พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก : หลัก 4 ส. ของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบรมครู

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (14) บทที่ 5 : หลักการสอนทั่วไป

ย้อนอ่านตอนที่ 13  12  11 (คลิกที่เลข)

คําว่าหลักการทั่วไป ในแง่วิชาจะหมายถึงอะไร ผมไม่สนใจ ผมหมายเอาตามที่ผมต้องการ คือต้องการจะให้เข้าใจว่า หมายถึงหลักกว้างๆ เกี่ยวกับการสอน หลักการมักจะคู่กับวิธีการ หลักการเป็นเรื่องกว้างๆ ครอบคลุมแต่พูดไม่ชัดแจ้ง ส่วนวิธีการเป็นเรื่องของรายละเอียด ว่ามีขั้นตอนในการทำอย่างไรบ้างอะไรอย่างนี้

ยิ่งพูดมากก็ยิ่งงงเนาะ ขอบอกเสียเลยดีกว่าหลักการทั่วไปของการสอนนี้คืออะไร

พระพุทธเจ้านั้น ทรงเป็นพระบรมครู ยอดครูของผู้สอนคน พระองค์ทรงมีหลักการในการสอนมากมายหลายหลักการ จะขอยกมาสัก 1 หมวด ที่เรียกกันว่า “หลัก 4 ส” เพราะแต่ละข้อขึ้นด้วยอักษร ส คือ

1. สันทัสสนา อธิบายให้เห็นชัดแจ้ง เหมือนจูงมือให้มาดูด้วยตาพูดอธิบายให้ผู้ฟังแจ้งจางปาง ไม่มีข้อสงสัยว่าอย่างนั้นเถอะ เรียกสั้นๆ ว่า “แจ่มแจ้ง”

2. สมาทปนา ชักจูงให้เห็นจริงเห็นจังตาม ชวนให้คล้อยตามจนยอมรับเอาไปปฏิบัติ เรียกสั้นๆ ว่า “จูงใจ”

3. สมุตตเตชนา เร้าใจให้เกิดความกล้าหาญ มีกำลังใจ มั่นใจว่าทำได้ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคที่พึงมีมา ไม่ว่าจะใหญ่และยากสักปานใดก็ตามเรียกสั้นๆ ว่า “หาญกล้า”

4. สัมปหังสนา มีวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้ฟังร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อ เปี่ยมล้นไปด้วยความหวัง เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่ตนพึงได้รับจากการปฏิบัติ เรียกสั้นๆ ว่า “ร่าเริง”

สรุปหลักการทั่วไปของการสอน ด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า แจ่มแจ้ง-จูงใจ-หาญกล้า-ร่าเริง ที่เรียกว่าหลักการทั่วไป ก็เพราะไม่ละเอียด เพียงบอกกว้างๆ ว่าการสอนที่ดีนั้น จะต้องสอนให้แจ่มแจ้ง โน้มน้าวจิตใจให้ผู้ฟังเกิดความกล้าหาญ ร่าเริง แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าอย่างไร มีขั้น มีตอนอย่างไร เพราะนั่นจะไปอยู่ในเทคนิควิธีการสอน ซึ่งจะพูดถึงต่างหาก

เมื่อพระพุทธองค์ทรงสอนเวไนยสัตว์นั้น พระองค์ทรงใช้หลักการสอนทั้ง 4 ข้อนี้ครบถ้วน ดังเรื่องดังต่อไปนี้

ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ต้อนรับพราหมณ์เฒ่าคนหนึ่ง พราหมณ์เฒ่าคนนี้ถือว่าตนเป็นผู้ทรงไตรเพท เจริญด้วยวัยวุฒิ พูดง่ายๆ ว่าถือว่าตนแก่กว่าพระพุทธเจ้า จึงหวังว่าเมื่อพบกัน พระพุทธเจ้าต้องลุกขึ้นต้อนรับแสดงความเคารพคนในฐานะที่ตนมีอาวุโสกว่า แต่เมื่อเห็นพระองค์ประทับเฉยอยู่ พราหมณ์จึงขัดใจด่าพระพุทธองค์เป็นชุดๆ เลยว่า คนไม่มีรสมีชาติ คนฉิบหาย คนเผาผลาญ คนไม่ผุดไม่เกิด

ขออภัย คำด่าคงไม่ไพเราะอย่างนี้ดอก คงจะเป็น “ไอ้คนไม่มีรส มีชาติ ไอ้ฉิบหาย ไอ้ล้างผลาญ ไอ้ไม่ผุดไม่เกิด” อะไรทำนองนี้มากกว่า

พระพุทธองค์ทรงอธิบายให้พราหมณ์เฒ่าแจ้งจางปางตามลำดับดังนี้

ที่ท่านว่าเรา “ไม่มีรสมีชาติ” นั้นถูกต้องแล้ว เราตถาคตเป็นคนที่ไม่มีรสชาติจริงๆ เพราะรสชาติที่ชาวโลกเขายอมรับและยกย่องกันคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั้น เราตถาคตละได้หมดสิ้นแล้ว เราไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้วจึงเป็นคนไม่มีรสมีชาติ

ที่ว่าเราตถาคต “ฉิบหาย” นั้นก็จริงอีก เพราะเราตถาคตสอนธรรม เพื่อทำลายกิเลสคือ โลภ โกรธ หลง ให้มันฉิบหายไป คำสอนของเราทั้งหมดก็เพื่อจัดประสงค์จะทำลายกิเลสอาสวะไปจากจิตใจเวไนยสัตว์ เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นคนฉิบหายโดยแท้

ที่ว่าเราเป็น “คนล้างผลาญ” ก็จริงคือ เพราะเราสอนวิธีล้างผลาญ โลภ โกรธ หลง จากใจของคนทั้งปวง เราวางหลักคำสอนเพื่อให้ประชาชนนำไปปฏิบัติ เพื่อล้างผลาญกิเลสทุกขั้นตอน ตั้งแต่ระดับต้นๆ จนขั้นสูง เราจึงควรได้สมญานามว่าคนล้างผลาญแท้จริง

ที่ว่าเรา “ไม่ผุดไม่เกิด” ก็จริงอีก เพราะคนที่จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนั้นต้องมีกิเลสตัณหา อันเป็นเสมือนเชื้อที่ทำให้ไฟลุกไหม้ กิเลสตัณหาเหล่านั้น เราตถาคตละได้หมดแล้ว ดับสนิทแล้วจุดไฟหมดเชื้อ ไม่มีเหตุจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

เราจึงควรได้นามว่าผู้ไม่ผุดไม่เกิดอีกต่อไป

ความจริงพราหมณ์เฒ่าต้องการด่าว่า พระพุทธองค์ไม่รู้จักคารวะต่อผู้เฒ่าผู้แก่ พระองค์เป็นคนไม่มีรสชาติ คือไม่รู้จักขนบธรรมเนียมของคนที่เจริญแล้ว พูดอีกนัยหนึ่งพราหมณ์ต้องการด่าให้แสบว่า “พ่อแม่ตายตั้งแต่เล็กหรืออย่างไร” จึงไม่มีเวลาสั่งสอนว่าเวลาผู้น้อยพบผู้ใหญ่ควรทำตนอย่างไร ช่างไม่มีรสนิยมของอารยชนเอาเสียเลย

พระองค์ก็ทราบว่าพราหมณ์หมายความว่าทำนองนั้น แต่ทรงตีความไปอีกทางหนึ่ง แล้วก็อธิบายให้เข้าใจแจ่มแจ้งแดงแจ๋ไปเลย

พราหมณ์แกต้องการด่าว่าคนที่ไม่รู้จักสัมมาคารวะเป็นคนล้างผลาญขนบธรรมเนียมอันดี เป็นคนทำให้ขนบธรรมเนียมอันดีงามที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษฉิบหาย คนอย่างนี้ไม่มีวันผุดวันเกิดในชาติต่อไป เพราะมิได้ทำคุณงามความดีอะไรไว้ อะไรทำนองนั้น พระพุทธองค์ก็แปลความไปอีกนัยหนึ่งว่าพระองค์เป็นผู้สอนธรรมะ เพื่อขจัดทำลายกิเลสตัณหา จึงนับว่าเป็นคนฉิบหาย และพระองค์เองก็ละกิเลสตัณหาได้แล้ว จึงไม่ผุดไม่เกิดอีกต่อไป

จึงควรแท้ที่จะเรียกว่าคนไม่ผุดไม่เกิด

นี่เป็นเพียงจับใจความคำโต้ตอบสนทนาระหว่างพระพุทธองค์และพราหมณ์มาเล่าให้ฟังเท่านั้น

ถ้าอ่านต้นฉบับจริงๆ จะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงอธิบายตัวอย่างให้พราหมณ์เฒ่าเข้าใจชัดแจ้งอย่างไรบ้าง

เช่น ทรงเปรียบพระองค์เหมือนลูกไก่ที่ทลายกระเปาะไข่ออกมาเป็นตัวแรก ก็ต้องนับว่าเป็นพี่ของลูกไก่ทั้งหมดฉันใด พระองค์ก็ทรงทำลายกระเปาะไข่คืออวิชชาเป็นคนแรกของโลก จึงสมควรเป็น “พี่ใหญ่” ของสัตว์โลกทั้งปวง ฉันนั้น

แล้วพี่ควรจะไหว้น้องหรือ น้องต่างหากควรไหว้พี่ใช่ไหมครับ

พราหมณ์เฒ่าแกเกิดความสว่างกลางใจ หายข้อสงสัยใดๆ เพราะคำพูดของพระองค์ชัดเจนเหมือนกัน จึงเปล่งอุทานออกมาด้วยความดีใจว่า “แจ่มแจ้งจริงๆ แจ่มแจ้งจริงๆ พระดำรัสของพระองค์ดุจเปิดของที่ปิด หงายภาชนะที่คว่ำ และจุดประทีปส่องนำทางในทางที่มืดให้สว่าง ทำให้คนตาดีมองเห็นทางฉะนั้น”

นี้เป็นตัวอย่างของหลักการสอนข้อที่ว่าสอนให้แจ่มแจ้ง อีกคราวหนึ่ง

คราวนี้ขอยกสาวกของพระพุทธองค์มาเป็นตัวอย่างบ้าง ขณะพระอัสสชิน้องสุดท้องแห่งปัญจวัคคีย์ เดินบิณฑบาตอยู่ตามถนนในเมืองราชคฤห์ มาณพน้อยคนหนึ่งนามว่าอุปติสสะ เห็นว่าบุคลิกลักษณะอันสงบสำรวมของพระเถระก็ประทับใจ เดินตามห่างๆ ด้วยคิดว่ามีโอกาสเหมาะเมื่อใดจะขอสนทนาธรรมกับท่าน พอดีพระเถระได้อาหารพอฉันแล้ว นั่งฉันข้าว ณ ที่เหมาะแห่งหนึ่ง (สมัยพุทธกาล พระท่านได้อาหารแล้วก็จะหาที่เหมาะนั่งฉัน ฉันเสร็จก็จะกลับวัด)

อุปติสสะจึงเข้าไปนมัสการท่าน ขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง ท่านออกตัวว่าเพิ่งบวชไม่นาน อาจแสดงให้พิสดารไม่ได้ อุปติสสะเรียนท่านว่า แสดงสั้นๆ ก็ได้ พระเถระจึงกล่าวคาถาอันว่าด้วย “แก่น” แห่งอริยสัจ 4 ประการให้มาณพน้อยฟัง

มาณพน้อยได้ฟังเกิดดวงตาเห็นธรรมทันที เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของการสอนที่ “จูงใจ” จูงใจอย่างไร ลองพิจารณาดูก็ได้

หนึ่ง บุคลิกภาพของพระเถระ กิริยาอาการเคลื่อนไหวอิริยาบถสงบสำรวม ประทับใจมาณพน้อย นี้เป็นการจูงใจประการแรก

สอง การที่ท่านกล่าวอย่างถ่อมตนว่า ท่านเพิ่งเข้ามาสู่พระศาสนา ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารได้ ขอแสดงโดยย่อ ประทับใจอุปติสสะ ซึ่งเป็นนักศึกษาปรัชญา นักศึกษาปรัชญาส่วนมากมักคุ้นเคยอยู่กับนักปราชญ์ที่โอ้อวดว่าตนรู้มาก คนอื่นรู้น้อย แต่พอมาพบผู้รู้ที่ถ่อมตน จึงรู้สึกประทับใจ

สาม เนื้อหาที่ท่านกล่าวสั้นๆ ก็เป็นหลักวิชาที่สรุปความจริงทั้งหมดเป็นระบบคำสอนทั้งหมดของพระพุทธศาสนา คือมีทั้งปรมัตถธรรม (เป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต) และแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดนั้น เหมาะสมแก่นักศึกษาปรัชญาอย่างอุปติสสะจะพึงสดับเป็นอย่างยิ่ง และก็จริงดังนั้น พอได้ยินเพียงสังเขป อุปติสสะก็สามารถขยายความให้ละเอียดพิสดารเข้าใจทะลุปรุโปร่งที่เรียกว่า “เกิดความสว่างกลางใจ” ปราศจากความสงสัยทันที

ทั้งหมดนี้เพราะพระอัสสชิ ท่านรู้จักใช้หลักการจูงใจผู้ฟังคืออุปติสสะ ตั้งแต่วาระแรกที่ได้เข้าพานพบท่าน

ยกมาพอเป็นอุทาหรณ์เพียงสองเรื่อง จะยกมากกว่านี้ก็ได้ เพราะผมผู้เขียนชอบเล่านิทาน แต่ขอยุติเพียงแค่นี้ คราวหน้าค่อยว่าต่อก็แล้วกัน