ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม - 5 สิงหาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
หลังลับแลมีอรุณรุ่ง
ธงทอง จันทรางศุ
กา-ละ-เท-สะ
ในฐานะเป็นคนหนึ่งที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ช่วงเวลาปลายเดือนกรกฎาคมต่อต้นเดือนสิงหาคมอย่างนี้ การจะย่างเท้าออกจากบ้านแต่ละครั้งต้องหาเหตุผลมาอธิบายกับตัวเองมากมายหลายข้อ และมักจะสรุปจบด้วยการบอกว่าอย่าไปไหนเลย
ผมจึงใช้เวลาแต่ละวันอยู่กับบ้านของตัวเองเป็นส่วนใหญ่
ถ้าไม่ประชุมออนไลน์ หรือดูซีรีส์ในโทรทัศน์ ก็เป็นการอ่านหนังสือ เขียนหนังสือซึ่งเป็นของโปรดของตัวเองอยู่แล้ว
หนังสือเล่มเล็กใกล้มือเล่มหนึ่งที่คว้ามาอ่านได้อีกรอบ คือหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์พระราชทานเนื่องในงานพระราชพิธีวิสาขบูชาเมื่อพุทธศักราช 2562 เรื่อง กาลเทศะตามนัยพระพุทธศาสนา ผู้เขียนคือ ดร.พิเศษ สอาดเย็น
อธิบายคำว่ากาลเทศะว่าอย่างนี้ครับ
“กาลเทศะ เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต และเราได้รับคำนี้เข้ามาใช้ในภาษาไทยนานแล้ว คำว่า ‘กาลเทศะ’ (อ่านว่า กา-ละ-เท-สะ) แปลตรงตัวว่า เวลาและสถานที่… แต่ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปในภาษาไทย คำนี้หมายถึง ‘ความควรไม่ควร’ คือเราต้องรู้ว่าในเวลาและสถานที่ต่างๆ หรือในสถานการณ์ต่างๆ เราควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร จึงจะเป็นการถูกต้องเหมาะสม
เมื่อไหร่เราทำอะไรที่ควรทำในเวลาที่เหมาะสม และเราทำสิ่งนั้นได้อย่างกลมกลืนไม่ขัดกับความรู้สึกของคนทั่วไปในสถานการณ์อย่างนั้น ก็เรียกว่าเราทำถูกกาลเทศะ…
แต่ถ้าเราละเลยสิ่งที่ควรทำในเวลาที่เหมาะสม หรือทำไปด้วยอาการแปลกประหลาด ก็เรียกว่าเราทำไม่ถูกกาลเทศะ…”
พูดถึงเรื่องกาลเทศะแล้วพอดีกันเลยครับ ที่มีเรื่องผ่านเข้ามากระทบตากระทบใจของผมสองเรื่องในสองสามวันที่ผ่านมานี้
เรื่องแรกพบใน Facebook ของใครก็ไม่ทราบ แต่เป็นรูปภาพพิธีเปิดโรงพยาบาลสนามซึ่งตั้งขึ้นเพื่อดูแลผู้ป่วยจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในอำเภอแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านเรา
ในรูปนั้นเห็นป้ายโรงพยาบาลสนามชัดเจน พร้อมด้วยกระถางจัดดอกไม้สวยงามวางอยู่ซ้ายและขวามีริบบิ้นเชื่อมอยู่ตรงกลางสำหรับผู้เป็นประธานจะได้ตัดริบบิ้นเปิดโรงพยาบาลสนามที่ว่า โดยรอบบริเวณมีกระถางจัดดอกไม้วางประดับอยู่อีกสามสี่ใบ
ความรู้สึกแรกที่เกิดมีขึ้นในใจของผมและน่าจะเป็นความรู้สึกที่ตรงกันกับใจของใครอีกหลายคน คือบ้านเมืองวิกฤตขนาดนี้แล้ว เมื่อต้องทำโรงพยาบาลสนามยังจำเป็นจะต้องมีพิธีเปิด มีประธานตัดริบบิ้นอีกหรือ
คำถามเรื่องกาลเทศะผุดขึ้นมาเลยทีเดียว
บ้านเราเป็นมนุษย์เจ้าพิธีการครับ เอะอะอะไรๆ ก็ต้องมีขั้นตอนเอาไว้ก่อน ปลัดอำเภอกล่าวรายงาน นายอำเภอกล่าวตอบ ป้ายต้องสวย ดอกไม้ต้องสวย โต๊ะต้องระบายผ้า สาระเอาไว้ข้างหลัง มีมากมีน้อยไม่เป็นไร ขอให้ถ่ายรูปออกมาสวยก็แล้วกัน
เรื่องระบายผ้าคลุมโต๊ะนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายมาก ถึงกับมีการประกวดและเปิดหลักสูตรสอนกันเลยทีเดียว มีการจับเป็นจีบเป็นช่อขยุกขยุยยากแก่การอธิบาย เข็มหมุดที่ซ่อนอยู่ตามมุมต่างๆ ก็มากเหลือเกิน
ผมผู้ทำหน้าที่เป็นประธานและมือไม้ซุกซนโดนเข็มหมุดตำมือไปหลายรอบแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งไม่ใช่เรื่องของความสวยงามหรือพิธีการ แต่เป็นเรื่องของการรู้กาลเทศะของบ้านเมืองว่าเรากำลังอยู่ในวิกฤตปานใด การใช้จ่ายงบประมาณแต่ละบาทแต่ละสตางค์จึงต้องคิดถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นเรียงลำดับก่อนหลังให้ถูกต้อง
ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึงเรื่องการของบประมาณเพื่อซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งปีที่แล้วก็มีการเสนอเข้ามารอบหนึ่งแล้วถอยทัพกลับไป มาถึงเวลาต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในรัฐสภาเวลานี้ เรือดำน้ำลำเดิมก็มาอีกแล้ว
ยังดีที่หนึ่งวันล่วงหน้าก่อนที่จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รัฐบาลเกิดได้สติขอถอนงบประมาณจำนวนนี้ออกไปเสีย เรื่องจึงสงบราบคาบไปได้
(ปีหน้าก็มาอีกครับ อิอิ)
เห็นไหมครับว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของกาลเทศะเช่นเดียวกัน
เวลาอย่างนี้ สิ่งที่ขาดแคลนคือวัคซีนและเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับรักษาพยาบาลคนเจ็บคนไข้ทั้งหลาย ซึ่งจนถึงเวลานาทีที่ผมนั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ ก็เป็นปัญหาไปทุกหย่อมหญ้า เอาแต่เพียงแค่เรื่องวัคซีนไม่เพียงพอก็เป็นมหากาพย์ที่มืดดำไม่มีคำตอบแล้ว
โวหารสมัยนี้ต้องบอกว่า นี่ยังจะหาทำไปซื้อเรือดำน้ำอีกหรือ
ยกตัวอย่างสองเรื่องข้างต้นมาแล้ว ผมขออนุญาตอภิปรายต่อไปว่า ถ้าพิเคราะห์ดูให้ดี เรื่องทั้งสองเรื่องอาจไม่มีคนรู้สึกต่อต้านหรือหงุดหงิดมากเท่าที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาอื่น และอาจจะมีแง่คิดต่อไปอีกด้วยว่า การปฏิบัติในเรื่องใดก็ตามที่ครั้งหนึ่งสมัยหนึ่งเคยเป็นของที่ได้รับความนิยม คนทั่วไปเห็นว่าเป็นของถูกต้อง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป แนวปฏิบัติอย่างเดิมอาจต้องปรับไปตามสถานการณ์ก็เป็นได้
ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ ดูจากเรื่องงานศพที่เกิดขึ้นในระหว่างนี้ ถ้าเป็นกรณีที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 การฌาปนกิจศพจะเกิดขึ้นในเวลารวบรัด เสียชีวิตตอนเช้า เผาตอนเย็น ผู้ที่ไปร่วมงานก็จำกัดวงแคบนิดเดียว ต้องเว้นระยะห่างและทำตามกติกาที่เข้มงวดอีกสารพัด
ขณะที่ถ้าเป็นกรณีเสียชีวิตด้วยเหตุอื่น จะเป็นด้วยวัยชราหรือโรคอะไรก็แล้วแต่ ประเพณีแต่ก่อนที่เคยตั้งสวดศพกันไว้เจ็ดวัน ถ้าเป็นโบราณมากก็ต้องเก็บไว้ 50 วันหรือ 100 วันแล้วถึงฌาปนกิจ ช่วงหลังนี้ลดวันทำพิธีสวดพระอภิธรรมลงมาเหลือเพียงแค่เจ็ดวันแล้วเผา พอโควิดมาใกล้ตัวเข้าอย่างนี้ เจ้าภาพหลายรายก็ลดวันสวดพระอภิธรรมลงเหลือเพียงแค่สามวันแล้วฌาปนกิจศพ
“กาละ” ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ประเพณีงานศพไม่หยุดนิ่ง ผมนึกพยากรณ์ว่า เมื่อการปลงศพผู้วายชนม์เปลี่ยนมาเป็นแนวนี้แล้ว ในวันข้างหน้าเมื่อโควิดสร่างซาไป ชะดีชะร้ายจำนวนวันตั้งศพบำเพ็ญกุศลและการแสดงความเศร้าโศกเสียใจหรือร่วมทำบุญทำกุศลอุทิศให้แก่ผู้วายชนม์ก็อาจจะปรับแนวไปจากที่เราคุ้นเคยกันมาแต่ก่อน
กล่าวคือ ใช้แนวใหม่ที่เกิดขึ้นในระหว่างนี้เองเป็นแนวทางระยะยาวสำหรับงานศพในวันข้างหน้า
การโอนเงินทำบุญออนไลน์ง่ายนิดเดียว อยู่แค่ปลายนิ้วนี่เอง
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างนี้ไม่มีใครหยุดยั้งหรือห้ามปรามเอาไว้ได้
ในช่วงหนึ่งเดือนหรือสองเดือนที่ผ่านมามีข่าวที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีคือเรื่องกิจกรรมรับน้องของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ทำให้น้องใหม่บาดเจ็บล้มตายเป็นประจำ ทั้งๆ ที่มีการห้ามปรามกันนักหนาแต่ก็ยังลักลอบปฏิบัติกันอยู่
นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในทัศนะของผม ที่เมื่อกาละสมัยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เหตุผลหรือคำอธิบายชุดหนึ่งที่เคยใช้ได้สำหรับกิจกรรมหรือพิธีการบางอย่างไม่สามารถตอบโจทย์หรือตอบคำถามของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้แล้ว ถ้าใครก็ตามยังฝืนที่จะก้มหน้าก้มตาทำเหมือนเดิมโดยไม่ปรับวิธีคิดให้สมกับกาลเทศะ ใครคนนั้นก็จะเป็นคนตกยุค และต้องรับผลที่จะติดตามมาจากความเป็นคนตกยุคของตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
บรรดารุ่นพี่ที่เป็นคนตกยุคและยังฝืนที่จะจัดกิจกรรมรับน้องด้วยวิธีการแบบเดิม น้องต้องกินเหล้า ต้องร้องเพลงเชียร์ ต้องสารพัดต้อง เวลานี้กำลังสู้คดีอยู่ ไม่สามารถมาร่วมอภิปรายวันนี้ได้ครับ
เห็นไหมครับว่า ชุดของความคิด ชุดของข้อมูลที่รุ่นพี่เรานั้นคุ้นเคยมาแต่เดิม กลายเป็นของผิดกาลเทศะไปแล้ว
เรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ สิทธิมนุษยชน การเคารพในความเห็นของคนอื่น สิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองด้วยระบบกฎหมาย เป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ และไม่ใช่มองอย่างเดียวนะครับ มองแล้วต้องยอมรับนับถือมาเป็นข้อปฏิบัติด้วย
ถ้าใครก็ตามมองไม่เห็นเรื่องเหล่านี้อยู่ในสายตา คิดทำอะไรเหมือนเดิมกับยุคสมัยเมื่อหลายสิบปีก่อน สุดท้ายก็จะถูกเข็มนาฬิกาที่เดินหน้าอยู่เสมอบดบี้จนตกไปจากเวที
วันนี้ขอจบห้วนๆ แบบนี้ล่ะครับ
ต้องรีบแต่งตัวไปร่วมงานเปิดโรงพยาบาลสนามใกล้บ้าน
ได้รับเชิญไปตัดริบบิ้นน่ะครับ ฮา!