ต้องกำจัดปรสิต… เพื่อพิชิต โควิดเดลต้า/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ต้องกำจัดปรสิต…

เพื่อพิชิต โควิดเดลต้า

 

โควิดสายพันธุ์เดลต้า B.1.617.2 มีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ 60% อีกทั้งยังมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้า พลัส (Delta Plus) ที่สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือคล้ายอาการของโควิด-19 สายพันธุ์ทั่วไป

โควิดสายพันธุ์เดลต้ามีแนวโน้มระบาดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว WHO รายงานว่า กระจายไปในประเทศต่างๆ เกินกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

และพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ มีอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าถึงร้อยละ 85

วัคซีนที่สามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้

การกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์เดลต้า พลัสเพิ่มคุณสมบัติในการหลบภูมิคุ้มกันได้ดี และจากผลการทดลองยืนยันว่าวัคซีนประเภท mRNA (ไฟเซอร์, โมเดอร์นา) และประเภทวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะมีประสิทธิภาพในการรับมือได้ดีกว่าวัคซีนชนิดอื่น

 

บทเรียนการต่อสู้กับโควิดจากประเทศต่างๆ

จีนทั้งควบคุมและปรับใช้วัคซีน mRNA

ประเทศจีนเวลานี้จะพบว่าเขาควบคุมประชากรทั้งพันสี่ร้อยล้านเอาไว้การเคลื่อนย้ายเข้าออกประเทศถูกจำกัดอย่างมาก เพราะกลัวว่าถ้ามีคนออกไปข้างนอกและรับเชื้อโควิดกลับเข้ามาเป็นเชื้อกลายพันธุ์รุ่นใหม่ๆ เขาจะเอาไม่อยู่

ส่วนภายในประเทศมีการควบคุมอย่างเข้มงวด ถ้าจุดไหนมีการระบาด จะควบคุมอย่างละเอียดเป็นตารางเมตรมีการตรวจเชิงรุกที่อยู่ในพื้นที่นั้น เช่น ใน 5 ตารางกิโลเมตรละเอียดทุกคนทั้งเดี่ยวและครอบครัว ใครเดินผ่านทางมาก็ตรวจ

การทำงานได้ผลของจีนจึงไม่ได้อยู่ที่เรื่องวัคซีนอย่างเดียว

กรกฎาคม จีนฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1,460 ล้านโดส เป็นวัคซีนเชื้อตาย ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ซึ่งทางการจีนยอมรับว่ามีประสิทธิภาพต่ำกว่าวัคซีน จึงมีการนำเข้าวัคซีน mRNA จาก BioNTech 50 ล้านโดส และไบโอเอนเทครับปากว่า จะส่งวัคซีนให้จีนเพิ่มจนครบ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2021

เดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ จีนจะเริ่มผลิต “วัคซีน mRNA” เพื่อฉีดฟรีให้กับประชาชนจีนกว่า 1,400 ล้านคน เป็น เข็มที่ 3หลังฉีดวัคซีน ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ไปแล้ว

โดยจีนร่วมมือกับ บริษัท BioNTech ของเยอรมนี ซึ่งผู้ร่วมคิดค้นวัคซีน mRNA ร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ ของสหรัฐ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีน mRNA โดยมีกำลังการผลิต 1,000 ล้านโดสต่อปี

ปัจจุบันการท่องเที่ยวจีนก็เน้นภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น คงเป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยเป็นจำนวนมากๆ อย่างน้อยปลายปี 2564 ไม่มีแน่นอน

ส่วนในปี 2565 ถ้าเราไม่สามารถฉีดวัคซีนเสริมสร้างความต้านทานขึ้นมาได้ทันซึ่งสามารถวัดได้จากจำนวนคนป่วยและคนเสียชีวิตในประเทศ

ถ้าเขาไม่ไว้ใจก็จะไม่ปล่อยให้คนเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยแน่

 

อังกฤษสร้างภูมิคุ้มกันหมู่” (Herd Immunity)

โดยการฉีดวัคซีน

และการติดเชื้อตามธรรมชาติ

ไทยกับอังกฤษมีจำนวนประชากรเกือบเท่ากัน การลงทุนฉีดวัคซีนป้องกัน covid เป็นเรื่องที่คุ้มค่าที่สุด อังกฤษจึงเตรียมวัคซีนไว้ถึง 500 โดสที่มีประชากรประมาณ 67 ล้านคน

รัฐบาลได้มองยุทธศาสตร์ของการต่อสู้กับโควิดว่าวัคซีนคือเสื้อเกราะและดาบ ถ้าจะได้รับชัยชนะและออกไปทำมาหากิน มีชีวิตอยู่ต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวหัวหดอยู่ในบ้านก็จำเป็นต้องมีวัคซีนเป็นเกราะและอาวุธ แม้จะต้องเสี่ยงก็จำเป็นต้องต่อสู้

ใครที่ไม่ต่อสู้แม้จะหลบซ่อนตัวอยู่ในบ้าน ถ้าไม่มีวัคซีน ไม่มีอุปกรณ์ใดป้องกัน ไม่มีการรักษาเพียงพอ โอกาสระบาดและตายจำนวนมากก็ยังคงมีอยู่ เพราะในสงครามโรคระบาด มิได้มีการกำหนดพื้นที่ยุทธภูมิตรงไหนเป็นเขตการรบ ตรงไหนเป็นเขตสงบสันติ เชื้อโรคแพร่ไปได้ทุกจุด

ยิ่งถ้ารู้ว่า covid ไม่หายไปง่ายๆ เราก็จะต้องอยู่กับมันให้ได้ เมื่อมองความสามารถของมนุษย์เชื่อมั่นว่าจะต้องคิดวัคซีนและยาแก้ไข จนกระทั่งมีความปลอดภัยในระดับที่ไม่ร้ายแรงกว่าไข้หวัดใหญ่

ดังนั้น ปัญหาเฉพาะหน้าเวลานี้ แต่ช่วงเวลาที่การระบาดกำลังคุกคาม วัคซีนยังมีไม่พอ การคิดยารักษาโรคยังไม่ชัดเจน ช่วงเวลาแบบนี้การบริหารของผู้นำแต่ละประเทศจะกำหนดความเป็นความตายของประชาชน

อังกฤษประกาศอิสรภาพจากการครอบงำของโรคโควิด-19 หรือ “Freedom Day”

ดูตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในอังกฤษ

1 มิถุนายน ติดเชื้อ 2,473 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต

15 มิถุนายน ติดเชื้อ 6,400 คน ผู้เสียชีวิต 8 คน

1 กรกฎาคม ติดเชื้อ 22,515 คน เสียชีวิต 16 คน

16 กรกฎาคม ติดเชื้อ 51,448 คน เสียชีวิต 49 คน

18 กรกฎาคม ติดเชื้อ 48,161 คน เสียชีวิต 25 คน

19 กรกฎาคม รัฐบาลอังกฤษประกาศเป็นวัน Freedom Day เป็นการประกาศอิสรภาพจากการครอบงำของเชื้อโรคโควิด

มีการยกเลิกมาตรการควบคุมการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น ยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ (ยกเว้นสถานประกอบการขนส่ง, ร้านค้า และงานอีเวนต์บางส่วน) ยกเลิกการจำกัดจำนวนผู้เข้าชมงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน, งานศพ, คอนเสิร์ต, โรงละคร, การแข่งขันกีฬา

ผับ, บาร์, ไนต์คลับ, ร้านอาหาร, สถานบันเทิง เปิดให้บริการได้อีกครั้ง

อังกฤษกล้าประกาศ Freedom Day เพราะ

พลเมืองของอังกฤษได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วน 68.10% จากจำนวนประชากร 67 ล้านคน คือ 46 ล้านคน จาก 67 ล้านคน ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว โดยในจำนวนนี้เกือบ 90% เป็นกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (Adult) และมากกว่า 35 ล้านคน หรือเกือบ 2 ใน 3 ของกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว

ส่วนแผนการฉีดวัคซีนเฟสที่ 2 ซึ่งจะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ครอบคลุมผู้มีอายุตั้งแต่ 40-49 ปี, 30-39 ปี และ 18-29 ปี จะเริ่มต้นอย่างจริงในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป

อังกฤษใช้วัคซีนแล้วรวม 4 ชนิด รวม 237 ล้านโดส ประกอบด้วย คือ…

– แอสตร้าเซนเนก้า 100 ล้านโดส – ไฟเซอร์ 100 ล้านโดส – โมเดอร์นา 17 ล้านโดส

– จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 20 ล้านโดส

และสั่งซื้ออีก 270 ล้านโดส ประกอบด้วย… วัคซีนซาโนฟี/จีเอสเค 60 ล้านโดส วัคซีนวัลนีวา 100 ล้านโดส วัคซีนโนวาแวกซ์ 60 ล้านโดส วัคซีนเคียวร์วัค 50 ล้านโดส

เป็นไปตามเป้าหมาย (500 ล้านโดสต่อจำนวนประชากร 67 ล้านคน)

การเปิดหน้าท้าโควิด ตามเป้าหมายของรัฐบลที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้อง และทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง และต้องการบรรลุเป้าหมาย “การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่” (Herd Immunity) ด้วยวิธีผสมผสานระหว่างการฉีดวัคซีน และการติดเชื้อตามธรรมชาติ

แต่ก็มีคนมองว่าเสี่ยง เป็น Dangerous Experiment เพราะผู้ติดเชื้อรายวันในระดับ 40,000-50,000 คนจะทำให้ตัวเลขผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล มีแนวโน้มสูงขึ้น

และอาจจะทำให้ “เกิดการกลายพันธุ์ใหม่” ของไวรัสได้รวดเร็วและง่ายขึ้นกว่าเดิม

 

อินโดนีเซียอาการหนัก

23 กรกฎาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 49,071 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 3,082,410 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน

ขณะนี้การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ลุกลามไปทั้ง 34 จังหวัดของอินโดนีเซีย

ส่วนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่มีจำนวน 1,566 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตรวม 80,598 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในอาเซียนเช่นกัน

สมาคมการแพทย์แห่งอินโดนีเซียเผยมีแพทย์อย่างน้อย 20 ราย และพยาบาลอย่างน้อย 10 รายที่เสียชีวิตระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน แม้ว่าจะได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดสแล้ว

1 มิถุนายน มีผู้ติดเชื้อ 4,824 คน เสียชีวิต 145 คน

15 มิถุนายน ติดเชื้อ 8,161 คน เสียชีวิต 164 คน

1 กรกฎาคม ติดเชื้อ 24,836 คน เสียชีวิต 504 คน

16 กรกฎาคม ติดเชื้อ 54,067 คน เสียชีวิต 1,205 คน

ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญกำลังเรียกร้องให้บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ได้วัคซีนซิโนแวคเป็นโดสที่ 3

ถ้าดูจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในช่วงเดือนกรกฎาคม ของประเทศอังกฤษและอินโดนีเซีย จะพบว่าผู้ติดเชื้อมีประมาณ 40,000 คน ใกล้เคียงกัน แต่ผู้เสียชีวิตของอังกฤษมีไม่ถึง 50 ราย ในขณะที่อินโดนีเซียมีประมาณ 1,000 กว่าราย

 

ปรสิตร้ายกว่าโควิดเดลต้า

ประเทศไทยวันนี้อยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าไม่สามารถจัดการเรื่องวัคซีนได้ บริหารจัดการวางแผนไม่ดี แนวโน้มจะเลวร้ายลงเป็นแบบมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ถ้าทำได้ดี โอกาสที่จะฟื้นตัวแบบอังกฤษก็มี

ในอนาคตต่อไปแทบทุกประเทศจะไม่มีใครนับจำนวนผู้ติดเชื้อกันอีกแล้ว เขาจะสนใจแต่จำนวนคนที่ป่วยหนักและเสียชีวิต เชื้อไวรัสที่กระจายไปทางอากาศ น้ำและการสัมผัสแบบเชื้อวัน ไม่ได้สามารถควบคุมกันได้ง่ายๆ เราป้องกันให้ดีที่สุด แต่ก็ต้องใช้ชีวิตทำมาหาอยู่หากินต่อไป ถ้าจะติดเชื้อก็ติดไป แต่เป็นแล้วไม่ตายรักษาได้ นั่นก็คือเป้าหมายของมนุษย์ในการต่อสู้กับโรคร้ายต่างๆ

แต่การเผชิญหน้ากับไวรัสโควิคของไทยมีปัญหามากกว่า เพราะในขณะที่ต้องต่อสู้กับเชื้อไวรัส ประเทศไทยยังมีปรสิตเกาะกินประชาชนอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ร่างกายยิ่งอ่อนแอ เมื่อรับเชื้อไวรัสเข้าก็ทำให้อาการหนักหรือตายได้

จึงต้องกำจัดปรสิตก่อน ทุกวันนี้ ปรสิตได้เกาะกินเลือดเนื้อของประชาชนทั้งภายในภายนอก มีทั้งเห็บหมัด พยาธิในท้อง ปลิงและทากที่คอยดูดเลือด พวกนี้ดูดกินทุกโครงการไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ เครื่องบิน ถนน เสาไฟ สุดท้ายแม้หน้ากากและวัคซีนก็ยังนำไปเป็นอาหาร อนาคตแม้สู้โควิดเดลต้าได้ แต่ปรสิตจะยังอยู่