลกอาหรับมีแนวคิดช่วยชาติ เป็นสื่อกลางประสานงานขออนุเคราะห์วัคซีนเป็นเรื่องที่ดีมาก น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าจะลองขับเคลื่อน ไม่ลองไม่รู้ และอาจจะเป็นไปได้”

บางท่านให้ทัศนะว่า “อาจใช้ช่องทาง G to G หรือการบริจาคเอกชน ที่ให้ประเทศมุสลิมทางอาหรับจัดส่งวัคซีน เช่น Sinopharm หรือ Pfizer เป็นต้น หรือวัคซีนตัวอื่นๆ ที่เหมาะสำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และยอมรับว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า Sinovac เป็นชนิดวัคซีน viral vector ไม่คลุมสายแอฟริกาใต้ที่ระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในขณะนี้”

ในขณะที่ตัวแทนอดีตนักศึกษาไทยในประเทศคูเวต “ยินดีมากๆ และพร้อมจะดำเนินการทันที” ในที่ประชุมของตัวแทนอดีตนักศึกษาไทยโลกอาหรับระดับแนวหน้าในการหาทุนสนับสนุนต่างๆ จากโลกอาหรับต่อชายแดนภาคใต้กว่า 50 ปีหลังนี้เปิดเผย

“ก่อนนำเสนอเรื่องนี้ขอให้ทุกภาคส่วนจัดทำข้อมูลโดยเฉพาะสถิติต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อง่ายต่อการพูดคุยและมอบหมายให้ประสานงานกับผู้ใหญ่ของรัฐบาลเพื่อสร้างความเข้าใจและสะดวกโปรดภัยในการขับเคลื่อน”