ควันหลงหลังการหยุดยิง อิสราเอล-ฮามาส (4)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ควันหลงหลังการหยุดยิง

อิสราเอล-ฮามาส (4)

 

เมื่ออิสราเอลเพิ่มการถล่มกาซาและจำนวนพลเรือนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ไบเดนได้สนทนากับ Netanyalu ทางโทรศัพท์โดยย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนสิทธิของอิสราเอลจากจรวดที่โจมตีไม่เลือก

นอกจากนี้ Biden ยังหยุดยั้งความพยายามของจีนและรัสเซียในคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติที่จะให้มีการหยุดยิง

ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐได้ใช้อำนาจวีโต้ในสภาความมั่นคงถึง 42 ครั้งในรอบ 70 ปี และปกป้องการกระทำของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของคนสองล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นคนยากจน อันเป็นการตอบโต้การโจมตีด้วยจรวดของฝ่ายฮามาสในฉนวนกาซา

เกือบสองในสามของประชาชนในกาซาลงทะเบียนในฐานะผู้ลี้ภัย คนที่ฉนวนกาซา 600,000 คนยังคงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรในกาซาเป็นเด็ก

ในการยิงตอบโต้เข้ามาในกาซาอิสราเอลยิงถล่มแม้แต่ค่ายผู้ลี้ภัย

อัตราคนว่างงานในกาซานั้นมีมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งสูงที่สุดในโลก ครึ่งหนึ่งของประชาชนที่นี่ขึ้นอยู่กับอาหารที่มาจากภายนอก

ปัญหาส่วนใหญ่ที่ชาวกาซา (Gazan) เผชิญอยู่ก็เนื่องมาจากการถูกปิดล้อมของอิสราเอลที่มีต่อชาวกาซา ซึ่งกลายเป็นคุกเปิดโล่งอย่างแท้จริง

ระบบการใช้น้ำและไฟฟ้าซึ่งในช่วงเวลาที่ดีที่สุดก็ยังขาดแคลนจึงไม่น่าแปลกใจว่าในเวลาที่เกิดการโจมตีชาวกาซาก็ยิ่งขาดแคลนอย่างหนัก

Lym Hatings ผู้ประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับชาวปาเลสไตน์ได้มาเยือนกาซาหลังจากการหยุดยิงจบลงแล้วกล่าวว่าการปิดล้อมที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ ควรจะถูกยกเลิกโดยทันทีและดินแดนของชาวปาเลสไตน์ควรได้รับอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์อยู่อาศัย และดินแดนของชาวปาเลสไตน์ควรรวมเข้ากับชาวปาเลสไตน์อื่นๆ

“ดิฉันได้เป็นประจักษ์พยานถึงความสิ้นหวังของครอบครัวต่างๆ ที่ถูกทำลายราบเรียบ” เธอกล่าว

จากการถล่มของอิสราเอล Lym Hastings กล่าวว่าเธอได้เห็นการทำลายล้างสาธารณูปโภคในกาซาด้วยตาตัวเอง รวมทั้งฝ่ายบริหารด้านการแพทย์ ท่อส่งน้ำ และโกดังด้านการทหาร

 

ความหวังที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ของ Natanyahu

กลุ่มก้อนผู้ต่อต้านอิสราเอลจากฮามาสได้ยิงจรวดเก่าแก่ของตนเข้าไปในนครเยรูซาเลม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม อันเนื่องมาจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อิสราเอลที่ใช้ความรุนแรงในนครเยรูซาเลมในอิสราเอลและในดินแดนยึดครองเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

จรวดส่วนใหญ่ที่มาจากกองกำลังฮามาสและอิสลามิก ญิฮาด หากไม่ตกลงบนทะเลทรายก็จะถูกประกบโดย Iran Dome หรือจรวดด้านขีปนาวุธที่อิสราเอลนำมาใช้

อย่างไรก็ตาม มีจรวดจำนวนหนึ่งของฮามาสที่ทะลวงเข้าใส่ “Iron Dome” ได้บ้างเช่นเดียวกัน

เป็นไปตามคาด Natanyahu ได้ถือโอกาสนี้ออกคำสั่งให้ทิ้งระเบิดที่กาซาอย่างเต็มที่ แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็มีความระมัดระวังมิให้ทหารของเขาเข้าไปในที่อยู่อาศัยเหมือนกับในสองสงครามครั้งแรก

เขาไม่ต้องการให้เรือนร่างของทหารอิสราเอลถูกห่อหุ้นมาในถุงบรรจุศพในขณะที่เขาใช้ความพยายามอย่างที่สุดที่จะได้อำนาจอย่างเต็มที่กลับมา แม้ว่าในที่สุดหลังการโจมตีฮามาสไม่กี่วันเขาก็ต้องสูญเสียตำแหน่งให้กับเนฟตาลีย์ เบน เนตต์ ผู้นำคนใหม่ที่สามารถตั้งรัฐบาลที่มาจากหลายพรรคการเมืองได้รวมทั้งพรรคของชาวอาหรับอิสราเอล (R’aam) ที่นำโดยมันซูร อับบาส (Mansur Abbas) อันเป็นรัฐบาลที่เปราะบางอย่างยิ่ง

ผู้นำฮามาสในกาซาได้เตือนรัฐบาลอิสราเอลว่าฮามาสจะไม่ทำแค่ยืนดูอยู่เท่านั้น หากว่าชาวปาเลสไตน์ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำพิธีทางศาสนาอย่างสงบในมัสญิดอัล-อักซอ ในนครเยรูซาเลมในระหว่างเดือนเราะมะฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ และหากรัฐอิสราเอลยังคงสนับสนุนให้มีการรื้อถอนที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ในดินแดนทางตะวันออกของนครเยรูซาเลม และส่วนอื่นๆ ของอิสราเอล รวมทั้งดินแดนที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองต่อไป

ในวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นคืนแรกของเดือนเราะมะฎอน อันเป็นช่วงเวลา 27 วันก่อนที่จรวดลูกแรกจะยิงออกมาจากกาซา กองกำลังฝ่ายความมั่นคงได้เข้ามาที่อัล-อักซอ ซึ่งเป็นมัสญิดศักดิ์สิทธิ์แห่งที่ 3 ของมุสลิมในโลก ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของอิสราเอลได้ตัดเสียงการถ่ายทอดสดการละหมาดที่ปฏิบัติมาตลอดให้กับศรัทธาชนในเมืองลงด้วย

การกระทำที่ผิดกฎหมายและใช้ความรุนแรง โดยเจ้าหน้าที่ของอิสราเอลนั้นไม่เป็นที่สงสัยเลยว่ามาจากคำสั่งที่เป็นไปในทางการเมืองและกฎหมายของ Netanyahu ที่ในเวลานั้นกำลังตกอยู่ในภาวะใกล้จะสูญเสียตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาไปทุกที

เหตุการณ์ในมัสญิด อัล-อักซอเกิดขึ้นในช่วงที่ Natanyuhu กำลังต่อสู้เพื่อการอยู่รอด การสูญเสียตำแหน่งนากยกรัฐมนตรีหมายถึงการที่เขาจะต้องได้รับการสอบสวนให้เร็วขึ้นในข้อหาคอร์รัปชั่นและเป็นไปได้ที่เขาจะถูกจองจำ

 

กรณีของชัยค์ ญัรเราะฮ์

ดังได้กล่าวมาบ้างแล้วว่ารัฐบาลอิสราเอลใช้ปฏิบัติการณ์ยั่วยุในมัสญิดอัล-อักซอด้วยการปิดประตูดามัสกัส ซึ่งถือเป็นประตูอันเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าไปละหมาดของชาวปาเลสไตน์เนื่องจากเป็นประตูทางเข้าหลักในนครเยรูซาเลม สถานที่ที่ชาวปาเลสไตน์มารวมตัวกันระหว่างเดือนเราะมะฎอน

ชาวปาเลสไตน์มองการกระทำของเจ้าหน้าที่อิสราเอลว่าเป็นเหมือนการตบลงบนใบหน้าของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง

ในเวลาเดียวกันได้มีการเคลื่อนไหว โดยเจ้าหน้าที่อิสราเอลเพื่อรื้อถอนบ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์ในเยรูซาเลมตะวันออกที่อยู่ติดกับชัยค์ ญัรเราะฮ์

ศาลสูงของอิสราเอลมีกำหนดที่จะตัดสินประเด็นนี้ในเดือนเมษายน แต่หลังจากการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์บนท้องถนนและสงครามต่อต้านอิสราเอลที่มาจากกาซา ศาลสูงจึงได้เลื่อนการรับฟังคดีออกไป

อย่างไรก็ตาม ชาวปาเลสไตน์ได้นำเอาเหตุการณ์ที่ชัยค์ ญัรเราะฮ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก่อนที่มัสญิดอัล-อักซอ และการปิดประตูดามัสกัสมาเชื่อมต่อกัน

กฎหมายของอิสราเอลอนุญาตให้ชาวยิวอ้างถึงดินแดนที่บรรพบุรุษของพวกเขาเคยเป็นเจ้าของมาก่อนการสถาปนารัฐยิวในปี 1948 ได้

คนปาเลสไตน์จำนวนมากจึงถูกบังคับให้ละทิ้งบ้านเรือนของตนเอง

ภายในอิสราเอลในเวลานั้น Netanyahu ได้สนับสนุนกลุ่มขวาจัดอย่างเช่น Torah Nucleus ให้เคลื่อนเข้าไปในตัวเมืองและชานเมืองที่มีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง

ความรุนแรงจึงเกิดขึ้นในเมืองต่างๆ อย่างเช่น เมืองล็อด (Lod) ซึ่งม็อบชาวยิวเข้าโจมตีชาวปาเลสไตน์ และกรณีที่ม็อบชาวยิวประชาทัณฑ์ชาวปาเลสไตน์ก็ได้ถูกรายงานออกมาหลังจากการโจมตีที่กาซาเริ่มต้นขึ้น

จากแหล่งข่าวอย่าง The New York Times และหน่วยข่าวอื่นๆ พบว่าในวันที่ 21 เมษายน 2021 ก่อนเกิดเหตุการณ์ที่อัล-อักซอ แค่สัปดาห์เดียวกลุ่มของยิวฝ่ายขวาได้บีบให้ชาวปาเลสไตน์ที่หลงเหลืออยู่ในอิสราเอลออกไปจากประเทศนี้เสีย

กลุ่มยิวฝ่ายขวาได้มารวมตัวกันแล้วร่วมกันเดินผ่านนครเยรูซาเลมตอนกลางพร้อมกับตะโกนคำว่า “ความตายสำหรับชาวอาหรับ” พร้อมโจมตีชาวปาเลสไตน์ที่เดินอยู่ข้างทางเดิน

ในวันที่ 4 พฤษภาคม มุฮัมมัด ดีอีฟ ผู้นำทางทหารของฮามาสได้ออก “คำเตือนสุดท้าย” ให้อิสราเอลหยุดการรุกรานประชาชนของชัยค์ ญัรเราะฮ์

ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่แลเห็นได้ อิสราเอลเลือกที่จะไม่รับรู้การข่มขู่นี้ ดังนั้นฮามาสจึงก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งกับอิสราเอลด้วยการยิงจรวดของตัวเองเข้าสู่อิสราเอล และได้รับการตอบโต้ตามมา จนทำให้ความขัดแย้งขยายตัวยาวนาน 11 วันก่อนจบลงด้วยการหยุดยิง