เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / ภาวนาพรรษา

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ภาวนาพรรษา

พรรษาสามเดือนปีนี้ ตรงกับวิกฤตโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์พอดี

เข้าพรรษาก็คือ การล็อกดาวน์ในทางธรรมนั่นเอง

คือการอยู่กับที่ของพระภิกษุสามเณรที่เรียก “จำพรรษา” อยู่กับวัดวาอาราม ห้ามจาริกสัญจรไปไหนอย่างโซเชียล ดิสแตนซิ่ง ถ้าถือเคร่งเป็นไอโซเลตก็คือ “ปลีกวิเวก” อยู่สันโดษลำพังแต่องค์เดียว

แม้เหตุแห่งล็อกดาวน์กับเข้าพรรษาจะต่างกันแต่ผลคือข้อวัตรปฏิบัติแทบไม่ต่างกันเลย เช่นพระที่ถือธุดงค์ 13 ข้อ ที่ต้องจำกัดในเรื่องปัจจัยสี่ คืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค โดยข้อสี่นี้มุ่งการรักษาบำบัดทางจิตคือ ปฏิบัติธรรมเป็นสำคัญ

ล็อกดาวน์โควิดเข้มงวดเรื่องกิน เช่นไม่ควรใช้ภาชนะร่วม พระธุดงค์หรือพระที่ถือเคร่งท่านก็ฉันอาหารในบาตรจำเพาะมื้อเดียวด้วยซ้ำไป

เป้าหมายของล็อกดาวน์โควิดคือ ดูแลรักษาสุขภาพทางกาย ส่วนเป้าหมายของการจำพรรษาคือ ดูแลรักษาสุขภาพทางใจ ด้วยการศึกษาและปฏิบัติธรรมดังกล่าว

สุขภาพใจจะช่วยสุขภาพกายได้ดียิ่ง

โดยเฉพาะยิ่งในช่วงกาลพรรษาอันถือเป็นช่วงล็อกดาวน์นี้

 

อึดอัดอุดอู้อยู่กับบ้าน งุ่นง่านหงุดหงิดกับข่าวโควิดและวัคซีน ล้วนทำให้จิตไม่สงบนี่แหละคือทุกข์

ทุกข์นี้โดยศัพท์แปลว่า “ทนอยู่ได้ยาก”

คือทนอยู่กับความเป็น “ปกติ” ได้ยากหรือไม่ได้เลย

ความเป็นปกติของจิตจึงสำคัญยิ่ง

และมันก็ยากยิ่งที่จะทำให้จิตเป็นปกติได้ในยามวิกฤตนี้

จิตปกติก็เหมือนวัคซีน ซึ่งโดยตัวมันเองไม่ใช่สิ่งป้องกันโควิดได้ เพียงแต่มันช่วยสร้างภูมิต้านทานเจ้าวายร้ายไวรัสไม่ให้แผลงฤทธิ์ และลดอันตรายลงเท่านั้น

จิตปกติก็เช่นกันไม่ได้ป้องกันทุกข์ทางกายคืออาการเจ็บป่วยได้ แต่จิตปกติช่วยผ่อนเพลาความทุกข์ที่หนักหนาสาหัสในจิตใจเราให้บรรเทาเบาบางลงได้เช่นกัน

สภาวะของวัคซีนวันนี้ ปัญหาสำคัญคือความเข้าใจที่สับสนอลหม่านของผู้คนในโลกข่าวสารเกี่ยวกับข้อเท็จและข้อจริง ทั้งคุณภาพและบทบาทของวัคซีนว่าเป็นอย่างไร

ไม่ผิดกับสภาพการณ์ของปัญหาความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวกับความทุกข์และความหมายที่แท้จริงทั้งของความทุกข์และความเป็นปกติจิต ซึ่งเป็นความหมายทางธรรม

 

ความไม่เข้าใจธรรมที่แท้นี้เป็นปัญหาสำคัญเป็นหัวใจของปัญหาในพุทธศาสนาเลยก็ว่าได้ดังเห็นข่าวพระแปลกพระปลอม รวมทั้งสำนักไสยศาสตร์ที่ทำให้คนงมงายจนดูจะสมกับโวหารคำบาลีที่ว่า “วินาศะกาโล วิปริตพุทเธ” คือ เมื่อถึงกาลจะวินาศ ปัญญาก็วิปริต

ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวว่า

“สิ่งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมที่สุดก็คือคำว่าธรรมนี่เอง”

ท่านอธิบายขยายความคำว่าธรรมนี้มีความหมายครอบคลุมสี่ประการ คือ

หนึ่ง ธรรมหมายถึงสิ่งทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไรเลย คือธรรมชาติ

สอง สิ่งทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไรเลยนี้มันมีกฎของมันอย่างน้อยคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุปัจจัย คือกฎธรรมชาติ

สาม การปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ

สี่ ผลจากการปฏิบัติจะถูกต้องไม่ถูกต้องสิ่งนี้ก็คือธรรมด้วย

สี่ประการนี้รวมอยู่ในคำว่า “ธรรม” คำเดียว

 

โดยศัพท์คำว่าธรรมนี้มาจากรากศัพท์ของคำว่า “ธร” แปลว่า “ทรง” หรือ “ทรงไว้” “ทรงอยู่”

ทรงไว้ทรงอยู่ซึ่ง “สิ่ง” ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็คือคำว่า suchness ซัชเนส ที่แปลว่า “เช่นนั้น”

“ความเป็นเช่นนั้น” นี่แหละดูจะตรงกับความหมายของคำว่า “ธร” ที่สุด

สิ่งทุกสิ่งหรือสรรพสิ่งก็คือธรรมชาติ อันแปลว่าการเกิดขึ้นซึ่งธรรมเช่นกัน

นี่แค่คำ “ธรรม” คำเดียวก็พอทำให้เราได้มองเห็นเค้าลางความเข้าใจไม่ตรงกันในธรรมแล้ว

จึงเป็นสิ่งพึงศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อนจะเรียนรู้เพื่อปฏิบัติธรรม

โดยเฉพาะเรื่องของความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ

ดังกล่าวคือทุกข์แปลว่าทนได้ยาก

คือจิตมันไม่อาจทรงสภาพความเป็นปกติอยู่ได้ พูดง่ายๆ คือจิตมันไม่เคยอยู่นิ่ง

การฝึกจิตให้นิ่งอยู่นั้นเรียกว่าการทำสมาธิ ดังโวหารว่า “ดูจิตเห็นจิต”

ดูจิตจนเห็นจิต นี่แหละคือสมาธิ

เห็นจิตแล้วต้องรู้จิตว่าจิตมันทนอยู่นิ่งเป็นปกติอยู่ไม่ได้เลย มันวอบแว่บวุ่นวายสับส่ายตลอดเวลา

รู้จิตแล้วต้องพยายามกำหนดมันให้ได้คือกำหนดให้มันนิ่งจนเป็นปกติได้ และแม้มันไม่อาจเป็นปกติอยู่ได้ ก็พึงกำหนดรู้เท่าทันมันอยู่ นี่ก็เป็นปกติจิตอีกเช่นกัน

ขั้นตอนดูจิตจนเห็นจิตนี้เป็นสมาธิ

ขั้นตอนเห็นจิตจนรู้จิตและกำหนดจิตนี้เป็นวิปัสสนา

 

วิกฤตโควิดต้องล็อกดาวน์เข้าพรรษา ณ วาระนี้จึงเป็นโอกาสได้ปฏิบัติธรรมข้อสำคัญยิ่ง

ธรรมสำคัญนี้คือการดับทุกข์

ปกติจิตจึงเป็นวัคซีนกำจัดไวรัส คือกิเลสเหตุแห่งทุกข์ได้โดยนัยนี้

อันจะเป็นอานิสงส์แห่งพรรษาโดยแท้