เชิงบันไดทำเนียบ : ขุมกำลัง “โอลิมปิกไทยลายพราง” ตำนาน “บ้านอัมพวัน” จาก “จอมพลถนอม” ถึง “บิ๊กป้อม”

ย้อนกลับไป 4 ปีก่อน คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก พล.อ.ประวิตร เป็น ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯคนใหม่ หรือ ‘ประมุขแห่งบ้านอัมพวัน’ คนที่ 7 มีวาระการทำงานระหว่างปี 2560-2564 แทน ‘บิ๊กอ๊อด’พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ประกาศวางมือ หลังจากดำรงตำแหน่งมา 4 สมัย 16 ปี ด้วยข้อจำกัดของสุขภาพ  ที่ไปเป็น ประธานกิตติมศักดิ์ฯ แทน และมี  ‘บิ๊กเหวียง’พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร เป็น ประธานกิตติมศักดิ์ฯ อีกคน

โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ จบ ร.ร.เซนต์คาเบรียล เหมือนกับ พล.อ.ประวิตร จบ นายร้อย จปร. รุ่น 8 เกษียณฯในตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม จากนั้นเข้าสู่สนามการเมืองในนามพรรคไทยรักไทย เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเป็น รมช.กลาโหม ในยุค รบ.ทักษิณ ด้วย อีกทั้งเคยเป็น รมช.กลาโหม ในยุค “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ควบ รมว.กลาโหม แทน ‘บิ๊กโอ๋’พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เพื่อน ตท.10 อดีตนายกฯทักษิณ

ซึ่งตลอดการเป็น นายกฯ ของ “ยิ่งลักษณ์” เองก็ถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า มีแนวคิด ‘พาทักษิณกลับบ้าน’ หรือไม่  โดยสิ่งที่ตอกย้ำคำถามดังกล่าว คือ การนั่งควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม ของ ‘ยิ่งลักษณ์ ซึ่งในขณะนั้นมีกระแสข่าวว่า มีความพยายามในการดัน กม.นิรโทษกรรม เข้าสู่ ‘สภากลาโหม’ และ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อีกสิ่งที่มาตอกย้ำคือ ‘คลิปเสียง’ ที่ถูกระบุว่าเป็นการพูดคุยระหว่าง ‘ทักษิณ’ กับ ‘บิ๊กอ๊อด’ ถือเป็น ‘จุดสะบั้น-จุดตัดสำคัญ’ ระหว่าง ‘รัฐบาลปู-กองทัพ’ แม้คนในฝั่งรัฐบาล ออกมาปฏิเสธว่า เป็นการ ‘ตัดต่อ’ ก็ตาม

สำหรับชื่อ พล.อ.เชษฐา ถือว่าเป็น “ผู้เปิดประตู” ให้กับ “สายบูรพาพยัคฆ์” เลยก็ว่าได้ โดยเป็นนายทหาร ‘ลูกผสม’ ระหว่าง “สายบูรพาพยัคฆ์-วงศ์เทวัญ” หรือที่เรียกว่า ‘บูรพาเทวัญ’ เพราะเริ่มรับราชการที่ ร.1พัน.2 รอ. ก่อนจะไปเป็น เสธ.พล.ร.2 รอ. ถิ่นบูรพาพยัคฆ์ และข้ามไปเป็น ผบ.พล.ร.6 ก่อนขึ้นเป็น แม่ทัพน้อยที่ 2 และถูกโยกเข้ากรุง ขึ้นเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 และเป็น มทภ.1 เข้าสู่ 5 เสือทบ. และขึ้นเป็น ผบ.ทบ.

พล.อ.ประวิตร ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ยุครัฐบาลทักษิณ โดย พล.อ.ประวิตร มีเพื่อน ตท.6 เชื่อมสัมพันธ์กับสายการเมือง คือ‘บิ๊กกี่’พล.อ.นพดล อินทปัญญา ที่เป็นนายทหารสายวงศ์เทวัญ โดย พล.อ.ประวิตร ได้รับการผลักดันขึ้นเป็น ผบ.ทบ. จาก ‘บิ๊กเหวียง’พล.อ.เชษฐา รมว.กลาโหม ขณะนั้น โดยมี พล.อ.นพดล เป็น หน.นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม (พล.อ.เชษฐา) นั่นเอง ถือเป็นช่วงเวลาที่ พล.อ.ประวิตร ได้รู้จักนักการเมืองมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้รู้จัก ‘ป๋าเหนาะ’เสนาะ เทียนทอง เจ้าพ่อวังน้ำเย็น รวมทั้ง “เสี่ยไก่-วัฒนา เมืองสุข” สมัยเป็น ส.ส.ปราจีนบุรี ที่ พล.อ.ประวิตร ก็รู้จักตั้งแต่เป็นนายทหารถิ่นบูรพาพยัคฆ์นั่นเอง

รวมทั้งมีแรงหนุนจาก “บ้านจันทร์ส่องหล้า” นั่นคือพลังของ “หญิงอ้อ-คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” ซึ่ง พล.อ.ประวิตร มีความใกล้ชิด “บ้านจันทร์ส่องหล้า” โดยในอดีตถึงขั้นจะมีการจับคู่ให้ พล.อ.ประวิตร แต่งงานด้วย เพราะเป็นนายทหารโสด เพื่อเชื่อม “จันทร์ส่องหล้าคอนเนคชั่น” แต่สุดท้าย พล.อ.ประวิตร ก็เลือกครองโสดมาถึงปัจจุบัน

ในคณะกรรมการโอลิมปิคไทยฯ มี ‘บิ๊กน้อย’พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตประธานที่ปรึกษา ทบ. นายทหารคนสนิท พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ประสานงานคนสำคัญ ในฐานะ ผู้ช่วยเหรัญญิก โดย พล.อ.วิชญ์ จบ ตท.11 รุ่นเดียวกับ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ กับ พล.ร.อ.สุวิทย์ ธาระรูป และ จบนายร้อย จปร. รุ่น 22 รุ่นเดียวกับ พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร และ “เสธ.แดง” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล

ย้อนกลับไปในยุคที่ยังมี “สนามม้านางเลิ้ง” พล.อ.วิชญ์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นเลขาธิการราชตฤณมัยฯ แทน “เสธ.อ้าย “พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ที่ครองเก้าอี้มายาวนาน หลัง “บิ๊กอ๊อด”พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ น้องรัก พล.อ.ประวิตร สายบูรพาพยัคฆ์ ได้เสนอชื่อ พล.อ.วิชญ์ ชิงเก้าอี้ แม้จะไม่ได้นั่งตำแหน่งประธานฯ แต่อำนาจการตัดสินใจนั้นอยู่ที่ตำแหน่ง “เลขาธิการ” โดย “เสธ.อ้าย” ไปนั่งรองประธานบอร์ดราชตฤณมัยสมาคมฯ และตั้ง “บิ๊กตุ๊ด”พล.อ.วัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ อดีตรอง ผบ.ทบ. เพื่อน เสธ.อ้าย ตท.1 ขึ้นเป็นประธานบอร์ดฯ แทน

.

ในช่วงนั้น “บิ๊กโจ๊ก”พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบช.ทท. ตำแหน่งในขณะนั้น ได้มาปราบโต๊ดเถื่อน-มาเฟียในสนามม้านางเลิ้ง ทำให้มีการมองว่า พล.อ.ประวิตร ได้ขยายฐานอำนาจเข้าไปในสนามม้านางเลิ้งหรือไม่ จนถึงช่วงเดือน ก.ย.61 ที่สนามม้านางเลิ้ง ปิดตัวลงถาวร พร้อมกับการจบบทบาทไปของบอร์ดบอร์ดราชตฤณมัยฯ โดยปริยาย

ในส่วนตำแหน่งอื่นๆยังมี พล.อ.สุรพล บรรณกิจโศภณ เป็น ประธานกิตติมศักดิ์ อดีตรองเสนาธิการทหาร อดีตผู้บัญชาการ กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 จบจาก ร.ร.เตรียมทหารบก รุ่นที่ 5 ร.ร.เทคนิคทหารบก รุ่น 11 ซึ่ง พล.อ.สุรพล อยู่ในคณะกรรมการฯมายาวนาน เคยเป็น รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทยฯ และเป็นรักษาการประธาน ช่วงปี 2539-2540 ด้วยเหตุ “เสธ.วี”พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ ถึงแก่อนิจกรรม หลังดำรงตำแหน่งยาว 22 ปีตั้งแต่ปี 2517 ถึงปี 2539

จากนั้น พล.อ.สุรพล ได้ส่งมอบตำแหน่งให้ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผบ.ทบ. ที่เป็นนายกสมาคมมวยสากลสมัครเล่นฯ ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกไทยฯ ในปี 2540 ปี 2544 ต่อมาปี 2544 พล.อ.ยุทธศักดิ์ อดีตนายกสมาคมว่ายน้ำฯ ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกไทยฯ

สำหรับชื่อที่คนในวงการกีฬาได้ยินมายาวนาน คือ “บิ๊กจา”พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ ที่ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการฯ ยาวนานกว่า 36 ปี มาตั้งแต่ปี 2528 ถึงปัจจุบัน (2564) และเป็นนายกสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย ซึ่ง พล.ต.จารึก อยู่ในแวดวงกีฬามายาวนาน เคยเป็น เลขาธิการสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย 6 สมัย (12 ปี) , เลขาธิการและเหรัญญิกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย 2 สมัย (สมัยละ 2 ปี) กรรมการบริหารด้านกีฬาของทวีปเอเชีย 6 สมัย (สมัยละ 4 ปี) กรรมการบริหารของสมาคมคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ ANOC สำหรับ พล.ต.จารึก จบจาก ร.ร.นายร้อยสำรอง กรมสื่อสารทหารบก

อย่างไรก็ตาม พล.ต.จารึก ถือเป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงในคณะกรรมการโอลิมปิกไทยฯ โดยเฉพาะการได้มาตั้งที่ “บ้านอัมพวัน” แห่งนี้ โดยเว็ปไซต์ คณะกรรมการโอลิมปิกไทยฯ เล่าไว้ว่า เดิมที่ตั้งสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ไม่มีสำนักงานเป็นของตนเอง ต้องอาศัยสถานที่ของกรมพลศึกษา สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ เป็น สำนักงานอยู่หลายสิบปี สมัยต่อมา “จอมพลประภาส จารุเสถียร” เป็นประธานคณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้ง อาจารย์โฉลก โกมารกุล ณ นคร เป็นเลขาธิการ ฯ

ช่วงปี2508 – 2512 ได้ย้ายสำนักงาน ไปอยู่ที่องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก (ปัจจุบันคือการกีฬาแห่งประเทศไทย) และต่อมาปี2512 จอมพลประภาส ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฯ สมัยที่ 2 และได้เสนอที่ประชุมเพื่อแต่งตั้งให้ นพ.บุญสม มาร์ติน ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ จึงได้ย้ายสำนักงาน กลับมาตั้งสำนักงานอยู่ที่ กรมพลศึกษาตามเดิม

.

ในปี 2517-2528 พล.อ.อ.ทวี ได้รับการเลือกตั้งเป็น ประธานคณะกรรมการฯ และ พ.อ.อนุ รมยานนท์ ได้รับเลือกตั้งเป็น เลขาธิการฯ ได้ย้ายจากกรมพลศึกษามาตั้งอยู่ที่ สโมสรทหารบก สี่เสาเทเวศร์ และต่อมาได้ย้ายสำนักงานตั้งอยู่ที่ บ้านอัมพวัน ถ.ศรีอยุธยา จนถึงปัจจุบัน

สำหรับ “บ้านอัมพวัน” มีพื้นที่ดิน 2 ไร่ 3 งาน 75 ตารางวาเป็นพื้นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นที่ตั้งของ “พรรคสหประชาไทย” โดยมี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็น หัวหน้าพรรค และเป็นผู้เช่าที่ดิน “บ้านอัมพวัน” ได้ทราบรายละเอียดจาก พล.ต.จารึก เป็นผู้ดำเนินงานมาตั้งแต่ต้น ได้เล่าว่า ในวันคล้ายวันเกิดของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ที่บ้านระนอง 2 ช่วงปี2530 พล.ต.จารึก ขณะนั้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการฯ ต่อจาก พ.อ.อนุ ได้ไปอวยพรวันเกิด จอมพลถนอม และได้เดินทางไปพบกับ จอมพลถนอม ที่บ้านระนอง 2 อีกหลายสิบครั้ง เพื่อไปกราบเรียนถึงเรื่อง “บ้านอัมพวัน” ที่ขอให้ได้ลงนามโอนกรรมสิทธิ์สัญญาเช่าที่ดินผืนนี้ ให้กับคณะกรรมการโอลิมปิคไทยฯ

ซึ่ง จอมพลถนอม ได้ยืนยันกับ พล.ต.จารึก มาโดยตลอดว่า ถ้าโอนที่ดินผืนนี้ให้เป็นชื่อบุคคลใดก็ตาม จะไม่ยอมโอนให้โดยเด็ดขาด มีคนมาวิ่งเต้นขอให้โอนกรรมสิทธิ์สัญญาเช่าที่ดินบ้านอัมพวันผืนนี้ให้ และจะมอบเงินให้ 8 -10 ล้านบาท

จอมพลถนอม ยืนยันมาโดยตลอด จะไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนนี้ให้กับใคร จึงได้รักษาที่ดินผืนนี้มาจนถึงทุกวันนี้ โดยจะมองถึงประโยชน์การใช้ที่ดินผืนนี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม สุดท้าย พล.ต.จารึก ได้กราบเรียนว่าขอให้ จอมพลถนอม โอนให้ในนามของ “มูลนิธิโอลิมปิคแห่งประเทศไทย” เพื่อประโยชน์ของวงการกีฬาของประเทศไทยสืบไป จอมพลถนอม ได้ตอบตกลง และได้นัดหมายกับพล.ต.จารึก ไว้ตามวันเวลาที่กำหนดไว้

พล.ต.จารึก ได้นำเรื่องทั้งหมดรายงานให้ พล.อ.อ.ทวี ประธานคณะกรรมการฯ ขณะนั้นทราบ และได้นำเรื่องไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งต่อมา พล.ต.จารึก – พล.อ.อ.ทวี และผู้แทนจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้เดินทางไปพบ จอมพลถนอม ที่บ้านระนอง 2 แล้ว จอมพลถนอม ได้ลงนามโอนกรรมสิทธิ์สัญญาเช่าที่ดินบ้านอัมพวัน ให้กับ “มูลนิธิโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ” เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2531 โดยไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราว “บ้านอัมพวัน” จากอดีตที่ตั้ง “พรรคสหประชาไทย” ที่ “จอมพลถนอม” เป็นหัวหน้าพรรคฯ มาสู่สำนักงาน “คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย” ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย จนมาถึงยุค “บิ๊กป้อม” ขึ้นเป็น “ประมุขบ้านอัมพวัน” และเป็น “หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” ด้วย ซึ่งทั้ง “พรรคสหประชาไทย-พลังประชารัฐ” ถูกมองว่าเป็น “พรรคทหาร” ทั้งคู่ สิ่งสะท้อนว่า “ทหาร” อยู่ทั้งในแวดวง “การเมือง” และ “วงการกีฬาไทย” มายาวนานนั่นเอง