การศึกษา/ รวมพลัง #ทวงคืนค่าเทอม ‘เผือกร้อนๆ’ ในมือ ‘รัฐบาล’?!?

การศึกษา

รวมพลัง #ทวงคืนค่าเทอม

‘เผือกร้อนๆ’ ในมือ ‘รัฐบาล’?!?

 

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง ช่วงโค้งสุดท้ายของการลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ก่อนเปิดภาคเรียนอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอก 3 ที่มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะลุกว่า 1 หมื่นคนต่อวัน และเสียชีวิตวันละกว่า 100 ราย ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

เมื่อ #มธคืนค่าเทอม พุ่งขึ้นมาติดเทรนทวิตเตอร์ โดยนักศึกษา และองค์กรภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกันติดแฮชแท็ก พร้อมโพสต์ข้อความว่า “ธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน แล้วนักศึกษาคือประชาชนหรือไม่?”

พร้อมระบุว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ประกอบกับ มธ.ได้ประกาศว่าเทอม 1/2564 จะเป็นการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ดังนั้น พวกเราจึงเห็นสมควรว่าผู้บริหาร มธ.ควรจะสนับสนุนนักศึกษา โดยการลดค่าเทอมให้นักศึกษา และคืนค่าเทอมนักศึกษาที่ได้จ่ายไปแล้ว เป็นสัดส่วนอย่างน้อย 50%

แม้นักศึกษา และผู้บริหารได้คุยกันในเรื่องของหลักการ และเหตุผลกันมามากเกินพอแล้ว แต่ผู้บริหารยังคงไม่ใส่ใจต่อเสียงของนักศึกษา…

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) จึงเชิญชวนนักศึกษา มธ.ร่วมติด #มธคืนค่าเทอม เพื่อแสดงพลัง และส่งเสียงไปยังผู้บริหาร ว่าพวกเราเดือดร้อนกันมากพอแล้ว เมื่อไหร่คุณถึงจะเยียวยาพวกเรา

แต่ก็ยังไม่มีเสียงตอบรับจาก “รศ.เกศินี วิฑูรชาติ” อธิการบดี มธ. หรือแม้แต่ผู้บริหาร มธ.คนอื่นๆ

 

ขณะเดียวกัน มีนิสิต-นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทยอยออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องให้ลดค่าเล่าเรียน พร้อมติดแฮชแท็ก อาทิ #คืนค่าเทอมให้นักศึกษา #ทวงคืนค่าเทอม

เพราะมองว่าค่าเทอมที่เรียกเก็บ 36,000 บาท หรือ 41,000 บาท หรือ 46,000 บาท ฯลฯ อยู่ในอัตราที่สูงเกินไปสำหรับการเรียนผ่านออนไลน์

ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งแจ้งลดค่าเทอม แต่นักศึกษากลับต้องจ่ายเต็มไปก่อน และจะทยอยคืนภายหลัง แต่กลับคืนเงินให้ล่าช้า

ทำให้นิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) พร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #งดจ่ายค่าเทอม

ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้เคลื่อนไหวโดยติดแฮชแท็ก #คืนค่าเทอมให้นักศึกษา เพราะมองว่า มจธ.ต้องลดค่าเทอมให้มากกว่านี้ เพราะนักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน ต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ตที่บ้านเอง

นอกจากนี้ นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต ยังร่วมติดแฮชแท็กทวงคืนค่าเทอม #วีรบุรุษผู้หากินในคราบนักบุญ #คืนค่าเทอมให้นักศึกษา #คืนค่าเทอม เช่นกัน

แต่ดูเหมือนว่า “ผู้บริหาร” มหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชื่อดังอันดับต้นๆ ของไทย ยังคงเงียบ และหลบเลี่ยงที่จะตอบคำถาม??

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งได้ออกมาแจกแจงถึงแนวทางการลดค่าเทอม และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับนิสิต-นักศึกษา โดยลดค่าเทอมตั้งแต่ 10-40% ซึ่งส่วนใหญ่จะลดให้แค่ 10% และไปลดค่าหอพัก หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ แทน รวมถึงให้ “ทุนการศึกษา” สำหรับนิสิต-นักศึกษาที่เดือดร้อนจริงๆ

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บอกว่า มก.ลดค่าเทอมให้นิสิตในภาพรวม 10% โดยแต่ละคณะ/สาขา สามารถไปลดเพิ่มเติมได้ รวมถึงยังช่วยลดค่าหอพัก และส่วนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนตัวไม่อยากแก้ปัญหาแบบหว่านแห แต่จะเน้นช่วยเหลือกรณีที่เดือดร้อนจริงๆ เช่น ให้ทุนการศึกษานิสิตปริญญาตรีที่ยากลำบาก ซึ่ง มก.ช่วยไปแล้วกว่า 1 พันคน ส่วนนิสิตปริญญาโทและเอก จะเน้นการจ้างงาน เพื่อสร้างรายได้มากกว่า

ส่วนมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ที่มี ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มร. ได้ประกาศลดค่าลงทะเบียนเรียนเป็นรายหน่วยกิตมากถึง 40% ในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564 สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีภาคปกติ และนักศึกษา Pre-degree รวมทั้งนักศึกษาใหม่ในภาค 1/2564 ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และสาขาวิทยบริการฯ ต่างประเทศ

และลด 20% สำหรับนักศึกษาปริญญาโท เอก และนักศึกษาโครงการพิเศษทุกระดับชั้น ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค แต่ไม่รวมหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนโดยคณะที่อยู่ในกำกับของมหาวิทยาลัย

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) ระบุว่า มทร.ธัญบุรีได้ลดค่าเทอมให้นักศึกษาปริญญาตรีทุกคน 10% พร้อมจัดทุนให้นักศึกษาที่ยากจนเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านบาท จากเดิม 3-5 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีกองทุนให้นักศึกษากู้ยืมอีก 10 ล้านบาท ไม่เก็บค่าปรับที่ลงทะเบียนเรียนช้า และเพิ่มระยะเวลาช่วยเหลือนักศึกษาในการผ่อนจ่ายค่าเทอม

ทั้งนี้ ได้เตรียมนำเรื่องการลดค่าเทอมมาหารือในที่ประชุม ทปอ.มทร.เพื่อช่วยเหลือนักศึกษา มทร.ที่ได้รับผลกระทบ!!

 

สําหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา มีมาตรการลดค่าเทอมให้นักศึกษา 15% และยังมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ซึ่ง ผศ.ดร.อดิศร เนาว์นนท์ อธิการบดี แจกแจงว่า ตั้งแต่เชื้อโควิด-19 ระบาดระลอกแรก ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น ลดค่าเทอม 10% ผ่อนจ่ายได้ 2 งวด พร้อมลดค่าธรรมเนียมหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรเฉพาะที่นักศึกษาจะต้องเรียน ลดค่าปรับลงทะเบียนเรียนช้า ลดค่าหอพักนักศึกษา 50% และจัดโครงการราชภัฏคืนโอกาส จัดหางาน หาทุน และคอมพิวเตอร์ ให้นักศึกษาเรียนออนไลน์

ส่วนกระแสเรียกร้องให้คืนค่าเทอมนั้น ก็เข้าใจ และเห็นใจ โดยเฉพาะนักศึกษา มรภ.ที่เป็นกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ และผู้ปกครองได้รับผลกระทบโดยตรง

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็ได้รับผลกระทบ เพราะถูกปรับลดงบประมาณไปครึ่งหนึ่ง

พร้อมกับโยน “เผือกร้อน” กลับไปที่ “รัฐบาล” ควรจะต้องช่วยเหลือนักศึกษาด้วย ไม่ใช่โยนภาระให้กับมหาวิทยาลัยแต่ฝ่ายเดียว…

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการลดค่าเทอมควรมีนโยบายที่ชัดเจนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเป็นแนวทางให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศปฏิบัติตาม เพราะจากสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤต มหาวิทยาลัยควรประกาศลดค่าเทอมอย่างน้อย 40-50% เนื่องจากการเรียนออนไลน์ ซึ่งก็มีมหาวิทยาลัยบางแห่งได้ลดค่าเทอมให้นิสิต-นักศึกษาไปแล้ว 30-40% แต่บางแห่งยัง “นิ่งเฉย”

อดีตนักวิชาการจุฬาฯ ยังได้เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศ อย่าง “จุฬาฯ” หรือ “มธ.” ควรออกมายืนแถวหน้า ให้สมกับเป็น “เสาหลัก” ที่คอยชี้นำสังคม กล้าตัดสินใจ ประกาศลดค่าเทอม 40-50%??

ไม่ใช่คิดแต่เรื่อง “ผลประโยชน์” เพียงอย่างเดียว…

ขณะที่หน่วยงานหลักๆ ที่กำกับดูแลมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อย่าง “อว.” ที่มี “ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” นั่งเป็นเจ้ากระทรวง ยัง “ไม่มี” แอ๊กชั่นอะไร??

ที่มากไปกว่าแค่ทำหนังสือเพื่อขอ “ความร่วมมือ” มหาวิทยาลัยให้ช่วยลดค่าเทอม ไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดรอบก่อนหน้านี้…

ทั้งยังคงวางเฉย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน กับความเดือดร้อนของนิสิต-นักศึกษา และผู้ปกครอง!!

จนหลายครั้งก็มีหลายคนตั้งคำถามว่า จะมี “กระทรวงการอุดมศึกษาฯ” และ “รัฐมนตรีว่าการ อว.” ไว้ทำไม??

 

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ไปทำแผนเพื่อช่วยเหลือประชาชน และผู้ปกครอง ที่เดือดร้อนในช่วงนี้

โดยเฉพาะแผนการช่วยเหลือ หรือสนับสนุน “ค่าเทอม” และ “ค่าธรรมเนียม” ที่ผู้ปกครองต้องควักจ่ายในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และเสนอเข้า ครม.อีกครั้ง

ต้องจับตาว่า “รัฐบาล” จะมีนโยบาย และแนวทาง “เยียวยา” นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ปกครอง เรื่อง “ค่าเทอม” และ “ค่าธรรมเนียม” ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ได้อย่างไร!!