E-DUANG : ความหมาย ของ นายกฯพระราชทาน กับสถานะของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คำว่า”นายกฯพระราชทาน”ที่กลายเป็นเทรนด์แห่งการวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในโลกออนไลน์ท่ามกลางสถานะอันง่อนแง่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อให้เกิดนัยประหวัดในทางการเมือง

เป็นนัยประหวัดไปยังสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 เป็นนัยประหวัดไปยังสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

นั่นก็คือ มีกระแสการฮือขึ้นมาประท้วงและขับไล่ จอมพลถนอม กิตติขจร ออกจากตำแหน่งก็มีการแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรม ศักดิ์ เข้ามาแทนที่

เรียกขานกันในเวลาต่อมาว่าเป็น”นายกฯพระราชทาน”

นั่นก็คือ มีกระแสการฮือขึ้นมาประท้วงและขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ออกจากตำแหน่งก็มีการแต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาแทนที่

เรียกขานกันว่าเป็น”นายกฯพระราชทาน”แม้ว่าจะเป็นการแต่งตั้งโดยที่ประชุมรัฐสภาและแตกต่างเป็นอย่างมากจากกรณี

ของ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อเดือนตุลาคม 2516

น่าสนใจก็ตรงที่การปฏิเสธบทบาทและความหมายของวลีที่ว่า “นายกฯพระราชทาน”มีมูลเชื้อมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพราะว่าได้ตำแหน่งมาจากกระบวนการ”รัฐประหาร”

 

รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 แม้ว่าการมาเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จะคล้ายเป็นอย่างมากกับกรณีของ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อเดือนตุลาคม 2516

นั่นก็คือ มีรากฐานมาจากความปั่นป่วนวุ่นวายในทางการเมือง และเป็นการลงมาจากตำแหน่ง”องคมนตรี”เช่นเดียวกัน

แต่ก็ต้องยอมรับว่า การเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ถอดความจัดเจนมาจาก นายสัญญา ธรรม ศักดิ์ คือดำรงอยู่ในแบบ”ชั่วคราว”เพียง 1 ปีก็อำลากลับสู่ตำแหน่งเดิมคือองคมนตรี

ตรงกันข้าม ในกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงอยู่

และทำให้เห็นว่าต้องการสืบทอดอำนาจยาวนานมากว่า 7 ปี

 

เวลา 5 ปีหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่ได้สร้างความประทับใจมากนัก เวลาอีก 2 ปีหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนา คม 2562 ยิ่งสร้างความหงุดหงิดไม่พอใจ

โดยเฉพาะเมื่อประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด

สภาพที่ประชาชนล้มป่วยด้วยโควิดและมีจำนวนหนึ่งไม่ได้เข้าโรงพยาบาลกระทั่งจำนวนไม่น้อยล้มตายต่อหน้าต่อตากลางถนนศพแล้วศพเล่า

ความไม่พอใจจึงรวมศูนย์ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา