เครื่องเสียง / พิพัฒน์ คคะนาท /PSB Alpha AM5 Powered Bookshelf Speakers (2)

เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท [email protected]

PSB Alpha AM5

Powered Bookshelf Speakers (2)

 

ภาคโทน คอนโทรล แยกปรับทุ้ม/แหลมของลำโพงคู่นี้มีค่า Q Values ค่อนข้างต่ำ Paul Barton (ผู้ออกแบบ) บอกว่ามันจะช่วยให้ขณะฟังนั้นรับรู้ได้ถึงน้ำเสียงที่มีความนุ่มนวลมากขึ้น โดยเฉพาะกับเสียงร้อง มันถูกออกแบบให้ควบคุมเสียงเบสเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะที่ย่านความถี่เหนือ 100Hz ขึ้นไป จะถูกกักเก็บเอาไว้ไม่ให้ไปรบกวนเสียงร้อง หรือย่านความถี่กลาง เมื่อวางลำโพงเข้าไปชิดใกล้ผนังหลังมากขึ้น จะเป็นการเพิ่มเสียงเบสด้วย

ขณะที่ตัวกรองย่านความถี่สูงอยู่ที่ 4kHz ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อเสียงร้องเช่นกัน ทั้งยังเป็นตำแหน่งที่อยู่เหนือย่านความถี่พื้นฐานของเสียงเครื่องดนตรีส่วนใหญ่ด้วย

ผมวางลำโพงคู่นี้เอาไว้บนขาตั้งลำโพงตั้งโต๊ะ โดยลำโพงทั้งคู่วางห่างกัน 4 ฟุต และห่างตำแหน่งนั่งฟัง 5 ฟุต ด้านหลังของลำโพงห่างจากผนังหลังห้อง 1 ฟุต ห้องนี้เป็นห้องอเนกประสงค์ที่ผมมักจะใช้ในการทดลองลำโพงเล็กๆ อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะกับพวก Powered Speakers ทั้งหลาย เพราะเชื่อว่าโดยปกติแล้วลำโพงพวกนี้จะถูกออกแบบมาให้ใช้งานในห้องลักษณะนี้นี่ล่ะ

ในการลองฟังเสียงผมใช้ Source จากสามแหล่งด้วยกัน โดยสตรีมเพลงจากสมาร์ตโฟนผ่านบลูทูธ ใช้ซอฟต์แวร์ Audirvana Plus 3.2.20 ในการทำงานร่วมกับ MacBook Pro ที่เชื่อมต่อผ่านพอร์ต Micro-USB ด้วยสายเคเบิลธรรมดาๆ ส่วนเวลาเล่นแผ่นไวนีลผมใช้หัวเข็ม MM : Moving Magnet

 

ผมเริ่มต้นฟังเพลงด้วยสตรีมมิ่งไฟล์ Hi-Res กับแทร็ก Into the Mystic จากอัลบั้ม Moondance ของ Van Morison ที่รีมาสเตอร์ในปี ค.ศ.2013

ผมชื่นชอบในแนวเสียงที่ PSB สื่อออกมาด้วยการเริ่มต้นของอะคูสติก กีตาร์ สองตัว โดย John Platania ลีดเสียงนำขึ้นมาทางด้านซ้าย ขณะที่มอริสันตบคอร์ดอยู่ทางด้านขวา

และ Alpha AM5 ก็สามารถถ่ายทอดความแตกต่างอย่างชัดเจนของเสียงจากกีตาร์ทั้งสอง ออกมาให้สัมผัสได้ด้วยความน่าฟังยิ่ง

จังหวะกีตาร์ของมอริสันมีคุณภาพที่มั่นคง และเร้าใจกว่า ขณะที่พลาทาเนียถ่ายทอดออกมาด้วยน้ำเสียงที่อบอุ่น และรับรู้ถึงความเป็นอะคูสติกมากกว่า ชิ้นเครื่องดนตรีทั้งคู่มีตำแหน่งบนเวทีเสียงที่ชัดเจนแบบสามารถชี้เฉพาะเจาะจงได้เลย

ขณะที่เสียงเบสไฟฟ้าจาก John Klingberg ที่อยู่กึ่งกลางเวทีนั้น ฟังดูหนักแน่นและเป็นพื้นฐานของจังหวะให้กับเพลงได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ก็ให้รู้สึกว่าเบสมันจะโดดออกมาสักหน่อย เพราะเมื่อใดก็ตามที่คลิงเบิร์กกระแทกเสียงดังขึ้นเล็กน้อย ก็รับรู้ได้อย่างชัดเจน

ซึ่งนั่นมันก็ไม่น่าแปลกใจสักเท่าไรนัก เนื่องเพราะลำโพงอยู่ห่างผนังห้องแค่ฟุตเดียวเท่านั้น การลดเสียงเบสลงก็จะช่วยให้ดีขึ้นโดยไม่ได้สูญเสียความชัดเจนแต่อย่างใด

ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่าการออกแบบภาคโทน คอนโทรล ของลำโพงคู่นี้ยอดเยี่ยมเพียงไร

เสียงร้องของมอริสันกับเสียงเบสของคลิงเบิร์กบนเวทีให้ออกมาอย่างน่าฟัง และลำโพงก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมบูรณ์ ชวนให้น่าติดตาม แต่หากเร่งโวลุ่มมากขึ้น จะพบว่าเสียงแข็งขึ้นเล็กน้อย แต่กับระดับที่ต่ำกว่านั้นหรือที่ระดับฟังปกติ มันไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

กลุ่มชิ้นเครื่องดนตรีอื่นก็มีอัลโต แซกซ์, เทอเนอร์ แซกซ์, เปียโน และแทมโบรีน ต่างถ่ายทอดออกมาด้วยตำแหน่งแห่งหนที่ชัดเจนบนเวทีเสียง

 

จากนั้นผมเล่นแทร็กเดียวกันด้วยแม็ก’ ผ่านทางอินพุตของพอร์ต USB ซึ่งโปรเซสเซอร์ได้ลดระดับความละเอียดลงเหลือ 24/48 พบว่าน้ำเสียงมีความเป็นดิจิตอลลดน้อยลง

เวทีเสียงมีความอิ่มเต็มของเสียงกีตาร์มากขึ้น เสียงจากสายโลหะมีความรวดเร็วขึ้น

สัมผัสได้ถึงเรโซแนนซ์ที่เกิดขึ้นภายในตัวกีตาร์อย่างเป็นธรรมชาติ

ระดับความดังของเสียงร้องที่ไล่ไปมาแบบเดี๋ยวดัง เดี๋ยวเบา ให้ออกมาอย่างน่าฟัง

กับแทร็กเดียวกันจากแผ่นไวนีลที่เป็นรีมาสเตอร์ชุดเดียวกัน น้ำเสียงจะฟังดูอบอุ่นขึ้นและมีความกลมกลืนมากกว่า แต่ไดนามิกจะถูกบีบอัดลงมา ซึ่งนั่นหมายถึงเสียงร้องดูจะไม่โดดเด่นนัก

ขณะที่อิมเมจมีความคลุมเครืออยู่บ้าง เสียงของอะคูสติก กีตาร์ ขาดความฉับไวลงไปบ้าง และเสียงของบรรดาแซ็กโซโฟนก็ลดความคมแข็งลง

ซึ่งผมออกจะชอบความกระจ่างชัดของเวอร์ชั่นดิจิตอลมากกว่า

แต่สิ่งหนึ่งที่พบได้จากการฟังแทร็กเดียวกันจากหลากหลายที่มานี้ก็คือ ลำโพงดูจะให้ความเป็นธรรมกับอินพุตทั้งดิจิตอลและอะนาล็อกอย่างเท่าเทียมกัน

 

จากแม็ก’ สู่ลำโพงผ่าน USB กับแทร็ก Flight of the Cosmic Hippo จากอัลบั้มบลูกราสส์-แจ๊ซ ฟิวชั่น โดย Bela Fleck และ The Fleckstones (16/44.1 FLAC) แสดงให้เห็นถึงเบสอันน่าประหลาดใจของ Alpha AM5

แทร็กนี้เริ่มต้นอย่างยิ่งใหญ่ด้วยโน้ตสองตัวที่เล่นวนแบบ Riff สั้นๆ ผ่านกีตาร์ เบส ที่บรรเลงโดย Victor Wooten ซึ่งลำโพงถ่ายทอดเสียงทุ้มออกมาได้น่ามหัศจรรย์มาก ทั้งหนักแน่นและมาเป็นลูก น้ำเสียงให้ออกมารวดเร็วและสลายไปอย่างไพเราะ น่าฟัง ทั้งน่าชื่นชมในฝีไม้ลายมือการบรรเลงยิ่งนัก

จะว่าไป ฟังดูแล้ว ลำโพงคู่นี้ดูจะให้สุ้มเสียงเหนือกว่ามาตรฐานของย่านความถี่เสียง เสียงแบนโจมีหางเสียงที่สนุกสนาน น่าฟัง และตามมาด้วยความอบอุ่น

ขณะที่เสียงของฮาร์โมนิกาก็ดูจะแผ่วหวานอย่างชุ่มฉ่ำ

 

จากนั้นได้ลองให้ลำโพงถ่ายทอดงานจากวงออร์เคสตราดูบ้าง ผมเลือก The Pines of Rome คีตนิพนธ์ของ Respighi โดยเลือกเล่นลีลาที่สี่ The Pines of the Appian Way ซึ่งบรรเลงโดยวง Sinfonia of London มี John Wilson เป็นวาทยกร (24/96 FLAC)

ลีลานี้เริ่มต้นด้วยความเงียบ โน้ตจากออร์แกนท่อให้ออกมาอย่างแผ่วเบาและต่อเนื่องด้วยความต่ำลึก ตามมาด้วยจังหวะของกลองทิมพะนี ที่เสมือนการให้ท่วงจังหวะทำนองของขบวนแถวทหารโรมันอันยาวไกลหลังทำศึกได้ชัยชนะกลับมา โดยมีเสียงของเครื่องเป่าลมไม้เข้ามาร่วมด้วย มีกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลืองโหมประโคมตามมา ซึ่งทั้งหมดนั้นลำโพงถ่ายทอดออกมาได้อย่างสวยงาม น่าฟัง ให้เวทีเสียงที่เปิดกว้าง ทั้งยังให้ตำแหน่งของแต่ละชิ้นเครื่องดนตรีได้อย่างแม่นยำ ชัดเจน แม้จะไม่ถึงระดับระบุชัดแบบ Pin-Point ได้ก็ตาม

เสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นมีความเปิดโปร่ง น่าฟัง เสียงเครื่องเป่าลมไม้และเครื่องเป่าทองเหลืองมีความเป็นธรรมชาติสูงมาก ขณะที่เสียงออร์แกนและกลองทิมพะนีมีความมั่นคงอันแข็งแกร่งอย่างน่าประทับใจ และแสดงให้เห็นถึงเวทีเสียงที่ลึกไปทางด้านหลังอย่างสมจริง

เป็นเวลานานประมาณสองนาทีที่กลุ่มเครื่องดนตรีประชันกันอย่างเข้มข้น โดยกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลืองสำแดงเสียงออกมาอย่างโอ่อ่า ยิ่งใหญ่ ขณะที่เสียงออร์แกนและกลองทิมพะนีให้ออกมาเสมือนเสียงย่ำเท้าของขบวนทหารโรมันที่ดำเนินไปอย่างคึกคัก

และให้รู้สึกสั่นสะเทือนไปทั้งพื้นผิวของถนนหนทาง ที่ทำให้รู้สึกได้ถึงความแออัดบนเวทีเสียง

 

แม้ Alpha AM5 จะมีขนาดค่อนข้างเล็กแบบ Mini-Monitor

แต่มันก็สามารถถ่ายทอดเสียงออกมาได้อย่างสมจริง และเหลือเชื่อว่าเสียงที่ได้ยินจะมาจากไดรเวอร์ขนาด 5.25 นิ้ว, สองตัว กับแอมป์ขนาดกำลังขับแค่ 50W/Ch เท่านั้นเอง

ภาพรวมของสุ้มเสียงที่ให้ออกมานั้นมันช่างน่าประทับใจยิ่ง