สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร/ลบความทรงจำแย่ๆ

สถานีคิดเลขที่ 12/สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

——————-

ลบความทรงจำแย่ๆ

——————-

เห็น”การตื่น”ขึ้นมา ทำงานในเชิงรุกมากขึ้นของ รัฐบาล ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รวมไปถึง กองทัพ

ก็หวังว่า นี่จะเป็น ความทรงจำดีๆ(บ้าง) หลังจาก มีความทรงจำร้ายๆมานาน

แต่ถามว่า หวังมากไหม ก็คงบอกว่าไม่ เพราะดูแล้ว ที่”ตื่น”ขึ้นไม่ได้ตาสว่างสักเท่าไหร่

ย้อนไปอ่านข่าว การประชุมประคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในที่ประชุม สรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้

1) การออกมาพูดของผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมเป็นนิมิตหมายที่ดี ทั้งการชี้แจงในเรื่องของวัคซีน และออกมาขอโทษประชาชน รวมทั้งการเข้าร่วมกับโคแวกซ์ ในปี 2565

2) จากนี้ขอให้กระทรวงสาธารณสุข สธ.ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้เข้าใจมากขึ้นอย่าให้มีบิดเบือน

3)กระทรวงสาธารณสุข และ กทม.ต้องร่วมมือบูรณาการงานเชิงรุกไม่มีการโทษกันไปมา

4)ต้องไม่ให้เห็นภาพผู้ป่วยนอนเสียชีวิตริมถนนอีก ต้องช่วยกันหาเตียง และพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยเร็ว

อ่านผิวเผินแล้วน่าจะสร้าง ความ”ทรงจำ”ดี-ดี”ในจิตใจชาวบ้าน

แต่พิจารณาให้ดีแล้ว ดูจะสร้าง ความทรงจำแย่-แย่ มากกว่า

ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ พูด ในฐานะที่สวมหมวกอำนาจ 4 ใบ

ในฐานะ นายกฯ ในฐานะ รมต.กลาโหม ในฐานะ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ในฐานะ ผู้อำนวยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพและปริมณฑล

ครบสมบูรณ์ทั้ง ผู้นำนโยบาย และ ผู้นำการปฏิบัติ

แต่สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์พูด ใน “ศบศ.”ดูเหมือน “ล่องลอย”อยู่บนดาวอังคารอย่างไรพิกล

เรื่อง วัคซีน ที่ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ต้องขอโทษชาวบ้าน ก็เป็นเรื่องของผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่ดูเหมือนจะไม่ได้อยู่ในการรับรู้หรือตัดสินใจร่วมของพล.อ.ประยุทธ์เลย

รวมถึงการให้กระทรวงสาธารณสุข -กทม.ไปร่วมมือกันชี้แจงชาวบ้าน อย่าโทษกันไปมานั้น ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า มันไม่เกี่ยวกับคนที่นั่งหัวโต๊ะเลยหรือ

ยิ่ง มาถึง คำสั่ง “ต้องไม่ให้เห็นภาพผู้ป่วยนอนเสียชีวิตริมถนนอีก”

ยิ่งเห็นภาวะ “ลอยตัว”

เพราะทั้งในฐานะ ผู้อำนวยการ ศบค.ระดับชาติ และศบค.กทม. ซึ่งคือ”หน่วยปฏิบัติงาน”

ต้องประชุมหารือ หรือ”สุมหัว”กันแล้วว่า จะปฏิบัติ หนึ่ง สอง สาม อย่างไร

มิใช่เพียงออกมาพูดอย่างเดียว

ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพและปริมณฑล ต้องสั่งการแล้วจะทำอย่างไร

จะปล่อยให้การเก็บศพ เป็นเพียงเรื่องของ มูลนิธิ หรือ งานอาสาสมัคร ไม่ได้อีกแล้ว

ในฐานะรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ จะต้องมียุทธศาสตร์ไปรับมือ มหาวิกฤตอย่างไร

คนป่วยติดบ้าน คนตายข้างถนน ไม่อาจจะอาศัยเพียงแรงชุมชน หรืออาสาสมัคร ได้อีกแล้ว

ทหาร ตำรวจ จะต้องเข้ามาแบ่งเบารับหน้าที่นี้

ซึ่งก็ดีแล้วที่เริ่มขยับ

แต่ต้อง มิใช่เรื่อง “เฉพาะกิจ”อีกต่อไป

นี่คือ ภาวะสงครามรูปแแบใหม่

ยุทธศาสตร์ชาติที่อ้างๆได้เป็นเข็มทิศนำทางบ้างหรือไม่

อย่า ให้ ตำรวจ อยู่ในความทรงจำชาวบ้านแค่เก่งแต่ ฉีดน้ำ ยิงกระสุนยาง ใช้ก๊าซน้ำตา เข้าใส่ผู้ประท้วงรัฐบาล

อย่า ให้ ทหาร อยู่ในความทรงจำแย่ๆว่า คิดแต่ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ใหญ่โต

แต่ไม่อาจสู้หรือทำสงครามกับ”เชื้อโรค” ที่เป็นความมั่นคงใหม่(ที่แทบจะยังไม่ได้เตรียมรับมือเอาไว้เลย)

ผู้นำดีๆ ต้องลบภาพความทรงจำแย่ๆนี้ออกไป

โดยเริ่มจากการ “ไม่ลอยตัว”