คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : เรื่องวัวๆ ควายๆ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
AFP PHOTO / Francois Xavier MARIT

ดังที่เคยกล่าวว่า ฮินดูนั้นยกย่องวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ โดยปัจจัยทางสังคมการเมือง ทั้งที่แต่เดิมก็ฆ่าเพื่อบูชายัญและกินเนื้อวัว ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องต้องห้ามร้ายแรง

แต่ “ควาย” แม้จะคล้ายวัวกลับไม่ได้รับสถานภาพพิเศษในสังคมอินเดีย ทั้งที่เป็นสังคมเกษตรกรรมเหมือนบ้านเรา การฆ่าและกินควายจึงไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงอะไรในสังคมฮินดู

ลองสังเกตในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของเรานะครับ ทั้งที่บ้านเราทำนาโดยใช้ควาย เพราะควายเป็นสัตว์ใช้งานสำหรับที่ลุ่มตามภูมิประเทศของเรา แต่เรากลับไม่เอาควายไปใช้ในพระราชพิธีสำคัญนี้ ทั้งที่ชาวบ้านแรกนาหรือทำนาตาแฮกกันเองแบบชาวบ้านก็ใช้ควาย

อาจเพราะวัวตัว “ขาวๆ” (ต้องขาวด้วยนะครับ) เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพราหมณ์หรือวัฒนธรรมฮินดู แม้พระราชพิธีนี้จะมีรากเหง้าของเราเองคือศาสนาผี (ความเชื่อเรื่องขวัญ) แต่การใช้วัวไถนาเป็นการสร้างภาพความเป็นศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย ซึ่งทำให้พิธีพื้นเมืองของเราดูแกรนด์ขึ้นมา เหมาะจะเป็นพระราชพิธีหรือพิธีหลวง

13423973_10206893871692379_4841215471908968483_n-696x522

ส่วนควายตัว “ดำๆ” นั้นเป็นของชาวบ้านโดยแท้ ในหนังสือ Buffalo Nationalism : A Critique of Spiritual Fascism ของ Kancha Ilaiah บอกว่า ในอินเดียโบราณควายสีดำนั้นเหมือนกับพวกฑราวิฑหรือชนพื้นเมืองที่มีผิวดำ ด้วยเหตุนี้ควายจึงไม่อาจเป็น “ยัชญปศุ” หรือสัตว์เลี้ยงสำหรับการบูชายัญในระบบพระเวทของชาวอารยันได้

คัมภีร์พระเวทจึงไม่มีการให้ความสำคัญกับควายแต่อย่างใด เทพในพระเวทไม่เสวยควาย ไม่โปรดเนื้อควาย นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ผมว่าที่จริงก็เพราะควายเป็นสัตว์ในที่ลุ่มโดยเฉพาะในเขตศูนย์สูตรที่มีน้ำมาก เช่น ในอินเดียภาคตะวันตกและภาคใต้ ซึ่งชาวอารยันไม่คุ้นเคย

กินวัวจึงบาปหนัก แต่กินควายกลับไม่บาปหนักซะงั้น

ในยุคสมัยที่เทวตำนานแพร่หลาย ควายจึงกลายเป็นตัวร้ายหรือสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย เช่นตำนานพระแม่ทุรคาทรงสิงห์หรือเสือ เสด็จไปปราบอสูรร้ายคือ “มหิษาสูร” หรืออสูรควายซึ่งเทวดาทั้งหลายก็ปราบลงไม่ได้

พระนางจึงได้ชื่อว่า “มหิษาสุรมรทินี” พระแม่ผู้ปราบอสูรควาย

พระยมในเทวตำนานของแขกก็ทรงควาย พระองค์เป็นเทพแห่งความตายและผู้ใช้ชีวิตในปรโลก

แม้ว่า ควายอาจไม่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวอารยัน แต่สำหรับศาสนา “ผี” ของอินเดีย (ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นฮินดูแบบพื้นบ้าน) และชาวบ้านนั้นต่างออกไปมาก

ในบรรดาสัตว์บูชายัญในปัจจุบัน ควายนั้นถือว่าเป็นสัตว์บูชายัญที่สำคัญที่สุด

ชาวบ้านโดยเฉพาะในภาคใต้ ภาคตะวันตก และเขตพังคละ (เบงคอล) ทางตะวันออก รวมทั้งเนปาลซึ่งล้วนแต่เป็นเขตแดนเดิมอันเข้มแข็งของศาสนาผีพื้นเมืองอินเดีย (ปัจจุบันอยู่ในรูป ศาสนา “เจ้าแม่” หรือ ศักตินิกาย) ต่างใช้ควายตัวผู้บูชายัญเจ้าแม่ โดยเฉพาะปางที่ดุร้าย เช่น ทุรคา กาลี และเจ้าแม่พื้นบ้านอื่นๆ

น่าสนใจว่าพวกเราชาวอุษาคเนย์ก็ฆ่าควายถวายผีด้วย เช่น ในลาวใต้และในภาคเหนือของไทย ในพม่าเองก็มีผีนัตเจ้าแม่หัวควายที่คนเคารพมากอยู่ตนหนึ่ง

“คนกับควาย” จึงผูกพันกันลึกซึ้ง ในภาพเขียนสีโบราณก่อนประวัติศาสตร์ หลายครั้งก็ปรากฏภาพคนกับควาย หรือแม้แต่การใช้ “เสนง” (เขาควาย) ในพิธีกรรมชาวบ้าน ขณะที่พราหมณ์ใช้สังข์

ใช้ควายทำมาหากิน ใช้แรงงาน นับถือเคารพ บูชายัญและนำมาปันกันกินด้วย

ศีลธรรมแบบก่อนประวัติศาสตร์ สถานะของสัตว์เลี้ยงก็เป็นงี้แหละครับ ใช้งาน รักใคร่ แต่ก็ฆ่าและกิน เพราะการฆ่าในโลกโบราณคือหนทางนำพืชพันธุ์ไปสู่ความมืดเพื่อมีชีวิตใหม่ “ไม่มีการตายก็ไม่มีการเกิด” ส่วนการกินนั้นคือการหลอมรวมของผู้กินและสิ่งที่กินเข้าไป “ชีวิตหนึ่งประสานต่อเติมอีกชีวิตหนึ่ง”

ทั้งฆ่าและกินไม่ใช่เรื่องปากท้องเท่านั้น แต่เป็นพิธีกรรมด้วย

ผิดกับ “วัว” ซึ่งฮินดูค่อยๆ สร้างศีลธรรมอีกแบบมาครอบไว้แล้วตั้งแต่ยุคกลาง เป็นศีลธรรมระบบอารยธรรมหรือศีลธรรมแบบศาสนา ไม่ใช่แบบดึกดำบรรพ์ กล่าวคือ ศีลธรรมที่ใช้หลักคิดเมตตาธรรมและความสงสาร วัวจึงต้องได้รับการพิทักษ์รักษา

รูปและตำนานพระแม่มหิษาสุรทรทินี หรือเจ้าแม่ฆ่าควาย สำหรับผมคือการจำลองความสัมพันธ์ของควายและเจ้าแม่ รวมทั้งการบูชายัญควายเพื่อเจ้าแม่เอาไว้มากกว่าอย่างอื่น

ที่จริงผมยังคิดไกลไปอีกนะครับว่า ควายในพิธีบูชายัญคงเอาไว้แทน “คน” อีกด้วย อย่างตำนานเลี้ยงดงฆ่าควายถวายปู่แสะย่าแสะในเชียงใหม่ และตำนานในอินเดียเอง

อินเดีย มี “เทพควาย” ซึ่งชาวบ้านโดยเฉพาะชาวนาชาวสวนและผู้เลี้ยงควายนับถือ เรียกว่า มหโสพา (อ่าน มะ โซบา หรือมุโซบา) (Mhasoba) ซึ่ง Mhaso มาจากคำว่า มหิษา หรือมหิสาที่แปลว่าควาย ส่วน Ba เป็นคำลงท้าย ใช้เรียก ผู้ชายหรือพ่อ ในภาษามาราฐี

มหโสพาเป็นที่นับถือโดยทั่วไปในรัฐมหาราษฎร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียเรื่อยไปถึงทางภาคใต้บางส่วน รูปเคารพมักทำอย่างง่ายๆ เช่น ใช้หิน หรือรูปปั้นง่ายๆ วางไว้ตามแนวป่าหรือริมสวน

ในช่วงหลังโรคระบาดสงบลง มหโสพาจะได้รับการเซ่นสรวงจากชาวบ้านด้วยพืชผลต่างๆ ถือกันว่าเธอเป็นหัวหน้าภูตผีในหมู่บ้าน

มหโสพาเป็นตัวอย่างของเทพ หรือที่จริง “ผี” ที่ถูกกลืนเข้าระบบฮินดู ถ้าอธิบายตามระบบฮินดูที่ชาวบ้านเชื่อ มหโสพาเป็นภาคหนึ่งของพระศิวะ เพราะพระศิวะมีปางที่เป็นเจ้าที่เจ้าทางอย่างไภรวะ

มหโสพากับพระศิวะ ยังชวนให้ผมระลึกถึง ตราแกะสลัก “ปศุปติ” ที่ค้นพบในอารยธรรมโมเหนโชทะโร (Mohenjo-daro) เป็นรูปคนหรือเทพนั่งในท่าสมาธิ มีเขาควายบนศีรษะ แวดล้อมด้วยสัตว์นานาชนิด ซึ่งนักวิชาการยุคแรกคิดว่านี่เป็น ภาพของพระศิวะในโหมด “ปศุปตินาถ” หรือเจ้าแห่งสัตว์ทั้งหลาย

แม้ความคิดนี้จะได้รับการถกเถียงอย่างมาก บางท่านว่านี่คือ เทพมหิษาหรือเทพควายด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยๆ ก็แสดงให้เห็นว่าคนพื้นเมืองตั้งแต่โบราณ ให้ความสำคัญกับควายเพียงใด

ในตำนานของคนแคว้นมหาราษฎร์ มหโสพา (ในชื่อมัตตาพา) มีชายาคือเจ้าแม่ โชคุไบ (Jogubai) แต่นี่เป็นการครองคู่ที่น่าประหลาด เพราะสำหรับชาวบ้าน เจ้าแม่โชคุไพเป็นปางหนึ่งของพระโยเคศวรีหรือพระแม่ทุรคาผู้ฆ่าควายตามคติฮินดู!

เจ้าแม่ผู้ฆ่าสามีของตนเองจึงสะท้อนความตายของ “ผัว” หรือเทพและมนุษย์ผู้ชาย นี่เป็นมโนทัศน์ของศาสนาแบบผู้หญิง ที่เจ้าแม่ (ในฐานะความตาย) มีอำนาจเหนือทุกสิ่ง

ครูไมเคิล ไรท เคยเสนอเรื่อง “เจ้าข้าวเจ้าปี” (corn King – year King) ว่าในโลกโบราณก่อนประวัติศาสตร์ ผู้ชายถูกเลือกเป็นผัวของเจ้าแม่ดิน และถูกนำไปฆ่าบูชายัญ

ผมคิดว่า ตำนานมหโสพาและโชคุไพ รวมถึงการใช้ควาย (ตัวผู้) ที่นำไปฆ่าเซ่นเจ้าแม่นั้น จึงแทนมนุษย์ที่จะต้องถูกฆ่า เพื่อเป็นผัวของเจ้าแม่ เช่นเดียวกับระบบเจ้าข้าวเจ้าปี

ไปศาลเจ้าแม่ที่ไหนในอินเดีย โดยมากก็ต้องฆ่าควายบูชายัญครับ เว้นแต่จะงานเล็กกว่าหน่อยก็ใช้แพะ

แต่ทุกสิ่งที่กล่าวมาอยู่ในวิถีชาวบ้านและเป็นเรื่องพื้นเมือง ซึ่งศาสนาฮินดูและวัฒนธรรมส่วนกลางกระแสหลัก

ไม่สนใจและว่าป่าเถื่อน

เรายังคงถกเถียงกันต่อได้เรื่องการใช้สัตว์บูชายัญนะครับว่ายังเหมาะสมไหม แต่อย่างน้อยๆ เราก็น่าจะต้องสนใจศึกษาควายและวิถีพื้นบ้านมากกว่านี้

สภาพการณ์ที่กล่าวมา ควาย (อันมีเกียรติสำหรับชาวบ้าน) จึงไร้ศักดิ์ศรี ถึงขนาดมีการเสนอให้ส่งเสริมการเลี้ยงควายเอาเนื้อเพื่อผลิตอาหารในอินเดีย เพราะไม่บาปมาก และไม่เป็นเรื่องร้อนแรงอย่างวัว

สัตว์ไม่ศักดิ์สิทธิ์ในสายตาชนชั้นนำอย่างควาย แต่เป็นสิ่งผูกพันทางใจยิ่งกับชาวบ้านจึงถูกดูแคลน

ย้อนมองมาดูอุษาคเนย์และสังคมไทยที่มีความผูกพันกับควายไม่น้อยกว่าอินเดีย

ที่เหมือนกันคือควายเป็นของชาวบ้าน ของคนรากหญ้า

มิน่าเล่า เวลาชนชั้นสูงโดยเฉพาะในเมือง เขาถึงด่าคนอีกฝ่ายทางการเมืองว่า “ควายแดง” ซึ่งเหยียดหยามกว่าคำว่า “สลิ่ม” มากนัก (โดยตัวความหมายของคำเอง)

แต่อย่าลืมครับว่า วัวอาจศักดิ์สิทธิ์สำหรับอารยัน แต่ควายนั้นศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวบ้านและเก่าแก่ลึกซึ้งกว่ามาก

การเหยียดควาย หรือใช้ควายไปเหยียดคน คือการดูถูกรากเหง้าตัวเอง