จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : หนังเหนียว (3) / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

 

หนังเหนียว (3)

 

‘ว่าน’ ถือกันว่าเป็นหนึ่งในเครื่องรางของขลัง บางชนิดมีสรรพคุณทางอยู่ยงคงกระพัน

อาจารย์สถิตย์ เสมานิล เล่าถึง ‘ว่านสามพันตึง’ ไว้ในหนังสือ “วิสาสะ” ตอนหนึ่งว่า

“สรรพคุณของว่านสามพันตึง เมื่อได้ประคบประหงมด้วยพิธีการแล้ว คมดาบคมหอกหรืออาวุธปืนไฟ ธนูหน้าไม้จะไม่ระคายผิวหนัง จึงได้สมญา ‘สามพันตึง’ อธิบายว่าต่อให้ตีให้เต็มเหนี่ยวถึงสามพันตึงก็ไม่เป็นไร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘กระทู้เจ็ดแบก’ อรรถาธิบายสรรพคุณก็ตรงๆ คือว่าต่อให้มึงตีจนสิ้นกระทู้ (ไม้) ถึงเจ็ดแบก กูก็ไม่สะดุ้งสะเทือน สามพันตึงหรือกระทู้เจ็ดแบกเป็นเถาขนาดเล็กกว่านิ้วก้อย ต้องปักหลักหรือทำร้านให้เลื้อย”

วิธีใช้ว่านให้ขลังมีตั้งแต่กิน ทา ขัด ถู ไปถึงอาบ

ดังจะเห็นได้จากกรณีของ “แสนตรีเพชรกล้า” แม่ทัพเชียงใหม่

 

“สูงใหญ่รูปร่างเหมือนอย่างเสือ                      กำลังเหลือเนื้อหนังก็แน่นเหนียว

หนวดโง้งโก่งฟั่นพันเป็นเกลียว                       ฟันขาวปากเขียวดังปลิงควาย

นัยน์ตาดำคล้ำคล้ายกับตาเสือ                       ขอบตาแดงเรื่อดังชาดป้าย

คิ้วกระหมวดหนวดแดงดูแรงร้าย                    ผมมุ่นมวยคล้ายกับโยคี”

 

ความอยู่ยงคงกระพันของเพชรกล้าส่วนหนึ่งมาจากขัดถูทาว่านตามเนื้อตัว

แม้ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” จะมิได้ระบุชื่อว่านเอาไว้ เข้าใจว่าคงหนีไม่พ้นพวกว่านที่เชื่อกันว่าทำให้หนังเหนียว เช่น ว่านสามพันตึง ว่านกำแพงเจ็ดชั้น ว่านแสงอาทิตย์ ว่านหนุมาน ว่านเพชรหลีก ฯลฯ ที่พวกเล่นของนิยมกัน เพชรกล้าใช้ว่านให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการที่

 

“แต่รุ่นหนุ่มคุ้มใหญ่ไม่อาบน้ำ                        เพื่อนตำแต่ว่านยาทาขัดสี”

 

เนื้อหนังเพชรกล้าคงห่างไกลคำว่า ‘หอม’ กลิ่นว่านน่าจะช่วยกลบกลิ่นตัวค้างปีไปได้บ้าง เพชรกล้าเคร่งครัดถึงขนาดที่

 

“ไม่นอนด้วยภรรยาทั้งตาปี                           ต่อศึกมีเมื่อไรได้อาบน้ำ”

 

แม่ทัพคนนี้มิได้ขี้เกียจอาบน้ำ แต่คงเกรงว่าอาบแล้วน้ำจะล้างว่านไปหมด สู้ทนสกปรกหมักหมมเพื่อคงความคงกระพันไว้ ไม่นอนกับเมียไม่ใช่กลัวเสียพลัง แต่กลัวความขลังเสื่อมสูญ (ทางไสยศาสตร์เชื่อว่ามีอะไรๆ กับผู้หญิงจะทำให้คาถาอาคมเสื่อม) จะอาบน้ำต่อเมื่อมีศึกสงคราม น้ำที่อาบหาใช่น้ำธรรมดาทั่วไปไม่ หากเป็นน้ำผสมว่าน อาบทั้งตัวและเครื่องราง

 

“จะไปทัพจึงหาบรรดาว่าน                           มาเสกอ่านอาคมถมถนำ

เครื่องรางตะกรุดลงองค์ภควัม                      บริกรรมเสกเป่าเข้าทันใด

แล้วตักน้ำตีนท่ามาใส่ขัน                            หยิบเครื่องอานว่านนั้นเอาลงใส่

เสกเดือดพล่านพลั่งดังใจ                            เห็นประจักษ์วักได้ใส่หัวพลัน

หยิบเครื่องอานว่านยาขึ้นมาไว้                     เพชรกล้าลงไปในแม่ขัน

ประจงจบเคารพแล้วอาบพลัน                      …………………………………………”

 

นอกจากจะทาตัวด้วยว่านแล้ว เพชรกล้ายังใช้ว่านผสมน้ำสำหรับอาบโดยลงไปนั่งแช่ในแม่ขัน หรือ ‘ขันสาคร’ (= ขันขนาดใหญ่ทำด้วยโลหะผสม คือ สัมฤทธิ์ ตัวขันทำด้วยทองเหลืองเป็นทรงลูกมะนาวตัด ก้นขันมีเชิง ข้างขันทำเป็นรูปหน้าสิงโต ปากคาบห่วง ซึ่งใช้เป็นหูหิ้วข้างละหู ใช้บรรจุน้ำสำหรับทำน้ำมนต์หรือสำหรับผู้มีบรรดาศักดิ์ใช้อาบ จากพจนานุกรมไทย-อ.เปลื้อง ณ นคร) เพชรกล้าลงไปในแม่ขันเพื่อให้น้ำว่านที่ปลุกเสกคาถาแล้ว ซึมซาบเข้าไปทุกขุมขน ทำให้หนังเหนียวทนทานต่ออาวุธทั้งหลาย

‘หนังเหนียว’ นอกจากอาศัยว่าน กิน ทา ขัด ถู หรืออาบแล้ว ยังมาจากการ ‘สัก’ และ ‘ฝัง’ เครื่องรางลงในเนื้อตัวอีกด้วย

อะไรคือการสัก?

หนังสือชุดความคิดและภูมิปัญญาไทย เล่มที่ 2 “คำ : ร่องรอยความคิด ความเชื่อไทย” ให้ความหมายไว้ว่า

“เป็นการสร้างภาพหรือรูปลงบนผิวหนังหรือส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยใช้หมึกซึมลงไปใต้ผิวหนัง วิธีทำคือเอาวัตถุปลายแหลมจุ่มหมึกแล้วทิ่มแทงลงไปบนผิวหนังเป็นรูปลวดลายและตัวอักษรต่างๆ…ฯลฯ… ลูกศิษย์บางคนอาจจะมีอาการ ‘ของขึ้น’ ดิ้นชักจนหมดสติไป หรือที่เรียกกันว่าออกฤทธิ์ตามลายสัก สักเป็นเสือก็ร้องคำรามน่ากลัว สักเป็นลิงก็ปีนป่ายเสาเป็นโกลาหล สักเป็นพระนารายณ์ก็ลุกขึ้นมาร่ายรำอย่างพระนารายณ์…”

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” บรรยายถึงเพชรกล้าผู้ครบเครื่องของขลัง ดังนี้

 

“อันแม่ทัพคนนี้มีศักดา                             อยู่คงศาสตราวิชาดี

แขนขวาสักรงเป็นองค์นารายณ์                  แขนซ้ายสักชาดเป็นราชสีห์

ขาขวาหมึกสักพยัคฆี                              ขาซ้ายสักหมีมีกำลัง

สักอุระรูปพระโมคคัลลาน์                        ภควัมปิดตานั้นสักหลัง

สีข้างสักอักขระนะจังงัง                           ……………………………………”

 

ถ้าพิจารณาจากกลอนที่ยกมา จะเห็นได้ว่าการสักมี 2 แบบ สักเป็นรูปอย่างหนึ่ง สักเป็นตัวอักขระที่เป็นคาถาอีกอย่างหนึ่ง ‘รูป’ ดังกล่าวมีทั้งเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ สัตว์ พระอัครสาวกในพุทธศาสนา (อาทิ พระโมคคัลลานะ และพระภควัมปติ อีกชื่อหนึ่งของพระสังกัจจายน์)

 

กาญจนาคพันธุ์ และนายตำรา ณ เมืองใต้ อธิบายความหมายของสีและรูปที่สักไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน” ว่า

“ว่าด้วยกระบวนสักต่างๆ พระนารายณ์เป็นพระเป็นเจ้ามหาเทพสักรงสีเหลือง สีเหลืองเป็นเครื่องหมายของความเป็นใหญ่ ราชสีห์เป็นสัตว์ประเสริฐสักชาดสีแดง สีแดงหมายถึงอำนาจ เสือกับหมีเป็นสัตว์ธรรมดาสักหมึกสีดำ สีดำเป็นสีที่ใช้สำหรับการสักทั่วไป พระโมคคัลลาน์นักเลงนับถือมากเพราะเหนียว ถูกโจรห้าร้อยตีจนกระดูกในร่างกายแหลกไปหมดไม่ตาย (พระโมคคัลลาน์ เป็นอัครสาวกที่เลิศทางอิทธิฤทธิ์-ผู้เขียน) พระภควัมปิดตานั้นคือที่เรียกว่า ‘พระปิดทวารทั้งเก้า’ กันอาวุธได้หมด”

การสักทั้งที่เป็นรูปและตัวอักขระที่เป็นคาถา เหล่านี้คือ ‘การสักยันต์’ ทั้งสิ้น นอกจากสักยันต์บนผิวหนังส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว ยังจารึกขีดเขียนหรือแกะสลักลงบนวัตถุตั้งแต่กระดาษ ผ้า หิน แผ่นโลหะ ฯลฯ ให้มีลายเส้นเป็นรูปต่างๆ แล้วลงอักขระ (คาถา) และตัวเลขเพื่อให้อยู่ยงคงกระพัน ป้องกันภยันตราย แคล้วคลาดจากศัตรู อาวุธทั้งหลาย ฯลฯ ดังกรณีของพลายชุมพลปลอมตัวไปรบกับพระไวย (พี่ชายต่างแม่) โดยมี ‘เสื้อลงยันต์’ เป็นเครื่องรางคุ้มกันภัย

 

“แล้วจัดแจงแต่งกายพลายชุมพล                     ปลอมตนเป็นมอญใหม่ดูคมสัน

นุ่งผ้าตาหมากรุกของรามัญ                           ใส่เสื้อลงยันต์ย้อมว่านยา”

 

สำหรับแสนตรีเพชรกล้า นอกจากสักยันต์สารพัดรูปไว้ตามอวัยวะส่วนต่างๆ แล้ว ยังสักอักขระไว้ด้วย ดังข้อความว่า “สีข้างสักอักขระนะจังงัง” อักขระที่ว่านี้คือ ‘หัวใจพระคาถา’ ย่อเอาแต่ตัวต้นที่สำคัญ เป็นการย่อคาถาให้สั้นที่สุดเพื่อสะดวกต่อการปลุกเสกลงเลขยันต์

เนื่องจาก ‘ยันต์’ เป็นเครื่องรางชนิดหนึ่ง การสักหรือลงยันต์ทุกครั้งต้องมีคาถากำกับทุกเส้นที่เขียน เสร็จเป็นรูปยันต์แล้วยังต้องมีคาถาปลุกเสกอีกทีหนึ่ง

‘ยันต์’ จึงคู่กับ ‘คาถา’ ชนิดที่ไม่มีวันพรากจากกัน ดังที่อาจารย์ศุภร บุนนาค อธิบายไว้ใน “สมบัติกวี ขุนช้างขุนแผน” ว่า

“การสักทุกอย่างถ้าไม่มีคาถากำกับก็ไร้ความหมาย เพราะคนไทย (สมัยก่อน) ไม่นิยมสักเพื่อความสวยงาม แต่สักเพื่อเก็บความอยู่ยงคงกระพันไว้กับตัว การสักนี้ถือกันว่าดีกว่าห้อยเครื่องราง เพราะเครื่องรางต่างๆ อาจจะหลุดหายได้

จบเรื่อง ‘สัก’ คุยเรื่อง ‘ฝัง’ ครั้งหน้า