ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “พะอุปะคุด”

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “พะอุปะคุด”

คำว่า “อุปคุต” มาจากคำว่า “อุปะ” แปลว่า “เข้าไป, ใกล้, มั่น” และ “คุตะ” ซึ่งมาจากภาษาบาลีว่า “คุตตะ” แปลว่า “คุ้มครองรักษาแล้ว” เมื่อรวมคำเป็น “อุปคุต” จึงแปลว่า “ผู้ชอบการคุ้มครองรักษา”

พระอุปคุต มีชื่อเต็มว่า “กีสนาอุปคุต” เกิดที่เมืองมถุรา เป็นบุตรคนที่สามของพ่อค้าเครื่องหอมชื่อว่า “คุปตะ” มารดาชื่อ “พราหมณิยา”

เมื่อบิดาย้ายไปตั้งรกรากอยู่ที่เมืองปาตลีบุตรซึ่งนิยมใช้ของหอมกันมาก ครอบครัวได้รู้จักกับพระรูปหนึ่งชื่อว่า “สาณะกะวาสิน” และได้สัญญากับพระว่า ถ้าได้ลูกชายจะให้บวชในพระพุทธศาสนา

แต่เมื่อมีลูกชายสองคนแรก พ่อก็บ่ายเบี่ยงว่า “อยากให้ลูกชายช่วยงานในครอบครัวเสียก่อน” จนมีลูกคนที่สามคือ อุปคุตกุมาร

เมื่ออุปคุตกุมารไปวัดกับบิดาและได้ฟังพระสาณะกะวาสินเทศน์ พิจารณาตามก็ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงพูดขออนุญาตบิดาบวชในพุทธศาสนา บิดาก็อนุญาตตามสัญญา

 

เมื่ออุปคุตกุมารบวชและได้ปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจัง ทำให้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยอภิญญา

จากนั้นพระอุปคุตได้สั่งสอนสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานแก่ศิษยานุศิษย์ ทำให้มีพระอรหันต์เพิ่มจำนวนขึ้นถึง 18,000 รูป

เนื่องจากท่านมีปฏิปทาในทางมักน้อยสันโดษไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ท่านจึงเนรมิตเรือนแก้วขึ้นในสะดือทะเลหลวงแล้วจึงลงไปจำพรรษาและอาศัยอยู่ในที่นั้นจนตลอดอายุขัยของท่าน

จะออกจากสมาบัติเหาะขึ้นมาบิณฑบาต ในโลกมนุษย์ เฉพาะวันพุธเพ็ญกลางเดือนเท่านั้น

 

ตามตำนานของพระอุปคุตกล่าวว่า พระอุปคุตเกิดในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชซึ่งมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ทรงสร้างพระวิหารและพระสถูปเจดีย์ จำนวน 84,000 องค์ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จ

เมื่อพระเจ้าอโศกต้องการที่จะจัดให้มีการฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้งหมดเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน และเพื่อให้การฉลองสมโภชเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปราศจากอุปสรรค จึงอาราธนาพระสงฆ์ขีณาสพที่ทรงอิทธิฤทธิ์มาเป็นผู้คุ้มครองงาน ให้ปราศจากการรบกวนของพวกมารร้ายต่างๆ

แต่พระสงฆ์ในนครปาตลีบุตรในขณะนั้น ไม่มีรูปใดที่จะสามารถคุ้มครองงานได้

คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งพระตัวแทน 2 รูป ให้ลงไปอาราธนานิมนต์พระอุปคุตมาช่วยรักษาความปลอดภัยงานสมโภชครั้งนี้

พระอุปคุตรับนิมนต์ ได้เดินทางมานมัสการและรายงานตัวต่อคณะสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น เนื่องจากพระอุปคุตมีรูปร่างผ่ายผอมดูอ่อนแอ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงไม่แน่ใจในตัวพระอุปคุต จึงส่งช้างตกมันให้ไปทดสอบฤทธิ์พระอุปคุต

แต่พระอุปคุตได้สะกดช้างที่กำลังวิ่งเข้ามาหาให้หยุดอยู่กับที่

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชเห็นเช่นนั้นก็ทรงเลื่อมใส จึงเสด็จไปขอขมา

ซึ่งพระอุปคุตได้ให้อภัยแก่พระเจ้าอโศกมหาราช และช้าง

 

เมื่อถึงเวลาฤกษ์งามยามดีตามที่กำหนดไว้ บรรดาพระสงฆ์ตลอดจนพุทธศาสนิกชน ทั้งในนครปาตลีบุตร และต่างแดน ก็เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่บริเวณงาน พร้อมเครื่องสักการบูชา เพื่อร่วมพิธีฉลองสมโภชพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในมหาเจดีย์ และเจดีย์ทั้งแปดหมื่นสี่พันองค์ ด้วยความเลื่อมใส ศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง

พญาวัสสวดีเทพบุตรมารได้แอบแฝงตัวเข้ามาก่อความวุ่นวายต่างๆ แต่ถูกพระอุปคุตกำราบได้หมด

และเพื่อให้พญามารออกไปจากบริเวณพิธี พระอุปคุตเนรมิตหมาเน่าพร้อมดึงประคดจากเอวของท่าน ผูกหมาเน่าคล้องคอพญามาร และกล่าวว่า ไม่ว่าใครก็ตามจะเอาหมาเน่านี้ออกจากคอพญามารไม่ได้ นอกจากท่าน แล้วจึงขับพญามารออกจากบริเวณงานทันที

พญามารพยายามแก้ร่างหมาเน่าออกแต่ก็ทำไม่ได้ เมื่อเอามือไปถูกสายประคดที่คล้องคอจะต้องมีไฟลุกไหม้คอและมือทันที

แม้จะไปขอท้าวมหาราชทั้งสี่ พระอินทร์ ท้าวยามา ท้าวสันดุสิต ท้าวนิมิตเทวราช ตลอดจนท้าวสหัสบดีพรหม ก็ไม่มีใครสามารถช่วยได้ ต่างได้แต่แนะนำว่า ให้พญามารไปขอขมา และขอความเมตตา จากพระเถระ

พญามารจึงจำใจกลับไปอ้อนวอนพระอุปคุตให้เอาซากหมาเน่าออก โดยสัญญาจะไม่มารบกวนพิธีสมโภชอีก พระอุปคุตยินยอม แต่ยังไม่ไว้ใจพญามาร เกรงจะมาทำลายพิธีในภายหลัง จึงเดินนำพญามารไปยังเขาใหญ่ลูกหนึ่ง เอาร่างหมาเน่าทิ้งเหว และเนรมิตให้สายประคดยาวขึ้น พันคอพญามารไว้กับเขาลูกนั้น

พร้อมทั้งแจ้งว่า เมื่อพิธีฉลองสมโภชพระมหาเจดีย์สิ้นสุดลงแล้ว จึงจะแก้เชือกออก ปล่อยให้พญามารเป็นอิสระ

 

เมื่องานสมโภชพระสถูปเจดีย์และพระบรมสารีริกธาตุเสร็จสิ้นลงแล้ว พระอุปคุตจึงมาหาพญามารโดยการแอบดูอยู่ห่างๆ ฟังเสียงว่าพญามารหมดพยศแล้วหรือยัง

เมื่อได้ยินพญามารกล่าวสดุดีในความเมตตาของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่ได้ทำร้ายพระองค์ แต่พระองค์ไม่ได้กระทำโต้ตอบ และปรารถนาเป็นพระสัพพัญญูในอนาคต ก็รู้ว่าพญามารสิ้นพยศแล้ว จึงแก้เครื่องพันธนาการออก ปล่อยพญามารเป็นอิสระ

พร้อมทั้งขอขมาพญามาร และบอกว่า การกระทำครั้งนี้เพื่อให้พญามารระลึกได้ถึงพุทธภูมิที่เคยปรารถนาไว้เท่านั้น มิได้มีเจตนาที่จะล่วงเกินประการใด

ซึ่งพญามารก็เข้าใจ

เมื่อพญามารกลับคืนสู่วิมานของตน แต่นั้นมา พญามารได้มีจิตอ่อนน้อมเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หมดสิ้นน้ำใจริษยา และบำเพ็ญบารมี เพื่อพุทธภูมิต่อไป

 

พะอุปคุตจกบาตร

แปลว่า พระอุปคุตล้วงบาตร

พระอุปคุตจกบาตร เป็นปางหนึ่งของรูปพระอุปคุต