สโมสรนักอ่าน/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

สโมสรนักอ่าน

 

“สโมสรนักอ่าน” เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในทุกประเทศของเอเชียตะวันออก (จากอินเดียถึงญี่ปุ่น) ช่วงระหว่างที่ต้องเผชิญกับลัทธิอาณานิคม ไม่ว่าประเทศเหล่านี้จะมีวัฒนธรรมการอ่านมาแข็งแกร่งหรือค่อนข้างอ่อนแอมาก่อนก็ตาม ยกเว้นอยู่ประเทศเดียวคือสยาม

สโมสรนักอ่าน ไม่เหมือนการอ่านที่เคยมีมาก่อนทีเดียวนัก หนึ่ง เพราะลัทธิอาณานิคมได้นำเอาอุตสาหกรรมการพิมพ์เข้ามาเผยแพร่ ทำให้หนังสือทำหน้าที่เป็นสื่อกลางมากกว่าที่เคยเป็นมาแล้ว และสอง เพราะการอ่านออกเขียนได้ขยายตัว ทำให้ผู้อ่านขยายจากนักปราชญ์ราชสำนักออกไปสู่คนทั่วไป โดยเฉพาะที่อยู่ในเขตเมืองซึ่งก็ขยายตัวขึ้นอย่างมากเช่นกัน (เกาะซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวประมงไม่กี่รายเช่นฮ่องกง กลายเป็นนครใหญ่ เช่นเดียวกับเซี่ยงไฮ้และกึงตั๋งหรือเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง กัลกัตตา ย่างกุ้ง ไซ่ง่อน ฮานอย สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ ปัตตาเวีย สุราบายา เมดาน ฯลฯ)

การอ่านในสโมสรนักอ่านจึงไม่เหมือนการอ่านในห้องหนังสือของนักปราชญ์ เพราะมีคนสนใจวรรณกรรม, การเมือง, ปรัชญา,หรือศิลปะ ฯลฯ หลายคนเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน กลายเป็นการจัดองค์กรเล็กๆ ง่ายๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็นพื้นฐานให้ขยายไปจัดองค์กรที่ใหญ่ขึ้นและยากขึ้นได้ง่าย

แทบจะกล่าวได้ว่าพรรคก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์จีนถือกำเนิดขึ้นในสโมสรนักอ่าน ขบวนการชาตินิยมอินเดียโดยเฉพาะสายที่เชื่อในลัทธิอนาธิปไตยก็เกิดขึ้นในสโมสรนักอ่าน เช่นเดียวกับขบวนการชาตินิยมพม่า, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และรัฐมลายู ความคิดเรื่องการสร้าง Lebensraum หรือพื้นที่แห่งการมีชีวิตให้แก่ชาติญี่ปุ่น จนกลายเป็นนโยบายของรัฐในเวลาต่อมา ก็เกิดขึ้นในสโมสรนักอ่าน ฯลฯ

แต่แกนกลางของ “คณะราษฎร” ไม่ได้เกิดในสโมสรนักอ่าน แม้ว่าปารีสในช่วงนั้นเต็มไปด้วยสโมสรนักอ่านจำนวนมาก ทั้งของชาวฝรั่งเศสเองและของผู้ลี้ภัยการเมืองนานาชาติทั่วโลก (อย่างน้อยในประวัติของผู้นำคณะราษฎรเท่าที่รู้กัน ไม่มีใครสักคนที่พูดถึงการเข้าเป็นสมาชิกสโมสรนักอ่านใดๆ)

 

เขาอ่านอะไรกันในสโมสรนักอ่าน เขาอ่านอะไรใหม่ๆ ครับ นับตั้งแต่เนื้อหาใหม่, ความรู้สึกใหม่, มุมมองใหม่, ความงามใหม่, อารมณ์สะเทือนใจใหม่ ฯลฯ ไม่ว่าจะเขียนขึ้นในโลกตะวันตกหรือโดยคนในวัฒนธรรมของเขาเอง ขอแต่ไม่ใช่อะไรเก่าๆ เท่านั้น ถ้าจะเป็นอะไรเก่าๆ ก็อ่านเพราะการตีความใหม่

ทั้งหมดนี้คือสัญญาณบอกว่า นักอ่านในประเทศต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับลัทธิอาณานิคม ต่างมีสำนึกว่า คำถามเก่าและคำตอบเก่าซึ่งตกทอดมาแต่อดีตในวัฒนธรรมของเขา ไม่อาจสร้างความกระจ่างหรือให้คำตอบแก่ปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้เสียแล้ว

นี่เป็นอารมณ์ร่วมของสโมสรนักอ่านของทุกประเทศในช่วงนั้น ไม่ได้หมายความว่าขึ้นชื่อว่าสโมสรนักอ่านแล้วก็ต้องเป็นเช่นนั้นหมด อารมณ์ร่วมอย่างนี้หมดไปเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งทำให้ลัทธิอาณานิคมทางการเมืองสิ้นสุดลงในเอเชียตะวันออก (แม้ว่าลัทธิอาณานิคมทางวัฒนธรรมยังอาจดำรงอยู่สืบมาจนถึงทุกวันนี้) และทำให้ไปนึกว่าคำถามใหม่ได้รับคำตอบไปแล้ว

 

แม้ไม่มีสโมสรนักอ่านในสยามในช่วงเดียวกัน แต่อารมณ์ร่วมเช่นนี้ก็พอหาได้ในสยามเช่นกัน เพียงแต่ค่อนข้างจำกัดผู้รับสารเท่านั้น เช่น หนังสือพิมพ์ภาษาไทยนับตั้งแต่ของหมอบรัดเลย์ ลงมาถึง ก.ศ.ร. กุหลาบ และ ต.ว.ส. วรรณาโภ ล้วนส่งแก่สมาชิกบอกรับ ไม่ได้วางขายทั่วไป เพราะยังไม่มีแผงขายหนังสือในกรุงเทพฯ สมัยนั้น จากรายชื่อของสมาชิกก็จะเห็นได้ว่าเป็นคนเพียงร้อยกว่าคนในกรุงเทพฯ นี้เท่านั้น

แม้มีการแสดงความคิดเห็นของผู้อ่านในหน้าหนังสืออยู่บ้าง แต่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นสาธารณะเช่นนั้นอาจมีภัยทั้งทางการเมืองและทางสังคมแก่ผู้แสดงความเห็นได้ จึงไม่อาจเทียบได้เลยกับการอภิปรายถกเถียงในสโมสรนักอ่าน

งานแปล, รูปแบบใหม่ทางวรรณกรรม, การปรับเปลี่ยนศิลปะการแสดง ทั้งของชนชั้นสูงและประชาชนทั่วไป ล้วนเป็นสื่อมวลชนใหม่ซึ่งเกิดขึ้นในสยามยุคนั้น (น่าเสียดายที่วรรณกรรมมุขปาฐะเหล่านั้นได้สูญเสียส่วนใหญ่ของ “บท” ไปแล้ว) ทำให้เห็นพลวัตของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยช่วงนั้นเหมือนกัน แต่งานที่ถูกแปลเป็นไทยยังมีระดับ “ตลาด” เท่านั้น ไม่ว่าจะแปลจากอังกฤษหรือจีน (นอกจากงานแปลรัฐธรรมนูญอเมริกันของหมอบรัดเลย์ ซึ่งเป็น “ปัญญาชน” เพียงไม่กี่คนที่อยู่นอกอำนาจรัฐสยาม)

เราแปลความพยาบาท แต่คนอื่นแปลชาลส์ ดิกเกนส์ หรือบัลซัค

เปรียบเทียบกับเวียดนาม งานระดับคลาสสิคจำนวนมากถูกแปลเป็นจีน ซึ่งใช้อักษรที่บัณฑิตเวียดนามอ่านออก ยังไม่รวมถึงงานแปลในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งที่ปัญญาชนเวียดนามในช่วงหนึ่งลี้ภัยหรือตั้งใจหลบออกไปเรียนรู้จำนวนมาก

ดังนั้น พลวัตความเปลี่ยนแปลงในสังคมสยามช่วงนั้น จึงไม่ได้ถูกผลักดันจากความคิดหลักๆ ที่แพร่หลายไปทั่วเอเชียตะวันออกในช่วงเดียวกันผ่านภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, จีน, ญี่ปุ่น, เบงกาลี, หรือฮินดี-อูรดู (ที่จริงควรรวมภาษาอาหรับด้วย แต่ผมไม่รู้เรื่องนี้พอ)

 

เหตุใดประสบการณ์ของสยามเมื่อต้องเผชิญกับลัทธิอาณานิคมจึงต่างจากรัฐอื่นส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออก เหตุผลเพียงเพราะว่าสยามไม่ตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการ คงไม่เพียงพอจะอธิบายได้ เพราะจีนและญี่ปุ่นก็ไม่ตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการเช่นกัน แท้จริงแล้วในทางการเมือง สยามก็ตกเป็น “รัฐในอารักขา” ซึ่งมีหลายรูปแบบเหมือนอีกหลายรัฐและดินแดนของเอเชีย เพียงแต่ว่ามหาอำนาจสามารถหากำไรในสยามได้ โดยไม่ต้อง “ลงทุน” ทางด้านการปกครองหรือการเมืองในสยามเลย ผู้ปกครองสยามจึงมีอิสรภาพที่จะจัดการภายในอย่างเต็มที่ ตราบเท่าที่ไม่กระทบผลประโยชน์ด้านต่างๆ ของมหาอำนาจ

ผมจะเสนอคำอธิบายของตัวเองว่าเหตุใดสยามจึงต่างจากรัฐอื่นในช่วงนี้ ซึ่งคงผิดๆ ถูกๆ เพราะขาดข้อมูลเชิงประจักษ์อีกมาก

 

สยามไม่เคยมีเจ้าที่ดินรายใหญ่ (ดังเช่นเวียดนามหรือพม่า) นอกจากขุนนาง เพราะขุนนางเป็นคนกลุ่มเดียวที่มีแรงงานในการหาประโยชน์จากการครอบครองที่ดินขนาดใหญ่ได้ แต่โชคดีที่กษัตริย์ในยุคนั้นมองขุนนางเป็นศัตรูหรืออย่างน้อยเป็นคู่แข่งทางการเมืองของตน จึงลิดรอนอำนาจในการควบคุมแรงงานไพร่ออกจากขุนนางเสีย สร้างระบบราชการที่ขุนนางต้องพึ่งเงินเดือนพระราชทานเพียงอย่างเดียวเป็นหลัก

ดังนั้น ในการแสวงหารายได้จากการส่งออกข้าว จึงส่งเสริมให้ชาวนารายย่อยเข้ามาบุกเบิกที่ดินเพื่อเพาะปลูกในแหล่งที่สามารถส่งผลผลิตถึงท่าเรือได้ง่าย นับเป็นนโยบายเดียวกับที่อังกฤษส่งเสริมให้ชาวนารายย่อยจับจองที่ดินในพม่าล่าง แต่การหารายได้เข้ารัฐกับชาวนารายย่อยทำได้ยากกว่าหารายได้ผ่านเจ้าที่ดินรายใหญ่ ไม่ว่าจะเก็บภาษีจากผลผลิตหรือภาษีที่ดิน เจ้าที่ดินรายใหญ่ย่อมรับผิดชอบในการเก็บภาษีแทนรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่ารัฐส่งคนไปเก็บเองกับชาวนารายย่อย รัฐบาลสยามจึงเลือกจะหารายได้ที่ภาษีส่งออกข้าวแทนการรีดเอาจากชาวนาแต่ละราย

ดังนั้น โดยเปรียบเทียบแล้ว ชาวนาสยามจึงไม่ทุกข์ยากแสนลำเค็ญเหมือนชาวนาเวียดนามหรือพม่า ซึ่งมาในภายหลังต้องสูญเสียที่ดินให้แก่นายทุนเงินกู้ชาวอินเดียไปแทบหมดสิ้น จนกลายเป็นผู้เช่าที่ดินเป็นส่วนใหญ่ ชาวนาสยามก็ต้องเผชิญกับนายทุนเงินกู้เช่นกัน ส่วนใหญ่คือจีนเจ้าของร้านค้าใน “ตลาดเจ๊ก” แต่ด้วยเหตุผลหลายอย่างซึ่งขอไม่กล่าวในที่นี้ ไม่เป็นผลให้สูญเสียที่ดินไปมากนัก

ระดับการเติบโตของเมืองจากชุมชนเล็กๆ (urbanization)ในสยามไม่สู้จะมากนัก เมื่อเทียบกับพม่า, เวียดนาม, และอินโดนีเซีย ไม่พูดถึงจีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลย เมืองเป็นที่ชุมนุมของคนชั้นกลาง ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของข่าวสารข้อมูลซึ่งหลั่งไหลมาจากต่างประเทศอีกด้วย ด้วยเงื่อนไขของเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะเกิดสโมสรนักอ่านขึ้นได้ หรือเกิดการจัดองค์กรสมัยใหม่ ที่รวมเอาคน “คอ” เดียวกันมาพบปะและร่วมกิจกรรม ทั้งๆ ที่ไม่มีเยื่อไยความสัมพันธ์ตามประเพณีต่อกันอยู่เลย (เช่น เครือญาติ, คู่เขย, บวชวัดเดียวกัน, เกิดและโตในหมู่บ้านเดียวกัน ฯลฯ)

 

สรุปอย่างสั้นๆ สโมสรนักอ่านดึงดูดเอาคนที่อยากแสวงหาคำตอบใหม่ และอยากตั้งคำถามใหม่ ให้เข้ามารับรู้แลกเปลี่ยนถกเถียงในเรื่องเดียวกัน และทำให้รุสโซ, โครปอตสกิน, มาร์กซ์ ฯลฯ มีความหมายในประเทศ “ล้าหลัง” อย่างเอเชียได้

แม้ว่าเมืองเป็นแหล่งที่อาจให้กำเนิดแก่สโมสรนักอ่านได้ แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่า นับตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว “เมือง” คือแหล่งที่อำนาจรัฐเข้มข้นและหนาแน่นที่สุดในสยาม โดยเฉพาะเมืองที่เป็นราชธานี ระหว่างการจัดองค์กรเพื่อทำสโมสรนักอ่านในกรุงเทพฯ กับจัดองค์กรเพื่อชมละครปราโมทัย อย่างหลังดูจะทำได้ง่ายและไม่น่าจะมีภัยอันตรายแต่อย่างไรต่ออาชีพการงานด้วย

ในสภาวะดังที่กล่าวข้างต้น จึงไม่แปลกที่การหาคำตอบใหม่และตั้งคำถามใหม่จึงถูกผูกขาดโดยปัญญาชนฝ่ายอำนาจ ลักษณะเช่นนี้ก็เกิดในสังคมอื่นเช่นกัน เพราะกลุ่มชนชั้นนำย่อมเป็นผู้เผชิญกับสิ่งใหม่ๆ จากภายนอกก่อนคนทั่วไป แต่การจัดองค์กรแบบใหม่ในสังคมอื่น เช่นสโมสรนักอ่าน (รวมถึงอื่นๆ ด้วย เช่น โรงเรียนทางเลือก, โรงเรียนกลางคืนสำหรับแรงงาน ฯลฯ เป็นต้น) ทำให้เกิดปัญญาชนฝ่ายอื่นเข้ามาเสนอคำตอบใหม่และตั้งคำถามใหม่แข่งขันกับคำตอบและคำถามของฝ่ายอำนาจ

อันที่จริงจะว่าไม่มีปัญญาฝ่ายอื่นเลยก็คงไม่ได้ หลายคนคงคิดถึง ต.ว.ส. วรรณาโภ, ก.ศ.ร. กุหลาบ และนายนริทร์ภาษิต แต่ท่านเหล่านี้เพียงแต่มีกลุ่มนักอ่านอยู่เบื้องหลังจำนวนหนึ่งเท่านั้น นายนรินทร์ภาษิตทำงานในช่วงที่การพิมพ์และการค้าสิ่งพิมพ์ขยายตัวไปมากแล้ว จึงมีกลุ่มนักอ่านติดตามมากหน่อย รวมทั้งนายนรินทร์เองก็พยายามก่อตั้งกลุ่มพูดคุยขึ้นด้วย แต่ดังที่ทราบอยู่แล้วว่า กิจการของท่านถูกรัฐขัดขวางตลอดมา

ดังนั้น อุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศไทยจึงไม่นำไปสู่สำนึกชาตินิยมที่มี “พลเมือง” เป็นศูนย์กลาง แต่นำไปสู่การทำให้วัฒนธรรมของชนชั้นสูงกลายเป็นสมบัติของประชาชนแทน

ด้วยเงื่อนไขนานาชนิดที่เห็นได้ในประวัติศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยจึงเกิดขึ้นภายใต้การกำกับหรือการแทรกแซงจากชนชั้นนำตลอดมา เปลี่ยนเหมือนคนอื่น แต่เปลี่ยนอย่างช้าๆ ไม่ลงไปถึงรากถึงโคน

จนถึงการต่อสู้ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อนกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นครั้งแรก