State-Led Gentrification ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (1)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

State-Led Gentrification

ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (1)

 

ในปัจจุบัน ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะพื้นที่ในย่านเมืองเก่าคือ ปัญหาว่าด้วยปรากฏการณ์ Gentrification คำคำนี้ยังไม่มีคำแปลภาษาไทยที่น่าพอใจ ดังนั้น ขอใช้ทับศัพท์ไปก่อน

กล่าวโดยสรุป Gentrification คือปรากฏการณ์ทางสังคมที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่ย่านเมืองเก่า (พื้นที่อื่นก็เกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ขอพูดในที่นี้) โดยมีรูปแบบมาตรฐานของปรากฏการณ์คือ การพัฒนาเมืองที่ขยายออกไปมากจากการคมนาคมขนส่งที่สะดวก ที่ดินชานเมืองราคาถูก ชานเมืองขยายตัวและพัฒนาจนมีความสะดวกสบาย ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้คนในย่านเก่าเริ่มย้ายออกไปอาศัยตามชานเมืองมากขึ้นและทำให้พื้นที่ย่านเก่าเงียบและเสื่อมโทรมลง

จนถึงระยะเวลาหนึ่งที่ความเสื่อมโทรมนั้นส่งผลให้ราคาที่ดินและค่าเช่าของย่านเก่าตกต่ำลงอย่างมหาศาล และเกิดจุดเปลี่ยนอีกครั้งที่นำมาซึ่งการย้ายกลับเข้ามาในพื้นที่ย่านเก่าอีกครั้งอย่างขนานใหญ่จนราคาที่ดินและค่าเช่าถีบสูงขึ้น

ฟังเผินๆ ก็ดูเป็นเรื่องปกติที่ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจใช่ไหมครับ แต่ในความเป็นจริงปรากฏการณ์นี้ได้ซ่อนแฝงความน่ากลัวบางอย่างเอาไว้

 

การย้ายกลับเข้าเมืองอีกครั้งของปรากฏการณ์นี้จะมีลักษณะร่วมพื้นฐานคือ การที่กลุ่ม “ชนชั้นล่าง” หรือคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ “ถูกบังคับให้ย้ายออก” (displacement) จากชุมชนหรือย่านพักอาศัยของตนเอง อันเนื่องมาจากแบกรับค่าเช่าและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดไม่ทัน โดยถูกเข้าแทนที่โดย “ชนชั้นกลางระดับบน” หรือหากเรียกให้จำเพาะเจาะจงมากขึ้นในปัจจุบันก็คือกลุ่ม “ชนชั้นสร้างสรรค์” (Creative Class) จากภายนอกที่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจสูงกว่า

ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับ “ชนชั้นสร้างสรรค์” ในที่นี้มิได้หมายถึงเฉพาะพวกศิลปินหรือนักออกแบบ แต่รวมไปถึงกลุ่มคนที่ทำงานด้านสร้างนวัตกรรมหรือใช้ทักษะสูง เช่น โปรแกรมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก วิศวกร แพทย์ ฯลฯ

ปรากฏการณ์นี้หากเกิดขึ้นในระดับที่รุนแรง จะทำให้เมืองถูกเปลี่ยนไปในทิศทางที่ตอบสนองต่อคนเพียงกลุ่มเดียวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง โดยผลักไสคนจนเมืองหรือผู้มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำให้ออกไปจากพื้นที่

เกิดเป็นรอยปริแยกทางสังคม เศรษฐกิจ ชนชั้น และวัฒนธรรม ในระดับลึก เมืองหรือย่านดังกล่าวจะกลายสภาพเป็นเครื่องจักรของการแบ่งแยก ขูดรีด และเอาเปรียบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในสังคมที่มีปัญหาทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมฝังรากอยู่เป็นทุนเดิม ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาบาดลึกมากยิ่งขึ้น

เช่น ในสังคมอเมริกันที่ปรากฏการณ์นี้มักทำให้คนผิวสีที่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำถูกเบียดขับออกจากพื้นที่เมืองและถูกแทนที่ด้วยคนขาวที่โดยภาพรวมแล้วมีสถานะทางเศรษฐกิจสูงกว่า

ซึ่งในกรณีนี้ปัญหาจะถูกยกระดับลามไปสู่เรื่องสีผิวและเชื้อชาติด้วยอีกทอดหนึ่ง

 

เมื่อหันมามองในสังคมไทย เราจะพบว่า มีการพูดถึงประเด็นนี้มาเป็นสิบปีแล้ว และงานศึกษาก็มีอยู่ไม่น้อย

แต่ที่น่าสังเกตคือ แนวทางการศึกษาส่วนใหญ่กลับเน้นให้คำอธิบายการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์นี้โดยให้ความสำคัญไปที่กลไกของระบบตลาดเสรีในโลกทุนนิยม และ “ตัวกระทำการภาคเอกชน” (private agents) เป็นสำคัญ

ทั้งที่ในความเป็นจริง Gentrification ในสังคมไทย โดยเฉพาะในย่านเก่ากรุงเทพฯ เงื่อนไขสำคัญที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์นี้คือ “รัฐ”

แน่นอนครับ ตัวกระทำการภาคเอกชนยังคงเป็นแรงขับสำคัญ ข้อเท็จจริงนี้คงไม่มีใครปฏิเสธ แต่ประเด็นคือ ในหลายกรณี “รัฐ” คือตัวละครสำคัญที่ไม่ควรละเลย

ลักษณะดังกล่าว ในวงวิชาการนิยามด้วยคำว่า State-Led Gentrification

 

ในปัจจุบันมีงานศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นบทบาทของรัฐในลักษณะต่างๆ ที่มีส่วนผลักดันอย่างสำคัญให้เกิดปรากฏการณ์นี้ในหลายเมืองทั่วโลก เช่น เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง และเซบียา เป็นต้น (ดูเพิ่มใน Shenjing He, State-sponsored Gentrification Under Market Transition : The Case of Shanghai ใน Urban Affairs Review ปี 2007, La Grange A and Pretorius F, State-led gentrification in Hong Kong ใน Urban Studies ปี 2016, และ Ernesto L?pez-Morales, State-Led Gentrification ใน The Wiley Blackwell Encyclopedia of Urban and Regional Studies ปี 2019)

หากพิจารณาในกรอบนี้ เราจะมองเห็นชัดเจนว่า สังคมไทยในหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาเป็นตัวละครสำคัญในปรากฏการณ์ Gentrification หลายพื้นที่อย่างกระตือรือร้น ภายใต้คำนิยามที่สวยหรู เช่น การฟื้นฟูเมือง หรือการอนุรักษ์และพัฒนา

สิ่งที่น่าตกใจสำหรับผมก็คือ นักวิชาการทางด้านเมืองและเมืองเก่าไม่น้อยที่ควรจะเป็นกลุ่มที่ชี้ให้เห็นถึงอันตรายของ State-Led Gentrification กลับมีความคิดที่เห็นด้วย ร่วมมือ ไปจนกระทั่งอธิบายว่า Gentrification นั้นมิใช่มีแต่เพียงด้านลบ โดยหากใช้หรือควบคุมอย่างเหมาะสม ปรากฏการณ์นี้จะช่วยฟื้นฟูเมืองที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ผมเข้าใจเป็นอย่างดีว่ามีการถกเถียงถึงแง่มุมที่เป็นประโยชน์ของ Gentrification ไม่น้อยในวงวิชาการ

แต่ผมไม่คิดว่า ในกรณีสังคมไทย (อย่างน้อยจากหลักฐานเท่าที่มี) เราจะมองเห็นแง่มุมดังกล่าวได้เลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งนี้ไม่ใช่ Gentrification ปกติตามกลไกตลาด แต่คือ State-Led Gentrification ที่มิได้เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเมืองอย่างแท้จริง (ตัวอย่างอะไรบ้าง ขอยกไปกล่าวในสัปดาห์ต่อไป)

ยิ่งไปกว่านั้น การวิเคราะห์การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์นี้ด้วยภาพเหมารวมตาม pattern มาตรฐานที่เกิดขึ้นในสังคมอื่น ยังได้เข้ามาสร้างภาพลวงตาที่ทำให้เรามองการย้ายออกของคนในย่านเมืองเก่า จนทำให้เมืองเงียบและเสื่อมโทรมผิดไปจากความเป็นจริง

 

ผมขอยกตัวอย่างเพียงกรณีเดียวคือ ย่านเก่ารัตนโกสินทร์

ตาม pattern มาตรฐาน เงื่อนไขแรกเริ่มก่อนที่จะนำมาซึ่ง Gentrification ในเวลาต่อมา คือการที่ย่านเมืองเก่าเสื่อมโทรมลงจากการย้ายออกนอกพื้นที่อย่างมหาศาล ด้วยกลไกตลาดและการพัฒนาเมืองในยุคสมัยใหม่ที่ทำให้ชานเมืองกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของการอยู่อาศัยจนผู้คนต่างละทิ้งย่านเก่าไป

แต่กรณีย่านเก่ากรุงรัตนโกสินทร์ เงื่อนไขสำคัญคือ “รัฐ”

ในราวกลางทศวรรษ 2520 ได้เกิด “คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์” ขึ้น (ปัจจุบันชื่อ คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า) โดยมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลในการออกมาตรการกำกับดูแลเชิงนโยบายในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ไปจนถึงวางแผนแม่บทในการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ

ไอเดียหลักของคณะกรรมการชุดนี้อาจสรุปสั้นๆ ได้ 3 ข้อ คือ

หนึ่ง ลดความแออัดของเมืองลงโดยย้ายสถานที่ราชการออกไปชานเมือง

สอง เพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะขนาดเล็ก (pocket park) และเปิดมุมมองต่อโบราณสถานของชาติ โดยการรื้ออาคารราชการ (บางส่วนมาจากนโยบายย้ายหน่วยราชการออกนอกเมืองนั่นเอง) ตลอดจนชุมชนแออัดในทัศนะของรัฐออกไป แล้วเอามาทำสวน

สาม ควบคุมหน้าตาและความสูงของอาคารที่จะสร้างใหม่ในพื้นที่ให้ไม่เกิน 16 เมตร

นโยบายดังกล่าวได้เข้ามาทำลายความมีชีวิตของย่านเก่ารัตนโกสินทร์ลงอย่างสิ้นเชิง

 

ย่านเก่าแห่งนี้ก่อนมีคณะกรรมการกรุงฯ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยชีวิต ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจระดับรากหญ้าที่เข้มแข็ง

แต่ความมีชีวิตชีวาดังกล่าวกลับถูกรัฐนิยามว่าคือความเสื่อมโทรมที่ต้องจัดการ รื้อ ย้าย ไล่ ทำสวน

และเพียง 30 ปีหลังจากนั้น ย่านเก่ารัตนโกสินทร์ก็กลายมาเป็นย่านที่แห้งแล้ง คึกคักเฉพาะช่วงกลางวันที่มีนักท่องเที่ยว แต่เงียบสนิทคล้ายเมืองร้างเมื่อนักท่องเที่ยวออกไปในช่วงเย็น

ความหลากหลายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างน่าใจหาย หลงเหลือเพียงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับการท่องเที่ยว ร้านค้าปลีกรายย่อย ร้านอาหารเก่าแก่ หาบเร่แผงลอย ฯลฯ ทยอยล้มหายตายจากไปอย่างช้าๆ

ความเสื่อมโทรมจอมปลอมที่รัฐพยายามแปะป้ายให้กับย่านที่มีชีวิตชีวาแห่งนี้ในทศวรรษ 2520 ที่มาพร้อมกับการเกิดขึ้นของคณะกรรมการกรุงฯ ได้ทำให้ย่านนี้กลายมาเป็นย่านเสื่อมโทรมอย่างแท้จริงในปลายทศวรรษ 2550

ณ ห้วงแห่งความเสื่อมโทรมดังกล่าว ช่างเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออกที่หน่วยงานภาครัฐต่างเริ่มพูดถึงการฟื้นฟูเมืองเก่าแห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ความเสื่อมโทรมนี้เกิดขึ้นจากน้ำมือของรัฐเอง

ณ ห้วงเวลาดังกล่าวนี้เช่นกัน ที่ปรากฏการณ์ State-Led Gentrification ได้ถือกำเนิดขึ้น