โลกของใคร/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

โลกของใคร

 

เมื่อมัตเตโอ ริชชี่ มิชชันนารีชาวอิตาลีผู้เดินทางไปทำหน้าที่ในจีนช่วงปลายราชวงศ์หมิงกางแผนที่โลกออกเป็นครั้งแรก ณ เมืองจ้าวซิ่ง มณฑลกว่างตง ชาวจีนต่างไม่พอใจที่เห็นว่าประเทศจีนไม่ได้อยู่ตำแหน่งศูนย์กลางของโลก กลับไปอยู่มุมทิศตะวันออกของแผนที่เท่านั้น

เพื่อลดแรงต่อต้านของชาวจีน ริชชี่จึงลบเส้นเมอริเดียนเส้นแรกของเกาะฟุกุชิมะออก ทำให้ประเทศจีนปรากฏในตำแหน่งศูนย์กลางพอดี เป็นที่พอใจของอาตี๋อาหมวย อาเฮียอาซ้อ

หากมองแผนที่ซึ่งมัตเตโอ ริชชี่ ที่เขียนให้จีนพอใจก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่าเหตุไฉนชาวจีนจึงภาคภูมิใจกับ ‘ตำแหน่ง’ ของประเทศตนนักหนา ทั้งที่ ‘ขนาด’ ในแผนที่ก็เล็กจิ๋ว

ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าชาวจีนให้ความสำคัญกับ ‘ขนาด’ น้อยกว่า ‘ตำแหน่ง’ ของการเป็นศูนย์กลางโลกดังที่เรียกตัวเองว่า ‘จงกั๋ว’ (ประเทศศูนย์กลางโลก) มาตลอด

เหตุการณ์ไม่พอใจ ‘แผนที่ฝรั่ง’ ของชาวจีนยุคหมิงเป็นภาพสะท้อนได้ดีว่าขณะที่ฝั่งตะวันตกกำลังก้าวสู่ยุคแสงสว่างทางปัญญา เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ปฏิวัติวิทยาศาสตร์ จีนในศตวรรษที่ 17 ยังคงมั่นใจตัวเองผิดๆ หลงภูมิใจในความยิ่งใหญ่ในโลกเก่า และสนใจโลกตะวันตกน้อยมาก

สิ่งสะท้อนสำคัญอีกอย่างคือ จีนกับยุโรปมองโลกคนละแบบ

หรืออาจเรียกได้ว่าอยู่กันคนละโลก

ริชชี

ในประเทศญี่ปุ่นทุกวันนี้ก็มิได้ใช้แผนที่โลกที่มีหน้าตาเหมือนอย่างที่พี่น้องชาวไทยคุ้นชินกัน

พวกเขาใช้แผนที่ Pacific-centered ซึ่งจัดวางให้มหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ไพศาลมาอยู่กลางภาพ ให้ความสำคัญกับเอเชีย และแน่นอน-ญี่ปุ่น ขณะที่ยุโรปถูกปัดออกไปกระจุกกันที่แถบซ้าย ทวีปอเมริกาปัดไปชิดขวา

แปลกตา เป็นโลกในมุมไม่คุ้น

ชวนให้คิดว่า อ้าว! ถ้าแบบนี้ แผนที่ก็ไม่ต้องมีแบบเดียวนี่หว่า

ผมได้อ่านเรื่องราวของแผนที่โลกอย่างเปิดหูเปิดตาครั้งแรกในหนังสือ Blog Blog ของปิ่น ปรเมศวร์ หรืออาจารย์ปกป้อง จันวิทย์

จึงเข้าใจว่าแผนที่คุ้นตาที่เห็นมาแต่เด็กนั้นถูกสร้างขึ้นจากระเบียบวิธีที่เรียกกันว่า The Mercator Projection โดย Geradus Mercator ตั้งแต่ปี ค.ศ.1569 ก่อนหน้านั้นก็มีแผนที่โลกมาแล้วหลายเวอร์ชั่น จะว่าไปการทำแผนที่โลกให้ถูกต้องตรงตามความจริงนั้นไม่ง่าย เพราะมันคือการพยายามวาดพื้นที่บนทรงกลมให้มาอยู่ในแผ่นกระดาษแบนๆ

เป็นเรื่องที่ต้องเลือกระหว่าง ‘ขนาดที่แท้จริง’ กับ ‘รูปทรงที่แท้ทรู’ ของแต่ละประเทศซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ ถ้าอยากให้รูปทรงถูกต้อง ขนาดย่อมเพี้ยน ดังเช่นที่เป็นอยู่ในแผนที่โลกยอดฮิต

ซึ่งมี ‘ขนาด’ ผิดเพี้ยนไปมากมายมหาศาล

Pacific centered

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะวิธีวาดแผนที่แบบ Mercator นั้นจะมีขนาดใกล้เคียงความจริงเมื่อประเทศนั้นอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรเท่านั้น ยิ่งห่างออกไปและใกล้ขั้วโลกมากเท่าไหร่ขนาดจะยิ่งผิดเพี้ยนมากเท่านั้น

ผลที่ออกมาคือประเทศในแถบเหนือของโลกซึ่งโดยมากเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในยุโรปจึงถูกวาดออกมาใหญ่เกินความเป็นจริง

ขณะที่ทวีปแอฟริกาและละตินอเมริกาหดเล็กลงกว่าความเป็นจริงเยอะ!

แผนที่นี้ทำให้เรามองโลกผิดเพี้ยนไปจากความจริงมาก โดยประเทศแถบเหนือมีพื้นที่มากกว่า 60% ของแผนที่ ขณะที่ประเทศแถบใต้มีพื้นที่เพียง 40% เท่านั้น

ทั้งที่ในความจริงแอฟริกา อเมริกาใต้ และออสเตรเลียมีขนาดมหึมา

แต่ที่โหดสุดคือทวีปซึ่งหายไปจากแผนที่โลกอย่างแอนตาร์กติกานั้นในความจริงมีขนาดใหญ่โตระดับที่วางทาบอเมริกาเหนือแทงทะลุแคนาดาไปได้เลย

ว่าง่ายๆ คือหลายประเทศในแผนที่ใหญ่เกินจริง และอีกหลายประเทศเล็กเกินจริงไปมาก สิ่งนี้ย่อมนำมาซึ่งความรู้สึกที่เรามีต่อประเทศตัวเองและประเทศเพื่อนร่วมโลก

เพราะในแผนที่นั้นบางประเทศดูเป็นมหาอำนาจด้วยความ ‘ใหญ่’ ของมัน อีกทั้งแผนที่เวอร์ชั่นนี้ก็ยังจัดทวีปยุโรปให้เป็นศูนย์กลางโลกอีกด้วย

Peter World Map

ในปี 1974 มีการเสนอแผนที่อีกเวอร์ชั่นสู่ชาวโลก เรียกว่า Peters World Map จากผลงานศึกษาของ ดร.อาร์โน ปีเตอร์ นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน

เป็นแผนที่ซึ่งให้ความสำคัญกับ ‘ขนาด’ ที่ถูกต้องของแต่ละประเทศซึ่งชี้ให้เห็น ‘ความบิดเบือน’ ของแผนที่แบบ Mercator ชัดเจนว่าในความเป็นจริงฝ่ายเหนือมีพื้นที่แค่ 18.9 ล้านตารางไมล์ ขณะฝ่ายใต้มีพื้นที่ถึง 38.6 ล้านตารางไมล์ (เกือบสองเท่า) แต่แผนที่ไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างนั้นเลย

ในแผนที่โลกแบบที่เราคุ้นเคย ทวีปยุโรปใหญ่กว่าอเมริกาใต้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วยุโรปมีขนาดเพียง 3.8 ล้านตารางไมล์ ส่วนอเมริกาใต้ใหญ่ถึง 6.9 ล้านตารางไมล์ อันนี้เพี้ยนหนัก

ในแผนที่โลกฉบับมาตรฐาน รัฐอลาสก้าของสหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่กว่าเม็กซิโกถึง 3 เท่า แต่ในความเป็นจริงเม็กซิโกมีขนาดใหญ่กว่าด้วยซ้ำ

ยังมิต้องนับว่าแผนที่แสดงภาพให้ทวีปอเมริกาเหนือใหญ่กว่าทวีปแอฟริกา ทั้งที่จริงอเมริกาเหนือมีขนาด 7.4 ล้านตารางไมล์ ส่วนแอฟริกาใหญ่ 11.6 ล้านตารางไมล์

ที่หนักสุดคือกรีนแลนด์ซึ่งในแผนที่มหึมามาก หากวางทับจีนก็กลบมิดทั้งแผ่นดิน

ทั้งที่ในความเป็นจริงจีนมีขนาดถึง 3.7 ล้านตารางไมล์ และกรีนแลนด์แค่ 0.8 ล้านตารางไมล์เท่านั้น

เห็นกันชัดๆ ว่าเพี้ยนไปขนาดไหน

Peters World Map จึงพยายามร่างให้มีสัดส่วนเปรียบเทียบซึ่งใกล้ความจริงมากขึ้น

upside-down-world-wall-map-political-without-flags_wm

ทั้งขนาดและตำแหน่งของประเทศต่างๆ ในแผนที่ล้วนก่อให้เกิดความรู้สึกถึงความสำคัญ อำนาจ และความเหนือกว่าอยู่เสมอ จึงมีการช่วงชิงอำนาจซุกซ่อนอยู่ในแผนที่

หากมีคนกล่าวว่า ‘ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์’ ก็ย่อมปรับมาใช้กับเรื่องนี้ได้เช่นกันว่า ‘ผู้ชนะเขียนแผนที่’

หากแผนที่ที่เราเห็นและใช้ทำความเข้าใจโลกมีส่วนในการกำหนดวิธีมองโลก มองประเทศอื่น รวมถึงมองตัวเอง เมื่อตระหนักว่าแผนที่แต่ละเวอร์ชั่นล้วนมี ‘อคติ’ ซ่อนมาตั้งแต่วิธีคิด วิธีร่างและลากเส้น เราจึงได้เห็นว่ามันถูกเขียนขึ้นมาจากฝีมือใคร ทั้งยังชวนให้คิดว่าแผนที่ยังเขียนได้อีกหลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเชื่อตามแบบใดแบบหนึ่งแล้วคิดว่านั่นคือความจริงสูงสุด เพราะเราอาจถูกความคิดบางแบบหลอกลวงอยู่

จึงไม่แปลกที่จะมีคนเสนอแผนที่โลกแบบ Upside-down ที่เอาทวีปออสเตรเลียไปอยู่ด้านบนแทน อันนี้แปลกตาขั้นสุด แต่เขย่ามุมมองที่มีต่อโลกอย่างแรง มันทำให้เห็นว่าเราถูกกล่อมให้อยู่กับกรอบความคิดแบบใดแบบหนึ่งมาเนิ่นนาน คิดว่าโลกจะต้องเป็นแบบนั้นเท่านั้น (ทั้งที่มันไม่ตรงตามความจริงด้วยซ้ำ)

แผนที่โลกกลับหัวทำให้ได้เห็นว่าเราสามารถวาด ‘แผนที่ใหม่’ ขึ้นได้ในแบบเรา โดยอาจให้ทิศตะวันออกชี้ขึ้นข้างบน หรือจะให้ตะวันตกอยู่บนก็ได้เช่นกัน ‘เหนือ’ ไม่จำเป็นต้องอยู่ Top เสมอไป

หากแผนที่ถูกวาดขึ้นจากระเบียบวิธีการศึกษา การตั้งโจทย์ว่าอยากใช้อะไรเป็นเกณฑ์หลักจึงสำคัญ และทุกครั้งที่ใช้บางสิ่งเป็นเกณฑ์หลักย่อมมีบางสิ่งหรือหลายสิ่งถูกลดทอนความสำคัญลง ดังเช่นที่ได้เห็นว่าถ้าให้ความสำคัญกับความถูกต้องของรูปร่าง ขนาดก็จะผิดเพี้ยน

การเลือกให้ความสำคัญจึงกำหนดวิธีสร้างโลกของเราขึ้นมา

เหมือนที่จีนเห็นตัวเองอยู่ศูนย์กลางโลก เช่นกันกับญี่ปุ่น และยุโรป จึงวาดโลกออกมาคนละแบบ แต่ละคนมีโลกที่ตัวเองอยากเห็น ทั้งที่โลกความจริงเป็นทรงกลม ไม่มีตรงไหนเป็นศูนย์กลาง หรือถ้าอยากเป็นศูนย์กลางก็เป็นไปได้ทุกตำแหน่งเท่าๆ กัน

เราเองนี่แหละที่สร้างโลกของเราขึ้นมา เราอยากให้โลกเป็นแบบที่เราชอบ ความยากอยู่ตรงที่คนอื่นก็อยากให้โลกเป็นแบบที่เขาถูกใจ โลกที่ถูกต้องที่สุดจึงไม่เคยเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

ไม่มีใครถูกที่สุด และไม่มีใครผิดทั้งหมด

เราถูกในสายตาตัวเอง และผิดในสายตาคนอื่น

วิธีอยู่ร่วมกันอาจเป็นการสลับกันเป็นศูนย์กลาง

ถ้าอยากเห็นโลกให้ครบด้านก็ต้องยืมสายตาคนอื่นมามองโลกเพื่อแก้จุดบอดที่เกิดจากมุมมองคับแคบของเรา หากอยากเข้าใจโลกในแบบที่โลกเป็น ใช้แผนที่เดียวย่อมไม่ครบถ้วน เราต้องการแผนที่หลายๆ เวอร์ชั่น เพื่อมองโลกที่หลากหลายจึงเข้าใจโลกอย่างครอบคลุม

หากจะถามว่าใครเป็นศูนย์กลางโลกคงไม่มีคำตอบที่ถูกที่สุด แต่คำตอบที่ผิดน่าจะมีอยู่จริง นั่นคือ ทันทีที่ใครบอกว่า “ฉันเป็นศูนย์กลางโลกแต่เพียงผู้เดียว”

อันนี้แหละเป็นคำตอบที่ผิดแน่ๆ

แผนที่มาตรฐาน