หลังเลนส์ในดงลึก : ‘เห็น’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกยูงไทย - เหยี่ยวต่างสี ซึ่งมีเหยื่อคือลูกตัวเหี้ยอยู่ในกรงเล็บกำลังปกป้องเหยื่อของมันจากนกยูงที่เข้ามาดูอย่างอยากรู้

 

‘เห็น’

 

ผมเห็นนกยูงไทยที่อยู่ในธรรมชาติครั้งแรกปลายฤดูหนาวปี พ.ศ.2530

ช่วงเวลานั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการพบเจอนกยูงในป่า สถานภาพของพวกมันอยู่ในฐานะใกล้สูญพันธุ์

ทั้งที่ประชากรนกยูงไทยนั้นเคยมีมาก และกระจายอยู่เกือบทั่วทุกพื้นที่ประเทศไทย

นกยูงไทยก็เช่นเดียวกับสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ครั้งที่มีประชากรอยู่มาก ซึ่งคนที่อยู่ในช่วงเวลานั้น พูดคล้ายกันว่า “ไม่นึกว่ามันจะหมด”

แต่พวกมันก็ทยอยหายไป

นอกจากถูกฆ่า ถิ่นอาศัยถูกบุกรุกทำลาย คือสาเหตุหลัก

 

ปี พ.ศ.2530

ดูเหมือนว่าบริเวณลำห้วยขาแข้งเท่านั้นที่มีรายงานการพบเจอนกยูง

ผมพบพวกมันที่นั่น ทางตอนใต้ลำน้ำขาแข้ง

หลังจากเดินออกจากหน่วยพิทักษ์ป่าตั้งแต่เช้ามืด ใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมงเดินเลาะไปตามห้วย มีรอยตีนคล้ายรอยไก่ แต่มีขนาดใหญ่กว่า พบบนหาดทรายที่ขยายกว้างช่วงปลายฤดูหนาวริมลำห้วย ทำให้รู้ว่า นั่นเป็นรอยของนกยูง ไม่ไกลจากปากทางด่านใหญ่ บนด่านมีรอยตีนสัตว์ป่าย่ำเป็นเทือก

รอยตีนนกยูงย่ำไว้มีลักษณะคล้ายวงกลม

ตอนนั้นไม่มีข้อมูลเรื่องนกยูงมากนักหรอก จากการอ่าน ผมรู้ว่าในฤดูหนาว นกยูงตัวผู้จะใช้พื้นที่ริมหาดทรายรำแพน รอยตีนย่ำเป็นวงกลม อาจเป็นที่ที่มันใช้ประจำ

บนตลิ่งสูงจากพื้นราวเมตรครึ่ง ใต้ต้นมะเดื่อ ผมทำซุ้มบังไพรตรงนั้น

ผมใช้ซุ้มบังไพรนั้นนานครึ่งเดือน เดินออกจากหน่วยตั้งแต่เช้ามืด ถึงบังไพรก่อนฟ้าสว่าง

ฟ้าเริ่มสว่าง ผมได้ยินเสียงนกยูงร้อง สักพักนกยูงตัวผู้หางยาวร่อนลงมายืนบนหาดทราย เดินมาตรงที่ผมมีรอยตีนย่ำเป็นวงกลม หันมองซ้าย-ขวา เริ่มต้นรำแพน

หลายวันกับการอยู่ในซุ้มบังไพรนั้น ผมได้เห็นนกยูงไทยในธรรมชาติครั้งแรก

เห็นนกยูงโดยต้องระมัดระวังตัวอย่างยิ่งที่จะไม่ให้นกยูงเห็น

 

เป็นเวลาที่สถานภาพของนกยูงน่าเป็นห่วง ประชากรเหลือไม่มาก ในพื้นที่อื่นซึ่งเคยมีนกยูงไม่มีรายงานการพบเห็น

แต่ถึงวันนี้แล้ว นกยูงไทยอยู่ในสถานภาพ “สัตว์หาง่าย” ไม่เฉพาะในป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งนกยูงเป็นสัตว์ที่พบได้ง่ายกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ แล้วพื้นที่หลายแห่งก็มีประชากรนกยูงจำนวนไม่น้อย

นี่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ อันทำให้เห็นว่า การทำงานอย่างเอาจริงของคนทำงานในป่า รวมทั้งคนจำนวนมากที่เข้าใจดีว่า โลกไม่ใช่เป็นเพียงพื้นที่อาศัยของคน ร่วมกันปกป้องแหล่งอาศัยสัตว์ป่าไว้นั้นเห็นผล

 

ทุกเช้ามืด และก่อนพลบค่ำ มีเสียงก้องกังวานจากนกยูงตัวผู้

“นกยูงตัวผู้มันใจเสาะ” คนทำงานในป่าเล่า “เคยเห็นมันโดนเหยี่ยวรุ้งตีตายง่ายๆ เลยล่ะครับ”

เป็นอีกเรื่องที่เล่ากันข้างกองไฟ

เดือนพฤศจิกายน สายลมหนาวครอบคลุมป่าอย่างสมบูรณ์ ใบไม้ลดการใช้น้ำ เปลี่ยนสีใบ พร้อมๆ กับฤดูแห่งความรักของนกยูงเริ่มต้น

นอกจากจะหาทำเลริมๆ ลำห้วยไว้เป็นพื้นที่แสดงความล่ำสันแข็งแรงไว้แล้ว ขนหางของมันจะงอกยาว หางยาวๆ นี้คือเครื่องมือสำคัญ

นกยูงตัวผู้ได้รับสิทธิ์พิเศษในการจับคู่แบบมีตัวเมียได้หลายตัว

ในขณะเดียวกัน นกยูงตัวเมียก็มีสิทธิ์เลือกเฉพาะตัวผู้ที่เธอเห็นว่าแข็งแรง เพื่อเป็นพ่อของลูกเช่นกัน

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้มีนกยูงตัวผู้หลายตัวทำเช่นเดียวกัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายหรอกที่จะถูกเลือก ไม่ง่ายหรอกที่จะทำให้ตัวเมียเห็นว่าเหมาะสม

 

หลังจากตบแต่งขน ส่งเสียงร้อง นกยูงหนุ่มร่อนข้ามลำห้วยมายืนบนหาดทรายหน้าซุ้มบังไพร มองซ้าย-ขวา เริ่มต้นรำแพน

มันคลี่หางยาวๆ ออกเป็นวงกลม หุบเข้า-ออกส่งเสียงพ่นลมหายใจ หมุนตัวไปรอบๆ ขนหางสั่นเป็นเสียง

การแสดงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ สลับการนั่งพักโดยใช้หางยาวๆ นั้นยันพื้นไว้

พื้นที่ซึ่งใช้เป็นเวทีแสดงนี้ คือเขตหวงห้ามสำหรับนกยูงตัวผู้ตัวอื่น

เจ้าของถิ่นจะส่งเสียงขับไล่ทันทีหากมีตัวผู้อื่นเข้ามาใกล้ ถ้าอีกตัวไม่ยอมถอยไป การรำแพนประชันความแข็งแรงจะเกิดขึ้น

 

ตลอดช่วงฤดูหนาว นกยูงตัวผู้ใช้เวลาเกือบทั้งหมดอยู่กับการแสดงอวดความแข็งแรง ราวกับไม่รู้จักเหนื่อย

ท่ามกลางอากาศสลัวยามเช้า การแสดงเริ่ม จนถึงความสลัวในยามเย็น มีตัวเมีย 3-4 ตัวเดินเข้ามาใกล้บ้าง แต่เดินผ่านไป ทุกวันเป็นเช่นนี้

จากในซุ้มบังไพร ผมเห็นนกยูงตัวผู้ ขะมักเขม้นอยู่กับการรำแพนเพียงลำพัง

ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายดายในการที่จะทำให้ผู้อื่นมองเห็น

 

เวลาผ่านไป หลายสิ่งเปลี่ยนแปลง บริเวณที่ผมพบนกยูงครั้งแรกเปลี่ยนสภาพกลายเป็นร่องน้ำ ลำห้วยเปลี่ยนเส้นทาง ห้วยที่เคยโล่งๆ กลายเป็นรกทึบ ไม่ใช่พื้นที่เหมาะสมกับการใช้รำแพนของนกยูงแล้ว

จากที่นี่ ผมไปทำงานอีกหลายป่า แต่ก็กลับมาเฝ้าดูนกยูงเสมอๆ

พวกมันพบเจอได้ง่าย ทุกๆ ที่มีนกยูง เสียงก้องกังวานมีให้ได้ยินตลอด แต่ดูเหมือนในช่วงฤดูหนาวจะมีภาพอันคุ้นตาที่ไม่เปลี่ยนไป

นั่นคือ นกยูงตัวผู้หางยาวสลวยยืนรำแพนอยู่เพียงลำพัง

วันเวลาผ่านไปนาน บทเรียนที่นกยูงสอนไม่เคยเปลี่ยน

ไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลยในการที่จะทำให้ผู้อื่นมองเห็น

และสิ่งที่ยากกว่านั้นคือ “เห็น” ในสิ่งที่เราเป็น