จาก ‘ความต้องห้าม’ สู่ ‘ความเฟื่องฟู’ ของหนังสือการเมืองไทย สมัยระบอบเก่า-ใหม่ หนังสือการเมืองในระบอบเก่า

ณัฐพล ใจจริง

ในประวัติศาสตร์การเมืองช่วงต้นสมัยใหม่ของไทยนั้นมีหนังสือการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นนำ หรือชักชวนให้ผู้อ่านคิดตั้งคำถามต่อความไม่เป็นธรรมจากการปกครองจนมีความเป็นไปได้ที่อาจเป็นชนวนการลุกฮือ คือการไม่ยอมรับระเบียบทางการเมืองนั้นได้

ดังนั้น เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม มิให้กระทบกระเทือนต่อโครงสร้างอำนาจ ผู้มีอำนาจจะสั่งทำลายหรือห้ามเผยแพร่หนังสือเหล่านั้นเสีย

ดังเช่นเคยเกิดในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีการห้ามนิราศหนองคาย แต่งโดยหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) มีเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หนังสือสร้างพลเมืองใหม่หลังการปฏิวัติ

เหตุเกิดจากสงครามปราบฮ่อ ที่ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในการจัดทัพ ทำให้นายทิมซึ่งเป็นคนของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ฯ ต้องออกมา “เถียงแทนนาย” ผ่านการเขียนนิราศหนองคาย โดยหาว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ สั่งเดินทัพในฤดูฝนเป็นการไม่สมควรเป็นการขาดเมตตาจิตต่อไพร่พล

สมเด็จเจ้าพระยาฯ โกรธมากจนมีบันทึกให้เผาทำลายหนังสือนิราศหนองคายนั้น (ปริศนา “นิราศหนองคาย” ทำไมต้องถูกสั่งเผา? www.silpa-mag.com)

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ มีการห้ามหนังสือทรัพยสาตร์ของพระยาสุริยานุวัตร ในเล่มมีการวิจารณ์และตั้งคำถามต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เป็นธรรมของไทยที่รัฐบาลไม่ส่งเสริมการสะสมทุน จนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศล้าหลัง

ในหนังสือทรัพยสาตร์ (2454) แบ่งปัจจัยการผลิตเป็น ที่ดิน แรงทำการ และทุน แต่การแบ่งผลผลิต ใครจะได้ผลผลิตเท่าใดขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต ซึ่งถูกกําหนดขึ้นโดยประวัติศาสตร์และโดยกฎหมายแผ่นดิน ทำให้เกิดการขูดรีดส่วนเกินทางเศรษฐกิจของชาวนาตกให้แก่พ่อค้าคนกลางและพ่อค้านายทุน

หนังสือต้องห้าม และหลวงพัฒนพงศ์ภักดี

แม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับการเอารัดเอาเปรียบในระบบการแข่งขัน แต่ก็ไม่ต้องการให้ล้มเลิกระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนี้ แล้วริบเอาเป็นของกลางเสียหมด (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, 2523)

กระนั้นก็ดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเขียนบทวิจารณ์ทรัพยสาตร์ลงในวารสาร สมุทรสาร (2458) ทรงเห็นว่า ทรัพยสาตร์ทำให้คนไทยแตกแยกเป็นชนชั้น เพราะในไทยนั้น ทรงเห็นว่าเว้นแต่พระเจ้าแผ่นดินแล้ว ทุกคนล้วนเสมอกันหมด ด้วยเหตุนี้ หนังสือดังกล่าวก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีกัน เพราะเขียนเรื่องความต่างทางรายได้

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีการแก้ไขกฎหมายอาญากำหนดความผิดของการสอนลัทธิเศรษฐกิจโดยมีโทษทางอาญา ทำให้ทรัพยสาตร์กลายเป็นหนังสือต้องห้ามไปโดยปริยาย จวบกระทั่งเกิดการปฏิวัติ 2475 และการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (2477) วิชาลัทธิเศรษฐกิจจึงถูกบรรจุเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรการศึกษานับแต่นั้น

พระยาสุริยานุวัตรและผลงาน

รุ่งอรุณของหนังสือการเมืองไทย
ภายหลังการปฏิวัติ 2475

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 แล้ว บรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้าง เริ่มมีหนังสือการเมืองวิชาการที่ให้ความรู้ทางการเมือง ให้ตระหนักในสิทธิและหน้าที่ การมีส่วนร่วมทางการเมือง สำนึกความเป็นเจ้าของประเทศ ให้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีผลกระทบกับประชาชน สถานภาพของผู้แทนราษฎร วิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง จิตวิทยา และการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น

หนังสือว่าด้วยกฎหมายภาคสิทธิ (2477) คู่มือระบอบใหม่ (2477) นักการเมือง (2478) โฆษณาศิลป์ (2478) วาทศิลป์ (2478) โฆษณาศาสตร์ (2478) หลักเศรษฐศาสตร์ของรุสโส (2478) เอมิลหรือการศึกษา (2479) คู่มือพลเมือง (2479) คู่มือการเมือง (2479) หลักวิชาการเมือง (2479) ธรรมจริยา-ประชาคม (2481) เป็นต้น

งานเขียนกลุ่มนี้วางหลักการ และวิธีการปฏิบัติทางการเมือง โดยเปิดเผยให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพและการเอารัดเอาเปรียบของระบอบราชาธิปไตยที่มีมาช้านาน

และสร้างความหวังว่า จากนี้ไป คนทุกคนจะยกสถานะเป็นพลเมือง ผู้มีสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม มีสิทธิทางการเมือง มีหน้าที่ มีความเป็นเจ้าของประเทศ และมีอำนาจในการปกครอง

สมุดปกเหลือง และสมุดปกขาว

สงครามหนังสือหลัง 2475

การปฏิวัติ หนังสือเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ หรือที่รู้จักกันในนามสมุดปกเหลืองของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องการปฏิวัติทางเศรษฐกิจต่อเนื่องให้งอกงามออกไปนำไปสู่ความตระหนกตกใจให้กับฝ่ายอนุรักษนิยมผู้มั่งคั่งจนนำไปสู่ข้อกล่าวหาว่าเป็นหนังสือที่เผยแพร่โครงการของคอมมิวนิสต์

ฝ่ายอนุรักษนิยมสั่งห้ามเผยแพร่สมุดปกเหลือง พร้อมผลิตหนังสือสมุดปกขาวของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กล่าวหาสมุดปกเหลืองว่า

“แสลงไปในทางการเมือง…เหลื่อมไปในทางลัทธิคอมมูนิสม์” และ “โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์หรือหลวงประดิษฐ์จะเอาอย่างสตาลิน”

วิกฤตการณ์ทางการเมืองนี้นำไปสู่การรัฐประหารรัฐธรรมนูญและปิดสภาผู้แทนราษฎรโดยรัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์ฯ ลง จวบกระทั่งการโค่นล้มรัฐบาลอนุรักษนิยมและปราบกบฏบวรเดชลงได้ (2476) คณะราษฎรสามารถกุมสภาพการเมืองได้แล้ว หนังสือการเมืองกลับมาเพื่องฟูอีกครั้งหนึ่ง

หลังปฏิวัติ 2475
มีหนังสืออะไรให้พลเมืองใหม่อ่าน

หนังสือการเมืองที่พรั่งพรูส่วนใหญ่เขียนไปในทางการอธิบายระบอบประชาธิปไตยในเชิงกฎหมายและสถาบันการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นการวางหลักการในระบอบใหม่ ให้การศึกษาแก่พลเมือง และแนะนำการมีส่วนร่วมทางการเมืองพร้อมแสดงความรู้สึกแห่งยุคสมัยด้วย ดังเช่น

หนังสือคู่มือพลเมือง (2478) ปกหน้าประดับไปด้วยริบบิ้นธงชาติไทย ปกในมีข้อความว่า “ไทย-เอกราษฎร์” อันสะท้อนถึงความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชน อันถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดใหม่ของระบอบประชาธิปไตย พร้อมเหตุผลการจัดทำหนังสือว่า

“ประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปกครองของพลเมืองและโดยพลเมืองฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่จะต้องมีความรอบรู้ในเรื่องเกี่ยวกับการปกครอง ตามรูปแบบการปกครองนี้ พลเมืองมีส่วนได้เสียและมีความรับผิดชอบในการปกครองโดยตรง”

ในหนังสือเล่มนี้มี 20 บท ประกอบด้วยเรื่องชาติ ประเทศ พลเมือง สิทธิของพลเมือง การปกครองของสยามในสมัยปัจจุบัน-รัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตย การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร การจัดทำพระราชบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ระเบียบราชการ ภาษี งบประมาณของประเทศ การศึกษาของพลเมือง หนังสือเล่มนี้ถูกพิพม์ขายและแจกกว่าแสนเล่ม

ส่วนในหนังสือ หลักวิชาการเมือง (2479) ผู้เขียนปรารภว่า “การเมืองไม่ใช่ของใหม่ เพราะเกิดมีมาพร้อมกับสังคมมนุษย์ และการเมืองไม่ใช่ของเก่า เพราะเกิดงอกงามเจริญตามความต้องการของมนุษย์อยู่เสมอ” (อำพัน ตัณฑวรรธนะ, 2479) หนังสือเล่มนี้มี 18 บท การเมืองคืออะไร รัฐคืออะไร อำนาจอธิปไตย เสรีภาพ กฎหมาย พลเมือง รัฐธรรมนูญ ระบอบการปกครอง หลักการใช้อำนาจอธิปไตย การปกครองแบบสหรัฐ

สำหรับ คู่มือการเมือง (2479) นั้น ผู้เขียนพยายามรวบรวมสิ่งจำเป็นของผู้เอาใจใส่ต่อความเป็นไปของบ้านเมืองมาให้ท่าน “ผู้ที่เขาไม่เอาใจใส่ ฤๅไม่อยากรู้ ทั้งที่เขาก็ควรจะรู้ ฤๅควรจะเอาใจใส่นั้น จงปล่อยให้เขาทั้งหลายอยู่ข้างหลังเถิด เรามาก้าวหน้า ก้าวไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ…” (เทพ โชตินุชิต, 2479) เนื้อหาภายในเป็นเรื่องแนวคิดเรื่องการเมืองและกฎหมายการเมือง

คู่มือระบอบใหม่ (2477) รวบรวมโดยบุญทอง เลขะกุล มีวัตถุประสงค์ “เป็นคู่มือของประชาชน” สำหรับจะได้ใช้ในการแสวงหาและรักษาประโยชน์ของประชาชนเองตามระบอบประชาธิปไตย เนื้อหาภายในประกอบด้วยเรื่องรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง การเทศบาล การประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ในหนังสือนักการเมือง (2478) นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ อดีต ส.ส. ยุคแรก กล่าวถึงความสำคัญ ความหมาย และประโยชน์ของมติมหาชน บทบาทของนักการเมือง คุณสมบัติของนักการเมือง การหาเสียงด้วยการใช้สื่อ พูดอย่างไรให้ประชาชนชื่นชอบ ทำอย่างไรให้ประชาชนเลือก

รวมทั้งการผลิตหนังสือ โฆษณาศิลปะ (2478) และหนังสือ โฆษณาศาสตร์ (2478) เนื่องจากภายหลังการปฏิวัติแล้ว ความสามารถในการพูดมีความจำเป็นต่อยุคสมัย เพื่อสื่อสารกับประชาชน แต่ไม่มีที่ฝึกฝน โรงเรียนก็ไม่สอน ดังนั้น เขียนตำราการพูดขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนฝึกฝนเอง

กล่าวโดยสรุป เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 แล้ว หนังสือการเมืองกลายเป็นหนังสือที่มีขายอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อนในระบอบเก่า เป็นการสร้างความรู้ใหม่สำหรับระบอบประชาธิปไตยที่กำเนิดขึ้น