ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม - 5 สิงหาคม 2564 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
สมชัย ศรีสุทธิยากร
ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต
บริหารตัวเลข
หรือบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19
มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้นแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ลงประกาศเพื่อเชิญชวนให้ผู้หญิงมาเรียนในคณะหนึ่งเนื่องจากสถิติการรับสมัครในช่วงหลังมีผู้หญิงมาสมัครเรียนน้อยลงอย่างน่าตกใจ
โดยมีข้อความในประกาศว่า
“ท่านรู้ไหม ผู้หญิงที่เรียนจบในคณะนี้ในอดีต ร้อยละ 50 ได้แต่งงานกับอาจารย์มหาวิทยาลัย และร้อยละ 100 ของจำนวนดังกล่าวได้เป็นสตรีหมายเลข 1 คือเป็นภรรยาของประธานาธิบดีสหรัฐ”
ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คือ ข้อความที่จูงใจดูดีดังกล่าวเป็นจริงไม่มีส่วนใดโกหก เพียงแต่ในอดีตมีผู้หญิงมาเรียน 2 คน และหนึ่งในสองนั้นได้แต่งงานกับอาจารย์ ซึ่งต่อมาอาจารย์ท่านนั้นได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อ n = 2 หนึ่งคนประสบความสำเร็จ และ 1 ใน 1 คนนั้นได้เป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง คำกล่าวที่บอกร้อยละร้อย จึงไม่ได้โกหก
ตัวอย่างที่แสดงข้างต้น เป็นการพยายามจะบอกว่า ตัวเลขที่เรามีอยู่ในมือ หากมีการบริหารตัวเลข ถึงไม่โกหก แต่ก็สามารถใช้วิธีการทางสถิติในการทำให้คนสับสนและคล้อยตามในมุมที่เราต้องการได้
เหมือนกับที่นักคณิตศาสตร์สถิติชอบอ้างถึงหนังสือดังระดับโลกเล่มหนึ่งที่ชื่อ “How to lie with Statistics”
แหล่งของตัวเลข
เพื่อการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในทางสากล
ศาสตร์แห่งการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) กลายเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในโลกปัจจุบัน เนื่องจากข้อมูลในโลกที่มีอยู่อย่างล้นทะลัก (Big data) จำเป็นต้องมีการคัดกรอง จัดระเบียบ วิเคราะห์ และนำเสนอในรูปแบบที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของผู้บริหาร
และยิ่งสามารถนำข้อมูลที่เป็นเวลาปัจจุบัน (Real time) ยิ่งมีความหมาย เพราะการตัดสินจะอยู่บนพื้นฐานของสถานการณ์จริง
เป็นโชคดียิ่งที่โลกมีอินเตอร์เน็ต การสื่อสารด้วยข้อมูลจึงถึงกันอย่างรวดเร็วและมีหน่วยงานกลางที่เป็นทั้งของรัฐและเอกชนร่วมนำเสนอข้อมูลการแพร่ระบาด การเจ็บป่วย การรักษา และสูญเสียที่แทบจะเป็นปัจจุบันอยู่หลายแหล่ง
เช่น Worldometers ที่นำเสนอตัวเลขที่เคลื่อนไหวของทุกประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา แยกให้เห็นทั้งภาพรวมทั่วโลก หรือจะดูเป็นรายประเทศ หรือจะเปรียบเทียบลำดับของประเทศให้เห็นว่าประเทศนั้นอยู่ในลำดับที่เท่าไรโดยใช้เกณฑ์พิจารณาตามต้องการ เช่น เรียงตามจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด (Total cases) เรียงตามจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ (New Cases) หรือเรียงตามจำนวนผู้ตายสูงสุดใหม่รายวัน (New deaths)
เช่น ข้อมูล ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเป็นอันดับที่ 47 ของโลก มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นอันดับ 9 ของโลก และมีจำนวนผู้ตายใหม่รายวันเป็นอันดับ 13 ของโลก เป็นต้น
หรือ Our World in Data ที่ผู้เข้าไปดูสามารถนำตัวเลขเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 โดยเลือกประเทศตามที่ต้องการ หรือจะเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ ด้วยการนำเสนอในรูปแบบกราฟที่เข้าใจได้ง่าย
ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการเปรียบเทียบร้อยละของประชาชนในประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สองของประเทศในภูมิภาคนี้ ก็เลือกชื่อประเทศมาทำการเปรียบเทียบได้ทันที ดังแสดงให้เห็นในภาพว่า ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ไทยฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้วร้อยละ 5.2 และหนึ่งเข็มร้อยละ 12 เป็นสัดส่วนน้อยกว่าอีก 3 ประเทศ คือสิงคโปร์ กัมพูชา และมาเลเซีย
นอกจากนี้ หน่วยงานเอกชนที่น่าสนใจ เช่น สมาคม Pemandu มีการนำข้อมูลที่เผยแพร่ขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับความคืบหน้าในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศต่างๆ มาพัฒนาเป็นดัชนีวัดเพื่อจัดลำดับความสามารถของประเทศต่างๆ ในการฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด (Covid Recovery Country Index)
ตัวอย่างเช่น ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ประเทศไทยได้รับการประเมินดัชนีดังกล่าวอยู่ที่ 43.36 จัดเป็นลำดับที่ 151 ใน 180 ประเทศ ในขณะที่สิงคโปร์ได้รับการประเมินด้วยคะแนน 84.53 จัดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอันดับหนึ่ง แคนาดา ที่ได้คะแนน 85.22
องค์การอนามัยโลก (WHO) ถือเป็นองค์กรหลักในการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ รวมถึงการติดตามความคืบหน้าของการรับรองวัคซีนและข่าวเกี่ยวกับประสิทธิผลการใช้วัคซีนในประเทศต่างๆ
แต่อาจเป็นที่เข้าใจยากสำหรับคนที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์
และยังมีสำนักข่าวต่างๆ ทั่วโลกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น New York Times, Bloomberg, Reuters, BBC, หรือ Nikkei ที่นำเสนอข้อมูลตัวเลขที่น่าสนใจให้ติดตาม
แหล่งข้อมูลโควิด-19 ของประเทศไทย
สําหรับแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการในประเทศไทย แหล่งหลักคือข้อมูลจากกรมควบคุมโรค (dd.moph.go.th) ที่รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายวันและสะสม รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่ค่อนข้างละเอียด และข้อมูลการฉีดวัคซีนรายวันและจำนวนวัคซีนที่ฉีดได้แล้วทั้งหมดในภาพรวมและเป็นรายจังหวัด ถือว่าเป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) ที่สำคัญ
ส่วนแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary data) มีศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ที่ดูแลโดยกรมประชาสัมพันธ์ เป็นการนำข้อมูลรายวันมานำเสนอในรูป Infographic ที่ง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน แต่กลับได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยในเรื่องการเลือกนำเสนอตัวเลข การใช้ขนาดและสีตัวอักษรที่เน้นเฉพาะในเรื่องที่รัฐต้องการสื่อสารให้เห็นผลงานของรัฐบาล เช่น ตัวเลขผู้หายป่วย มากกว่าตัวเลขติดเชื้อเพิ่มหรือตัวเลขคนตาย คนตายสะสม แต่ก็มีความพยายามปรับเปลี่ยนใหม่ในทิศทางที่ดีขึ้น
กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (mhesi.go.th) จัดเป็นอีกหน่วยราชการหนึ่งที่พยายามให้ข้อมูลกับประชาชนในรูปการวิเคราะห์ที่มีมุมมองแบบนักวิชาการหรือนักวิจัยมากขึ้น พร้อมทั้งเสนอข้อมูลในรูป Infographic ที่ลึกซึ้งกว่าศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ของกรมประชาสัมพันธ์ มีความพยายามเก็บข้อมูลเปรียบเทียบจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ แต่ก็ยังได้รับเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับการเลือกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการแสดงให้เห็นผลงานเชิงบวกของรัฐเท่านั้น
ดังนั้น ส่วนที่เป็นข้อมูลทุติยภูมิ จึงเป็นเหมือนข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐอาจเลือกปรับแต่งเพื่อประโยชน์บางประการโดยมีคณิตศาสตร์สถิติและเทคนิคการนำเสนอเป็นเครื่องมือสำคัญ
บริหารข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหา
ไม่ใช่เพื่อหน้าตาใคร
ในสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบันจะมีคุณค่ามหาศาลต่อการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ
ผู้บริหารที่ชาญฉลาดต้องอ่านข้อมูลเป็น รู้จักค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเอง รู้จักการคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบ และนำข้อมูลที่มีไปแก้ไขปัญหา หรือหาทางป้องกันปัญหาจากการพยากรณ์ที่ใกล้เคียงความเป็นจริง
ผู้บริหารที่โง่เขลาอาจรอเพียงการนำเสนอข้อมูลจากฝ่ายราชการประจำที่อาจมีพฤติกรรมเลือกนำเสนอข้อมูลที่ดูดี เป็นผลงานของรัฐบาล ความหลงผิดในการตัดสินใจที่นำไปสู่หายนะของประเทศจึงอาจเกิดขึ้นได้
ผู้บริหารที่ชาญฉลาดนั้น ควรนำเสนอข้อมูลตัวเลขที่เป็นข้อเท็จจริงต่อประชาชน การเลือกตัวเลข หรือการใช้อวิชชาทางคณิตศาสตร์หรือสถิติมาหลอกลวงประชาชนให้รู้สึกสบายใจกับสถานการณ์ร้ายที่เผชิญอยู่ นอกจากเป็นการไม่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพแล้ว ยังสะท้อนความโง่เขลาของตนเองที่ทะนงตนว่าจะสามารถหลอกประชาชนได้
ลืมแล้วหรือไงว่า ในยุคข่าวสารข้อมูลนี้ ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้แทบไม่แตกต่างกัน คุณรู้ ผมก็รู้ ใครๆ ก็รู้ได้
หากขยันแต่ใช้ข้อมูลเพื่อหลอกประชาชนไปวันๆ ผลที่อยากให้ประชาชนสนับสนุนจะกลับกลายเป็นผลลัพธ์ในด้านตรงข้าม
ประชาชนไม่ได้โง่แบบคุณ