วิรัตน์ แสงทองคำ/กรุงเทพฯ-เมืองบริวาร กับธุรกิจ-แรงงาน/

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

กรุงเทพฯ-เมืองบริวาร

กับธุรกิจ-แรงงาน

 

ความสัมพันธ์ทางกรุงเทพฯ กับเมืองบริวาร มองผ่านพลังขับดันทางเศรษฐกิจ มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นๆ

จากกรณีทางการประกาศ “ล็อกดาวน์” พื้นที่สำคัญ อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ COVID-19 จุดโฟกัสอยู่ที่กรุงเทพฯ กับเมืองบริวาร เป็นการขยายวงกว้างขึ้น จากพื้นที่ปริมณฑล เพิ่มมาอีก 3 จังหวัด ได้แก่ อยุธยา ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

ภาพนั้นสะท้อนบางด้าน เชื่อมโยงบทเรียนสำคัญเมื่อทศวรรษที่แล้ว กรณีน้ำท่วมครั้งใหญ่ 2554

“สร้างแรงปะทะและความสั่นไหวครั้งรุนแรงต่อเมืองหลวง เมื่อน้ำเข้าทะลักกรุงเทพฯ ด้านเหนือ มีแนวโน้มเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน สถานการณ์และพฤติกรรมผู้คนได้เปลี่ยนไป คนกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งหนีภัยไปอยู่พื้นที่นอกกรุงเทพฯ ท่ามกลางปรากฏการณ์ความวิตกกังวลปกคลุม การกักตุนสินค้า ฯลฯ จนภาวะสินค้าขาดตลาดอย่างรุนแรง บทสรุปทางเศรษฐกิจต้นทุนในการปกป้องกรุงเทพฯ ชั้นในครั้งนั้น นับว่าสูงทีเดียว ทั้งสร้างปัญหาโดยเฉพาะปริมณฑลและเมืองรองใกล้เคียง” (จากเรื่อง “เมืองหลวง หัวเมืองและชนบท” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 9 กรกฎาคม 2564)

จากวิกฤตการณ์ครั้งนั้น ภาพสำคัญภาพหนึ่งปรากฏขึ้น ในเขตที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ภาพอันน่าสะพรึงนิคมอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาน้ำท่วมรุนแรง ซึ่งมี “โรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของธุรกิจญี่ปุ่นจำนวน 300 กว่าโรง” ข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นตามรายงานข่าวสำนักงานข่าวเอพี เคยเสนอและอ้างอิงไว้ในขณะนั้น เมื่อทศวรรษที่แล้ว (จากเรื่องหนึ่งในมติชนสุดสัปดาห์ ปลายปี 2554) เขตอุตสาหกรรมที่ราบลุ่มเจ้าพระยา เป็นนิยามตั้งขึ้นเองในตอนนั้น มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่จากอยุธยา ลงมาจนถึงปทุมธานี

 

มีอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ วิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ครั้งนั้น กระทบต่อแผนการลงทุนขนาดใหญ่ หลายรายตั้งใจปักหลัก ณ ที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ได้ตัดสินใจเปลี่ยนแผนอย่างทันท่วงที ไปยังเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก อาณาบริเวณพื้นพี่ดั้งเดิมของโครงการ Eastern seaboard ที่ชลบุรี และพื้นที่ขยายใหม่ที่ฉะเชิงเทรา

ความเป็นไปภาคอุตสาหกรรม ดัชนีสำคัญหนึ่งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม ทั่วประเทศไทยมีมากกว่า 50 แห่ง พบว่ากระจุกตัวในเขตพื้นที่ “ล็อกดาวน์” กรุงเทพฯ และเมืองบริวารที่ว่าประมาณครึ่งหนึ่ง ยังมีความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ “ภาพรวมตลาดนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยในปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่าภาพรวมการซื้อ/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยเท่านั้น โดยพบว่ายอดการขาย/เช่าส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในพื้นที่ในอีอีซีกว่า 85%…” รายงานบทวิเคราะห์โดย Colliers International (กุมภาพันธ์ 2564) ตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกในประเทศไทย

บทวิเคราะห์ข้างต้นคาดไว้ (กุมภาพันธ์ 2564) ด้วย “โครงการวัคซีนในประเทศไทย… ยังไม่มีความชัดเจน… ดังนั้น การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงอาจจะยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้” เชื่อมโยงกับความเชื่อที่ว่า “ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หากนักลงทุนต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ง่ายขึ้น”

การบริหารวัคซีนโดยอำนาจเบ็ดเสร็จแห่งรัฐ เพื่อให้ “เข้าถึง” และมี “ทางเลือก” เป็นข้อเรียกร้องพื้นฐานตั้งแต่ต้น และเสียงยิ่งจะดังขึ้นๆ เมื่อมองเห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้น เป็นเสียงกระหึ่มทั้งสังคมโดยรวม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจ

เฉพาะกรุงเทพฯ อย่างที่ว่าไว้ตอนก่อนๆ (อ้างไว้แล้วช่วงต้นๆ) กำลังเป็นศูนย์การเติบโต การพัฒนาพลิกโฉมหน้าใหม่ ว่าด้วยการลงทุนอย่างคึกคักที่สุดครั้งหนึ่งในยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนโดยรัฐเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งทางราง และการลงทุนของเครือข่ายธุรกิจใหญ่ในโครงการ mix-used ขนาดใหญ่ ขณะนิคมอุตสาหกรรมคงมีความเคลื่อนไหว

 

ภาพความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ และเมืองบริวาร กับจำนวนแรงงานต่างชาติ (เชื่อกันว่าตัวเลขจริงมากกว่านี้) และจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 สะสม เป็นไปอย่างน่าสนใจ เป็นอีกมิติเมื่อเปรียบเทียบกรณีน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554

ที่ยกตัวเลขแรงงานต่างชาติ มิได้ตั้งใจโฟกัสว่าด้วยคลัสเตอร์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ COVID-19 โดยตรง หากมองภาพเชิงความสัมพันธ์ ความเป็นไป ว่าด้วยกรุงเทพฯ และเมืองบริวาร กับปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นความพยายามมองไปข้างหน้าด้วย

เชื่อว่าจากนี้ สังคมธุรกิจไทยจะมีมุมมองกว้างมากขึ้น หลากหลายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งมาตรฐานทางธุรกิจและการผลิตต่างๆ รับรองโดยองค์กรระดับโลก มักติดโชว์เต็มพรืดหน้าสำนักงาน หรือโรงงาน ว่าด้วยกิจกรรมทางสังคมที่เรียกกันว่า CSR และว่าด้วยความยั่งยืน บริษัทซึ่งสัมพันธ์กับตลาดทุนและเงินโลก มักทำรายงานอีกฉบับหนึ่งที่เรียกว่า Sustainability Report เคียงคู่ไปกับรายงานประจำปี

ความสัมพันธ์อันยั่งยืนและเอื้อประโยชน์ระหว่างธุรกิจกับแรงงานไม่ว่าเป็นคนไทยหรือต่างชาติ จะขยายออกไปกว้างกว่าที่เป็นอยู่เฉพาะที่ทำงานหรือโรงงาน ไม่เป็นเพียงปรากฏการณ์ครั้งคราว ความพยายามจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานและแรงงานของตนเองอย่างที่ทำๆ กันในเวลานี้ หากจะเดินหน้าไปอีก ไปสู่พรมแดนใหม่กว้างขึ้น เพื่อมีมาตรฐานใหม่ ดูแลและยกระดับความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของแรงงาน ไม่ว่าที่นั่นจะเป็นแคมป์ หรือที่พักอันคับแคบอุดอู้ จนหามาตรฐานว่าด้วย Social distancing ไม่ได้

เชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่เป็นไปได้จริง