โตเกียว โอลิมปิก 2020…ที่ขลุกขลัก/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

โตเกียว โอลิมปิก 2020…ที่ขลุกขลัก

 

ในที่สุดโตเกียว โอลิมปิก 2020 ได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา หลังจากเลื่อนมาหนึ่งปี คงต้องจารึกไว้ว่าเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขปีที่กำกับไม่ตรงกับปีที่เปิดงาน

ในปีนี้ได้เลื่อนวันที่ 23 เป็นวันกีฬา(スポーツの日)และวันก่อนหน้าคือ วันทะเลรำลึก(海の日)รวมเป็นวันหยุดต่อเนื่อง 4 วัน ประชาชนส่วนหนึ่งตื่นเต้นและรอคอยด้วยใจระทึกกับงานยิ่งใหญ่ระดับโลกที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพ แม้ในพิธีเปิดคณะกรรมการจัดงานไม่อนุญาตให้มีผู้เข้าชมเลยก็ตาม

เนื่องจากเป็นฤดูร้อนตรงกับช่วงปิดเทอมของโรงเรียน พ่อแม่พาลูกๆมาถ่ายรูปที่ระลึกบริเวณหน้าสนามกีฬาแห่งชาติที่จัดงาน หลายคนบอกว่าเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ไม่แน่ใจว่าจะมีอีกครั้งหรือไม่ เพราะญี่ปุ่นเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 1964 หรือเมื่อ 57 ปีที่แล้ว คนญี่ปุ่นรุ่นปู่ย่าต่างภาคภูมิใจเมื่อได้ย้อนรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นอีกครั้งบนเวทีโลก หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นับเป็นเกียรติยศของชาวอาทิตย์อุทัยที่ผ่านร้อนหนาวอย่างอดทนมาได้

แต่…โอลิมปิกครั้งนี้ ไม่เหมือนครั้งแรก ญี่ปุ่นลงทุนและเตรียมการต่างๆเพื่อให้ได้งานที่ชาวโลกจะต้องจดจำไปอีกนานเป็นอย่างดี แต่…เมื่อใกล้ถึงกำหนดงานปี 2020 ปีที่แล้วญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง มีการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาด จนคณะกรรมการต้องตัดสินใจเลื่อนการจัดงานออกไปอีกหนึ่งปี

ตลอดช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นก็ไม่แน่ใจว่าจะจัดงานได้หรือไม่ เพราะยังไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดได้เลย มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน และมาตรการป้องกันการระบาดอย่างต่อเนื่อง แม้ขณะดำเนินการแข่งขันอยู่นี้ โตเกียวก็ยังเป็นเขตประกาศภาวะฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม ถึง 22 สิงหาคม ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว และอีก 3 จังหวัดข้างเคียงรวมทั้งโอซากายังอยู่ในเขตควบคุมการป้องกันโรคระบาดด้วย

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้ร่วมกันลงชื่อคัดค้านการจัดงานโอลิมปิก เนื่องจากมีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากต้องได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต้องตกงาน ต้องปิดกิจการ ต้องล้มตาย ต้องสิ้นเนื้อ

ประดาตัว ต้องสูญเสียญาติมิตร จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการจัดงาน และนำงบประมาณส่วนที่ใช้ในการจัดงานมาดูแลเยียวยาคนในประเทศก่อน

จึงไม่แปลกที่…ในวันเปิดงานวันที่ 23 ที่ผ่านมา ขณะที่มีผู้ตื่นเต้นยินดี ก็มีกลุ่มผู้ประท้วงไม่เห็นด้วย รวมตัวกันที่หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ ถือป้าย “โอลิมปิกสำคัญกว่าชีวิตคน”(命より五輪が大事)หลายๆคนบอกว่าไม่สนใจ และไม่อยากรับรู้ข่าวสารโอลิมปิกเลย

เมื่อรัฐบาลดึงดันจัดงานให้ได้ ก็ต้องเพิ่มมาตรการป้องกันการระบาดอย่างเข้มงวด สนามแข่งส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้มีผู้เข้าชมเลย นักกีฬาจากประเทศต่างๆที่เข้ามาต้องผ่านการตรวจการติดเชื้อเป็นประจำ แต่กระนั้นก็พบผู้ติดเชื้อทั้งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเกือบ 200 คน ไม่รวมกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวอีกไม่น้อย ก่อนวันเปิดงานเพียงวันเดียวทั่วประเทศมีผู้ติดเชื้อ 5,360 คน เป็นชาวโตเกียว1,979 คน อีกทั้งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่รัฐบาลต้องจัดทีมแพทย์และพยาบาลจำนวนมากเพื่อสนับสนุนงานนี้ ทั้งๆที่งานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ก็ล้นมือและขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก

อันที่จริงความขลุกขลักที่ไม่คาดคิดก่อนถึงวันงานยังมีอีกหลายเรื่อง อาทิเช่น เมื่อประธานคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกญี่ปุ่น นาย โมริ โยชิโร อดีตนายกรัฐมนตรี วัย 83 ปี ต้องยอมประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ เนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งหนึ่ง นาย โมริ หลุดปากว่า “คณะกรรมการที่มีผู้หญิงเยอะ เรื่องมากเสียเวลา” การพูดเหยียดสตรีเพศโดยผู้ใหญ่ดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งในอดีตและปัจจุบันเช่นนี้ เป็นเรื่องที่สาธารณชนรับไม่ได้และเรียกร้องให้นาย โมริ ลาออก เบื้องต้นนาย โมริ ดึงดันไม่ลาออก แต่ทนกระแสสังคมกดดันไม่ได้ ต้องจำยอมในที่สุด

ผู้ที่ได้รับเลือกมาดำรงตำแหน่งแทน คือ นาง ฮาชิโมโต เซโกะ สมาชิกวุฒิสภาอดีตนักกีฬาโอลิมปิกของญี่ปุ่น เป็นผู้เหมาะสมกับงานใหญ่นี้ แต่ตอนแรกก็ไม่วายมีคนขุดคุ้ยเรื่องซุบซิบ แต่เธอก็สามารถฟันฝ่างานหินมาจนถึงวันเปิดงานได้สำเร็จ

เรื่องขลุกขลักยังมีอีก…ก่อนวันงานเพียง 4 วัน วันที่ 19 กรกฎาคม นาย โอยามาดะ เคโงะ นักดนตรีชื่อดัง ผู้ประพันธ์เพลงในพิธีเปิดและปิดงาน ขอลาออกจากคณะกรรมการจัดงาน จากการที่เขาเคยให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่งเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้วว่า สมัยเป็นนักเรียนประถม มัธยม เขาเคยแกล้งเพื่อนด้วยวิธีพิสดารต่างๆมาตลอด ซึ่งปัญหาเด็กที่ถูกแกล้ง จนได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ หรือถึงขั้นปลิดชีวิตตัวเองเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่ง ดังนั้น จึงมีกระแสเรียกร้องให้เขารับผิดชอบต่อการกระทำในอดีตของตัวเอง เขาจึงต้องลาออกในเวลากระชั้นชิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความขลุกขลัก…ยังมีอีกจนได้ก่อนเปิดงานเพียง 1 วัน วันที่ 22 กรกฎาคม นาย โคบายาชิ เคนทาโร นักแสดงตลก Show Director ผู้รับผิดชอบการแสดงในพิธีเปิดและปิด ถูกปลดออกจากตำแหน่ง จากการที่เขาเคยทำวิดิโอตลกในปี 1994 ที่มีบทพูด นำเรื่องการสังหารหมู่ชาวยิวด้วยการรมแก๊สพิษของทหารนาซี มาล้อเลียนเป็นเรื่องตลกคะนอง มีเสียงประณามอย่างหนักและความโกรธจากตัวแทนชาวยิวในสหรัฐอเมริกา นับเป็นความอัปยศอย่างยิ่งยวดที่หนึ่งในคณะทำงานของงานระดับโลก ละเมิดกฎบัตรโอลิมปิกที่ห้ามการเหยียดสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา การเมืองและเพศ นาย โคบายาชิ ได้แสดงความเสียใจและขออภัยต่อสิ่งที่ทำ และยอมรับมติของคณะกรรมการ

ชาวโลกได้แต่ช่วยกันเป็นกำลังใจให้ญี่ปุ่นจัดงานโอลิมปิกผ่านพ้นไปด้วยดีจนจบงาน มีเสียงจากบรรดาแพทย์ญี่ปุ่นผู้ใกล้หมดแรงจากการต่อสู้กับโควิด-19 ว่า อยากให้คนไข้ลดลงและหายป่วยมากกว่าอยากได้เหรียญทองจากโอลิมปิกของนักกีฬาญี่ปุ่น และไม่กล้าจินตนาการเลยว่าถ้าเกิดการระบาดระลอกที่ 5 ที่มาพร้อมกับโตเกียว โอลิมปิก 2020 นี้ ระบบสาธารณสุขญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร…